SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

10 กุมภาพันธ์ 2566

มัดรวมวิธีแก้ผมร่วง ผมบาง แบบปลอดภัย บอกลาปัญหาผมขาดร่วง

วิธีแก้ผมร่วง

ปัญหาผมร่วง เป็นหนึ่งในปัญหาที่หนักใจของใครหลายคน สามารถพบได้บ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งลักษณะผมร่วงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วผมร่วงเยอะมากมักจะส่งผลต่อสภาพจิตใจ และความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีแก้ผมร่วง ในบทความนี้ SkinX จะพามารู้จักกับสาเหตุผมร่วง รวมถึงสารพัดวิธีแก้ผมร่วง 

 

SkinX แอปพลิเคชันพบหมอผิวหนังออนไลน์ ที่ให้คำปรึกษาแบบเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะ ปัญหาผิวพรรณ หัตถการความงาม เป็นต้น ด้วยแพทย์จากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำถึง 210 คน สำหรับผู้ใช้บริการรายใหม่ปรึกษาแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หัวข้อที่น่าสนใจ

สาเหตุการเกิดผมร่วงมีอะไรบ้าง?

ผมร่วงเกิดจาก

ผมร่วงเกิดจากอะไร? อาการผมร่วงสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย ปกติแล้วในแต่ละวันคนเราจะมีเส้นผมร่วงวันละประมาณ 40-90 เส้น และจะมีเส้นผมใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ในบางคนที่มีอาการผมร่วงเยอะมากจนสังเกตได้ว่าผิดปกติ รวมถึงมีผมบางขึ้น ก่อนจะไปดูวิธีแก้ผมร่วง เรามาหาสาเหตุของผมร่วงกันก่อน โดยสาเหตุการเกิดผมร่วงมีดังนี้

ปัจจัยภายใน

  • ผมร่วงจากกรรมพันธุ์
hair-loss-no-confident

ผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) สามารถพบได้ในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งจะพบมากถึง 80% ในผู้ชาย และ 50% ในเพศหญิง โดยสาเหตุของผมบางแบบพันธุกรรมมาจากการที่ระดับเอนไซม์ชนิดหนึ่งบริเวณหนังศีรษะเพิ่มขึ้น เอนไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไปเป็นฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งฮอร์โมน DHT นี้เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เส้นผมบริเวณกลางศีรษะ และขวัญมีขนาดเล็กลง ถ้าหากผู้ที่มีอาการผมร่วง ผมบางจากพันธุกรรมมีระดับเอนไซม์เพิ่มมากขึ้น เส้นผมบริเวณหนังศีรษะก็จะมีขนาดเล็กลง เส้นผมบางและสั้น จึงทำให้เกิดอาการผมหลุดร่วง ผมบางตามมาได้

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น


เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเพศลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อปัญหาผมร่วง ผมบางได้ ตามปกติแล้วเส้นผมจะมีความหนาแน่นและเส้นใหญ่ที่สุดถึงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะเริ่มลดลง วงจรชีวิตเส้นผมเริ่มสั้นลง ทำให้ผมร่วงบ่อยขึ้นและผมเริ่มบางลง จนสามารถมองเห็นลักษณะผมบางหรือศีรษะล้านได้ชัดเจน

“ระดับฮอร์โมน DHT จะไม่เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่จะค่อย ๆ ลดน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผมที่งอกขึ้นมาใหม่จะค่อย ๆ บางและอ่อนแอลง รวมไปถึงสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ทำให้รากผมเสื่อมลงตามกาลเวลา นั่นเป็นสาเหตุว่าทำให้อายุมากแล้วผมร่วง ผมบาง”

  • โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วง


โรคบางชนิดส่งผลให้เกิดอาการผมร่วงได้ เช่น โรคผิวหนังเดิมของผู้ป่วย โรคต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ที่ทำให้มีการอักเสบรบกวนการเติบโตของเส้นผม รวมถึงการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสของหนังศีรษะ นอกจากนี้ยังมีการเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมร่วง ผมบางได้ เช่น การติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี โรคทางภูมิคุ้มกัน SLE โรคทางผิวหนัง DLE และโรคโลหิตจาง 

ปัจจัยภายนอก

  • การรับประทานยาหรือวิตามินอาหารเสริมบางชนิด


ยาบางประเภท เช่น ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินบางชนิด ยาลดความดัน ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น รวมถึงวิตามินหรืออาหารเสริมบางชนิดที่บริโภคเกินความจำเป็น สามารถทำให้อาการผมร่วง ผมบางได้ หากหยุดยาหรืออาหารเสริมเหล่านี้อาการผมร่วงอาจกลับมาเป็นปกติได้

  • ความเครียดสะสม
ผมร่วง เครียด

ปัญหาความเครียดที่สะสมจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ สามารถส่งผลให้เป็นหนึ่งในสาเหตุอาการผมร่วงได้ เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดขึ้น ทำให้เส้นผมอ่อนแอลงได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการเครียดสะสมบางรายอาจมีพฤติกรรมทำลายเส้นผมตัวเอง เช่น การดึงผมตัวเองโดยไม่รู้ตัว (Trichotillomania) ซึ่งการกระทำนี้สามารถทำให้ผมบางลงได้

  • ขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุ


การขาดสารอาหาร หรือผู้ที่กำลังลดน้ำหนักแบบผิดวิธีจะยิ่งเสริมให้เส้นผมเปราะและบางลงได้ ผู้ที่ผมร่วงจากการขาดสารอาหารควรเสริมอาหารจำพวกธาตุเหล็กเพิ่ม เนื่องจากธาตุเหล็กจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม รวมถึงวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี โปรตีน เป็นต้น สารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมให้เส้นผมแข็งแรงและช่วยบำรุงหนังศีรษะ นอกจากนี้ผู้ที่ขาดธาตุเหล็กหรือวิตามินอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เล็บเปราะบาง อ่อนเพลีย เป็นต้น 

  • การทำคีโมหรือการใช้เคมีบำบัด


เคมีบำบัด หรือการทำคีโมเป็นการใช้ตัวยาเคมีบำบัดเพื่อหยุดการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง โดยตัวยาเคมีจะเข้าถึงเซลล์มะเร็งผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เซลล์รากผม เม็ดเลือด เซลล์เยื่อบุในช่องปาก หรือเซลล์ปกติที่มีการเพิ่มจำนวนแบบรวดเร็วได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เกิดอาการผมร่วง ผมบางได้

  • สารเคมี หรือสิ่งสังเคราะห์ที่ใช้กับหนังศีรษะหรือเส้นผม


สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ต่าง ๆ จากผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอย่างเช่น แชมพู ครีมนวด รวมถึงการทำสีผม จัดทรงผม สามารถเป็นปัจจัยช่วยทำให้เส้นผมของเราเปราะบาง ขาดง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้หนังศีรษะอักเสบ จนเซลล์รากผมอ่อนแอได้

“โดยปกติแล้วผมคนเราจะมีประมาณ 80,000-1,200,000 เส้น และจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 100 เส้น แต่หากสระผมอาจมีจำนวนผมร่วงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า”

15 วิธีแก้ไขปัญหาผมร่วง

ปัญหาผมร่วงเยอะมากจะกลายเป็นเรื่องเล็ก ถ้าหากเส้นผมและหนังศีรษะได้รับการบำรุง รวมถึงการดูแลที่ดี SkinX ได้รวบรวม 15 วิธีรักษาผมร่วง (Hair loss treatment) ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผมร่วง ผมบาง ไว้ดังนี้

1. การหวีผมที่ถูกต้องจะช่วยลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม

ผมร่วงจากหวีผม

การหวีผมที่ผิดวิธีมีโอกาสทำให้ผมหลุดร่วงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการหวีผมขณะผมเปียก รวมไปถึงการเลือกใช้หวีก็มีส่วนทำให้เกิดผมร่วงหนักมากเช่นกัน วิธีแก้ผมร่วงด้วยการหวีผมที่ถูกวิธีทำได้โดยการหวีเบา ๆ ที่กลางผมหรือเหนือปลายผมเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ผมพันกัน ไม่ควรดึงรั้งหรือกระตุกเส้นผมแรง ๆ การหวีผมอย่างเบามือจะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นผมเปราะขาด และไม่เป็นการทำร้ายหนังศีรษะอีกด้วย โดยประโยชน์ของการหวีผมอย่างถูกวิธี ได้แก่

 

  • สุขภาพผมเงางาม เนื่องจากต่อมไขมันที่อยู่ในรูขุมขนจะผลิตน้ำมันตามธรรมชาติเมื่อหวีผม ทำให้หนังศีรษะและเส้นผมไม่แห้งจนเกินไป รวมถึงยังเกิดความเงาอีกด้วย

     

  • กระตุ้นหนังศีรษะ การหวีผมเบา ๆ จะช่วยนวดกระตุ้นหนังศีรษะให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและการเจริญเติบโตของเส้นผม

     

นอกจากนี้การเลือกประเภทของหวีก็มีส่วนทำให้เกิดผมร่วง หากผู้ที่มีปัญหาผมร่วงง่าย ผมพันกัน ควรเลือกหวีซี่ห่าง เพราะจะไม่ทำให้ผมขาดง่ายและป้องกันการขาดหลุดร่วง เป็นต้น

2. นวดหนังศีรษะช่วยเพิ่มความหนาของเส้นผม

วิธีแก้ผมร่วงด้วยการนวดหนังศีรษะที่ถูกต้องจะช่วยขยายหลอดเลือดภายในหนังศีรษะ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังรูขุมขน ส่งผลให้การเจริญเติบโตของเส้นผมดีขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า การได้รับการนวดหนังศีรษะ 4 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงของความหนา และการเจริญเติบโตของเส้นผม เพราะฉะนั้นการนวดศีรษะสามารถทำให้เส้นผมหนาขึ้นได้ 

3. สระผมให้ถูกต้อง

การสระผมที่ถูกวิธีนอกจากจะช่วยกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมแล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาผมร่วง รวมถึงช่วยลดปัญหารังแค เชื้อราบนหนังศีรษะ หนังศีรษะลอกอีกด้วย โดยวิธีสระผมที่ถูกต้องนั้นมีวิธีแก้ผมร่วงง่าย ๆ ดังนี้

  • หวีผมก่อนสระผม จะช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมอันเนื่องมาจากการพันกันของเส้นผมระหว่างสระผมได้ รวมถึงยังช่วยลดฝุ่นและสิ่งสกปรกที่เกาะบนเส้นผมด้วย

  • หลีกเลี่ยงการเกาหนังศีรษะแรง ๆ เนื่องจากอาจทำให้หนังศีรษะเป็นแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ และยังเป็นการทำร้ายโคนผมอีกด้วย

  • เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เพราะสภาพเส้นผมของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วงก็ควรใช้สูตรลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม หรือผู้ที่มีผมแห้งก็ควรใช้สูตรเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเส้นผม เป็นต้น

  • ควรสระผมด้วยน้ำอุ่น หรืออุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำร้อน จะสามารถช่วยรักษาเส้นผมและหนังศีรษะไม่ให้แห้งเสีย รวมถึงผมแตกปลายชี้ฟู

  • ล้างผมให้สะอาด หากแชมพูหรือครีมนวดยังตกค้างอยู่บนหนังศีรษะอาจก่อให้เกิดปัญหารังแค หนังศีรษะอักเสบ หรือผมร่วงตามมาได้

4. ใช้สมุนไพรในการสระผม

แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติ หรือสมุนไพรบางชนิดเป็นวิธีแก้ผมร่วงได้ และยังช่วยให้ผมที่ขึ้นใหม่แข็งแรง ดกดำอีกด้วย เช่น
 

  • มะขามป้อม มีสรรพคุณช่วยให้ผมดกดำ ผมหงอกเกิดช้าลง ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม

  • อัญชัน มีสรรพคุณช่วยให้ผมดกดำเช่นกัน และยังช่วยป้องกันผมหงอก สามารถลดปัญหาผมหลุดร่วงและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

  • ขิง มีสรรพคุณช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ไปเลี้ยงศีรษะมากขึ้น รวมถึงยังช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมอีกด้วย

  • มะกรูด มีสรรพคุณทำให้ผมดก รากผมแข็งแรง เส้นผมไม่เปราะขาดง่าย

5. การใช้ยาสระผมลดผมร่วง

การเลือกยาสระผมให้ถูกกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะเป็นหนึ่งวิธีแก้ผมร่วงเบื้องต้นได้ เช่น ผมร่วงที่มาจากผมแห้งเสีย ควรเลือกยาสระผมที่ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะให้ชุ่มชื้น ช่วยลดการขาดหลุดร่วง บำรุงรากผม หรือผมร่วงที่มาจากปัญหารังแค ควรมองหาแชมพูที่ช่วยขจัดรังแคบนหนังศีรษะ ลดอาการคัน เป็นต้น นอกจากนี้อาจดูส่วนผสมจากธรรมชาติเพิ่มเติม เช่น มะกรูด อัญชัน ขิง มะขามป้อม ที่จะช่วยให้ผมที่ขึ้นใหม่แข็งแรง ไม่เปราะง่าย 

6. ทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงเส้นผม

วิธีแก้ผมร่วงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงแร่ธาตุหรือวิตามินต่าง ๆ จะช่วยเสริมบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง ไม่ขาดหลุดร่วงง่าย เช่น

  • แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี (Zinc) จะช่วยบำรุงเส้นผมที่อ่อนแอให้แข็งแรง ผมหนาขึ้น ได้จากแหล่งอาหาร เช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล ธัญพืช ผลไม้และผักใบเขียว เป็นต้น

  • วิตามินเอ (Vitamin A) มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม ซึ่งจะช่วยกระตุ้น Sebum ให้ผลิตไขมันเพื่อทำให้หนังศีรษะชุ่มชื้น รากผมแข็งแรงขึ้น ผมร่วงน้อยลง โดยวิตามินเอพบมากใน ไข่แดง ผักสีส้ม เหลือง และเขียวเข้ม รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม

  • วิตามินบี (Vitamin B) มีส่วนช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยเฉพาะไบโอตินหรือวิตามินบี 7 (Vitamin B7) ที่ช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของเส้นผม นำพาสารอาหารไปเลี้ยงเส้นผม โดยวิตามินบีจากธรรมชาติพบมากใน ถั่วเหลือง ผัก รำข้าว ไข่แดง เป็นต้น

“ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบหมู่ ร่างกายพักผ่อนน้อย สามารถทำให้การเจริญเติบโตของรากผมไม่แข็งแรง นอกจากเส้นผมหลุดร่วงง่ายแล้ว การสร้างเม็ดสีก็ลดน้อยลงเช่นกัน ทำให้เส้นผมขาวได้”

7. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและความร้อนกับหนังศีรษะ

ปัญหาผมร่วง ผมเสียจากการใช้สารเคมีและความร้อน ถือเป็นตัวการที่ทำลายเส้นผมและหนังศีรษะอย่างมาก โดยเฉพาะการทำสีผมที่มีการกัดผม ฟอกผม เป็นผม เนื่องจากสารเคมีจะถูกหนังศีรษะโดยตรง สามารถทำให้หนังศีรษะเป็นแผล และเส้นผมอ่อนแอลง ส่งผลให้ผมยิ่งหลุดร่วงง่าย รวมถึงผมแห้งเสีย

8. หมั่นสังเกตสุขภาพหนังศีรษะตนเองอยู่เสมอ

สภาพหนังศีรษะและเส้นผมของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เราจึงควรหมั่นสังเกตสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมของตนเองอยู่เสมอ  หากเริ่มมีอาการผมร่วงผิดปกติ สภาพหนังศีรษะที่เป็นอยู่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงได้ เช่น

  • คันหนังศีรษะ อาจเกิดได้จากปัญหารังแค โรคผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน โรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน และผื่นแพ้สัมผัส สามารถส่งผลกระทบให้เกิดภาวะผมร่วงได้

  • รังแค สามารถทำให้ผมร่วงทางอ้อมได้เนื่องจากรังแคทำให้คันหนังศีรษะ หากเกามาก ๆ อาจทำให้หนังศีรษะเป็นแผลและทำลายรากผมได้

  • ผมแห้ง สามารถทำให้โครงสร้างผมอ่อนแอและทำให้ผมร่วงได้ เนื่องจากต่อมไขมันบริเวณรากผมที่ทำหน้าที่ผลิตไขมันตามธรรมชาติอาจถูกทำลาย ส่งผลให้ผมขาดความชุ่มชื้น ชี้ฟู เปราะ และขาดหลุดร่วงง่าย

  • ผมมัน เกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น หนังศีรษะผลิตไขมันส่วนเกินออกจากรูขุมขนมากเกินไป การดูแลความสะอาดไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งผมมันอาจก่อให้เกิดปัญหารังแคได้

9. ไม่มัดผมแน่นเกินไป

มัดผมผมร่วง

การมัดผมแน่นมากไป หรือการรวบผมตึงจะทำให้สารอาหารลำเลียงไม่ถึงรากผมและปลายผมได้อย่างเพียงพอ สามารถเป็นสาเหตุของผมขาดหลุดร่วงได้ง่าย รวมถึงแรงดึงจากการมัดผมก็อาจทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน ดังนั้นวิธีแก้ผมร่วงจากการมัดผมรวบตึง ควรสลับมามัดผมทรงต่ำบ้างในบางครั้ง และไม่แน่นจนเกินไป นอกจากนี้ควรใช้หนังยางมัดผมประเภทผ้าแทนยางเพราะจะช่วยลดการดึงของเส้นผม

10. ดูแลสุขภาพจิตใจให้แจ่มใส

ปัญหาสุขภาพจิตใจ และความเครียดอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงได้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจอาจมีอาการดึงผมตัวเองเล่นแบบไม่รู้ตัวหรือตั้งใจแล้วแต่กรณี เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ เป็นต้น เมื่อดึงผมออกแล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกโล่งขึ้นขณะดึงผม โดยอาการเหล่านี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคดึงผมตนเอง (Trichotillomania) การดึงผมตัวเองบ่อย ๆ นี้อาจทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมได้

ดังนั้นวิธีแก้ผมร่วงสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคดึงผมตัวเอง สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอาการที่แท้จริงได้ รวมถึงวางแผนการรักษาต่อไป ทั้งนี้ผู้ป่วยควรหมั่นทำจิตใจของตนเองให้แจ่มใส หากิจกรรมที่ช่วยดึงดูดความสนใจเพื่อช่วยคลายความเครียดหรือความกังวล

11. การใช้ยารักษาผมร่วง

ยารักษาผมร่วง หรือที่เรียกกันว่า “ยาปลูกผม” คือยาที่ใช้รักษาอาการผมร่วง ผมบาง และเป็นวิธีแก้ผมร่วงวิธีหนึ่ง เมื่อใช้ไปแล้วจะทำให้บริเวณผมที่บางหรือผมเส้นเล็กค่อย ๆ กลับมาหนาขึ้น แต่ยารักษาผมร่วงนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหัวล้านหรือทดแทนการปลูกผมได้ สำหรับการใช้ยารักษาผมร่วงในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองจากทางการแพทย์มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นคือ ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) และไมนอกซิดิล (Minoxidil) มีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

 

  • ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride)

     

ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) คือยาปลูกผมผู้ชายชนิดเม็ด ใช้เพื่อรักษาภาวะผมบางจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนเพศชาย สามารถลดปริมาณฮอร์โมน DHT ได้ และยังช่วยกระตุ้นให้รากผมสร้างผมได้ดีขึ้น ผมที่งอกใหม่เส้นหนาขึ้น

 

  • ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)

     

ไมนอกซิดิล (Minoxidil) คือยาที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ยาไมนอกซิดิลเป็นตัวยาตัวเดียวที่ถูกรับรองว่าสามารถใช้เป็นยาแก้ผมร่วงสำหรับผู้หญิง การออกฤทธิ์ของยาไมนอกซิดิลจะออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เมื่อเลือดเข้าถึงรากผมได้ดีขึ้นก็จะทำให้รากผมสุขภาพดี รวมถึงไปกระตุ้นรากผมให้งอกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมที่งอกใหม่จะมีเส้นหนาและแข็งแรง

ทั้งนี้ก่อนการใช้ยารักษาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เสมอ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

12. เซลล์บำบัด (Rigenera activa)

เซลล์บำบัด (Rigenera activa) หรือการฉีดสเต็มเซลล์ผมเป็นการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดหรือ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) จากรากผมของตนเองมาฉีดลงบนหนังศีรษะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้รากผมแข็งแรงขึ้น เพิ่มอาหารผม สร้างเส้นผมมากขึ้น วิธีแก้ผมร่วงจากการฉีดสเต็มเซลล์จะทำให้ผมที่งอกขึ้นใหม่มีเส้นใหญ่และหนาขึ้น ไม่หลุดร่วงง่าย และยังช่วยลดการทำงานของฮอร์โมน DHT

13. การทำเลเซอร์ในแบบต่าง ๆ 

วิธีแก้ผมร่วงด้วยการทำเลเซอร์ปลูกผม (Laser Hair Growth) คือวิธีการใช้เลเซอร์ที่มีระดับพลังงานต่ำ ช่วยกระตุ้นเซลล์บริเวณหนังศีรษะและรากผมให้ทำงานดีขึ้น เพิ่มการหมุนเวียนของเลือด การเลเซอร์ปลูกผมจึงเป็นการแก้ปัญหาผมร่วง ผมบางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผมที่ขึ้นใหม่แข็งแรง โดยการทำเลเซอร์ปลูกผมมีทั้งหมด 2 ประเภท แบ่งตามชนิดของเลเซอร์ที่ใช้รักษา ดังนี้ 

  • การทำเลเซอร์กระตุ้นผม (Fractional Laser)

เลเซอร์กระตุ้นเส้นผม หรือ Fractional Laser คือการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำยิงเข้าไปที่หนังศีรษะบริเวณผมร่วง ผมบาง เลเซอร์นี้จะเข้าไปช่วยกระตุ้นหนังศีรษะให้เซลล์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างรากผม ทำให้ผมแข็งแรงขึ้น มีการสร้างเส้นเลือดมากขึ้น ผมที่ขึ้นใหม่มีเส้นใหญ่ ไม่ร่วงง่าย นอกจากนี้โฟโตน่า เลเซอร์ยังนิยมใช้รักษาโรคผิวหนังและใช้ในการเสริมความงามด้วย เช่น รักษารอยแดงจากสิว รักษาหลุมสิว เป็นต้น

  • เลเซอร์ (LLLT)

การปลูกผมด้วยเลเซอร์ LLLT (Low Level Laser Therapy) จะช่วยลดอาการหนังศีรษะอักเสบ โดยจะฉายเลเซอร์ LLLT พลังงานต่ำลงไปที่หนังศีรษะ พลังงานนั้นจะช่วยกระตุ้นเซลล์รากผมให้ทำงานดีขึ้น ทำให้ผมแข็งแรงและงอกเร็ว ผมร่วงน้อยลง ในระยะยาวจะช่วยให้เส้นผมหนาขึ้น เส้นเลือดฝอยบนศีรษะมากขึ้น 

14. การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)

PRP ผม

การฉีด PRP ผม หรือ Platelet Rich Plasma เป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของตนเองเข้าไปที่หนังศีรษะ โดยจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ผม ลดการอักเสบ ทำให้เซลล์รากผมแข็งแรง ชะลอผมร่วง และช่วยให้ผมที่ขึ้นใหม่แข็งแรงขึ้น เส้นผมหนาและดกดำขึ้น

วิธี PRP มีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากเป็นการนำเอาเลือดของผู้เข้ารับการรักษามาใช้เอง โดยแพทย์จะนำเลือดมาปั่นแยกและคัดเฉพาะพลาสม่าที่มีเกล็ดเลือด และ Growth Factor เข้มข้น ทำให้การฉีด PRP มีความปลอดภัย

15. ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางด้านเส้นผม และหนังศีรษะ

วิธีแก้ผมร่วง ผมบางที่ดีที่สุดคือ การเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะ เพราะแพทย์จะสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของผมร่วงที่แท้จริง รวมถึงแพทย์จะให้คำปรึกษา คำแนะนำ และช่วยวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับแต่ละบุคคลได้ 

SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์มีบริการให้คำปรึกษาในด้านปัญหาผมและหนังศีรษะ รวมถึงการศัลยกรรมปลูกผม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมากมาย ตั้งแต่ให้คำปรึกษา สั่งยา เก็บประวัติและติดตามผล ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางก็สามารถรับคำปรึกษาอาการผมร่วงจากแพทย์ได้

สรุปวิธีแก้ผมร่วง

วิธีแก้ผมร่วงเป็นเพียงขั้นตอนช่วยลดอาการผมร่วง หรือวิธีรักษาผมร่วงได้เบื้องต้นเท่านั้น สำหรับผู้ที่ขาดความมั่นใจหรืออาการผมร่วงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดผมร่วง รวมถึงวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด

อ้างอิง

Lindberg S. (2020, July 24). The Benefits of Hair Brushing and How to Do It Properly. Healthline. https://www.healthline.com/health/brushing-hair#benefits-of-brushing

Koyama T, Kobayashi K, Hama T, Murakami K, Ogawa R. (2016, January 25).  Standardized Scalp Massage Results in Increased Hair Thickness by Inducing Stretching Forces to Dermal Papilla Cells in the Subcutaneous Tissue. PMC PubMed Central. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4740347/

Watson S. (2017, October 17). Traction Alopecia. Healthline. https://www.healthline.com/health/traction-alopecia#:~:text=Traction%20alopecia%20is%20hair%20loss,stop%20pulling%20your%20hair%20back.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า