SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

4 พฤศจิกายน 2565

Filler กับ Botox คืออะไร? แก้ไขริ้วรอยต่างกันอย่างไรบ้าง

filler กับ botox ต่างกันอย่างไร

ฟิลเลอร์ กับ โบท็อกซ์ ต่างกันอย่างไร?

โบท็อกซ์และฟิลเลอร์ (Botox and Filler) เป็นหัตถการเพื่อแก้ไขริ้วรอยทั้งคู่ แต่นอกจากจะใช้ฉีดใต้ผิวหนังเพื่อลดปัญหาริ้วรอยแล้ว หัตถการทั้งสองอย่างนี้มีจุดที่เหมือนกันอีกค่อนข้างน้อย

ในบทความนี้ SkinX จะมาอธิบายเกี่ยวกับ Filler กับ Botox ว่าหัตถการทั้งสองอย่างคืออะไร แก้ไขปัญหาริ้วรอยได้อย่างไร มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง พร้อมทั้งเปรียบเทียบกันว่าฟิลเลอร์และโบท็อกซ์มีการใช้ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

SkinX แอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ที่ทำให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ได้ทุกที ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทาง ดาวน์โหลดวันนี้ ปรึกษาแพทย์ในครั้งแรกได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย!

 

ทำความรู้จัก Filler ฟิลเลอร์คืออะไร?

 

ฟิลเลอร์ (Filler) คือสารเติมเต็มที่ใช้ฉีดเข้าสู่ใต้ผิวหนัง เพื่อแก้ปัญหาริ้วรอย ผิวหย่อนยาน หลุมรอยแผลเป็นปรับทรงหน้าและเครื่องหน้า อีกทั้งยังทำให้ใบหน้าชุ่มชื้นขึ้นได้ด้วย

 

โดยสารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์ จะเป็นสารที่มีชื่อว่า “กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid)” ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาเลียนแบบกรดไฮยาลูโรนิกที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนังคนเราอยู่แล้ว ทำให้การฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเป็นฟิลเลอร์นั้นค่อนข้างปลอดภัย เสี่ยงแพ้ได้น้อย ทั้งยังสลายไปเองได้โดยไม่ทิ้งสารตกค้างไว้ในผิวด้วย

 

การฉีดฟิลเลอร์จะไม่ได้ให้ผลการรักษาที่ถาวร เนื่องจากร่างกายของเราจะสลายฟิลเลอร์ไปเอง จนทำให้ผลการรักษาหายไปภายในเวลาประมาณ 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นอยู่กับพันธะในฟิลเลอร์ที่ฉีดไป และระบบเผาผลาญ (Metabolism) ในร่างกาย

 

นอกจากกรดไฮยาลูโรนิกแล้ว สารเติมผิวอย่างฟิลเลอร์ยังเป็นสารตัวอื่นๆได้อีก เช่น Calcium hydroxylapatite, Polyalkylimide, Polylactic acid, และ Polymethyl-methacrylate microspheres (PMMA) ซึ่งสารเหล่านี้ บางตัวให้ผลการรักษาที่นานกว่าฟิลเลอร์กรดไฮยาลูโรนิก เพราะร่างกายสามารถย่อยสลายได้ไม่ดี ทำให้ผลการรักษาอาจอยู่ได้นานมากกว่า 2 ปี 

 

แต่สารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์เหล่านี้ไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า ทั้งยังสามารถทิ้งสารตกค้างไว้ในร่างกายได้ สารบางตัวก็ไม่สามารถสลายไปได้หมด ทำให้เมื่อต้องการแก้ไขผลการรักษา จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำออกมาเท่านั้น จึงจะเห็นได้ว่าฟิลเลอร์กรดไฮยาลูโรนิกที่สลายไปเองได้นั้น ปลอดภัยกว่ามาก

“ทำไมจึงต้องแก้ผลการรักษาจากการฉีดฟิลเลอร์? เมื่ออายุมากขึ้น โครงสร้างผิวหนังเปลี่ยนไป ทำให้ผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเก่า อีกทั้งกระดูกใบหน้าบางส่วนยังสลายไปจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ในหน้าของเราเปลี่ยนไปในทุกๆวัน หากใช้ฟิลเลอร์ที่เป็นแบบถาวรหรือกึ่งถาวร (Permanent and Semi Permanent Filler) เมื่อผิวหน้าของเราเปลี่ยนแปลง แต่ก้อนฟิลเลอร์ที่ฉีดไปยังอยู่แบบเดิม จะทำให้ผลการรักษาไม่เป็นธรรมชาติ เห็นเป็นก้อน หรือผิดรูปจนไม่สวยงามได้”

ข้อดีของการฉีดฟิลเลอร์ คือสามารถแก้ไขปัญหาริ้วรอย และสามารถปรับทรงหน้าหรือเครื่องหน้า ทั้งหน้าผาก ขมับ คาง โหนกแก้ม หรือจมูกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด 

อีกทั้งผลการรักษาที่ไม่อยู่ถาวร ยังทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษาดูเป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อฟิลเลอร์เริ่มสลายและกลับมาเติมฟิลเลอร์ที่สถานพยาบาล แพทย์จะสามารถปรับวิธีการฉีดให้เข้ากับใบหน้าในช่วงนั้นๆ ได้

นอกจากนี้ ฟิลเลอร์ยังไม่ทิ้งสารตกค้างไว้หลังผลการรักษาหายไป และหากไม่พอใจผลการรักษา สามารถฉีดสลายฟิลเลอร์เพื่อทำให้ผิวกลับมาเป็นแบบเดิมได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเลย

 

Filler ช่วยในเรื่องอะไรบ้าง?

 โบท็อกซ์ฟิลเลอร์

  • แก้ปัญหารอยเหี่ยวย่นที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างผิวเปลี่ยนไปตามอายุ

  • แก้ปัญหาร่องแก้ม ถุงใต้ตา และตาลึกโหลจากสาเหตุกระดูกใต้เบ้าตาค่อยๆ น้อยลงจากอายุที่มากขึ้น สามารถฉีดฟิลเลอร์เพื่อทดแทนกระดูกส่วนที่หายไปได้

  • ปรับโครงหน้า และเครื่องหน้า อย่างเช่นการทำปากกระจับ เพิ่มสันจมูก ฉีดปลายจมูก เพิ่มคางสำหรับผู้ที่มีคางถอย เพิ่มโหนกแก้มให้ใบหน้ามีมิติ เป็นต้น

  • แก้ปัญหารอยดำใต้ดวงตา

  • เติมแผลเป็นร่องลึกให้ผิวเรียบเนียน โดยเฉพาะปัญหารอยแผลเป็นจากสิวอย่างหลุมสิว

 

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีด Filler

 

  • รู้สึกเจ็บ ปวด แสบ คัน ในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์

 

  • ผิวหนังบริเวณที่ฉีด และบริเวณใกล้เคียงบวม แดง ช้ำ

 

  • ติดเชื้อบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์

 

  • แพ้ฟิลเลอร์หรือแพ้ยาชาจนผิวหนังบวมแดง เกิดผื่น สิว หรือถุงน้ำพุพอง

 

  • ดวงตาผิดปกติ ตาแห้ง ระคายเคืองตา ปวดตา ตาบวม ไปจนถึงมองเห็นไม่ชัด การมองเห็นแย่ลง หรือสูญเสียการมองเห็น

 

  • ใบหน้าชา

 

  • กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ หรืออ่อนแรง

 

  • วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย

 

  • ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่ออื่น

 

  • ฟิลเลอร์เป็นก้อน

 

  • ผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้กับแพทย์

 

ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของการฉีดฟิลเลอร์บางอย่าง เช่นการสูญเสียการมองเห็นนั้นค่อนข้างอันตราย ดังนั้นผู้ที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจ และเลือกรักษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริงเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

ฟิลเลอร์ฉีดส่วนไหนได้บ้าง? อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ในแต่ละส่วน :

 

ทำความรู้จักกับ Botox โบท็อกซ์คืออะไร?

ข้อเสียโบท็อกซ์ โบท็อกซ์ (Botox) คือสารที่ใช้ฉีดเข้าสู่ผิวหนังเพื่อควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีดทำงานได้น้อยลง มีจุดประสงค์เพื่อทำให้รอยเหี่ยวย่นลดลง และลดขนาดกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าว

โดยสารที่ใช้ฉีดเป็นโบท็อกซ์ เป็นเอนไซม์ชื่อว่าโบทูลินั่มท็อกซินเอ ( Botulinum toxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่ได้มาจากแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) การทำโบท็อกซ์ จะทำโดยการนำสารพิษดังกล่าวมาเจือจางและทำให้บริสุทธิ์ เมื่อฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ สารพิษดังกล่าวจะไปจับกับเส้นประสาท และลดการทำงานของเส้นประสาทภายในกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อขยับได้น้อยลง หรือมีขนาดที่เล็กลงนั่นเอง

ผลการรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์ไม่ได้อยู่อย่างถาวรเช่นกัน แต่จะอยู่ได้ประมาณ 3 – 6 เดือน ก่อนที่กล้ามเนื้อจะกลับมาเป็นปกติ แต่แพทย์ไม่แนะนำให้เติมโบท็อกซ์บ่อยจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายร่างกายต่อต้านเชื้อโบท็อกซ์ จนไม่สามารถเห็นผลการรักษาหลังฉีดได้

ข้อดีของการฉีดโบท็อกซ์ คือโบท็อกซ์สามารถช่วยลดการเกิดริ้วรอยที่เกิดจากการแสดงอารมณ์ได้ อีกทั้งยังสามารถแก้ไขกรามที่ใหญ่เกินความต้องการได้โดยไม่ต้องผ่าตัดอีกด้วย

 

“กรามใหญ่ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งกระดูกกราม ไขมัน และกล้ามเนื้อ การฉีดโบท็อกซ์สามารถช่วยได้เพียงลักษณะกรามใหญ่ที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณกรามเท่านั้น”

Botox ช่วยในเรื่องอะไรบ้าง?

 

โบท็อกซ์สามารถช่วยลดการเกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าที่เกิดจากการแสดงอารมณ์ที่ต้องขยับกล้ามเนื้อ อย่างการยิ้ม การหรี่ตา หยีตา หรือการยักคิ้วและขมวดคิ้วจนทำให้เกิดรอยตีนกา รอยย่นเลข 11 บริเวณหว่างคิ้ว รอยขีดบนหน้าผาก รอยร่องแก้ม และอื่นๆ 

นอกจากนี้ โบท็อกซ์ยังสามารถช่วยลดขนาดกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ โดยบริเวณที่นิยมฉีดกันคือบริเวณสันกราม ทำให้หน้าเล็ก และหน้าเรียวขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

แต่โบท็อกซ์ไม่สามารถช่วยลดรอยเหี่ยวย่นได้ในกรณีที่รอยเหี่ยวย่นเกิดจากโครงสร้างของผิวหนัง และกระดูกใบหน้าเปลี่ยนแปลง จากอายุ แสงแดด และปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เนื่องจากโบท็อกซ์ออกฤทธิ์กับกล้ามเนื้อเท่านั้น และจะไม่ออกฤทธิ์ช่วยแก้ปัญหาใดๆ เกี่ยวกับผิวหนัง

 

“ปัจจุบัน มีการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดเหงื่อด้วย ในผู้ที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ หรือเหงื่อออกรักแร้จนไม่มั่นใจในตัวเอง สามารถไปฉีดโบท็อกซ์ในบริเวณที่เหงื่อออกมากได้ เมื่อฉีดแล้ว โบท็อกซ์จะออกฤทธิ์กับเส้นประสาทต่อมเหงื่อ ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานได้น้อยลง และผลิตเหงื่อออกมาน้อยลง นอกจากนี้โบท็อกซ์ยังสามารถใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรค หรือรักษาโรคชั่วคราวได้ เช่น โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia), ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder หรือ OAB) เป็นต้น”

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีด Botox

แพ้โบท็อกซ์

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดโบท็อกซ์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ได้แก่

 

  • เปลือกตาตก หรือคิ้วตก เนื่องจากจุดฉีดโบท็อกซ์ใกล้ดวงตามากเกินไป จนมีผลกับกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าว
  • กล้ามเนื้อใกล้เคียงอ่อนแรง เป็นอัมพาตชั่วคราว หรือรู้สึกแข็ง ตึง ขยับใบหน้าไม่ได้ตามปกติ

  • เกิดลมพิษ เป็นผื่น หรือรู้สึกคันในบริเวณที่ฉีดและบริเวณโดยรอบ

  • รู้สึกเจ็บปวดในบริเวณที่ฉีด มีอาการบวม แดง ช้ำ ร่วมด้วย

  • ปวดศีรษะ

  • ปากแห้ง ตาแห้ง

  • ตัวร้อน เป็นไข้

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • มีปัญหาเรื่องการกลืน การพูด หรือการหายใจ

  • มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี

  • เคืองตา หรือการมองเห็นผิดปกติ

  • การอักเสบและติดเชื้อ

 

ภาวะแทรกซ้อนจากโบท็อกซ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากผลของการฉีดโบท็อกซ์สามารถหายไปเองได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อโบท็อกซ์หมดฤทธิ์ กล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีดจะกลับมาเป็นปกติ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจะเป็นการติดเชื้อ ใบหน้าเบี้ยว หรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน การหายใจ และการมองเห็น ได้รับผลกระทบมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

 

ดังนั้นหากมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ขึ้นเรื่อยๆ หลังการฉีด เป็นหนอง มีปัญหากับการใช้ชีวิต หรือหน้าเบี้ยว ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาทางรักษาต่อไป

 

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดโบท็อกซ์มักเกิดจากการฉีดโบท็อกซ์ผิดตำแหน่ง หรือฉีดในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้มีผลกระทบกับเนื้อเยื่ออื่นๆ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากเกินพอดี ซึ่งภาวะแทรกซ้อนแบบนี้แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงเมื่อฉีดกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ แต่ภาวะแทรกซ้อนก็ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ จากทั้งความผิดพลาดของแพทย์ และการดูแลตัวเองหลังการรักษา

 

ส่วนวิธีการปฏิบัติตัวหลังการฉีดโบท็อกซ์ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

 

  • ไม่นวดคลึงบริเวณที่ฉีดโบท็อกซ์ เพื่อไม่ให้พิษโบท็อกซ์ไปออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อบริเวณข้างเคียงที่ไม่ต้องการฉีดโบท็อกซ์

  • หลังฉีดโบท็อกซ์ ควรขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดไปเรื่อยๆ เป็นเวลาประมาณ 30 – 60 นาทีเพื่อให้โบท็อกซ์ซึมเข้ากล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดได้ดีขึ้น

 

ความแตกต่างระหว่าง Filler กับ Botox

โบท็อกซ์ร่องแก้ม

โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ต่างกันอย่างไร? ผู้ที่กำลังต้องการรักษาปัญหาริ้วรอยบนใบหน้า มักจะลังเลว่าควรฉีดฟิลเลอร์ หรือฉีดโบท็อกซ์ดี เนื่องจากหัตถการทั้งสองอย่างสามารถรักษาริ้วรอยได้ทั้งคู่

ที่จริงแล้ว แม้ทั้งสองหัตถการจะสามารถรักษาปัญหาริ้วรอยได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเหมือนกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างสำคัญอยู่หลายประการ ดังนี้

 

1.วิธีการทำงานในการแก้ไขริ้วรอย

การแก้ไขริ้วรอยของหัตถการทั้งสองอย่าง มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน โบท็อกซ์จะไปออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อ ยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุของรอยเหี่ยวย่น ส่วนฟิลเลอร์จะทำงานโดยการไปเติมเต็มส่วนที่หายไป ทั้งคอลลาเจน อิลาสติน ไฟเบอร์ในผิวหนัง รวมถึงกระดูกที่หายไปด้วย

 

“ฟิลเลอร์สามารถฉีดเพื่อกดการทำงานของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เทคนิคการฉีดฟิลเลอร์กดกล้ามเนื้อ เรียกว่า ‘Myomodulation’ แต่การฉีดฟิลเลอร์แบบนี้ไม่ได้ส่งผลกับกล้ามเนื้อโดยตรงเหมือนกับโบท็อกซ์ แต่เป็นการขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อบางส่วนเท่านั้น แพทย์นิยมใช้เทคนิคนี้ในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มร่วมกับการฉีดโบท็อกซ์ ทำให้กล้ามเนื้อยังคงขยับได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

2.ต้นเหตุปัญหาริ้วรอยที่หัตถการแต่ละอย่างสามารถรักษาได้

 

ทั้งโบท็อกซ์และฟิลเลอร์ สามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอยได้เหมือนกัน แต่ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาจากสาเหตุที่ต่างกันโบท็อกซ์จะแก้ไขปัญหาริ้วรอยที่เกิดจากกล้ามเนื้อ โดยการออกฤทธิ์กับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำลายได้น้อยลง ส่วนฟิลเลอร์จะแก้ปัญหาริ้วรอยที่เกิดจากโครงสร้างผิวและกระดูกที่เปลี่ยนไป โดยการเติมเต็มส่วนที่หายไป ทำให้ผิวหนังกลับมาเต่งตึงได้ดังเดิม

 

“Fact : ร่องแก้ม เป็นปัญหาริ้วรอยอีกจุดหนึ่งที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการฉีดโบท็อกซ์ได้ เพราะการฉีดโบท็อกซ์ร่องแก้มจะทำให้มุมปากตก ยกยิ้มไม่ขึ้น หรือยิ้มเบี้ยวได้”

3.ข้อจำกัดในการรักษา

 

การฉีดฟิลเลอร์และโบท็อกซ์ มีข้อจำกัดในการรักษาที่ต่างกันไปตามตัวยาที่ใช้ฉีด และผลกระทบจากการรักษา โดยผู้ที่ไม่ควรฉีดฟิลเลอร์และโบท็อกซ์ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับตัวยา มีดังนี้

ผู้ที่ไม่ควรฉีดฟิลเลอร์

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร

  • ผู้ที่มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณผิวหนัง

  • ผู้ที่แพ้กรดไฮยาลูโรนิก หรือแพ้ยาชาในฟิลเลอร์บางรุ่น (Lidocaine)

  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และไม่สามารถหยุดยาที่ส่งผลกับการแข็งตัวของเลือดได้เนื่องจากปัญหาด้วยสุขภาพ

ผู้ที่ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์

 

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • ผู้ที่แพ้โบท็อกซ์

  • ผู้ที่กล้ามเนื้อดื้อโบท็อกซ์ ทำให้ฉีดโบท็อกซ์แล้วไม่ได้ผล

 

“นอกจากการฉีดฟิลเลอร์และโบท็อกซ์แล้ว ยังมีหัตถการอื่นๆ ที่สามารถลดริ้วรอยได้อีก ทั้งการใช้คลื่นกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำเลเซอร์ ทำทรีทเมนต์เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว และผลัดเซลล์ผิว เป็นต้น”

สรุป

 

Filler กับ Botox คือหัตถการรักษาริ้วรอยที่แตกต่างกันในหลายด้าน ผู้ที่สนใจรักษาริ้วรอยควรปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อตรวจดูว่าปัญหาริ้วรอยในแต่ละตำแหน่งเกิดจากอะไร จำเป็นต้องแก้ไขอย่างไร ให้ผู้ที่มีปัญหาริ้วรอยสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ และกลับมามั่นใจในตนเองอีกครั้งหนึ่ง

 

ต้องการแก้ไขริ้วรอย อยากปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีดโบท็อกซ์หรือฉีดฟิลเลอร์ สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ ผ่านแอปพลิเคชัน SkinX ได้เลย เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

 

Barnett, C. R. (2021, July 13). Common Botox Side Effects to be Aware of Before Your Next
        Treatment. Barnett Dermatology. https://www.barnettdermatology.com/blog/botox-side-
        effects#:~:text=The%20most%20common%20Botox%20side,%2C%20headache%2C%
        20or%20body%20aches. 

 

Cassoobhoy, A. (2020, July 24). Botox. WebMD. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-
        procedures-botox#:~:text=People%20who%20are%20pregnant%2C%20breastfeeding,
        check%20with%20a%20doctor%20first. 

 

Benedetto, A. &Lafaille, P. (2010, Jan). Fillers: Contraindications, Side Effects and Precautions.
        PubMed. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2890129/ 

 

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า