ปลูกผม FUE เทคนิคใหม่แก้ปัญหาผมร่วง ไร้รอยแผลเป็น
การปลูกผม FUE (Follicular Unit Extraction) เทคนิคใหม่แก้ปัญหาผมร่วงแบบไร้รอยแผลเป็น ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากการปลูกผม FUT (Follicular Unit Transplantation) แต่มีจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ เพื่อย้ายรากผมจากบริเวณด้านหลังศีรษะหรือเหนือกกหูมาปลูกในบริเวณที่ผมบาง การปลูกผมด้วยเทคนิค FUE คืออะไร หลักการทำงานเป็นอย่างไร และมีข้อแตกต่างอะไรจากวิธีการปลูกผมแบบอื่น ๆ ในบทความนี้ Skin X จะพามาตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกผม FUE
SkinX แอปพลิเคชันพบหมอผิวหนังออนไลน์ ที่ได้รวบรวมเหล่าทีมแพทย์ชื่อดังจากคลินิกและโรงพยาบาลชั้นนำมากมาย มาให้คำปรึกษาทางด้านหนังศีรษะและเส้นผมโดยเฉพาะ สำหรับลูกค้ารายใหม่ สามารถปรึกษาแพทย์ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Table of Contents
ปลูกผม FUE คืออะไร
การปลูกผม FUE (Follicular Unit Extraction) คือ วิธีการศัลยกรรมปลูกผม FUE ถาวรแบบย้ายเซลล์รากผมโดยไม่ต้องตัดหนังศีรษะออกมาเป็นชิ้นยาว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก และไม่มีแผลเย็บ โดยการปลูกผม FUE จะปลูกถ่ายเซลล์รากผมไปในบริเวณที่ผมร่วง ผมบาง หรือในพื้นที่ที่ต้องการ เมื่อผมงอกใหม่จะไม่หลุดร่วงซ้ำ
ขั้นตอนหลัก ๆ ของการปลูกผม FUE แพทย์นำเครื่องมือไฟฟ้า หรือเครื่อง Motorized FUE Devices พร้อมหัวเจาะขนาดเล็ก เจาะลงไปรอบ ๆ กอผมบริเวณท้ายทอย เนื่องจากเป็นรากผมที่แข็งแรงกว่าส่วนอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงนำรากผมจากท้ายทอยมาปลูกถ่ายลงในตำแหน่งที่ต้องการทีละราก เพื่อให้ผมที่งอกใหม่ออกมาดูเหมาะสมและเป็นธรรมชาติ
“ปลูกผมถาวร FUE สามารถนำเส้นขนจากบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น เครา หนวด ขนหน้าอก ขนแขน ขนหน้าแข้ง มาปลูกที่บริเวณศีรษะได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นขนบริเวณนั้น”
รู้จักสาเหตุหลักของผมร่วง
สาเหตุผมร่วงเกิดจากอะไร? จริง ๆ แล้ว ผมร่วง ในแต่ละวันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยผมคนเราจะร่วงวันละประมาณ 40-90 เส้น และจะมีเส้นผมเส้นใหม่งอกขึ้นมาทดแทน แต่ในบางคนที่มีผมร่วงเยอะมาก จนทำให้สังเกตได้ว่าผมเริ่มบางลงเรื่อย ๆ สำหรับสาเหตุของผมร่วงมีหลากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งได้หลัก ๆ ดังนี้
1.ผมร่วงจากพันธุกรรม ที่เกิดจากฮอร์โมน
ปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรม ที่เกิดจากฮอร์โมนสามารถพบได้ในเพศชายและเพศหญิง สาเหตุของผมร่วงส่วนมากเกิดจากปัญหาพันธุกรรมถึง 80% โดยจะมีลักษณะเส้นผมเล็ก บาง ผมที่ขึ้นใหม่ไม่แข็งแรง หลุดร่วงง่าย เมื่อหลุดร่วงไปมาก ๆ จะเริ่มเห็นหนังศีรษะ ผมร่วงจากพันธุกรรมนี้มักพบในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) ที่ทำให้รากผมฝ่อพบมากในเพศชาย
โดยฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) เป็นตัวการหลักที่ทำให้เส้นผมที่งอกใหม่มีขนาดเส้นผมเล็กและบางลง เมื่อเวลาผ่านไปเส้นผมที่เล็กลงจะไม่สามารถปกปิดหนังศีรษะได้เหมือนเดิม ฮอร์โมน DHT นี้คือฮอร์โมนที่สร้างมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เมื่อฮอร์โมนนี้เข้ามาที่เนื้อเยื่อบริเวณรากผม เอนไซม์ในบริเวณนั้นจะเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมน DHT ทำให้ผมที่ผลิตออกมาเส้นเล็กลงเรื่อย ๆ และผมร่วงง่าย รากผมผลิตผมน้อยลงจนรากผมฝ่อหายไปเกิดเป็นหัวล้านได้
2.โรคบางชนิดที่อาจทำให้เกิดผมร่วงได้
โรคบางชนิดสามารถทำให้เกิดผมร่วงได้ เช่น โรคผิวหนังเดิมของผู้ป่วย โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี (HIV) โรคทางภูมิคุ้มกันเช่นโรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) และโรคโลหิตจาง โรคเหล่านี้จะทำให้มีการอักเสบที่รบกวนกระบวนการเติบโตของเส้นผม รวมถึงการติดเชื้อเฉพาะที่ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่หนังศีรษะ ที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้
3.ยาและวิตามินอาหารเสริมบางชนิด
การรับประทานยารักษาโรค หรือวิตามินอาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยารักษาโรคมะเร็ง ยาลดความดันบางชนิด ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินสังเคราะห์ รวมถึงอาหารเสริมบางชนิดที่บริโภคเกินความจำเป็น สามารถระงับการเจริญเติบโตของรากผม ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ หากหยุดการใช้ยาอาการผมร่วงอาจกลับมาเป็นปกติ
4.การทำคีโมหรือการใช้เคมีบำบัด
เคมีบำบัดหรือการทำคีโม เป็นการใช้ตัวยาเคมีบำบัดเพื่อหยุดการเติบโตและเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีจะเข้าถึงเซลล์มะเร็งผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เซลล์รากผมได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เกิดผมร่วง ผมบางได้
5.ขาดสารอาหารหรือภาวะโภชนาการบกพร่อง
ผู้ที่ขาดสารอาหารหรือผู้ที่กำลังลดน้ำหนักแบบผิดวิธี สามารถทำให้เส้นผมเปราะบางลงได้ ผู้ที่มีอาการผมร่วงจากภาวะขาดสารอาหาร ควรเสริมวิตามินจำพวกธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี (ไบโอติน) เนื่องจากแร่ธาตุเหล่านี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
6.ความเครียดสะสม
ความเครียดสะสมสามารถทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ ซึ่งความเครียดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ สามารถเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดขึ้นมามากขึ้น ทำให้เส้นผมอ่อนแอลงได้
“ผู้ป่วยบางคนที่มีความเครียดสะสมอาจมีพฤติกรรมการทำลายเส้นผมได้ เช่น การดึงผมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการกระทำนี้จะทำร้ายหนังศีรษะ และวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมผิดปกติ ทำให้การงอกใหม่ของเส้นผมช้าลง ในที่สุดผมบริเวณที่ถูกดึงก็จะค่อย ๆ บางลง”
หลักการทำงานของการปลูกผม FUE
การทำงานของการปลูกผม FUE คล้ายคลึงกับการปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะเป็นการนำเซลล์รากผม (Stem Cell) ปลูกถ่ายลงบนตำแหน่งใหม่บนหนังศีรษะ เมื่อปลูกถ่ายผมในระยะหนึ่งเซลล์จะยึดอยู่กับเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทำให้ผมที่งอกขึ้นมาใหม่จากเซลล์ต้นกำเนิดติดอยู่ในบริเวณตำแหน่งผมร่วง ผมบางที่เราต้องการ การปลูกผม FUE เป็นวิธีที่ปลอดภัย เนื่องจากเซลล์รากผมที่นำมาใช้ปลูกผมเป็นเซลล์จากร่างกายของผู้เข้ารับการรักษา ทำให้ไม่เกิดอาการร่างกายปฏิเสธเซลล์ปลูกถ่าย
ปลูกผม FUE เหมาะกับใครบ้าง
การแก้ปัญหาด้วยการศัลยกรรมปลูกผม FUE จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผมบาง ผมร่วง จนเห็นหนังศีรษะ ผู้ที่เหมาะกับการปลูกผมมีดังนี้
- ผู้ที่มีผมร่วงและผมบางที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรักษาที่สาเหตุ หรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผมร่วง ผมบาง หรือผู้ที่มีผมร่วงเยอะผิดปกติจนเห็นหนังศีรษะ
- ผู้ที่มีหน้าผากกว้าง หรือมีแนวผมที่ร่นสูงขึ้นไป
- มีผมบางตรงกลางศีรษะ
- ปกปิดรอยแผลเป็นที่ศีรษะ
- ต้องการเสริมความงามให้กับใบหน้า ผมดูหนา
ปลูกผม FUE ดีไหม คุ้มค่าหรือไม่?
แม้การปลูกผมถาวร FUE จะมีราคาสูงกว่าการปลูกผมแบบปกติ แต่สามารถเห็นผลลัพธ์ชัดเจน ผมใหม่ที่งอกขึ้นมาเป็นผมที่แข็งแรงกว่าเดิม ไม่หลุดร่วงง่าย ตำแหน่งและทิศทางผมใหม่ดูเป็นธรรมชาติคล้ายผมจริง ๆ อีกทั้งการปลูกผม FUE เป็นการปลูกผมแบบไร้รอยแผลเป็นไม่มีแผลบนหัว จึงทำให้การปลูกผมเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว และได้ความคุ้มค่า
การรักษาอาการผมร่วงผมบางแบบต่าง ๆ
นอกเหนือจากการปลูกผม FUE ยังมีการรักษาอาการผมร่วง ผมบางในแบบวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้
- การใช้ยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน
การใช้ยาแก้ผมร่วงแบบรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยยาปลูกผมที่ใช้รักษาอาการผมร่วง ผมบาง มีดังนี้
- ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) มีทั้งยาชนิดน้ำและโฟม ใช้ทาเฉพาะที่หนังศีรษะ โดยยาชนิดนี้จะช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของเส้นผมและช่วยป้องกันไม่ให้ผมร่วง สามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
- ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยารับประทาน หรืออาจใช้ทาเฉพาะที่ ใช้ตามใบสั่งแพทย์และมักจะใช้ในเฉพาะผู้ชายเท่านั้น โดยจะช่วยชะลอการเกิดผมร่วงและผมบางมาก
- ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (platelet rich plasma)
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือการทำ PRP ผม จะช่วยให้ผมงอกได้ดีขึ้น โดยจะฉีดเกล็ดเลือดเข้าไปที่หนังศีรษะในบริเวณที่มีผมร่วง ผมบาง เพื่อให้สาร PRP ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ผม เพื่อให้มีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
- เซลล์บำบัด (Regenera Activa)
เซลล์บำบัด (Regenera Activa) เป็นการปลูกผมแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยจะเป็นวิธีปลูกผมในลักษณะการฉีด Stem Cell เข้าสู่บริเวณที่เกิดปัญหาผมร่วง ผมบาง Stem Cell นี้จะเข้าไปกระตุ้นและฟื้นฟูรากผมที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรง
- Fotona Laser
โฟโตน่า เลเซอร์ (Fotona Laser) เป็นการใช้เลเซอร์ยิงด้วยพลังงานต่ำเข้าไปที่บริเวณผมบาง ผมร่วง โดยให้เลเซอร์เข้าไปกระตุ้นเส้นผม เสริมสร้างรากผมทำให้เส้นผมแข็งแรงขึ้น ผมที่ขึ้นใหม่จะมีเส้นใหญ่ ไม่ร่วงง่าย
- ฉายแสงเลเซอร์ LLLT (Low Level Laser Therapy)
แสงเลเซอร์ปลูกผม LLLT มักมาในรูปแบบหมวกเลเซอร์ จะสามารถกระตุ้นรากผมให้สร้างเส้นผมได้ด้วยการใช้เลเซอร์แสงสีแดงพลังงานต่ำ การปลูกผมด้วยหมวกเลเซอร์นี้จะช่วยรักษาอาการผมร่วง ผมบางในระยะเริ่มต้น ทำให้ผมแข็งแรงและงอกใหม่เร็ว ผมร่วงน้อยลง
- ลดความเครียด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเครียดสะสมอาจเกิดพฤติกรรมการดึงผมตนเองโดยไม่รู้ตัว (Trichotillomania) ซึ่งการกระทำนี้จะทำร้ายหนังศีรษะและวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้การงอกใหม่ของเส้นผมช้าลง ดังนั้นจึงควรลดหรือพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการร่วมด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีลดผมร่วงได้ที่ : มัดรวมวิธีแก้ผมร่วง ผมบาง แบบปลอดภัย บอกลาปัญหาผมขาดร่วง
การปลูกผม FUE แตกต่างจาก FUT, DHI, Long Hair อย่างไร
วิธีปลูกผมแบบ FUE จะแตกต่างจากการ ปลูกผม FUT คือการปลูกผม FUE จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมาก เพราะเป็นการนำเอาเซลล์รากผมออกมาเพียงส่วนที่ต้องการเท่านั้น ในขณะที่การปลูกผม FUT จะตัดหนังศีรษะส่วนหนึ่งออกแล้วจึงนำผิวหนังส่วนนั้นมาแยกเซลล์รากผมออก ทำให้การปลูกผม FUT ทิ้งรอยแผลจากการผ่าตัดไว้ สามารถเห็นแผลเป็นหลังการผ่าตัดได้
“การปลูกผม FUE และ FUT มีผลลัพธ์หลังปลูกที่ไม่แตกต่างกัน แต่แตกต่างกันตรงวิธีนำรากผมออกมาจากบริเวณหลังศีรษะหรือเหนือกกหู (Donor Harvesting) ซึ่งจะส่งผลให้แผลหลังผ่าตัด วิธีการดูแลแตกต่างกัน”
ส่วนการปลูกผม DHI (Direct Hair Implantation) เป็นการปลูกผมที่แยกมาจากการปลูกผมแบบ FUE อีกทีหนึ่ง โดยขั้นตอนการปลูกผม DHI จะคล้ายกับ FUE แต่ต่างกันตรงที่ขั้นตอนการปลูกรากผม แบบ FUE จะใช้เครื่องมือเจาะหนังศีรษะส่วนที่ต้องการปลูกผมแล้วค่อยใช้คีมคีบรากผมใส่ลงไป ในขณะที่ DHI จะใช้ปากกาปลูกผมหรือ Implanter ที่เจาะหนังศีรษะและปลูกรากผมลงไปในทันที ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ปลูกผมบวมน้อยกว่าแบบ FUE
สำหรับการปลูกผม Long hair จะได้รับความนิยมในการปลูกผมผู้หญิง โดยจะแยกย่อยออกมาจากการปลูกผมแบบ FUE และ DHI อีกที เนื่องจากการอุปกรณ์ที่ใช้ปลูกผมสามารถใช้ได้แบบ FUE และ DHI แต่แตกต่างกันตรงที่การปลูกผมแบบ Long hair แพทย์จะเจาะเอารากผมออกมาในตอนที่ผมยาวอยู่ ไม่ต้องตัดผม ทำให้ไม่เห็นแผลหลังผ่าตัด
อย่างไรก็ตามก่อนการเข้ารับการปลูกผมควรเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะสภาพหนังศีรษะของผู้เข้ารับการรักษามีผลต่อการเลือกวิธีการปลูกผม
ข้อจำกัดของการปลูกผม FUE
การปลูกผม FUE มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถปลูกผมด้วยวิธี FUE นี้ได้ทุกคน เนื่องจากการปลูกผม FUE เป็นการย้ายรากผมจากที่ท้ายทอยไปปลูกไว้ในบริเวณผมร่วงหรือผมบาง ทำให้ผมท้ายทอยที่ถูกย้ายไปจะไม่มีผมขึ้นมาแทนที่ หากพื้นที่ที่ต้องการปลูกผมมีบริเวณกว้าง หรือต้องการใช้จำนวนผมมากเกินกว่าจำนวนผมที่ท้ายทอยมี ก็ไม่สามารถปลูกผม FUE ได้ หรือถ้าหากย้ายรากผมไป ผมในส่วนใหม่ก็จะดูไม่หนาเท่าที่ควรและผมที่ท้ายทอยก็จะดูบางเกินไป
นอกจากนี้ผมที่ต้องการนำมาปลูกจะต้องแข็งแรง สมบูรณ์ หากผมไม่สมบูรณ์ผมใหม่ที่ปลูกขึ้นจะน้อยและบางกว่าที่ควร จึงเป็นข้อจำกัดของการปลูกผม FUE
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกผม FUE
การเตรียมตัวก่อนการปลูกผม FUE จะช่วยให้ระหว่างขั้นตอนการปลูกผมดำเนินไปอย่างราบรื่นและเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด ดังนี้
- ก่อนเข้ารับการปลูกผมถาวร FUE ต้องแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง ในกรณีที่มีโรคประจำตัว หรือต้องทานยาเป็นประจำ
- แพทย์จะเป็นผู้ประเมินก่อนว่า ในบริเวณที่ต้องการปลูกผมควรใช้ผมประมาณกี่กราฟ (จำนวนรากผม)
- อาจงดการใช้ยา Minoxidil ที่เป็นสารช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผมอย่างน้อย 7 วัน
- อาจงดรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) น้ำมันปลา โสม เป็นต้น อย่างน้อย 7 วัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ที่ทำผ่าตัด
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและบุหรี่ ก่อนและหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- หากต้องการย้อมสีผมควรทำมาก่อน 2-3 วัน เนื่องจากหลังจากปลูกผมจะไม่สามารถทำสีผมได้เป็นเวลา 1 เดือน
- งดดื่มชาและกาแฟก่อนการผ่าตัด
- ในวันผ่าตัดควรใส่เสื้อหลวม ๆ สบาย ๆ เนื่องจากอาจไปกระทบกับศีรษะเมื่อต้องสวมเสื้อเข้า-ออก
- ในวันผ่าตัดปลูกผม FUE ควรมีผู้ดูแลไปด้วย ไม่ควรขับรถเอง เนื่องจากอาจต้องใช้ยานอนหลับระหว่างผ่าตัด
ปลูกผม 1 กราฟ คืออะไร
กราฟผมคือ กอรากผมหรือเนื้อเยื่อของผม โดยปลูกผม 1 กราฟจะมีผมอยู่ 1-4 เส้น 1 กราฟจะปลูกได้ 1 ตำแหน่ง สำหรับจำนวนกราฟที่ใช้ในการปลูกผมของแต่ละคนจะใช้มาก-น้อย ขึ้นอยู่กับปัญหาของแต่ละคน ดังนั้นก่อนการปลูกผมจะต้องให้แพทย์ประเมินก่อนว่าบริเวณที่ต้องการปลูกผม ควรใช้ผมประมาณกี่กราฟ เป็นต้น
ขั้นตอนการทำปลูกผม FUE
- วิธีปลูกผม FUE แพทย์จะออกแบบและวาดแนวผมที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการจะปลูก ร่วมไปกับคำแนะนำของแพทย์
- โกนผมบริเวณที่ต้องการปลูกผม และฉีดยาชาให้ทั่วบริเวณดังกล่าว
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์แพทย์จะเริ่มเจาะกราฟผมด้วยเครื่องมือเจาะหนังศีรษะตรงรากผม
- ในระหว่างที่เซลล์รากผมอยู่ภายนอกร่างกาย แพทย์จะเก็บรักษากราฟผมด้วยน้ำยาเลี้ยงเซลล์ เพื่อให้คงคุณภาพของรากผมให้สมบูรณ์ที่สุด ก่อนปลูกถ่ายกลับเข้าไปบนศีรษะ
- เมื่อถึงขั้นตอนการปลูกผม FUE แพทย์จะเจาะรูในตำแหน่งที่ต้องการปลูกผม เพื่อกำหนดตำแหน่งและทิศทางของแนวผม รวมถึงกำหนดความหนาแน่น จากนั้นนำเซลล์รากผมใส่กลับลงไปจนครบทั้งหมด
- แพทย์จะปิดผ้าพันแผลที่บริเวณปลูกผมอย่างน้อย 1-2 วัน หลังจากปลูกผมเสร็จคนไข้สามารถกลับบ้านได้เลย
วิธีดูแลหลังการปลูกผม FUE
หลังการปลูกผม FUE ควรพันผ้าทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ไม่ควรจับ แกะ เกา ซับเลือด หรือกระทำใด ๆ ก็ตามกับแผลผ่าตัด เนื่องจากรากผมจะยังไม่เชื่อมติดกับผิวหนังใหม่ที่พึ่งปลูกผมลงไป หากสัมผัสกับแผลอาจทำให้รากผมหลุดออกได้ โดยข้อปฏิบัติหลังปลูกผม FUE เบื้องต้นมีดังนี้
- วิธีการดูแลผมและการทำความสะอาด : สัปดาห์แรกหลังจากผ่าตัดให้สระผมอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งด้วยแชมพูที่แพทย์จ่ายให้ หรือน้ำยาสระผมชนิดอ่อน โดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติล้างบริเวณที่ผ่าตัดระวังอย่าให้น้ำแรงจนเกินไป เพราะสามารถทำให้รากผมหลุดออกไปได้ หากต้องการทำให้ผมแห้งสามารถซับเบา ๆ ได้ และห้ามใช้ลมร้อนเนื่องจากความร้อนมีผลต่อรากผมที่ปลูก
- วิธีการนอน : ควรนอนหงายหรือนอนตะแคงเพื่อไม่ให้กราฟผมหลุดออก และควรใช้ที่คาดศีรษะหรือหมอนรองคอเพื่อประคองให้แผลกระทบกับหมอนน้อยที่สุด รวมถึงยังช่วยป้องกันการกดทับของแผลบริเวณท้ายทอย
- การใช้ชีวิตประจำวัน : หลังผ่าตัดยังไม่ควรออกกำลังกายหรือเหงื่อออก 1 สัปดาห์ และระมัดระวังไม่ให้ศีรษะกระทบกระเทือน สามารถทำสีผมได้หลังจากปลูกผม 1 เดือน
อาการข้างเคียงหลังจากการปลูกผม FUE
- อาการคันและบวมหลังจากปลูกผม FUE
การปลูกผม FUE เป็นแผลเล็กจึงสามารถทำให้เกิดอาการคันและอาการบวมได้ โดยอาการคันจะพบได้ใน 2-3 วันหลังจากปลูกผมเสร็จ ไม่ควรเกา แกะ แคะ หรือถูบริเวณแผล เพราะอาจทำให้กราฟผมหลุดออกมาได้ หากคันหรือเจ็บหนังศีรษะควรลูบเบา ๆ หรือใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการคัน สำหรับอาการบวมจะสามารถหายไปได้เองใน 7 วันหลังปลูกผม สามารถใช้ที่ประคบเย็นประคบเพื่อลดอาการบวมได้
- อาการผมร่วงหลังจากปลูกผม
การย้ายรากผมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากผมที่อยู่ในระยะเติบโตเปลี่ยนไปเป็นผมระยะหลุดร่วงพร้อม ๆ กัน จึงทำให้เกิดภาวะหลังปลูกผมได้ โดยผมบริเวณที่ย้ายมาปลูกและผมบริเวณข้างเคียงอาจเกิดอาการผมร่วงได้ แต่อาการผมร่วงนี้เป็นแค่อาการชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปผมที่หลุดร่วงจะกลับมางอกใหม่อีกครั้ง
โดยภาวะผมร่วงนี้จะเกิดได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน หลังจากนั้นผมก็จะค่อย ๆ เริ่มงอกขึ้นมาใหม่ สำหรับผลลัพธ์หลังปลูกผมจะเริ่มเห็นแบบชัดเจนหลังจากปลูกผม 1 ปี
คำถามที่พบบ่อย
SkinX ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยสำหรับการปลูกผม FUE ไว้มีดังนี้
ปลูกผม FUE เจ็บไหม
ในระหว่างการปลูกผม FUE จะไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากมีการใช้ยาชาและอาจใช้ยานอนหลับในระหว่างการผ่าตัด แม้ยาชาจะหมดฤทธิ์แล้วก็จะไม่รู้สึกเจ็บมาก เพราะแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก แต่อาจจะมีอาการบวมหรือปวดได้ สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์จ่ายให้เพื่อบรรเทาอาการได้ สำหรับอาการปวดระบมจะหายไปเองประมาณ 2-3 วัน
การปลูกผม FUE ใช้ระยะเวลานานเท่าไรถึงเห็นผล
การปลูกผมจะเริ่มเห็นผลชัดเจนว่ามีผมงอกใหม่ในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี แต่ทั้งนี้ระยะเวลาการเห็นผลจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล
ขั้นตอนการปลูกผมใช้เวลานานกี่ชั่วโมง
ขั้นตอนการปลูกผม FUE จะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดทั้งหมดประมาณ 4-8 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนกราฟที่ปลูก เมื่อปลูกผมเสร็จจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-4 วัน
ปลูกผม FUE ไม่ขึ้น ทำอย่างไดี?
หากปลูกผม FUE ไม่ขึ้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว การดูแลตนเองหลังผ่าตัด รวมไปถึงความชำนาญของแพทย์และเครื่องมือที่ใช้ ก็สามารถส่งผลให้ปลูกผม FUE ไม่ขึ้นได้ ผู้ที่ปลูกผม FUE ไม่ขึ้นควรเข้าแพทย์ปรึกษาเฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไป
อยากปลูกผม FUE ควรปรึกษาที่ไหน
หากตัดสินใจที่ต้องการปลูกผม FUE ควรเลือกปรึกษากับคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีเทคโนโลยีปลูกผมที่ทันสมัย หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับหนังศีรษะและเส้นผม มีประสบการณ์สูงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจที่สุด
สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาไปคลินิกหรือโรงพยาบาล สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังผ่านทางแอปพลิเคชัน SkinX ได้ โดยแพทย์สามารถวิเคราะห์ระดับความรุนแรง รักษาอาการ และจ่ายยาได้ตรงตามอาการ รวมถึงแพทย์จะให้คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการและการรักษาด้านการปลูกผม
SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ที่ได้รวบรวมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำไว้มากกว่า 210 คน มาให้คำปรึกษาด้านผมและหนังศีรษะโดยเฉพาะ พบแพทย์ออนไลน์ได้ง่าย ๆ ไม่ต้องรอคิว รู้ผลทันที สำหรับลูกค้ารายใหม่ ปรึกษาแพทย์ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สรุป
การปลูกผม FUE เป็นวิธีการปลูกผมที่ผู้คนให้ความนิยมมาก ด้วยแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ให้ผลลัพธ์ที่ดี การปลูกผม FUE จึงเป็นหนึ่งในวิธีการปลูกผมที่เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ผู้เข้ารับการรักษาจะได้ผมใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม ไม่หลุดร่วงง่าย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจต้องการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกผม FUE สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแอปฯ SkinX เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำวิธีการปลูกผมที่เหมาะกับคุณ
อ้างอิง
Jewell T. (2020, July 14). Everything to Know About a FUE Hair Transplant. Healthline. https://www.healthline.com/health/cosmetic-surgery/everything-to-know-about-a-fue-hair-transplant
Dr.Tarinee K. (2023, Jan 14). เทคนิคปลูกผม FUE บอกลาผมบาง ศีรษะล้าน ไร้รอยแผลเป็น.
https://drtarinee.com/article/follicular-unit-extraction/