SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

31 สิงหาคม 2565

แนะนำการรักษาสิวดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี ให้ผิวกลับมาเนียนใส

รักษาสิว

สิว (Acne) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกับทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากภาวะผิดปกติบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันในรูขุมขน ซึ่งสิวมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ สิวยังมีหลายประเภท เช่น สิวหัวปิด, สิวหัวเปิด, สิวตุ่มแดง, สิวหัวหนอง, สิวผด และสิวหัวช้าง โดยมีสาเหตุการเกิดและวิธีการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเป็นสิวจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมนั่นเอง

 

บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงกลไกการเกิดสิว และวิธีรักษาสิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว เพื่อช่วยบรรเทาและป้องกันการเกิดสิวได้ ทำให้หน้ากลับมาเนียนใส เพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง 

สรุป รักษาสิว ต้องทำอย่างไร

  • การรักษาสิวมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสิวแต่ละประเภท โดยแบ่งออกเป็น การใช้ยาทาเฉพาะที่ การใช้ยาสำหรับรับประทาน และการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง

  • การรักษาสิวที่ดี ควรเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะกับประเภทของสิวและสภาพผิวของตนเอง

  • วิธีรักษาสิวที่สะดวก ง่ายดาย คือ การใช้ยาทาภายนอก เช่น Rentinoids, Benzoyl peroxide, Azelaic acid, Salicylic Acid เป็นต้น

  • หากเลือกรักษาสิวด้วยการทานยา ทั้งยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ยา Isotretinoin หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน อาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทาน

  • หากต้องการรักษาสิวอย่างตรงจุด ควรเลือกปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อให้ทราบถึงอาการและสาเหตุการเกิดสิว และเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะกับตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การเลเซอร์, การใช้สารเคมี, การกดสิว และการฉีด Corticosteroids
สารบัญบทความ

ทำความเข้าใจ สิว เกิดจากอะไร

สิวเกิดจากอะไร

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิว มีดังนี้

 

  • เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในรูขุมขนมีจำนวนมากเกินไป ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่สามารถผลัดตัวออกมาจากรูขุมขนได้ จนเกิดการอุดตันภายในรูขุมขน

  • เมื่อเซลล์ผิวที่ตาย น้ำมัน และสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน จึงทำให้เกิดสิวในที่สุด

  • การอุดตันของรูขุมขน เนื่องจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป

  • น้ำมันที่ผลิตออกจากต่อมไขมันจะมีไขมันไตรกลีเซอไรด์เป็นหลัก ซึ่งจะถูกย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเพิ่มจำนวนของ C. acne* และทำให้เกิดสิว

 

*C. acne (Cutibacterium acnes) หรือชื่อเก่าที่เรียกกันว่า P. acne (Propionibacterium acnes) คือเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามผิวหนังในรูขุมขนและต่อมไขมันของมนุษย์ เมื่อเชื้อ C. acne เพิ่มจำนวนมากเกินไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะหลั่งสารต่าง ๆ ออกมาและทำให้ผิวหนังอักเสบ เพื่อต่อต้านแบคทีเรียชนิดนี้

วิธีรักษาสิวแบ่งได้เป็นกี่ประเภท

เนื่องจากสิวมีหลายชนิด ทั้งสิวหัวปิด, สิวหัวเปิด, สิวตุ่มแดง, สิวหัวหนอง, สิวหัวช้าง และสิวอักเสบรุนแรง ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิธีรักษาสิวหลากหลายรูปแบบให้เหมาะกับสิวแต่ละประเภท และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุการเกิดสิว และเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม

 

วิธีรักษาสิวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 

 

  • การใช้ยาทาเฉพาะที่รักษาสิว

  • การทานยารักษาสิว

  • การรักษาสิวด้วยการทำหัตถการโดยแพทย์ผิวหนัง

การใช้ยาเฉพาะที่รักษาสิว

การใช้ยาทาภายนอกรักษาสิว

วิธีรักษาสิวด้วยยาทาภายนอก เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และประหยัด ซึ่งยาแต่ละชนิดเหมาะกับการรักษาสิวต่างกัน ดังนี้ 

Rentinoids ยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ

เรตินอยด์ชนิดทา ใช้รักษาได้ครอบคลุมทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน แต่อาจทำให้ผิวไวต่อแสงและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย เพราะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ผิวบอบบาง แพ้ง่าย 

ยาปฏิชีวนะชนิดทา

ยาปฏิชีวนะชนิดทารักษาสิว ปัจจุบันมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ 

 

  • Clindamycin, Erythromycin, Metronidazole ยา 3 ชนิดแรกที่นิยมใช้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับ Benzoyl peroxide หรือใช้ทาสองตัวควบคู่กัน เพื่อให้อาการดื้อยาน้อยลง

  • Dapsone นิยมใช้รักษาสิวอักเสบ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาสิวในไทย ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide เพราะอาจทำให้เกิดรอยแดงบนผิวหนังได้

Benzoyl peroxide

Benzoyl peroxide หรือ Benzac มีสรรพคุณและข้อดีดังนี้

 

  • ออกฤทธิ์ด้วยการปล่อย Free oxygen radicals มาทำลายเชื้อแบคทีเรีย

  • ไม่ทำให้เกิดการดื้อยา เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไม่สามารถพัฒนาตัวได้เหมือนยาปฏิชีวนะ

  • ไม่ค่อยพบผู้แพ้ยามากนัก

  • หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

Azelaic acid

เป็นกรดธรรมชาติที่ออกฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพ นิยมใช้รักษาสิวที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง โดยมีสรรพคุณดังนี้

 

  • ช่วยลดการอุดตัน

  • ช่วยลดรอยดำหลังการรักษาสิว

  • ช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง

 

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กรดอะซีลาอิกทุกครั้ง เพราะหากใช้ผิดวิธีอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวไหม้ แสบร้อน หรือเกิดแผลพุพองตามมาได้

Salicylic Acid

เป็นกรดธรรมชาติที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

 

  • ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว Keratinocyte ที่อุดตันในรูขุมขน

  • ลดอัตราการเกิดสิว

  • ลดอาการอักเสบ

 

ทั้งนี้ Salicylic Acid อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังลอก และมีอาการแสบได้ หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป 

Tea tree oil

สารสกัดจากธรรมชาติจากต้นไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ส่วนใหญ่อยู่ในผลิตภัณฑ์รักษาโรคจากการติดเชื้อของผิวหนังหรืออาการอักเสบต่าง ๆ เช่น สิว, ผิวหนังอักเสบ, รังแค และเชื้อราที่เล็บ

การรักษาสิวแบบรับประทานยา

การทานยาเพื่อรักษาสิวค่อนข้างมีข้อจำกัดและอาจจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่ายาทาภายนอก ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัยของตนเอง การรักษาสิวด้วยวิธีทานยาสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบหลักๆ ได้แก่ 

Antibiotic and antibacterial agents

การใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดทานเพื่อรักษาสิว มีทั้งแบบรับประทานเดี่ยว ๆ และใช้เป็นยาสูตรผสมสองตัวร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของสิวและดุลพินิจของแพทย์ ยาปฏิชีวนะชนิดทาน ได้แก่ 

 

  • Tetracycline

  • Doxycycline

  • Macrolide

 

ทั้งนี้ ข้อเสียของการใช้ยาปฏิชีวนะคือ ถ้าหากใช้ไปสักระยะอาจเกิดอาการดื้อยาได้

ยารักษาสิวชนิดทาน

Isotretinoin

เป็นยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ เหมาะกับผู้ที่เป็นสิวที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก และผู้ที่มีอาการดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยยา Isotretinoin ออกฤทธิ์ ดังนี้

 

  • ช่วยลดการอักเสบ

  • ช่วยยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน

  • ช่วยให้ปริมาณของน้ำมันลดลง ส่งผลให้จำนวนเชื้อแบคทีเรีย C. acne ลดลงตามไปด้วย

  • ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ

  • ยับยั้งการสร้างคอมีโดน

แม้ว่า Istretinoin จะมีฤทธิ์ครอบคลุมในการรักษาสิว แต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน ซึ่งความรุนแรงของผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 

 

ทั้งนี้ วิธีลดสิวโดยยาทานและยาทาภายนอกทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามฉลากบนกล่องอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาบางตัวสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากใช้ผิดวิธี

การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)

การรักษาด้วยฮอร์โมน ใช้เพื่อลดการสร้างและต่อต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่มาจากทั้งรังไข่และต่อมหมวกไตหนึ่งในต้นเหตุของการเกิดสิว ซึ่งยาชนิดทานที่ใช้ควบคุมฮอร์โมนมี 2 ชนิด ได้แก่ 

 

ยาคุมกำเนิดชนิดทาน (Oral Contraceptives) นิยมใช้กับผู้หญิง โดยมีคุณสมบัติดังนี้

 

  • ออกฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนเพศชาย โดยขัดขวางตัวรับของฮอร์โมน Androgen ที่อยู่บนเซลล์ Keratinocytes และเซลล์ต่อมไขมัน

  • ช่วยลดปริมาณ Free testosterone ไม่ให้ถูกดึงไปสร้างเป็นฮอร์โมน DHT ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน และเพิ่มจำนวนของ Keratinocyte

  • ยับยั้งการทำงานของ 5-a reductase เอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมน Testosterone ให้กลายเป็นฮอร์โมน DHT

  • ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน Luteinizing ที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมน Androgen จึงลดปริมาณฮอร์โมน Androgen ได้


Gonadotropin – Releasing Hormone Agonists
เป็นยาที่ทำลายวงจรการปล่อยฮอร์โมน Gonadotropin ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างฮอร์โมน Androgen จึงช่วยลดฮอร์โมน Androgen ได้

 

การรักษาสิวโดยแพทย์เฉพาะทาง

ปรึกษาแพทย์ รักษาสิว

การรักษาสิวโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง ต้องใช้ความชำนาญในการใช้เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการรักษา ได้แก่

เลเซอร์รักษาสิว (Laser)

เลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง เป็นวิธีรักษาสิวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันและมีการพัฒนาอยู่ตลอด โดยมีข้อดี ดังต่อไปนี้ 

 

  • มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยา

  • ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น

  • ช่วยรักษารอยดำรอยแดงที่เกิดจากสิว

  • ช่วยรักษาแผลเป็นที่เกิดจากสิว

  • สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. acne ได้

ในปัจจุบันเลเซอร์ที่ใช้รักษาสิวมีหลายชนิด ได้แก่ 

 

  • Pulse dye laser 595nm (vBeam)

เลเซอร์วีบีม เป็นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ให้ผิวกระจ่างใสขึ้น ผ่านการส่งความร้อนลงไปยังผิวหนังแท้ เพื่อทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติให้เกิดการจัดเรียงตัวใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจน จึงช่วยรักษาสิวและรอยแดงจากสิวได้


  • Copper-Bromide laser 579nm (Dual Yellow)

เลเซอร์ชนิดนี้สามารถรักษาให้รอยดำและรอยแดงจากสิวจางลง ทั้งยังช่วยรักษาสิวอักเสบ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ 


  • Diode laser 1450nm

เลเซอร์ชนิดนี้นิยมใช้รักษาสิวอุดตันให้ค่อย ๆ ยุบตัวลง เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการกดสิวที่อาจทำให้สิวอักเสบและมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม 


  • Long-pulse Nd:YAG laser 1064nm

เลเซอร์ชนิดนี้ช่วยรักษารอยแดงจากสิว ลดรอยแผลเป็นจากสิว รวมถึงช่วยให้หลุมสิวดูตื้นขึ้นได้


  • Er:Glass laser 1550nm 

เลเซอร์ชนิดนี้สามารถรักษารอยหลุมสิว รอยแผลเป็นจากสิว และช่วยให้จุดด่างดำดูจางลงได้ ทั้งนี้ หลังการรักษาผิวอาจมีสีชมพูหรือแดงจัด หรือบางคนอาจมีผิวคล้ำหมองขึ้นชั่วคราว แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง

การใช้สารเคมี (Chemical peel)

เป็นการรักษาสิวโดยใช้สารเคมีลอกผิวหนังชั้นนอกสุด เพื่อช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ Keratinocyte ในรูขุมขนเกาะตัวน้อยลง เหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถใช้การรักษาแบบอื่นได้ เช่น ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่สามารถใช้ยาบางตัวได้

การกดสิว (Comedone extraction)

วิธีนี้ใช้รักษาได้เฉพาะสิวอุดตันหัวเปิด ซึ่งการกดสิวไม่ใช่วิธีรักษาจากต้นเหตุ และไม่สามารถลดการอัตราการเกิดสิวได้ จึงจำเป็นต้องรักษาควบคู่ไปกับวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ทายาหรือยาทาน

การฉีด Corticosteroids

เป็นวิธีรักษาที่นิยมใช้กับสิวอักเสบและก้อนใต้ผิวหนัง โดยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปที่สิวโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้สิวยุบตัวได้เร็ว แต่อาจทำให้บางคนเกิดรอยแผลเป็นได้ 

การรักษาสิวโดยแพทย์จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังที่มีประสบการณ์ก่อนทำการรักษา เพื่อตรวจดูอาการและสาเหตุของสิว รวมถึงเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับสภาพผิวมากที่สุด 

สรุป

เนื่องจากสิวมีหลายประเภท ไม่ว่าจะสิวอุดตันหรือสิวอักเสบต่างก็มีประเภทแยกย่อยลงไปอีก ปัจจุบันจึงมีการรักษาสิวหลากหลายวิธีและให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้รักษาสิวได้อย่างตรงจุด จึงควรไปพบแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาสิว เพื่อหาสาเหตุของการเกิดสิวและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อจัดการปัญหาสิวที่คอยกวนใจให้ลดลงได้

 

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้การพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีแอปพลิเคชัน SkinX ที่รวบรวมแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังกว่า 210 ท่าน จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ ที่จะมาให้คำปรึกษาปัญหาสิวได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ปรึกษาแพทย์ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงบางส่วน

 

Goh, C., Cheng, C., Agak, G., Zaenglein, A.L., Graber, E.M., Thiboutot, D.M., & Kim, J. (n.d.). Acneiform Disorders. Fitzpatrick’s Dermatology 9 TH Edition (1391-1404). McGraw-Hill Education.

DermNet NZ Staff, (n.d.) Acne treatment. DermNet NZ. https://dermnetnz.org/topics/acne-treatment

Mayo Clinic Staff, (2020, Aug 06). Acne-Diagnosis and treatment. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048

Burke, D & Coelho, S. (2022, Feb 23). Everything You Want To Know About Acne. Healthline. https://www.healthline.com/health/skin/acne

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า