SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

17 สิงหาคม 2565

หน้าติดสารจนแดงทั้งหน้า สิวขึ้นที่อก อาจเกิดจาก “สิวสเตียรอยด์”

หลายคนเป็น สิว หรือมีตุ่มลักษณะคล้ายสิวอักเสบขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งรอยโรคเหล่านั้นเห่อขึ้นทั้งที่ใบหน้าและลำตัวช่วงบน หากคุณกำลังมีอาการเหล่านี้ และกำลังใช้ยา หรือเพิ่งหยุดยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ทั้งยาใช้ทา ใช้ทาน และแบบฉีด คุณอาจจะกำลังเป็นโรคผิวหนังที่เรียกกันว่า “สิวสเตียรอยด์ หรือสิวติดสาร”

ในบทความนี้ SkinX จะมาพูดถึงสิวสเตียรอยด์ ว่าสิวสเตียรอยด์คืออะไร เกิดจากอะไร และสามารถรักษาหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง

สารบัญบทความ

  1. สิวสเตียรอยด์ คืออะไร
  2. สิวสเตียรอยด์ มีอาการอย่างไร
  3. สิวสเตียรอยด์ เกิดจากอะไร
  4. เป็นสิวสเตียรอยด์รักษาอย่างไร
  5. การป้องกันไม่ให้เกิดสิวสเตียรอยด์
  6. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวสเตียรอยด์
  7. สรุป

สิวสเตียรอยด์ คืออะไร

หลายคนเข้าใจว่าสิวสเตียรอยด์คือสิวประเภทหนึ่ง แต่ความจริงแล้วสิวสเตียรอยด์ไม่ใช่สิว แต่สิวสเตียรอยด์ หรือสิวติดสาร คือโรคผิวหนังอย่างหนึ่งที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์ ทั้ง corticosteroids, anabolic steroids, และสเตียรอยด์แบบทา (Topical steroids) มากเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่ากำหนด จนส่งผลกับระบบร่างกายและทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ ตามมา ทั้งอาการของสิว รูขุมขนอักเสบ และผิวหนังอักเสบ

สิวสเตียรอยด์ มีอาการอย่างไร

หน้าแพ้สเตียรอยด์ หน้าติดสารเป็นยังไง? อาการของสิวสเตียรอยด์จะแตกต่างกันตามสเตียรอยด์ที่ใช้

หากเป็นสเตียรอยด์แบบฉีดหรือแบบทาน อย่าง Corticosteroids ที่นิยมใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ anabolic steroids ที่ใช้สำหรับสร้างกล้ามเนื้อ (Bodybuilding) จะทำให้เกิดสิวสเตียรอยด์กลุ่มที่เรียกว่า “Steroid acne”

Fact : Anabolic steroids สร้างกล้ามเนื้อได้อย่างไร? ปกติแล้วฮอร์โมน Testosterone จะทำให้กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้ด้วยกลไกหลายอย่าง เมื่อฉีด anabolic steroids เข้าร่างกาย สเตียรอยด์ตัวนี้จะไปเลียนแบบการทำงานของ Testosterone เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ขึ้น

อาการสิวสเตียรอยด์จากยาใช้ภายใน หรือ Steroid acne มี 2 แบบ คืออาการคล้ายโรคสิว (Acne Vulgaris) และอาการคล้ายโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia folliculitis) ซึ่งลักษณะอาการที่เป็นตุ่มรูขุมขนอักเสบ จะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองขนาดเล็ก ส่วนอาการที่เป็นตุ่มสิว จะเกิดเป็นตุ่มสิวหลายชนิดร่วมกัน

แล้วสิวติดสารเป็นยังไง? สิวติดสารที่เป็นอาการของสิวมีตั้งแต่ สิวอุดตัน (Comedones) อย่างสิวหัวดำ (Open comedone) สิวหัวขาว (Closed comedone) หรืออาจเป็น สิวอักเสบ (Inflamed acne) ตั้งแต่สิวตุ่มนูนแดง (Papule) สิวหัวหนอง (Pustule) สิวไต (Nodular acne) ไปจนถึงสิวอักเสบรุนแรงอย่าง สิวหัวช้าง ด้วย (Nodulocystic acne)

ทั้งนี้กลุ่มสิวดังกล่าวเกิดจากการกระตุ้นของสเตียรอยด์ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามกระบวนการของโรคสิวตามปกติ จึงไม่นับว่าสิวสเตียรอยด์เป็นสิวชนิดหนึ่ง ตุ่มสิวและตุ่มรูขุมขนอักเสบเหล่านั้นจะขึ้นอยู่ตามหน้าอกเป็นหลัก แต่ก็สามารถพบที่ใบหน้าและหลังได้เช่นเดียวกัน

แต่ถ้าสิวสเตียรอยด์เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์แบบทา (Topical steroids) ไม่ว่าจะเป็นในรูปของโลชั่น ครีม หรือเจล รอยโรคของสิวสเตียรอยด์จะเป็นอาการที่เรียกว่า “Steroid rosacea”

อาการสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid rosacea จะมีอาการคล้ายอาการของโรคผิวหนังอักเสบ Rosacea คือเป็นตุ่มคล้ายสิวอักเสบขนาดเล็ก หรือเป็นผื่นแดงปื้น เห็นเส้นเลือดฝอยชัดเจนกว่าปกติจากการขยายตัวของเส้นเลือด บางครั้งเส้นเลือดฝอยอาจแตกออกจนทิ้งรอยหลังการรักษาได้ จุดสำคัญคือมักพบบริเวณใบหน้า ผิวระคายเคืองบริเวณที่ทาสเตียรอยด์ และผิวจะไวต่อการกระตุ้นมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้อันตรายมากนัก

รูปอาการของสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid acne

ประเภทสิวสเตียรอยด์

รูปอาการของสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid acne

สิวสเตียรอยด์ Steroid Rosacea

สิวสเตียรอยด์ เกิดจากอะไร

สิวสเตียรอยด์หรือสิวแพ้สารเกิดจากการใช้สเตียรอยด์เกินขนาด หรือใช้เป็นเวลานานมากเกินไป

หากเป็นสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid acne ที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์แบบฉีดหรือแบบทาน สาเหตุของการเกิดสิวสเตียรอยด์จะไม่ได้ปรากฎชัดเจน การแพทย์คาดว่าสเตียรอยด์ประเภทนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างตัวรับ (Receptor) ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันตัวหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “TLR2”

ซึ่ง receptor TLR2 ตัวนี้จะทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะ เมื่อเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุหนึ่งของสิวอย่าง P.acne (Propionibacterium acnes) หรือเชื้อราต้นเหตุของรูขุมขนอักเสบเข้าสู่ร่างกาย TLR2 จึงตอบสนองอย่างรวดเร็วและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เกิดเป็นสิวสเตียรอยด์ตามมา

หากเป็นสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid rosacea สเตียรอยด์จะเหนี่ยวนำให้เกิดอาการของโรคผิวหนังอักเสบ Rosacea โดยปกติสาเหตุของโรคดังกล่าวยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การแพทย์คาดว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันและหลอดเลือดผิดปกติ หรืออาจเกิดจากตัวไรที่อาศัยอยู่บนผิว

เมื่อใช้สเตียรอยด์ ก็จะมีผลในการลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สาเหตุนี้อาจทำให้ระบบภูมิและหลอดเลือดผิดปกติ ทั้งยังทำให้ไรที่อยู่บนผิวหนัง โดยเฉพาะชนิด Demodex ขยายตัวมากขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ทำให้เกิดเป็นโรคผิวหนังอักเสบขึ้นมา จนเป็นสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid rosacea

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกที่จะใช้สเตียรอยด์แล้วจะเกิดสิวสเตียรอยด์ขึ้น มีปัจจัยหลายอย่างส่งผลให้เกิดรอยโรค เช่น ปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาการใช้ยา ร่างกายตอบสนองต่อยาสเตียรอยด์ได้ดีแค่ไหน ผิวหนังถูกกระตุ้นได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่แล้วหรือไม่ เป็นต้น

 

เป็นสิวสเตียรอยด์รักษาอย่างไร

หน้าติดสาร แพ้สารสเตียรอยด์รักษายังไง? วิธีรักษาหน้าติดสารหรือสิวสเตียรอยด์จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของสิวสเตียรอยด์ ว่าเป็น Steroid acne หรือ Steroid rosacea โดยทั้งสองชนิด มีวิธีรักษาดังนี้

รักษาสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid acne

การเป็นสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid acne จะสามารถรักษาได้ตามอาการของโรค หากรอยโรคเป็นสิว Acne Vulgaris แพทย์จะให้รักษาแบบการรักษาสิว หากรอยโรคเป็นรูขุมขนอักเสบ ก็ให้รักษาตามอาการเช่นกัน แต่ขั้นแรกของการรักษาต้องเริ่มจากการหยุดการใช้สเตียรอยด์เสียก่อน

หากใช้ Anabolic steroids เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ก็ควรหยุดยา เพราะนอกจากสเตียรอยด์ตัวนี้จะทำให้เกิดสิวแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาวในหลายๆ ทาง ผลกระทบสำคัญคืออาจทำให้ระบบฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ จนร่างกายบางส่วนอาจเปลี่ยนแปลงจนเหมือนผู้หญิง หรืออาจทำให้เป็นหมันได้ด้วย

แต่หากกำลังใช้ Corticosteroids ที่จ่ายโดยแพทย์ โดยเฉพาะช่วงหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ใช้ยาไม่ควรหยุดยาเอง ต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน เนื่องจากการหยุดยาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หลังการหยุดยาแล้ว หากรอยโรคสิว ให้รักษาโดยการใช้ยาทาภายนอก สามารถใช้ได้ทั้ง Retinoids, Benzoyl peroxide, หรือยาปฏิชีวนะชนิดทา เหมือนการรักษาสิวตามปกติ หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถใช้ยาปฏิชีวนะแบบทานร่วมด้วยได้

แต่ถ้าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา จะเน้นรักษาโดยใช้ยาฆ่าเชื้อราเป็นหลัก สามารถใช้ได้ทั้งยาชนิดทาภายนอก และชนิดทาน

รักษาสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid rosacea

หน้าติดสเตียรอยด์รักษายังไง? การรักษาสิวสเตียรอยด์ให้หายขาด ต้องเริ่มจากการหยุดใช้ยาเช่นกัน หากซื้อยามาใช้เองควรหยุดใช้ หากแพทย์เป็นผู้จ่ายยาทาให้ใช้แล้วเกิดสิวสเตียรอยด์แบบ Steroid rosacea ขึ้นที่ผิว ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน อาจจะต้องลดปริมาณโดสลงหรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์แทน

ส่วนการรักษาหลังการเกิดรอยโรคผิวหนังอักเสบ Rosacea ขึ้น จะทำโดยการใช้ยาทาลดการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Pimecrolimus) ร่วมกับการใช้ยาฆ่า tetracycline แบบทานเพื่อลดจำนวนไรบนผิวหนัง และต้องใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันเพื่อลดการระคายเคืองด้วย

Fact : Tetracycline เป็นยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมแบคทีเรียหลายชนิด จึงนิยมใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบบทานอย่างกว้างขวาง นอกจากจะสามารถรักษาโรคผิวหนังอักเสบ Rosacea ได้แล้ว ยังสามารถรักษาสิวอักเสบได้อีกด้วย

หลังการรักษาหน้าแพ้สารสเตียรอยด์แล้ว อาจยังมีรอยแผลเป็นจากภาวะเส้นเลือดฝอยแตก (Telangiectasia) ซึ่งแผลเป็นแบบนี้สามารถรักษาได้ด้วยการเลเซอร์ (Vascular laser)

ปรึกษาแพทย์ผ่าน SkinX App

หลายคนเข้าใจว่าวิธีรักษาสิวสเตียรอยด์ด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ทำได้เองที่บ้าน แต่ที่จริงแล้วสามารถทำได้ยากมาก เนื่องจากการหยุดยาที่จ่ายโดยแพทย์มีข้อควรพิจารณามาก และจะเป็นอันตรายหากหยุดยาเอง นอกจากนี้ยารักษาอาการของสิว รูขุมขนอักเสบ หรือผิวหนังอักเสบหลายๆ ตัว เป็นยาที่ต้องจ่ายให้ใช้โดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อมาใช้เองได้ เพราะหากใช้ผิดวิธีจะเกิดผลข้างเคียงที่อันตราย

และหากหยุดยาสเตียรอยด์แล้ว แต่ปล่อยไว้ไม่รักษารอยโรคสิวสเตียรอยด์ที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นตามมาได้มาก ซึ่งรักษาได้ยาก และต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าเดิม

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดหลังรู้ตัวว่าตัวเองเป็นสิวติดสารหรือสิวสเตียรอยด์ คือการปรึกษาแพทย์ที่ให้ใช้ยาเพื่อลดปริมาณยาหรือหยุดยา แล้วจึงปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษารอยโรคสิวสเตียรอยด์ต่อไป

การปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาสิว หรือโรคผิวหนังชนิดต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องเดินทางไกล เพียงปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน SkinX ก็สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังกว่า 210 ท่าน จากสถานพยาบาลทั่วประเทศได้ตามชอบ ปรึกษาได้ทุกที่ สะดวก ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเผื่อเวลาไว้ทั้งวันเพื่อไปพบแพทย์ และสามารถรอรับยารักษาสิวที่บ้านได้เลย เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

อ่านต่อบทความ: รักษาสิวดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี ให้ผิวกลับมาเนียนใส!

การป้องกันไม่ให้เกิดสิวสเตียรอยด์

วิธีรักษาสิวสเตรอย

การป้องกันไม่ให้เกิดสิวสเตียรอยด์ที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาดสามารถส่งผลเสียได้มาก

ยาสเตียรอยด์ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งยาทา ยาหยอดตา ยาสำหรับทาน ยาฉีดเข้าผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ซึ่งยาสเตียรอยด์ทุกชนิดล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์หลายรูปแบบนั้น มีตั้งแต่โรคผิวหนัง เป็นสิว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ติดยา หงุดหงิด ไปจนถึงบุคลิกเปลี่ยน นิสัยเปลี่ยน เป็นหมัน หรือกระทั่งตาบอดได้เลย ดังนั้นการใช้ยาที่มีสเตียรอยด์ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง

หากจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ ไม่สามารถป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการใช้ยาได้ ก็จะต้องป้องกันที่สาเหตุการเกิดสิว รูขุมขนอักเสบ หรือผิวหนังอักเสบแทน ซึ่งสามารถทำได้โดยการ

  • รักษาความสะอาดที่ผิวหน้าและผิวกายอยู่เสมอ โดยการทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่อ่อนโยน มีค่า pH ปานกลาง ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป
  • ลดการใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองหรือทำให้รูขุมขนอุดตันได้
  • ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อหาทางป้องกันสิวสเตียรอยด์ร่วมกัน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา Retinoids หรือ Benzoyl peroxide แบบทาระหว่างการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอุดตัน ป้องกันการเกิดสิวสเตียรอยด์ที่ต้นเหตุของรอยโรค

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวสเตียรอยด์

สิวสเตียรอยด์สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ไหม

หากเป็นไม่มาก และใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่ผ่านการแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร สิวสเตียรอยด์อาจจะสามารถรักษาด้วยตัวเองได้ เพราะเมื่อหยุดยาอาการก็จะดีขึ้นและหายไปเอง

แต่หากแพทย์จ่ายยาสเตียรอยด์ให้ใช้ ไม่สามารถรักษาด้วยการหยุดยาเองได้ ต้องปรึกษาเรื่องการใช้ยากับแพทย์เจ้าของไข้ก่อน และต้องรักษารอยโรคจากสิวสเตียรอยด์โดยแพทย์ผิวหนังต่อไป เพื่อให้ใช้เวลาในการรักษาน้อย และให้สิวทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้น้อยที่สุด

สิวสเตียรอยด์รักษานานไหม

สิวสเตียรอยด์รักษานานไหมนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากหยุดยาสเตียรอยด์ได้ ก็อาจจะใช้เวลาไม่นานเท่ากับผู้ที่หยุดยาไม่ได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกคือรอยโรค ถ้าเป็นสิวสเตียรอยด์อักเสบรุนแรงก็จะรักษายากกว่าที่เป็นสิวอุดตัน หรือการอักเสบตื้นๆ

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับร่างกายว่าสามารถตอบสนองยาสำหรับรักษาสิวสเตียรอยด์ได้ดีแค่ไหน ถ้าการรักษาได้ผลดีก็ใช้เวลาน้อย แต่ถ้าได้ผลไม่มากก็จะใช้เวลานานกว่า

โดยรวมแล้วการรักษาสิวสเตียรอยด์อาจจะใช้เวลารักษาเป็นเดือน หรืออาจจะใช้เวลาหลายเดือนจนถึงเป็นปีเลยก็ได้แล้วแต่เคส ส่วนการรักษาแผลเป็นของสิวสเตียรอยด์ในกรณีที่รอยโรคอักเสบมากทิ้งแผลเป็นหลุมสิวหรือแผลเป็นนูนไว้ ก็ต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้นไปอีก

สรุป

สิวสเตียรอยด์ไม่ใช่สิว เป็นเพียงความผิดปกติของผิวหนังที่เกิดจากการใช้สารสเตียรอยด์ ซึ่งรอยโรคที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นสิว รูขุมขนอักเสบ หรือผิวหนังอักเสบก็ได้ เมื่อเป็นสิวสเตียรอยด์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดสิวสเตียรอยด์ขึ้นขณะใช้ยาต่อไป

ต้องการปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับสิวสเตียรอยด์ หรือปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับผิวหนังสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ SkinX ดาวน์โหลดฟรีทั้งระบบ Android และ IOS

Fact : คุณรู้หรือไม่? ความจริงแล้วสเตียรอยด์ที่ชื่อ “corticosteroids” เป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นตามปกติในร่างกายมนุษย์ ฮอร์โมนตัวนี้สร้างจากต่อมหมวกไต มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบ การย่อยคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน การตอบสนองต่อความเครียด และการควบคุมระดับเกลือแร่ในเลือด ในภายหลังการแพทย์พบว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ จึงสังเคราะห์เลียนแบบขึ้นมาใช้เป็นยารักษาโรคในปัจจุบันนั่นเอง

บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Tresca, A. J. (2021, January 21). Can Prednisone Give You Acne? Types, Risks, and Treatment
of Steroid Acne. VerywellHealth. https://www.verywellhealth.com/can-steroids-such-as
-prednisone-cause-acne-1942982

Oakley, A. (2014, June). Steroid acne. Dermnet NZ. https://dermnetnz.org/topics/steroid-
acne#:~:text=Steroid%20acne%20is%20the%20name,the%20use%20of%20anabolic%
20steroids.

Bhat, Y. J. (2011, January). STEROID-INDUCED ROSACEA: A CLINICAL STUDY OF 200
PATIENTS. National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/
PMC3088930/

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า