สิว (Acne) ปัญหาผิวกวนใจ เกิดทีไรแก้ยากทุกที!
“สิว” ต้นเหตุที่ทำให้หลายคนรู้สึกเสียความมั่นใจ เพราะคนส่วนใหญ่ยังชื่อว่าคนเป็นสิว ไม่ว่าที่ลำตัว หรือหน้า การมีสิวเกิดจากการไม่รักษาความสะอาด แต่ที่จริงแล้วความสกปรกไม่ใช่สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดสิว และสิวยังคงสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะรักษาความสะอาดดีแล้วก็ตาม
ในบทความนี้ Skinx จะพาไปรู้จักกับสิว ว่าสิวคืออะไร ต้นตอของสิวเกิดจากอะไร สิวมีกี่ประเภท ขึ้นที่ใดได้บ้าง แล้ววิธีรักษาสิวแต่ละประเภทคืออะไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
สารบัญ
- สิวคืออะไร
- สาเหตุการเกิดสิว เกิดจากอะไร?
- วิธีรักษาสิว
- สิวมีกี่ประเภท
- บริเวณที่มักเกิดสิว
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว
- สรุป
สิว คืออะไร
สิวคืออะไร? สิว (Acne หรือ Acne Vulgaris) เป็นภาวะการเกิดความผิดปกติบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันในรูขุมขน (Pilosebaceous unit) เมื่อเกิดความผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ จะทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิว บางครั้งการอุดตันอาจจะทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นติดเชื้อและเกิดการอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน กลายเป็นสิวอักเสบได้
อาการของสิวจะแตกต่างกันไปตามชนิดและระยะของโรค ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นตุ่มนูนขึ้นมาจากผิวหนัง จากการอุดตันของปากรูขุมขน (Comedone) เมื่อมีการอุดตันมากขึ้น รูขุมขนจะถูกขยายออก หรือเกิดเป็นถุง ก่อตัวขึ้นในรูขุมขน หากการอุดตันมีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือถูกรบกวนจนผนังรูขุมขนเสียหาย สิ่งที่อยู่ภายในถุงนั้นจะปริเข้าสู่ชั้นลึกของผิวหนังและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ภายนอกก็จะเห็นเป็นรอยแดง บางครั้งอาจมีหนองด้วย
และหากติดเชื้อในผิวหนังชั้นที่ลึกร่วมด้วยก็จะกลายเป็นก้อนสิวที่เป็นไตแข็งอักเสบอยู่ใต้ผิวหนังซึ่งรักษาได้ยากขึ้น
สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก ทั้งที่หน้าอก หลัง และใบหน้า หน้าเป็นสิวจึงเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป สิวสามารถพบได้มากถึง 85% ของประชากรที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 12 – 25 ปี ส่วนในช่วงอายุอื่นๆ แม้กระทั่งทารกแรกเกิดก็สามารถพบสิวได้ และมักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สาเหตุการเกิดสิว เกิดจากอะไร?
กระบวนการการเกิดสิวนั้นค่อนข้างซับซ้อน สาเหตุการเกิดสิวจึงมีหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งเมื่อเป็นสิว ปัจจัยสาเหตุการเกิดสิวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงแค่อย่างเดียว หรือเกิดจากหลายๆอย่างร่วมกันก็ได้ โดยสิวนั้นเกิดจากปัจจัยของการเกิดสิว 4 ปัจจัย ดังนี้
1. เซลล์ในรูขุมขนเพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป (Follicular epidermal hyperproliferation)
เซลล์ที่อยู่ในรูขุมขนที่เรียกว่าเซลล์ keratinocyte จะผลัดตัวออกมาและหลุดออกจากรูขุมขนเป็นปกติเมื่อหมดอายุไข แต่ถ้า keratinocyte เพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป จนเซลล์ตายและหลุดออกมามากกว่าปกติ อาจทำให้เซลล์ที่ต้องถูกผลัดออกนั้นเกาะตัวและสะสมกันอยู่ภายในรูขุมขน
Fact: “keratinocyte คือเซลล์ชนิดหนึ่งในรูขุมขน ทำหน้าที่สร้างเคราติน เช่น เล็บ ขน หรือผมนั่นเอง”
เมื่อกลุ่มเซลล์ keratinocyte เกาะตัวรวมกันขวางรูขุมขนอยู่ จะทำให้สิ่งที่สร้างจากส่วนต่างๆ ในรูขุมขนหรือสิ่งที่มีอยู่ในรูขุมขนอยู่แล้ว อย่างเคราติน (keratin) น้ำมันจากต่อมไขมัน (Sebum) และแบคทีเรียสะสมจนเกาะตัวกันเป็นก้อน ทำให้ปากรูขุมขนหรือรูขุมขนส่วนบนขยายออก เกิดเป็นสิวอุดตันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือ “microcomedones”
เมื่อเคราติน น้ำมันจากต่อมไขมัน และแบคทีเรียสะสมรวมตัวกันเรื่อยๆ microcomedones จะใหญ่ขึ้นกลายเป็น comedones หรือที่เรียกว่า “สิวอุดตัน” นั่นเอง
แล้ว Follicular epidermal hyperproliferation เกิดจากอะไร?
- การกระตุ้นฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen stimulation) ฮอร์โมนแอนโดรเจนหลายตัว โดยเฉพาะฮอร์โมน Dihydrotestosterone (DHT) ออกฤทธิ์ทำให้ Keratinocyte ในรูขุมขนเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ
- กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) มีระดับต่ำกว่าปกติ เพราะโดยปกติแล้วกรดไลโนเลอิกจะช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวอย่าง keratinocyte และช่วยต้านการอักเสบได้ เมื่อกรดไลโนเลอิกต่ำลงจึงทำให้ keratinocyte ที่ควรถูกผลัดออกจากรูขุมขนก่อตัวกันมากกว่าปกติ และยังทำให้ เกิดการอักเสบมากกว่าเดิมด้วยในกรณีที่เป็นสิวอักเสบ
- Interleukin 1 alpha (IL-1α) ทำงานมากเกินไป ซึ่ง IL-1α เป็นสารกลุ่มโปรตีนตัวหนึ่งที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์โดยเฉพาะในระบบภูมิคุ้มกัน (Cytokine) ยิ่งมีมาก ยิ่งเกิดการอักเสบที่เป็นผลมาจากการตอบสนองของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อเกิดการอักเสบ เซลล์ keratinocyte จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
- แบคทีเรีย P.acne เพิ่มจำนวนมากขึ้น แบคทีเรียตัวนี้มักอยู่ตามรูขุมขนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อเพิ่มจำนวนขึ้นแบคทีเรียตัวนี้จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบจากหลายๆทาง ทำให้ เซลล์ keratinocyte เพิ่มจำนวนขึ้นได้
2. ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Sebum production)
ปกติแล้วต่อมไขมัน (sebaceous glands) มีหน้าที่ผลิตน้ำมัน (sebum) ออกมาเคลือบผิวหนังไว้ เป็นเกราะป้องกันผิวหนังและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น แต่หากต่อมไขมันผลิต sebum มากเกินไป จะทำให้เกิดสิวได้
ใน Sebum ประกอบด้วยไขมันหลายตัว โดยจะมีไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) เป็นหลัก ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์บนผิว จะถูกแบคทีเรีย P.acne ย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acids) กรดไขมันอิสระดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของผิวคนเราเหมาะกับการอยู่อาศัยของแบคทีเรีย P.acne มากขึ้น
เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม P.acne จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการกระตุ้นการอักเสบขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตัน และสิวอักเสบได้ นอกจากนี้ การที่ sebum เพิ่มมากขึ้นยังทำให้กรดไลโนเลอิกปริมาณลดลง ส่งผลให้เกิดสิวได้มากกว่าเดิมด้วย
ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือการกระตุ้นจากฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen)
Fact: “กลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน ประกอบด้วย Testosterone, Androstenedione, Dehydroepiandrosterone (DHEA), DHEA sulfate (DHEA-S), และฮอร์โมนที่มีผลทำให้เกิดสิวได้มากที่สุด Dihydrotestosterone (DHT)”
ฮอร์โมนแอนโดรเจนนอกจากจะทำให้ Keratinocyte เพิ่มจำนวนแล้ว ยังทำให้เซลล์ต่อมไขมัน ( sebocyte )แบ่งตัวมากขึ้นเช่นกัน “sebocyte” เป็นเซลล์ที่อยู่ในต่อมไขมัน ทำหน้าที่ผลิต sebum และส่งออกมานอกผิวผ่านรูขุมขน เมื่อ sebocyte มีจำนวนเพิ่มขึ้น sebum ก็จะยิ่งถูกผลิตปริมาณมากยิ่งขึ้น ในที่สุดแล้วจะทำให้ผิวหนังอักเสบและเกิดเป็นสิวนั่นเอง
3. เชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acne (P.ance)
P.acne (propionibacterium acnes) หรือชื่อใหม่เรียกกันว่า C.acne (Cutibacterium acnes) เป็นแบคทีเรียที่พบได้เป็นปกติบนผิวหนัง ในรูขุมขน และในต่อมไขมันของมนุษย์ P.acne เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้หากมีจำนวนมากเกินไป
ในอดีตการแพทย์เชื่อว่า P.acne เป็นปัจจัยหลัก และปัจจัยสำคัญที่สุดของการเกิดสิว ซึ่งในปัจจุบันที่มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสิวมากขึ้น ทำให้พบว่า P.acne เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดสิวโดยการกระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบได้จากหลายๆทาง หากมีปริมาณเชื้อโรคมากเกินไป หรือไม่สมดุลกับเชื้อโรคประจำถิ่นตัวอื่นๆ อย่างที่พูดถึงไปในหัวข้อที่แล้ว ว่า P.acne สามารถย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระจนทำให้เกิดการอักเสบได้ แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว P.acne ยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบได้อีก
แบคทีเรีย P.acne นี้ แม้จะเป็นเชื้อโรคประจำถิ่น อาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเราตามปกติ แต่ก็เป็นเชื้อโรคที่เป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง หรือการเป็นสิวอุดตันที่ผนังรูขุมขนแตกออก ร่างกายจะพยายามต่อต้าน P.acne โดยระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการหลั่งสารต่างๆออกมาและทำให้เกิดการอักเสบ
โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะจดจำ antibody ของแบคทีเรีย P.acne ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่มีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้บ่อย เมื่อ P.acne เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทำให้อักเสบได้ง่าย
นอกจาก antibody ของ P.acne แล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังตอบสนองด้วยวิธีต่างๆอีกมากมาย เช่นหลั่งสาร Proinflammatory Cytokines, กำจัดแบคทีเรียด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ, สร้าง antimicrobial peptides, histone H4, และ cathelicidin ที่มีผลทำให้ผิวหนังอักเสบเพิ่มขึ้น
ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย P.acne เองก็ยังมี carbohydrate antigen อยู่ด้วย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง antibody ออกมามากกว่าเดิม ดังนั้นผู้ที่เป็นสิวจึงมักพบว่ามีจำนวนแบคทีเรีย P.acne มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสิวในช่วงอายุเดียวกัน สภาพแวดล้อมคล้ายกัน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีงานวิจัยยืนยันว่ายิ่งมีเชื้อจำนวนมาก จะทำให้สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้นได้จริงหรือไม่
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การมีอยู่ของ P.acne จึงมีผลอย่างมากกับการทำให้ผิวหนังอักเสบจนเกิดเป็นสิว หรือมีโอกาสทำให้เกิดสิวอักเสบหลังจากเป็นสิวอุดตันนั่นเอง
4. การอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response)
หลังจากสาเหตุการเกิดสิวผ่านมาหลายข้อ หลายคนอาจสงสัยว่าการอักเสบเกี่ยวกับการเกิดสิวอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การอักเสบเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองด้วยการอักเสบ เพื่อป้องกัน และกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปจากร่างกาย
ถ้าการอักเสบเกิดขึ้นที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกปวด ร้อน ผิวหนังบวม บริเวณที่อักเสบเห็นเป็นสีชมพูหรือสีแดง จากการมีเลือดคั่ง เนื่องจากสารต่างๆและเซลล์เม็ดเลือดขาวเดินทางมาที่บริเวณที่อักเสบผ่านทางระบบเลือด
เมื่อแบคทีเรียประจำถิ่นที่อยู่บนผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ไม่ใช่แค่ P.acne ตัวเดียวเท่านั้น แบคทีเรียตัวอื่นๆก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้ทั้งสิ้น
แล้วแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร? เมื่อ Keratinocyte อุดตันที่รูขุมขนจนเกิดเป็น Microcomedone เคราติน น้ำมันจากต่อมไขมัน และแบคทีเรียจะสะสมรวมกันเกิดเป็นถุง cyst เมื่อถุงนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือโดนรบกวนจนผนังรูขุมขนแตกออก จะทำให้แบคทีเรียที่อยู่บริเวณ cystic space เข้าสู่ร่างกายบริเวณเนื้อเยื่อผิวหนัง ร่างกายก็จะตอบสนองโดยการอักเสบเพื่อกำจัดแบคทีเรียดังกล่าวออกไป
การแพทย์ในอดีตเข้าใจว่า การอักเสบจะเกิดขึ้นหลังสิวอุดตันแตกออกเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการตรวจชิ้นเนื้อของผู้ที่เป็นสิวง่าย พบว่าผิวหนังอักเสบก่อนเป็นสิวอุดตัน และหลังเป็นสิวอุดตันพบว่าผิวหนังอักเสบเพิ่มมากขึ้น
จากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการอักเสบสามารถเกิดก่อนสิวอุดตันและเกิดหลังสิวอุดตันได้เช่นกัน และยังทำให้เห็นว่าการอักเสบกับสิวมีอิทธิพลที่ทำให้เกิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุของการเกิดสิวทั้ง 4 สาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองทั้งจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย สภาพแวดล้อม หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการดูแลผิวหนัง การใช้ชีวิตประจำวัน การทานอาหาร และการใช้ยา ทั้งยาทาภายนอกและยาสำหรับรับประทานได้เช่นกัน
ดังนั้นแนวทางป้องกันสิวที่ดีคือล้างหน้าตามแนวรูขุมขน ให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ไม่มากไม่น้อยเกินไป ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ ผ่อนคลายความเครียด ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยาใดก็ตาม และเมื่อเริ่มเป็นสิวควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการเป็นสิวอักเสบรุนแรงที่อาจนำไปสู่แผลเป็นเมื่อหายเป็นสิวได้
วิธีรักษาสิว
เป็นสิวรักษายังไง? วิธีแก้สิว ลดสิว รักษาสิว ที่หน้าและลำตัวมีด้วยกันหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจากอาการ ว่ารุนแรงเพียงใด สาเหตุของสิวเกิดจากปัจจัยใด แล้วจึงใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย โดยการรักษานิยมใช้ควบคู่กันหลายวิธี เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวมักมาจากหลายอย่างประกอบกัน
การรักษาสิวโดยแพทย์ มีหลักการการรักษาดังนี้
- ทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิว (follicular keratinization) กลับมาเป็นปกติ
- ลดการทำงานของต่อมไขมัน (Sebaceous gland)
- ลดจำนวนแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน โดยเฉพาะแบคทีเรีย P.acne
- ต่อต้านหรือลดการอักเสบ
ซึ่งการรักษาสิวมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยา ฮอร์โมน ไปจนถึงหัตถการต่างๆดังนี้
วิธีรักษาสิวด้วยการรักษาเฉพาะที่
การทำความสะอาดผิว
การทำความสะอาดที่เหมาะสมเพื่อลดการเกิดสิว คือควรทำความสะอาดใบหน้าและร่างกายส่วนบนวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีค่า pH ที่เหมาะสม ประมาณ pH 5-6 หากมีค่า pH สูงเกินไป เป็นด่างเกินไป จะทำให้ระคายเคืองผิวและน้ำมันบนผิวเสียสมดุลได้
สำหรับผู้ที่เป็นสิวง่าย หรือกำลังเป็นสิวรุนแรง แพทย์อาจจะให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของตัวยาด้วย อย่าง Benzoyl peroxide, salicylic acid, หรือ sulfur
การใช้ยาทาภายนอก
วิธีลดสิว รักษาสิวด้วยยาทาภายนอกมีหลายตัว แต่ละตัวออกฤทธิ์ต่างกัน เหมาะกับใช้รักษาสิวต่างชนิดกัน ดังนี้
- Retinoids ยาในกลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ
Retinoid ชนิดทา สามารถลดการอุดตันและต้านการอักเสบได้ เรียกว่าสามารถรักษาได้ครอบคลุมทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ แต่มีข้อเสียคืออาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ เนื่องจากมักมีส่วนผสมของสารละลายอย่างแอลกอฮอล์ในยาทา นอกจากนี้ยังทำให้ผิวบางลงและไวต่อแสงมากขึ้น ผู้ที่ใช้ Retinoid ชนิดทารักษาสิวจึงควรทาครีมกันแดดในตอนกลางวันเป็นประจำ
- Benzoyl peroxide
การใช้ Benzoyl peroxide หรือยาที่เราจะรู้จักกันในชื่อ “Benzac” เป็นวิธีการรักษาสิวที่นิยมใช้กันมากที่สุด สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาด้วย เนื่องจากยา Benzoyl peroxide สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียด้วยการปล่อย free oxygen radicals ออกมาทำลายเชื้อแบคทีเรีย
Fact: “free oxygen radicals เป็นอนุมูลอิสระประเภทหนึ่ง ที่สามารถจับกับส่วนต่างๆของเซลล์แบคทีเรีย และสามารถทำลายแบคทีเรียได้”
ข้อดีของ Benzoyl peroxide คือไม่ค่อยพบผู้ที่แพ้ยามากนัก อีกทั้งตัวยายังออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้เหมือนกับยาปฏิชีวนะ แต่เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ทนทานยา Benzoyl peroxide ได้เหมือนกับยาปฏิชีวนะ ยา Benzoyl peroxide จึงใช้ได้ทั่วไป และไม่ได้ถูกจำกัดการใช้เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาเหมือนกับยาปฏิชีวนะนั่นเอง
- Topical Antibiotics ยาปฏิชีวนะชนิดทา
ยาปฏิชีวนะชนิดทาที่ใช้กันเพื่อรักษาสิวมีอยู่ 4 ตัว ได้แก่ Erythromycin, Clindamycin, Metronidazole และ Dapsone
ในปัจจุบันยังคงมีการใช้ยา Erythromycin, Clindamycin และ Metronidazole ชนิดทาเป็นหลักในการรักษาสิวอยู่ แต่จะไม่ได้ใช้ตัวยาเดียว เนื่องจากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แพทย์จะนิยมให้ใช้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับ Benzoyl peroxide หรือใช้ยาทาสองตัวควบคู่กัน เพื่อให้เชื้อดื้อยาน้อยลง
Dapsone เป็นอีกตัวนึง แต่ยังไม่ได้มีใช้ในประเทศไทย ใช้เพื่อรักษาสิวอักเสบ เนื่องจากควบคุมอาการอักเสบได้ดี อีกทั้ง Dapsone แบบทายังปลอดภัยกว่า Dapsone แบบยาสำหรับทาน เพราะยาตัวนี้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากใช้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรค G6PD หรือที่เรียกกันว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้า
แต่ Dapsone นี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide ได้ เพราะยาจะทำปฏิกิริยากันจนเกิดเป็นรอยสีส้มบนผิวหนังได้
Fact: “โรค G6PD เป็นโรคที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเมื่อร่างกายได้รับยาหรือสารพิษ ดังนั้นต้องระวังในการใช้ยา NSAIDs บางชนิด ยาแอสไพริน และยาปฏิชีวนะ”
- Salicylic Acid
Salicylic Acid เป็นกรดธรรมชาติที่สามารถออกฤทธิ์ลดการอุดตัน และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ก็ให้ผลน้อยกว่าการใช้ Retinoid และ Benzoyl peroxide
Salicylic Acid ยังสามารถช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้ด้วย ทำให้ keratinocyte เกาะตัวกันได้น้อยลง ลดการเกิดสิว แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ระคายเคืองได้
- Azelaic Acid
Azelaic Acid เป็นกรดธรรมชาติเหมือนกับ Salicylic Acid สามารถออกฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพ (antimicrobial) และช่วยลดการอุดตันได้
นอกจากนี้ Azelaic Acid ยังเป็นสารต้านการสร้างเม็ดสี (Tyrosinase inhibitor) สามารถช่วยลดรอยดำจากสิวหลังการรักษาสิวได้อีกด้วย
ทั้งนี้การใช้ Azelaic Acid ค่อนข้างอันตรายหากใช้ไม่ถูกวิธี หากใช้มากเกินไปอาจทำให้ผิวไหม้ แสบร้อน หรือเกิดแผลพุพองได้
การรักษาที่มีผลทั่วร่างกาย (Systemic Therapy)
การใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic and antibacterial agents)
ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรียแบบทานที่นิยมใช้กัน มีหลายชนิด มีทั้งใช้ตัวเดียวเดี่ยวๆ และใช้เป็นสูตรยาสองตัวร่วมกัน ซึ่งยาปฏิชีวนะแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ในกรณีใด แต่การใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างจำกัดการใช้อยู่มาก เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น
การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
การรักษาด้วยฮอร์โมนมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านผลของฮอร์โมนแอนโดรเจน และลดการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนชนิดต่างๆ จากทั้งที่รังไข่และต่อมหมวกไต ต้นเหตุของการเกิดสิว
ซึ่งยาที่ใช้รักษาสิวด้วยการควบคุมฮอร์โมน มีดังนี้
ยาคุมกำเนิดแบบทาน (Oral Contraceptives)
ยาคุมกำเนิดเป็นยาที่มีผลกับระดับฮอร์โมน นิยมใช้เพื่อรักษาสิวในเพศหญิง โดยการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดจะช่วยรักษาสิวได้ด้วยการออกฤทธิ์ 4 อย่าง ได้แก่
- ช่วยลดปริมาณ androgen ที่ผลิตจากอวัยวะสืบพันธุ์ โดยจะไปกดการสร้าง LH หรือ luteinizing hormone ที่เป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมน androgen
- ลดปริมาณของ free testosterone เพื่อไม่ให้ free testosterone ในเลือดถูกดึงไปสร้างเป็น Dihydrotestosterone (DHT) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน และการเพิ่มจำนวนของ keratinocyte ได้มาก โดยการดึง free testosterone ไปสร้างเป็น sex hormone-binding globulin
- ยาจะไปยับยั้งการทำงานของ 5-α reductase เอนไซม์ตัวนึงที่มีหน้าที่เปลี่ยน testosterone ให้กลายเป็น DHT
- ออกฤทธิ์ต่อต้านผลของฮอร์โมนเพศชาย สามารถขัดขวางตัวรับของ androgen receptor ที่อยู่บนเซลล์ keratinocytes และ sebocytes ทำให้ androgen ไม่สามารถออกฤทธิ์กับเซลล์ทั้งสองตัวได้
Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists : เป็นยาชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ทำลายวงจรการปล่อย gonadotropin ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมน androgen ทำให้ปริมาณฮอร์โมน androgen ในร่างกายลดลง
การรักษาสิวโดยการใช้ยา Isotretinoin
วิธีรักษาสิวด้วยยา Isotretinoin สำหรับใช้ทาน นิยมใช้ในผู้ที่เป็นสิวชนิด nodular ที่รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก หรือในกรณีที่รักษาไม่หากจากเชื้อดื้อยา โดยตัวยาจะออกฤทธิ์
- ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน
- ลดการอักเสบ
- ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ
- ช่วยลดจำนวนแบคทีเรีย P.acne ในทางอ้อมจากปริมาณ sebum ที่ลดลง
ทั้งนี้การออกฤทธิ์ของ Isotretinoin ทางการแพทย์ยังไม่ได้ทราบผลทั้งหมดอย่างชัดเจน ผลการรักษาหลังหยุดยาจึงอาจอยู่นานถึง 1 ปี แต่บางกรณีก็อาจอยู่เพียง 2 – 4 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุว่าปัจจัยใดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์แตกต่างกันมาก
Isotretinoin ออกฤทธิ์ครอบคลุมมาก และเมื่อใช้รักษาสิวก็สามารถรักษาได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถพบผลข้างเคียงมาก ทั้งที่เป็นอาการข้างเคียงเล็กน้อยและรุนแรง
วิธีการรักษาสิวโดยการควบคุมอาหาร
อาหารบางอย่างมีผลทำให้เกิดสิวได้ อย่างเช่นนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม และ อาหารที่ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าการงดอาหารเหล่านี้เป็นวิธีลดสิว หรือสามารถรักษาสิวได้ ดังนั้นการควบคุมอาหารจึงเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ แต่ไม่ได้การันตีผลลัพธ์แต่อย่างใด
วิธีรักษาสิวด้วยหัตถการต่างๆ (Procedures)
การกดสิว (Comedone extraction)
การกดสิวเป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้กันในอดีต โดยเฉพาะการรักษาสิวอุดตันหัวเปิด แต่การแพทย์ปัจจุบันพบว่าการรักษาสิวด้วยการกดสิวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาสิวได้ การกดสิวอุดตันหัวเปิดก็เป็นการทำเพื่อเหตุผลด้านความสวยงามเท่านั้น ไม่ได้ลดสาเหตุการเกิดสิวแต่อย่างใด
หากต้องการรักษาด้วยการกดสิว ควรใช้ยาหรือใช้การรักษาวิธีอื่นๆ ที่รักษาสิวที่ต้นเหตุควบคู่ไปด้วย
การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง
วิธีการรักษาสิวแบบนี้มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่เป็นสิว ที่มีการอักเสบและ ก้อนใต้ผิวหนัง (nodular acne )
ข้อดีคือสามารถทำให้สิวยุบได้อย่างรวดเร็ว หายเจ็บ ทำได้โดยไม่ต้องกรีดหรือถ่ายของเหลวออกจากสิวก็ได้
แต่มีความเสี่ยงการเกิดรอยแผลเป็นยุบหลังสิวหายได้
การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical peel)
วิธีแก้สิวด้วยการใช้สารเคมีลอกผิว เป็นการลอกผิวชั้นตื้นๆ (ผิวหนังชั้นนอกสุด stratum corneum) ออกไปด้วยสารเคมี เพื่อช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ป้องกันการก่อตัวของ keratinocyte ในรูขุมขน ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทย นิยมทำในผู้ที่ไม่สามารถรักษาสิวด้วยวิธีอื่นได้ อย่างเช่นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถใช้ยาบางตัวได้
การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง
การรักษาสิวด้วยการทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง เป็นวิธีการที่มาใหม่ และยังมีพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เช่นการใช้ Pulse dye laser 595nm (vBeam), Copper-Bromide laser 578nm (DualYellow), Diode laser 1450nm, Long-pulse Nd:YAG laser 1064nm, Er:Glass laser 1550nm เป็นต้น
เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยา และให้ผลการรักษาที่ดีมาก สิวยุบเร็ว รอยแดงจางลงเร็ว และ ลดโอกาสการเกิดรอยดำ และแผลเป็นสิว
การใช้เลเซอร์และการบำบัดด้วยแสงในการรักษาสิว จะช่วยฆ่าเชื้อ P.acne ช่วยลดการอักเสบได้ จากการที่แสงมีผลต่อต้าน Cytokine action ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเลเซอร์ยังสามารถรักษารอยดำ หลุมสิว และรอยแผลเป็นจากสิวได้ด้วย
ส่วนการ รักษารอยสิว หลุมสิวด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ Subcision, การขัดผิว Dermabrasion, การทำ Microneedling และ การฉีด filler
Subcision เป็นการใช้เข็มเข้าไปตัดเนื้อเยื่อใต้หลุมสิวลึก ทำให้ผิวหนังชั้นล่างหลุดออกจากผิวหนังชั้นบน และปล่อยให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาเติมในส่วนนั้นเอง ส่วน Dermabrasion เป็นการขัดผิวเพื่อให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น ปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้วเนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก
Microneedling เป็นเทคนิคที่รักษาได้ทั้งสิวอักเสบและรอยแผลเป็นจากสิว เป็นการใช้เข็มเล็กๆ จิ้มที่ผิวหนังเพื่อกระตุ้นเนื้อเยื่อบริเวณนั้น ให้ต่อมไขมันทำงานลดลง และกระตุ้นให้ผิวหนังเรียงตัวใหม่ ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจน ทำให้รอยสิวตื้นขึ้นได้ แต่วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีมาตรฐานที่รองรับโดย FDA ไทย
ส่วนการฉีด filler เป็นการใช้ filler ฉีดลงไปที่หลุมสิวโดยตรง เป็นเหมือนการเติมเนื้อเยื่อด้านล่างหลุมสิว ทำให้หลุมสิวขนาดใหญ่ดูตื้นขึ้นได้ในเวลาสั้นๆ
วิธีรักษาสิวด้วยการปรึกษาแพทย์
การปรึกษาแพทย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสิวก่อนตัดสินใจรักษาสิวด้วยวิธีใดๆก็ตาม เพราะแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ที่สามารถบอกได้ว่าปัญหาสิวของเราเกิดจากอะไร ควรเริ่มรักษาที่ตรงไหน มีทางเลือกการรักษาใดบ้าง ทำอย่างไรสิวจึงจะไม่ดื้อยา และดีต่อสภาพผิวในระยะยาว
หลายคนคิดว่าการปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องใหญ่มาก จะต้องเคลียร์ตารางให้ว่างเพื่อนัดเวลากับแพทย์ แถมยังต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกอีก
แต่จริงๆ แล้ววิธีการรักษาสิวด้วยการปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เพียงเข้าแอปพลิเคชั่น SkinX ก็สามารถเลือกปรึกษากับแพทย์ผิวหนังได้มากถึง 210 ท่านที่เป็นแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ แก้ปัญหาสิวโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่า
สิวมีกี่ประเภท
นอกจากจะรู้วิธีแก้ปัญหาสิว ยังควรรู้ด้วยว่าสิวที่กำลังเป็นอยู่เป็นสิวประเภทใด เพื่อให้สามารถแจ้งสภาพอาการของสิวกับแพทย์ได้คร่าวๆ ประเมินความรุนแรงของสิว และพอจะทราบสาเหตุการเกิดสิวด้วยตนเองได้
ประเภทของสิวสามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือแบ่งตามความรุนแรง และแบ่งตามลักษณะสิว
หากแบ่งตามความรุนแรงจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- สิวเล็กน้อย หรือสิวไม่รุนแรง (mild acne) คือเป็นสิวอุดตันที่ไม่มีอาการอักเสบ ได้แก่สิวอุดตันหัวเปิด และสิวอุดตันนหัวปิด หรือเป็นสิวอักเสบในผิวหนังชั้นตื้นๆ อย่างสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนเล็กน้อย
- สิวปานกลาง (moderate acne) คือเป็นสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนปานกลาง หรือเป็นสิวอักเสบลึกอย่าง nodular acne จำนวนเล็กน้อย
- สิวรุนแรง (severe acne) คือเป็นสิวตุ่มแดง (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) จำนวนมาก เป็นสิวแบบ nodular acne จำนวนมาก เป็นเรื้อรัง หรือสิวอักเสบขั้นรุนแรง severe nodular acne อย่าง acne conglobata หรือ acne fulminans
หากแบ่งตามลักษณะสิวจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่สิวไม่อักเสบ และสิวอักเสบ
สิวไม่อักเสบ คือสิวอุดตัน ประกอบด้วยสิวหัวเปิด และสิวหัวปิด ส่วนสิวอักเสบจะประกอบด้วยสิวตุ่มแดง (Papule), สิวหัวหนอง (Pustule), สิวหัวช้าง สิวไต (nodular acne), และสิวก้อนกลมอักเสบรุนแรง (severe nodular acne)
สิวไม่อักเสบ
สิวไม่อักเสบ คือสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน แต่ไม่มีอาการอักเสบร่วมด้วย โดยสิวไม่อักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- สิวอุดตัน (Comedones)
สิวอุดตัน (Comedones) เป็นสิวที่เกิดขึ้นหลังจากเกิด microcomedone เมื่อเคราติน เซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออก ไขมัน และแบคทีเรียก่อตัวกันจะทำให้ microcomedone กลายเป็น comedones ในที่สุด
สิวอุดตันมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่สิวหัวปิด (Closed Comedone) หรือสิวหัวขาว (Whiteheads) และสิวหัวเปิด (Open Comedone) หรือสิวหัวดำ(Blackheads)
- สิวหัวปิด (Closed Comedone) – เป็นสิวอุดตันที่มองเห็นได้ยาก ลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีสีขาว สีครีม หรือเป็นสีเดียวกับผิวหนัง จึงเรียกกันว่าเป็นสิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวที่พัฒนาอยู่ใต้ผิวหนัง รักษาได้ยากกว่าสิวหัวเปิด แต่ก็รักษาได้ง่ายกว่าสิวอักเสบ หากปล่อยไว้ไม่รักษา สิวอาจใหญ่ขึ้นจนผนังรูขุมขนแตกออก ทำให้เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นสิวอักเสบแบบต่างๆได้
- สิวหัวเปิด (Open Comedone) – เป็นสิวอุดตันที่สามารถมองเห็นก้อนเคราติน ไขมัน และแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในสิวได้จากภายนอก มีลักษณะเป็นหัวแบนเรียบ หรือโผล่พ้นผิวหนังขึ้นมาเล็กน้อย บางครั้งหัวสิวจะทำปฏิกิริยา oxidation กับอากาศจนเกิดเป็นสีดำ จึงเรียกสิวแบบนี้กันว่าสิวหัวดำ(Blackheads)
สิวอุดตันตามปกติจะรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ยาทานเพื่อปรับฮอร์โมนหรือส่งผลต่อระบบร่างกายอื่นๆแต่อย่างใด โดยยาทาจะนิยมใช้ retinoid, benzoyl peroxide, หรือยาสูตรผสมอื่นๆ ถ้าเป็นสิวอุดตันจำนวนมาก แพทย์อาจจะให้ใช้ azelaic acid หรือ salicylic acid ที่ช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิวด้วย
ส่วนหัตถการที่นิยมใช้กันมากคือการกดสิว สามารถทำได้ในสิวหัวเปิด ส่วนสิวหัวปิด ต้องเลือกเป็นกรณีไป แต่การกดสิวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรทำเองที่บ้าน เนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อ เกิดการอักเสบ หรือเกิดรอยแผลเป็นหลังจากกดสิวได้
สิวอุดตันมักถูกสับสนกับโรคผิวหนังอื่นๆ อย่างเช่นสิวผด และสิวหิน ซึ่งสิวดังกล่าวไม่ใช่สิว เป็นเพียงความผิดปกติของผิวหนังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสิวเท่านั้น
สิวผด (Acne aestivalis หรือ acne mallorca) ไม่ได้เกิดจากการอุดตันหรือการอักเสบเหมือนอย่างสิว เป็นการบวมของรูเปิดต่อมเหงื่อ เป็นหนึ่งในผื่นหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากแสงแดด (polymorphous light eruption) โดยสิวผดนี้จะเกิดจากการกระตุ้นของ UVA ทำให้เกิดรอยผดเป็นตุ่มเล็กๆ คล้ายกับสิวอุดตันหัวปิด บางครั้งเป็นตุ่มแดงคล้ายกับสิวอักเสบ
สิวผดพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประวัติเคยเป็นสิวมากก่อน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเฉพาะในฤดูที่แดดแรง เช่นฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ผลิในต่างประเทศ เมื่อเข้าฤดูฝนอาการของโรคจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา
ส่วนสิวหิน หรือ Syringoma จริงๆแล้วเป็นเนื้องอกชนิดดี ของต่อมเหงื่อ
มักเป็นตุ่มสีเนื้อ แข็งๆ กดไม่ออก มักอยู่บริเวณรอบๆตา
สิวเม็ดข้าวสาร (Milia หรือ Milium Cysts) ในไทยจะเรียกว่าเป็นสิว แต่บางครั้งก็จะนับเป็นซีสต์ชนิดหนึ่ง จะมีลักษณะเป็นก้อนเม็ดเล็กๆ สีขาว มักจะขึ้นอยู่ใกล้ดวงตา แก้ม หรือจมูก ก้อนสิวจะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก สีเดียวกับผิวหนัง และจะแข็งเป็นก้อน
สิวอักเสบ
สิวอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Inflamed acne หรือ Inflammatory acne” คือสิวที่มีอาการอักเสบบริเวณผิวหนังหรือต่อมไขมันร่วมด้วย จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสิวอักเสบ มีหลายชนิด แบ่งออกตามระยะอาการ และความลึกของการอักเสบ ดังนี้
- สิวตุ่มแดง (Papule)
สิวตุ่มแดง (Papule) คือสิวอักเสบที่พัฒนามาจากสิวอุดตันแบบต่างๆ มีอาการอักเสบบนผิวหนังตื้นๆ ยังไม่ทำให้เกิดหนอง หรือการอักเสบในผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป ลักษณะสิวตุ่มแดงจะเป็นตุ่มสิวอักเสบเม็ดเล็กๆ สีแดง และทำให้รู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อสัมผัสโดนสิว
สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาภายนอก ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทาน หรือร่วมกับยาคุมกำเนิดในเพศหญิง
- สิวหัวหนอง (Pustule)
สิวหัวหนอง (Pustule) เป็นสิวขนาดเล็ก ลักษณะสิวจะมีจุดสีขาวเหลืองอยู่ตรงกลางซึ่งก็คือหนองที่เป็นผลมาจากการอักเสบ ส่วนรอบๆจะเป็นสีแดง เมื่อจับจะรู้สึกเจ็บ เป็นสิวที่พัฒนามาจากสิวอุดตันเช่นกัน แต่จะมีระดับการอักเสบที่มากกว่าสิวตุ่มแดง
สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาภายนอก ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทาน หรือร่วมกับยาคุมกำเนิดในเพศหญิงเช่นเดียวกับสิวตุ่มแดง
- สิวหัวช้าง
สิวหัวช้าง (Nodule) คือสิวอักเสบที่การอักเสบลุกลามจนเข้าไปถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้เป็นก้อนตุ่มนูนขนาดใหญ่สีชมพูที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า บางครั้งจึงเรียกว่าสิวตุ่มนูนขนาดใหญ่
สิวแบบนี้เวลาเป็นจะเจ็บมาก เมื่อกดจะรู้สึกว่าจะเป็นไต ไม่สามารถรักษาด้วยการกดสิวได้ บางครั้งจึงเรียกว่าสิวไต หรือ สิวไม่มีหัว ทั้งยังทำให้อาการอักเสบลุกลามมากขึ้น สิวเม็ดใหญ่และอักเสบมากกว่าเดิม
สิวหัวช้าง รักษาได้ยากกว่าสิวที่เกิดจากการอักเสบตื้นอย่างสิวตุ่มแดงหรือสิวหัวหนอง มักรักษาโดยใช้ยาทาภายนอกร่วมกับยาทานอาจจะใช้ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ หรือยาทาน isotretinoin แล้วแต่แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ยังนิยมรักษาร่วมกับหัตถการอื่นๆ ทั้งการฉีด corticosteroids การใช้เลเซอร์ หรือการบำบัดด้วยแสง
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับสิวซีสต์ หรือ Cystic acne กันมาบ้าง คำนี้เป็นชื้อที่ใช้เรียกสิวอักเสบรุนแรงชนิดหนึ่ง เนื่องจากการแพทย์ในอดีตเชื่อว่าสิวอักเสบรุนแรงบางชนิดจะมีอาการของซีสต์ (Cyst) ร่วมด้วย แต่การแพทย์ปัจจุบันทราบแล้วว่าสิวและซีสต์เป็นโรคคนละชนิดกัน สิวอักเสบรุนแรงไม่ได้เกิดซีสต์ร่วมด้วย คำว่าสิวซีสต์จึงเลิกใช้ไป
ส่วนสิวอักเสบรุนแรง จากที่เรียกว่า nodulocystic acne จึงเปลี่ยนมาเป็นคำว่า severe nodular acne แทนนั่นเอง
ส่วนสิวที่คนมักเข้าใจผิดกันมากว่าเป็นสิวอักเสบ คือ
“สิวสเตียรอยด์” หรือสิวติดสาร แท้จริงแล้วสิวสเตียรอยด์ไม่ใช่สิว เพียงแต่เป็นภาวะความผิดปกติบนผิวหนังที่ลักษณะอาการคล้ายกับสิวเท่านั้น สิวสเตียรอยด์มักเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ทา ทาลงบนผิวต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในบริเวณที่ทาซ้ำๆจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงคล้ายกับสิวตุ่มแดง หรือสิวหัวช้าง ในบางกรณีอาจเป็นตุ่มหนอง หรือตุ่มพุพองได้
วิธีการรักษาสิวสเตียรอยด์ทำได้ด้วยการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับระยะเวลาการใช้สารสเตียรอยด์ และพบแพทย์เพื่อรักษารอยโรคและแผลเป็นหลังการรักษาต่อไป
Fact : “นอกจากสิวจะส่งผลเสียกับรูปลักษณ์แล้ว ยังส่งผลเสียกับจิตใจได้มาก มีงานวิจัยหนึ่งรายงานว่า 14% ของนักเรียนในกลุ่มสำรวจ มีความเสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นโดยมีสิวเป็นปัจจัยหนึ่ง”
บริเวณที่มักเกิดสิว
สิวเกิดขึ้นได้มากที่สุดบริเวณใบหน้า และสามารถเกิดได้ในบริเวณลำตัวช่วงบนด้วย อย่างบริเวณอกและหลัง โดยเฉพาะบริเวณเส้นกึ่งกลางลำตัว อย่างหน้าผาก จมูก และคาง ซึ่งสิวแต่ละที่ก็มีสาเหตุการเกิดส่วนใหญ่ที่แตกต่างกันไป ดังนี้
สิวที่คาง
สิวที่คาง มักจะเกิดมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ในเส้นกึ่งกลาง และเป็นบริเวณบนใบหน้าที่จะผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติในผู้ที่มีผิวผสม ทำให้เมื่อต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ สิวจึงมักจะเกิดขึ้นที่คางก่อน สิวรอบปากรอบคาง มักสัมพันธ์กับฮอร์โมน และการรับประทานอาหารที่มีนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม
นอกจากนี้สิวที่คางยังเกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเนื่องจากคางเป็นตำแหน่งบนใบหน้าที่คนเรามักจับเล่นโดยไม่รู้ตัวเช่นเวลาเท้าคาง อีกทั้งคางยังเป็นตำแหน่งที่สัมผัสกับหน้ากากอนามัยโดยตรง เมื่อจำเป็นต้องใส่หน้ากากบ่อยๆจะทำให้ มีการเสียดสี สิ่งสกปรกสะสมจนรูขุมขนอุดตัน หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ทำให้เป็นสิวในที่สุด
สิวที่หน้าผาก
สิวที่หน้าผาก เป็นบริเวณที่มักเกิดสิวก่อนส่วนอื่นๆเช่นเดียวกับคาง เพราะอยู่ในบริเวณเส้นกึ่งกลางใบหน้าและผลิตน้ำมันออกมามากกว่าผิวส่วนอื่นๆ นอกจากเรื่องความมันแล้วหน้าผากก็เป็นบริเวณที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกมาก เนื่องจากเป็นจุดที่มีเหงื่อเยอะ สิวที่หน้าผากมักสัมพันธ์กับความเครียด การอดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
อีกทั้งยังเป็นจุดที่ถ้าไว้ผมหน้าม้า ใส่หมวก หรือใส่ผ้าคาดศีรษะ ก็จะทำให้สิ่งสกปรก อย่างเหงื่อไคลและมลภาวะสะสมอยู่ที่หน้าผากมากขึ้น ทำให้เกิดสิวได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ
สิวที่จมูก
จมูกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อยู่เส้นกึ่งกลาง ทำให้ สิวที่จมูก สามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าส่วนอื่นๆ และเกิดความมันได้เหมือนกับสิวที่คางและที่หน้าผาก
สิวที่จมูกส่วนใหญ่จะเป็นสิวอุดตันชนิดหัวเปิด และสิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) ซึ่งสิวเสี้ยนนี้ไม่ใช่สิว แต่เป็นขนและรากขน ที่ในรูขุมขนนั้นมีขนขึ้นหลายเส้น และจับตัวกับ sebum รวมถึงสิ่งสกปรกและเซลล์ที่ตายแล้ว จนเกิดเป็นก้อนคล้ายสิวอยู่รอบๆเส้นขนเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง
สิวที่แก้ม
สิวที่แก้ม มักจะเกิดจาก การล้างหน้าไม่สะอาด และสิ่งสกปรกเป็นหลัก เนื่องจากแก้มเป็นบริเวณที่ต้องสัมผัสกับหลายสิ่ง ทั้งสัมผัสกับหมอนเวลานอน สัมผัสกับเส้นผม กรอบแว่น หรือสัมผัสกับโทรศัพท์ที่เป็นแหล่งรวมสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆด้วย สิวที่แก้มสามารถเกิดจากความน้ำมัน หรือการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติได้เช่นกัน
สิวที่ปาก
สิวที่ปาก มักจะอยู่บริเวณรอบๆริมฝีปาก เกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเหมือนกันกับสิวที่แก้ม เพราะปากเป็นบริเวณที่เราใช้ทานข้าว เมื่ออาหารสัมผัสรอบๆปาก ก็อาจทำให้เกิดสิวได้หากรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ
นอกจากนี้สิวที่ปากยังสามารถเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ด้วย ทั้งยาสีฟัน ลิปสติก หรือน้ำยาบ้วนปาก บางครั้งก็อาจเกิดจากการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานได้เช่นกัน
สิวที่คอ
สิวที่คอ เป็นปัญหาที่มักเกิดจากเส้นผมเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นบริเวณที่สิ่งสกปรกจากเส้นผมและหนังศีรษะไหลมาสะสมอยู่ หากไว้ผมยาว ชอบปล่อยผม เส้นผมจะทำให้ผิวหนังอับ จนเหงื่อไคลสะสมและเกิดเป็นสิวขึ้นมา นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการแพ้ยาสระผม หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมและหนังศีรษะอื่นๆ ด้วย
สิวที่หลัง
สิวที่หลัง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บริเวณหลังก็เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่อยู่ในแนวเส้นกึ่งกลาง สามารถเกิดสิวได้มากจากหลายสาเหตุ ทั้งความมัน การผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ เชื้อแบคทีเรีย และการอักเสบของผิวหนัง
สิวที่หลังเกิดจากเชื้อยีสต์หรือเชื้อราตัวเล็กๆได้มาก เนื่องจากเป็นที่ที่อยู่ในร่มผ้าตลอดเวลา บางครั้งเหงื่อไคล รวมถึงสิ่งสกปรก น้ำมันบนผิวหนัง ส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของผิวเหมาะกับการอยู่อาศัยของยีสต์เหล่านี้มากขึ้น ยิ่งคนที่อยู่ในที่ร้อน หรือสะพายเป้ติดหลังอยู่ตลอดเวลา จะยิ่งเกิดสิวที่หลังได้ง่ายมาก
นอกเหนือจากเหตุผลเหล่านี้ ตำแหน่งการเกิดสิวในที่ต่างๆสามารถเกิดจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน เนื่องจากบริเวณที่ต่อมไขมันสร้างน้ำมันมาก การตอบสนองต่อฮอร์โมน ลักษณะการผลัดเซลล์ผิวในแต่ละบริเวณ สามารถกำหนดได้โดยลักษณะทางกรรมพันธุ์ทั้งหมด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว
สิวฮอร์โมน รักษาอย่างไร?
หากเป็นสิวฮอร์โมนในผู้ชาย สิวฮอร์โมนอาจไม่สามารถรักษาที่ต้นเหตุอย่างฮอร์โมนได้ เนื่องจากต้นเหตุของการเกิดสิวคือฮอร์โมนในกลุ่ม androgen ที่มีผลต่อการแสดงออกทางเพศของเพศชายด้วย หากแก้ไขที่ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงด้านสุขภาพได้
การรักษาสิวฮอร์โมนในผู้ชายจึงนิยมใช้ยาทาภายนอกร่วมกับยาปฏิชีวนะ หรือยา isotretinoin เพื่อควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ควบคุมการสร้าง sebum จากต่อมไขมัน และทำให้ keratinocyte ผลัดเซลล์ผิวอย่างปกติต่อไป เพื่อลดต้นเหตุการเกิดสิว
ส่วนวิธีรักษาสิวฮอร์โมนในผู้หญิงจะนิยมใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า เนื่องจากการมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปจนทำให้เกิดสิวสามารถส่งผลเสียต่อร่างกาย และความมั่นใจของผู้หญิงได้ การใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาทาภายนอกจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการรักษาสิวฮอร์โมนในผู้หญิง
สิวเห่อเต็มหน้า ทำไงดี?
สิวเห่อเต็มหน้า ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะถึงแม้สิวจะเป็นโรคผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่สิวเห่อเต็มหน้าจะนับว่าเป็น moderate acne หรือ severe acne ที่ต้องใช้เวลาในการรักษา และอาจจะต้องใช้ยาทานที่อาจมีผลข้างเคียงในการรักษาด้วย
ซึ่งการปรึกษากับแพทย์ผ่านแอปฯ SkinX เอง แพทย์ก็สามารถจ่ายยาให้ได้เหมือนกับการไปพบแพทย์ตามปกติเลย ดังนั้นการพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดรอยดำ รอยแดง หรือหลุมสิวหลังรักษาหาย หรือสิวอาจพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบรุนแรงมากกว่าเดิมได้
ผิวไม่แข็งแรง เป็นสิวง่าย ดูแลอย่างไร?
ผู้ที่ผิวไม่แข็งแรงควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ครีมบำรุงผิว และเครื่องสำอางอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจเป็นผิวที่อักเสบง่าย keratinocyte ผลัดตัวผิดปกติได้ง่าย หรือ ผิวมัน มากกว่าปกติ ทำให้เป็นสิวได้ง่ายเมื่อผิวถูกกระตุ้นด้วยสารบางอย่าง
ทางที่ดีควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย รักษาความสะอาดของผิวอยู่เสมอ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขัดผิวมากจนเกินไป ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า pH สูงหรือต่ำจนเกินไป หรือถ้าหากอยากได้คำแนะนำสำหรับผิวเฉพาะบุคคลก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันการเกิดสิวได้เช่นกัน
สรุป
สิวเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นความผิดปกติที่สามารถรักษาได้ การรักษาสิวอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่ถ้าปรึกษาแพทย์ผิวหนัง รักษาสิวอย่างถูกวิธี ดูแลตัวเองอย่างดี ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด สิวก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องสิวๆ สำหรับคุณ
ทำเรื่องสิวให้เป็นเรื่องปกติ แก้ปัญหาสิวด้วยการปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาสิวกับแอปฯ SkinX สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รอรับยาได้ที่บ้าน ดาวน์โหลดแอปฯ ได้ง่ายๆ แค่คลิกเดียว!
บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
Burgess, L. Nodular acne: Definition and treatment options. (2018, May 15). Medical news today.
https://www.medicalnewstoday.com/articles/321815#takeaway
Neimeier, V., kupfer, J., Demmelbauer-Ebner, M., et al. Coping with acne vulgaris. Evaluation of the
chronic skin disorder questionnaire in patients with acne. Dermatology. 1998;196:108-115.
White GM. Recent findings in the epidemiologic evidence, classification, and subtypes of acne
vulgaris. J Am Acad Dermatol. 1998;39:S34-37.