SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

20 ตุลาคม 2565

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ทำปากอิ่ม ปากกระจับ ยกมุมปาก ปากชุ่มชื้นได้ในเข็มเดียว

ฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปาก เป็นการฉีดฟิลเลอร์ตำแหน่งหนึ่งที่เป็นหัตถการเพื่อความสวยความงามอย่างหนึ่ง โดยการฉีดสารเติมผิวเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้ผิวริมฝีปากที่หย่อนคล้อยเป็นร่องนั้นตื้นขึ้น บางครั้งใช้เพื่อปรับทรงปากให้สวยงามได้รูปที่ต้องการ ฉีดปากกระจับ ฉีดให้ขอบปากชัด ทั้งยังทำให้ผิวปากที่แห้ง แตก ลอกเป็นขุย กลับนุ่มชุ่มชื้นขึ้นได้อีกด้วย

แต่แล้วฟิลเลอร์ปากนี้คืออะไร สารที่ใช้ฉีดมีอะไรบ้าง ต้องฉีดกี่ cc ราคาเท่าไหร่ อันตรายไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง บทความนี้ SkinX มีคำตอบ พร้อมแนะนำการเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์ ขั้นตอนการฉีด และการดูแลตนเองหลังฉีดให้ฟิลเลอร์สลายได้ช้าลง

SkinX แอปพลิเคชันที่ทำให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังกว่า 210 ท่าน ได้สะดวกและรวดเร็ว เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

ฉีดฟิลเลอร์ปาก (Lip Filler) คืออะไร?

 

การฉีดฟิลเลอร์ปาก (Lip Filler) คือการฉีดสารเติมผิวเข้าที่ริมฝีปาก ซึ่งฟิลเลอร์เพื่อฉีดที่ปากหรือที่ใบหน้าจะฉีดเข้าที่ใต้ผิวหนังตื้นๆเท่านั้น จึงเรียกว่า “Dermal Fillers” นิยมใช้ฉีดเพื่อให้ริมฝีปากเต่งตึง เรียบเนียน ปรับทรงให้เป็นไปตามที่ต้องการ เพิ่มความชุ่มชื้นช่วยเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้นได้ 

 

ซึ่งสารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์จะมีหลากหลายชนิด สามารถแบ่งเป็นประเภทของฟิลเลอร์ตามสารที่ฉีดได้ 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. Temporary Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว สารที่ใช้ฉีดจะเป็นสารที่ร่างกายสามารถสลายออกไปเองได้ในช่วงประมาณ 6 – 18 เดือน หรือสามารถฉีดสารอีกตัวเข้าไปเพื่อสลายฟิลเลอร์ได้ จึงเป็นฟิลเลอร์ปากที่ปลอดภัยมากที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือต้องหมั่นฉีดทุกปี ผลของการฉีดไม่ได้อยู่อย่างถาวร สารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว ตัวอย่างเช่น กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid), คอลลาเจน (Collagen), แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxylapatite) เป็นต้น แต่ฟิลเลอร์ตัวอื่นๆ นอกเหนือจากฟิลเลอร์กรดไฮยาลูรอนิค ยังไม่ผ่าน อย. ไทยในปัจจุบัน
  2. Semi-Permanent Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดกึ่งถาวร ที่สลายไปเองได้เช่นเดียวกับชนิดชั่วคราว แต่ต้องใช้เวลานานประมาณ 2 ปีขึ้นไป เนื้อแข็งกว่า เหมาะกับการเติมร่องที่ค่อนข้างลึกและต้องการให้คงรูป ผลการฉีดอยู่ได้นานกว่า แต่ก็อันตรายกว่าแบบชั่วคราว สารที่ใช้ฉีด เช่น โพลีแลคติคแอซิด (Poly Lactic Acid), และโพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide) ซึ่งฟิลเลอร์กึ่งถาวรเหล่านี้ ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย

  3. Permanent Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดถาวร เป็นชนิดที่แข็งตัวมากที่สุด ใช้เติมร่องลึก และจะคงอยู่ในผิวหน้าไปตลอด ไม่สามารถสลายได้ ผลการฉีดอยู่อย่างถาวร มีข้อเสียคือสารที่ฉีดจะไม่ปรับตามผิวหน้าที่เปลี่ยนไปตามอายุ ทำให้อาจเห็นเป็นก้อน และไม่สามารถฉีดสลายได้ ตัวอย่างสารที่ฉีด เช่น โพลีเมทิลเมทาคริลิค (Polymethylmethacrylate หรือ PMMA) แต่สารดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ไทย จึงไม่สามารถหาฉีดได้

 

“นอกจากการใช้สารสังเคราะห์แล้ว การฉีดปากยังมีอีกแบบที่เรียกว่า Fat transfer หรือการฉีดไขมัน ที่ให้ผลคล้ายกับฟิลเลอร์ชนิดถาวร แต่มีกระบวนการที่แตกต่างกัน การฉีดไขมันจะเป็นการฉีดเซลล์ไขมันที่มีชีวิตของผู้เข้ารับการรักษาเองเข้าสู่ผิวบริเวณที่หย่อนยาน มีริ้วรอย ทำให้เกิดกระบวนการคล้ายกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ร่างกายจะสร้างเส้นเลือดมาเชื่อมกับไขมันเพื่อทำให้ไขมันกลายเป็นเนื้อเยื่อหนึ่งของผิวหนังบริเวณดังกล่าว แต่ก็มีข้อเสียคือแก้ไขได้ยาก และไม่เหมาะกับการนำมาฉีดเป็นฟิลเลอร์ปากเท่าใดนัก เพราะทำให้ปากบวมช้ำมากหลังฉีด เจ็บกว่าการฉีดฟิลเลอร์อีกทั้งยังแก้ไขเรื่องปากแห้งเป็นขุยได้ไม่ดีเท่ากรดไฮยาลูรอนิคอีกด้วย”

ซึ่งการฉีดฟิลเลอร์ปาก จะนิยมใช้เป็นฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว และสารที่นิยมใช้ที่สุดคือกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid หรือ HA) เนื่องจากร่องบริเวณปากมักไม่ลึกขนาดที่ต้องใช้ฟิลเลอร์แบบกึ่งถาวร หรือแบบถาวร อีกทั้งในปัจจุบันไม่นิยมใช้ฟิลเลอร์จากสารตัวอื่นๆ นอกจากกรดไฮยาลูรอนิคอีกต่อไป เนื่องจากอันตราย และให้ผลที่ไม่ดีเท่ากับกรดไฮยาลูรอนิคนั่นเอง

 

เนื้อฟิลเลอร์จากกรดไฮยาลูรอนิคนั้นนิ่มแต่คงตัว ฉีดแล้วดูเป็นธรรมชาติ ถ้าไม่ชอบผลการรักษา สามารถฉีดสลายได้ง่าย ฉีดซ้ำได้ โดยที่ไม่เป็นอันตราย ผลข้างเคียงต่ำมากถึงไม่มีเลย  โอกาสแพ้ต่ำ เพราะเป็นสารที่อยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้วนั่นเอง

 

ตัวอย่างยี่ห้อฟิลเลอร์ที่นิยมนำมาฉีดฟิลเลอร์ปาก และผ่านองค์การอาหารและยาของทั้งไทยและอเมริกาแล้ว ได้แก่

 

  • Juvederm – เนื้อฟิลเลอร์อุ้มน้ำได้ดี ยืดหยุ่นตามกล้ามเนื้อที่ขยับ ทำให้ดูเรียบเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นก้อน ทั้งยังมียาชาผสม ทำให้รู้สึกเจ็บน้อยลงขณะฉีดและหลังฉีด
  • Restylane – เป็นฟิลเลอร์ที่ออกแบบมาเพื่อฉีดฟิลเลอร์ปากโดยเฉพาะ เนื้อเนียนละเอียด คงตัวได้ดี เสริมให้ปากอวบอิ่มและชุ่มชื้นมากยิ่งขึ้น
  • Belotero – เป็นฟิลเลอร์ที่คงตัวมาก และความปลอดภัยสูง สามารถใช้ฉีดเสริมกระดูกได้ ทั้งยังมีหลายรุ่นให้เลือกฉีดตามตำแหน่งที่เหมาะสมอีกด้วย

 

นอกจากฟิลเลอร์เหล่านี้แล้ว ฟิลเลอร์มียี่ห้ออะไรอีกบ้างที่ผ่านอย.ไทยแล้ว? : รวมทุกยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ผ่าน อย. ต้องรู้! ก่อนสวย

ทำไมถึงต้องฉีดฟิลเลอร์ที่ปาก?

 ฉีดปากกระจับ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตสารบางตัวได้ลดลง อย่างเช่นคอลลาเจน กรดไฮยาลูรอนิค หรือไฟเบอร์ต่างๆ ทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อย ที่ผิวหนังบริเวณปากก็เช่นกัน เมื่ออายุมากขึ้น ผิวไม่เต่งตึง ริมฝีปากบางลง ปากแห้งได้ง่ายขึ้น ผิวหนังอุ้มน้ำได้น้อยลงจนย่นเป็นร่อง แห้งลอกเป็นขุย ส่งผลให้ปากดูสุขภาพไม่ดี และทำให้ดูอายุมากขึ้นด้วย

 

ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปาก ฟิลเลอร์ที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิคจะทำให้ปากกลับมาเต่งตึง ร่องลึกที่ริมฝีปากหายไป ขอบปากชัดขึ้น และช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้นขึ้น

 

นอกจากแก้ไขปากหย่อนเป็นร่องแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อปรับทรงปากให้ได้รูปที่ต้องการมากขึ้นได้ อย่างการฉีดปากให้อวบอิ่ม การทำปากกระจับ หรือฉีดยกมุมปาก ช่วยสร้างความสวยงาม เพิ่มความมั่นใจให้ผู้เข้ารับการรักษาได้

 

ทั้งนี้ผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ปากจะต้องมีความเข้าใจเรื่องฟิลเลอร์ในระดับหนึ่ง และต้องคาดหวังผลลัพธ์อย่างเหมาะสม เนื่องจากฟิลเลอร์ไม่สามารถแก้ไขทรงปากได้ในทุกกรณี หากลักษณะทรงปากเดิมไม่เอื้อให้แก้ไขเป็นทรงใหม่ หรือมีพังผืดที่ตึงรั้งบริเวณริมฝีปาก ก็อาจจะไม่สามารถทำให้ปากเป็นไปตามทรงที่ต้องการได้

 

นอกจากฟิลเลอร์ปากแล้ว ในปัจจุบันยัง นิยมฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งอื่นๆ เพื่อปรับโครงสร้างใบหน้า ลดรอยเหี่ยวย่น ทำผิวให้เรียบเนียน โดยตำแหน่งที่นิยมฉีดกัน มีดังนี้

 

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากช่วยในเรื่องอะไรบ้าง?

การฉีดฟิลเลอร์ปากช่วยให้

  • ทรงปากสวยงามมากขึ้น แก้ไขทรงปากให้สมมาตร หรือเปลี่ยนทรงปากเดิม อย่างฉีดปากกระจับ ฉีดปากสายฝอ และยกมุมฉีดปากเกาหลี หรือทรงอื่นๆ ตามต้องการ

  • ปรับขนาดริมฝีปากให้หนาขึ้น ในกรณีที่ปากเดิมบางอยู่แล้ว หรือปากบางลงตามอายุที่มากขึ้น

  • ทำปากทรงกระจับได้โดยไม่ต้องผ่าตัดปากที่เสี่ยงเกิดพังผืดและรอยแผลเป็น ทั้งยังหายช้ากว่าการฉีดฟิลเลอร์มาก

  • ขอบปากชัดขึ้น

  • ริมฝีปากเต่งตึง เรียบเนียน อิ่มน้ำ

“รูปปากแบบไหนสวย? ลักษณะปากที่กำลังนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบันจะมี 2 แบบหลัก คือ ‘ปากสายฝอ’ จะเน้นให้ริมฝีปากหนา อวบอิ่ม ฉ่ำน้ำ อีกแบบหนึ่งคือ ‘ปากเกาหลี’ จะมีลักษณะปากเป็นกระจับ มุมปากยกเล็กน้อย ทำให้ดูเหมือนกำลังยิ้มอยู่ตลอดเวลา”

ฉีดฟิลเลอร์ปาก 1cc กับ 2cc ต่างกันอย่างไร แบบไหนดีกว่ากัน?

ฉีดฟิลเลอร์ปาก 1 cc กับ 2 cc ต่างกันที่ความหนาของริมฝีปากหลังฉีด โดยปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ฉีดเพียง 1 cc เท่านั้น เนื่องจากเป็นปริมาณที่พอเหมาะที่จะเพิ่มความเต่งตึงหรือปรับทรงปากให้ได้ตามที่ต้องการ

การฉีดฟิลเลอร์ปาก 2 cc จะใช้ในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษาอยากให้ริมฝีปากหนาเป็นทรงอวบอิ่มที่นิยมทำกันในฝั่งตะวันตก หรือริมฝีปากเดิมอาจจะบางมาก ทั้งนี้การฉีดปาก 2 cc อาจมากเกินไปในบางกรณี แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำปริมาณที่เหมาะสมให้กับผู้เข้ารับการรักษาด้วยตนเอง

ฟิลเลอร์ 1 cc คืออะไร  พอหรือไม่: ฟิลเลอร์ 1 cc เหมาะกับการฉีดจุดไหนได้บ้าง ช่วยปรับรูปหน้าได้มากน้อยแค่ไหน?

ฉีดฟิลเลอร์ปาก อันตรายไหม?

ผลเสียของการฉีดปาก

ในกรณีที่ใช้กรดไฮยาลูรอนิคฉีดเป็นฟิลเลอร์ปากนั้นปลอดภัยมาก เนื่องจากโอกาสแพ้ต่ำ ทั้งยังฉีดสลายได้หากได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีหรือเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหลังฉีด

 

ทั้งนี้ ฟิลเลอร์ปากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากบริเวณปากเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดกระจุกตัวอยู่ในบางส่วนของริมฝีปาก หากฉีดโดยแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือฉีดกับคลินิกเถื่อน อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่อันตรายได้

 

หากฉีดผิดที่ ฟิลเลอร์ปากอาจเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือด จนทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนไม่มีเลือดมาเลี้ยงและเกิดเป็นเนื้อตายได้ หรือถ้าแขนงหลอดเลือดที่ฟิลเลอร์ปากไปอุดตันอยู่ เป็นแขนงเดียวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณดวงตา ก็อาจทำให้ตาบอดได้ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก

 

ดังนั้นการเลือกแพทย์ที่น่าเชื่อถือในการฉีดฟิลเลอร์ปากเป็นเรื่องสำคัญมาก การฉีดกับแพทย์ที่ประสบการณ์สูง จะทำให้มีความเสี่ยงฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดลดลง และถึงแม้ว่าจะเกิดความผิดปกติดังกล่าวขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะสามารถฉีดสารไฮยาโลรูนิเดส (Hyaluronidase) เพื่อ สลายฟิลเลอร์ ปากกรดไฮยาลูรอนิคที่ไปอุดตันหลอดเลือดได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา

 

อ่านเพิ่มเติม ฟิลเลอร์อันตรายไหม? : ฟิลเลอร์อันตรายไหม 

ใครบ้างที่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ปาก?

 

  • ผู้ที่อยากปรับรูปปากให้สวยงามมากขึ้น

  • ผู้ที่ปากไม่เท่ากัน ไม่สมมาตร

  • ผู้ที่ปากเล็ก ปากบางเกินไป

  • ผู้ที่ปากบนและปากล่างหนาบางไม่สมดุลกัน

  • ผู้ที่ปากเป็นร่อง ดูไม่สวยงาม สุขภาพไม่ดี

  • ผู้ที่ปากแห้ง เป็นร่อง เป็นขุย ลอกตลอดเวลา การฉีดฟิลเลอร์สามารถทำให้ปากนุ่มและชุ่มชื้นขึ้นได้

  • ผู้ที่อยากเสริมโหงวเฮ้ง โดยแก้ไขรูปปากให้ตรงกับตำราโหงวเฮ้งมากขึ้น

 

แก้ไขรอยเหี่ยวย่น ฟิลเลอร์หรือโบท็อก ดีกว่ากัน? : Filler กับ Botox ต่างกันอย่างไร

ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์?

 

  • ผู้ที่เคยผ่าตัดปากมาก่อนในบางกรณี หากพังผืดจากแผลรั้งริมฝีปากมากเกินไป จะไม่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้ หรือฉีดได้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ

  • ผู้ที่กำลังใช้ยา หรือเป็นโรคที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด จนทำให้เลือดหยุดยาก หรือทำให้เกิดรอยช้ำได้ง่ายกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น กำลังใช้ยาแก้ปวดทั้งแอสไพรินและ NSAIDS ยาลดการแข็งตัวของเลือด รวมถึงวิตามินหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น วิตามินอี กระเทียม ขิง แปะก๊วย เป็นต้น

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร

  • ผู้ที่กำลังเป็นโรคเริม หรืองูสวัด

  • ผู้ที่ผิวหนังบริเวณปากหรือบริเวณใกล้เคียงกำลังอักเสบหรือติดเชื้ออยู่ ควรรักษาให้หายก่อนฉีดฟิลเลอร์ปาก

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชา

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเป็นคีลอยด์ได้ง่าย

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้กรดไฮยาลูรอนิค

“การแพ้ฟิลเลอร์ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างน้อยหากใช้ฟิลเลอร์กรดไฮยารูลอนิคที่มีคุณภาพ แต่ก็สามารถพบได้หากร่างกายแพ้สารตัวนี้อยู่แล้ว ผู้ที่แพ้จะเกิดลมพิษรุนแรงหลังฉีดไม่นาน หากมีอาการดังกล่าวก็ควรติดต่อแพทย์ที่ฉีดให้เพื่อรักษาต่อไป ส่วนในกรณีที่ฉีดไปนานหลายเดือนหรือเป็นปีแล้วเกิดอาการบวมแดง อาจเกิดจากการแพ้ฟิลเลอร์เมื่อฟิลเลอร์เสื่อมอายุ หรืออาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ฉีดฟิลเลอร์เองก็ได้ หากมีอาการดังกล่าวก็ควรพบแพทย์เพื่อฉีดสลายต่อไป”

ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บมั้ย

การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

  1. พูดคุยและประเมินลักษณะริมฝีปากกับแพทย์ แพทย์จะประเมินลักษณะของริมฝีปากว่าสามารถทำเป็นทรงตามที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการได้หรือไม่ พร้อมกับถ่ายภาพปากไว้เพื่อให้เปรียบเทียบกับปากหลังจากฉีด หากพอใจกับความเป็นไปได้หลังฉีด แพทย์จะนัดวันสำหรับฉีดฟิลเลอร์ปาก หรืออาจฉีดในวันที่ประเมินเลยก็ได้เช่นกัน

  2. แจ้งประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และการตั้งครรภ์กับแพทย์ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก ฟิลเลอร์ในส่วนอื่นๆ หรือหัตถการใดๆ ก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง

  3. ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก 1 สัปดาห์ ควรงดยาทาที่มีผลต่อการผลัดเซลล์ผิว และให้หยุดยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด พร้อมทั้งยาแก้ปวดทั้งแอสไพรินและ NSAIDS หากเป็นยาที่แพทย์จ่ายให้ทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนหยุดยา

  4. ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก 2 – 3 วัน ให้งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็ม

  5. ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดกิจกรรมที่ทำให้เลือดสูบฉีด อย่างการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่

ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

  1. ฆ่าเชื้อในบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์ปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

  2. ใช้ยาชาเพื่อทำให้รู้สึกไม่เจ็บบริเวณที่ฉีด ส่วนใหญ่จะใช้ยาชาแบบทา หากแพ้ยาชาแพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้ยาฉีดที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทโดยเฉพาะ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ เกิดผลคล้ายกับการใช้ยาชา หลังจากใช้ยาชาแล้ว ทิ้งไว้ 15 – 30 นาทีเพื่อให้ยาออกฤทธิ์

  3. ฉีดฟิลเลอร์ปากด้วยเข็มขนาดเล็กตามปริมาณ และตำแหน่งที่กำหนดไว้ ขั้นตอนนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แพทย์จะฉีดที่ความลึกประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เพื่อไม่ให้ตื้นเกินไปจนฟิลเลอร์ปูด หรือลึกเกินไปจนฟิลเลอร์ย้อนเข้าเส้นเลือด

  4. แพทย์จะทำความสะอาดแผลอีกครั้ง ไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลจากการฉีดฟิลเลอร์ปากมีขนาดเล็กมาก

  5. พักฟื้นสักครู่ พร้อมกับใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวมแดง จากนั้นจึงสามารถกลับบ้านได้

ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปากทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรืออาจนานถึง 2 ชั่วโมงแล้วแต่กรณี

 

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ดูแลอย่างไร?

หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก

หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 

1.หลังฉีดฟิลเลอร์ปากทันที

 

  • ไม่ควรทานอาหาร เพราะอาจกัดริมฝีปากโดยไม่ได้ตั้งใจเนื่องจากยาชายังไม่หมดฤทธิ์

  • ควรประคบน้ำแข็งให้ได้มากที่สุด เพื่อให้อาการบวมแดงบรรเทาลง

 

2.ช่วง 2 – 3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

  • หลีกเลี่ยงการจับริมฝีปากโดยไม่จำเป็น ไม่ควรกด นวด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนและผิวช้ำกว่าเดิมได้

  • ไม่ควรถูกแสงแดด เนื่องจากผิวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ

  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลกับระบบเลือด

 

3.ช่วง 4 – 5 วันแรก หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ

 

4.ช่วง 1 อาทิตย์แรกหลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

  • ยังไม่ควรใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งยังไม่ควรออกกำลังกายจนเลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ

  • ไม่ควรทานอาหารสุกดิบ และนมวัว เพราะทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อ

  • ไม่ควรทานอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เพราะจะไปกระตุ้นการอักเสบ

 

5.ช่วง 1 เดือนหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก ไม่ควรทำเลเซอร์ทุกชนิด

 

6.ไม่ควรอยู่ในที่ร้อน อย่างห้องซาวน่า ร้านอาหารที่มีเตาร้อน หรือทานของร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวผิดปกติ และเสื่อมได้ไว

หลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก อาจจะรู้สึกเจ็บ ปวด หรือคัน หลังยาชาหมดฤทธิ์ และอาการดังกล่าวจะหายไปเองประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นปากจะบวมและแดงอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนจะหายเป็นปกติ ปากจะได้รูปตามที่วางแผนไว้กับแพทย์ หากอาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้นหรือไม่หายบวม ควรปรึกษาแพทย์ประจำสถานพยาบาลที่รักษาให้เร็วที่สุด

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดฟิลเลอร์ปาก

 

  • อาการบวมแดงช้ำ เจ็บ คัน เลือดไหลจากรอยเข็มที่ฉีดฟิลเลอร์ปาก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนจนเห็นจากภายนอก เกิดจากฉีดฟิลเลอร์ตื้นเกินไป

  • ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด จนส่งผลให้เกิดเนื้อตายหรือตาบอด

  • ติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์

  • แพ้ฟิลเลอร์

  • ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อในบริเวณที่ไม่ต้องการ ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี

 

ทั้งนี้ โอกาสเกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงดังกล่าว สามารถทำให้ลดลงได้โดยการเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน หรือปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ที่ปากราคาเท่าไหร่?

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ราคาจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ใช้ ปริมาณที่ฉีด และค่าบริการของสถานพยาบาลนั้นๆ ปกติจะคิดราคาตามปริมาณที่ฉีดเป็น cc. ส่วนใหญ่ฉีดปาก 1 cc. ราคาจะอยู่ที่ 6,000 – 20,000 บาท

 

เนื่องจากฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดจะราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ราคาการฉีดต่อครั้งจึงสูงตาม หลายคนอาจเคยเห็นโปรโมชั่นการฉีดฟิลเลอร์ปากราคาเพียงไม่กี่พัน ในกรณีนี้ให้ระวังเรื่องฟิลเลอร์ปลอม เนื่องจากฟิลเลอร์ปลอมเหล่านี้จะมีราคาถูก แต่สารที่นำมาฉีดอาจเป็นสารอันตราย ทำให้เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดได้มาก โดยเฉพาะการติดเชื้อบริเวณปาก ฟิลเลอร์อุดตัน หรือฟิลเลอร์เป็นก้อน

 

“ดูอย่างไรว่าเป็นฟิลเลอร์ปลอม? ก่อนการฉีด ควรแน่ใจว่าแพทย์เปิดฟิลเลอร์กล่องใหม่ทุกครั้ง และควรขอดูเอกสารกำกับยาจากกล่องฟิลเลอร์ ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องเป็นภาษาไทยเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นฟิลเลอร์ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของไทย เพราะหากไม่มีเอกสารกำกับยาภาษาไทยอาจจะเป็นฟิลเลอร์ปลอมหรือฟิลเลอร์หิ้วได้ อีกทั้งสารที่ระบุในเอกสารกำกับยาต้องเป็นกรดไฮยารูลอนิคเท่านั้นจึงจะฉีดเป็นฟิลเลอร์ได้อย่างปลอดภัย”

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บไหม?

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บไหม? ฉีดฟิลเลอร์ปากไม่เจ็บ หรืออาจจะเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากก่อนการฉีดแพทย์จะใช้แปะยาชา และมียาชาผสมอยู่ในฟิลเลอร์บางยี่ห้ออยู่แล้ว ดังนั้นระหว่างทำจะไม่รู้สึกเจ็บ จะรู้สึกตึงๆ ที่ปากเท่านั้น หลังจากยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกเจ็บตึงและคัน แต่อาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2 วัน หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นเลยก็ควรไปพบแพทย์

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากบวมกี่วัน?

ฉีดฟิลเลอร์ปาก จะบวมมากที่สุดประมาณ 2 – 3 วันแรก จากนั้นอาการบวมจะค่อยๆดีขึ้น และหายไปภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ถ้าอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น และยังคงบวมมากแม้ผ่านไป 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์เนื่องจากอาจมีความผิดปกติอื่นเกิดขึ้น

 

ฟิลเลอร์ปาก อยู่ได้นานแค่ไหน?

ฟิลเลอร์ปากที่เป็นกรดไฮยารูลอนิคจะอยู่ได้นานประมาณ 6 – 18 เดือน ก่อนที่จะหายไป ซึ่งระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หากเป็นผู้ที่มีระบบเผาผลาญดี ฟิลเลอร์ก็จะยิ่งสลายเร็ว หรือถ้าทานของร้อนบ่อยๆ ปล่อยให้ริมฝีปากถูกความร้อนมากๆ ฟิลเลอร์ก็จะยิ่งสลายไปเร็ว

 

ข้อควรระวังหลังฉีดฟิลเลอร์ห้ามกินอะไร?

เพื่อให้ฟิลเลอร์ปากเข้าที่เร็ว หายอักเสบไว ไม่เสี่ยงติดเชื้อ และคงอยู่ได้นาน ควรงดอาหารบางชนิด ดังนี้

  • อาหารร้อน และอาหารที่ต้องทานหน้าเตาร้อน

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

  • ของหมักดอง อาหารรสจัด ทั้งเปรี้ยว เค็ม และหวาน ควรงดในช่วงสัปดาห์แรก

  • นมวัว และอาหารสุกดิบ ควรงดในช่วงสัปดาห์แรกเช่นกัน

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากทาลิปได้ไหม?

ฉีดฟิลเลอร์ปากกี่วันทาลิปได้? หลังฉีดฟิลเลอร์ปากยังไม่ควรทาลิปสติก ทั้งที่เป็นลิปมันและลิปสี เนื่องจากเสี่ยงทำให้แผลติดเชื้อ และเกิดการอักเสบมากกว่าเดิม ดังนั้นไม่ควรทาลิปอย่างน้อยที่สุด 24 ชั่วโมงหลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

นอกจากนี้ลิปสติกที่เป็นสียังเช็ดออกได้ยาก ขณะเช็ดอาจจะไปคลึง นวดริมฝีปากจนทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนหรือกระตุ้นให้ปากอักเสบได้ ทางที่ดีจึงควรงดการทาลิปสีประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก

 

ปากหนาฉีดปากได้ไหม?

ปากหนาก็สามารถฉีดปากได้ ส่วนใหญ่นิยมฉีดเพิ่มเพื่อปรับรูปปากให้เป็นปากกระจับ หรือยกมุมปากขึ้น หากสนใจฉีดฟิลเลอร์ปากสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนได้ เพื่อหารูปปากที่เหมาะสม และประเมินปริมาณที่ควรฉีดต่อไป

สรุป

 

การฉีดฟิลเลอร์ปากสามารถทำได้ทั้งแก้ไขริมฝีปากเหี่ยวเป็นร่อง ปากไม่สมมาตร ปากบางเกินไป หรือถ้าปากไม่ได้รูปที่ต้องการก็สามารถแก้ไขได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นหัตถการที่ค่อนข้างปลอดภัยหากทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะสารที่ฉีดไม่อันตราย หากผิดพลาดสามารถฉีดสารเพื่อสลายฟิลเลอร์ได้ 

 

ทั้งนี้ การทำฟิลเลอร์ก็มีความเสี่ยง ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ และไม่ได้สามารถแก้ไขรูปปากให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทุกกรณี ดังนั้นก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ปากสวยๆ หรือกำลังคิดว่าควรฉีดปากที่ไหนดี ก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Chique. (2018, March 9). Semi Permanent Fillers Explained. Chique.

www.chiquesolutions.com.au/semi-permanent-fillers-explained/

Cleveland Clinic medical professional. (2021, December 1). Lip Fillers. Cleveland Clinic.
        https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22133-lip-fillers

Gantous, A. Temporary vs. Permanent Dermal Fillers: Which One Is the Right Choice for You?.
        Andres Gantous. https://www.torontofacialplastic.com/blog/temporary-vs-permanent-dermal-fillers/

What types of dermal fillers are available?. Connect. https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/dermal-fillers/types#:~:text=Polymethyl%2Dmethacrylate%20microspheres%20(PMMA)&text=When%20a%20more%20permanent%20solution,years%20in%20permanent%20surgical%20implants.

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า