สิวหัวหนอง ปัญหาผิวที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ จะรักษาอย่างไรดี
ปัญหาสิว ถือเป็นสาเหตุที่ทำลายความมั่นใจและสร้างความรำคาญให้ใครหลาย ๆ คน แต่สิวที่สร้างความรำคาญมากเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้นสิวหัวหนอง นอกจากจะรู้สึกเจ็บเวลาเผลอไปสัมผัส และสิวหัวหนองยังไม่สามารถใช้เครื่องสำอางเพื่อกลบรอยสิวได้ หากบีบสิวหัวหนองไม่ถูกวิธี ก็จะทิ้งรอยเอาไว้ ทำให้นอกจากจะต้องรักษาสิวแล้ว ยังต้องรักษารอยสิวอีกด้วย
ในบทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับสิวหัวหนอง ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังเจอและสร้างความรำคาญใจให้กับหลายๆคน ว่าแท้จริงนั้นสิวหัวหนองเกิดจากอะไร? บริเวณที่มักเกิดสิวหัวหนอง พร้อมทั้งวิธีป้องกัน รักษาสิวหัวหนองให้หาย โดยไม่ให้ทิ้งรอยดำเอาไว้
Key Takeaway
- สิวหัวหนอง คือ สิวที่มีการอักเสบที่ชั้นผิว พร้อมกับหนองที่ขังอยู่ใต้ผิว อาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบติดเชื้อ
- สิวหัวหนองสามารถก่อให้เกิดรอยดำและรอยแผลเป็นหลังรักษาได้ ดังนั้นควรรักษาสิวหัวหนองอย่างถูกวิธี และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน
- สิวหัวหนองสามารถเกิดขึ้นได้หลายบริเวณ โดยเฉพาะจุดที่มีต่อมไขมันและมีโอกาสสะสมสิ่งสกปรกไว้มาก
- การรักษาสิวหัวหนองสามารถทำได้โดยการใช้ยาทาสิว, ยาชนิดรับประทาน, ใช้แผ่นดูดสิว หรืออาจรักษาด้วยการใช้แสงและเลเซอร์
สิวหัวหนอง สิวอักเสบหัวหนอง คืออะไร?
สิวหัวหนอง (Pustules) คือ หนึ่งในประเภทของสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดง ๆ บริเวณฐาน และมีจุดสีขาวเหลืองอยู่บริเวณหัวหรือด้านบนของสิว ซึ่งจุดสีขาวเหลืองคือ หนองที่เกิดภายใต้ผิวหนัง เมื่อสัมผัสกับสิวอักเสบหัวหนองจะรู้สึกเจ็บปวดเล็กน้อย ซึ่งมีทั้งขนาดสิวหัวหนองเม็ดเล็ก ๆ และสิวหัวหนองเม็ดใหญ่ บางคนอาจจะมีสิวหัวหนองขึ้นเต็มหน้าหรือมีเพียงไม่กี่เม็ด โดยปกติแล้วสิวหัวหนองไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะมีอาการอักเสบ, บวมแดง, เจ็บ และคันร่วมด้วย
การรักษาสิวหัวหนองไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นสิวอักเสบที่ระดับตื้น ๆ บริเวณชั้นผิวหนัง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจจะมีการอักเสบเพิ่มขึ้น เกิดการลุกลาม และทำให้การรักษายากขึ้นไปอีก
หาคำตอบ สิวหัวหนอง เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิดสิวหัวหนอง หรือ Pustule สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ ด้วยกันโดยสาเหตุแรกคือ สิวหัวหนองเกิดจากอุดตันของรูขุมขนที่เต็มไปด้วยน้ำมัน เชื้อแบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตาย และสาเหตุที่สองของการเกิดสิวหัวหนอง เกิดจากสิวอุดตันที่ถูกรบกวนจากการบีบ แกะ แคะ ทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกเข้าไปในชั้นผิวหนัง และเกิดการติดเชื้อ อักเสบ จนกลายเป็นสิวหัวหนองในที่สุด
ทำความรู้จักสภาพผิวแพ้ง่าย มีส่วนทำให้เกิดสิวได้อย่างไร อ่านต่อได้ที่ : รู้จักผิวแพ้ง่ายและผิวบอบบาง ดูแลผิวอย่างไรถึงเห็นผล
หนองคืออะไร ?
หนอง (Pus) เป็นของเหลวสีขาวเหลืองที่สามารถพบได้ตามสิวหรือแผลติดเชื้อ หนองเป็นผลมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย นอกจากนี้ หนองยังประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้ว เนื้อเยื่อที่ตาย และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
ที่สำคัญผู้ที่เป็นสิวหัวหนองไม่ควรบีบหรือกดสิวด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ และลุกลามเพิ่มขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งหากมีสิวหัวหนองสุกที่เกิดการอักเสบรุนแรง หรือมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสม
บริเวณที่มักเกิด สิวหัวหนอง มักพบที่ใดบ้าง?
สิวหัวหนองสามารถเกิดได้ทุกที่ตามร่างกาย บริเวณที่มักเกิดส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขน ผสมกับสิ่งสกปรก และเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดเป็นสิวหัวหนองในที่สุด
สิวหัวหนองที่ใบหน้า
สิวหัวหนองบริเวณบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นหน้าผาก, จมูก, รอบปาก, คาง และแก้ม สาเหตุที่ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดสิวหัวหนอง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมผลิตไขมัน (Sebum) อยู่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นบริเวณที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นมือที่สัมผัสใบหน้าโดยไม่ตั้งใจ หรือการสวมใส่มาสก์ ซึ่งอาจทำให้ผิวหน้าเกิดการระคายเคืองจนเกิดสิว (Acne Mechanica) ได้
เมื่อต่อมไขมันบริเวณใบหน้า ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน เมื่อเกิดการอุดตันและเจอกับสิ่งสกปรกที่สะสมบริเวณชั้นผิวหนังจะทำให้เกิดสิวอักเสบหรือสิวหัวหนองได้ในที่สุด
สิวหัวหนองที่หน้าอก
สิวที่หน้าอก เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เมื่อต่อมไขมัน (Sebum) ผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากเกินความจำเป็น เมื่อน้ำมันส่วนเกินผสมเข้ากับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว อาจทำให้เกิดการติดเชื้อของแบคทีเรีย Cutibacterium acne (ชื่อเก่าคือ Propionibacterium acne) ที่เป็นสาเหตุของทำให้เกิดสิวบริเวณหน้าอก
สิวหัวหนองที่หลัง
สาเหตุการเกิดสิวที่หลัง นอกจากการอุดตันรูขุมขน ความมัน และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกที่สะสมอยู่บนเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน เช่น ฝุ่นละออง เชื้อโรค และเหงื่อไคล ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวบริเวณหลังได้
หลังเป็นบริเวณที่ผิวมันเพราะมีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื้อ C. acne เติบโตได้ดี และเกิดเป็นสิวอักเสบได้ง่าย นอกจากนี้ สารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้เกิดสิวที่หลังได้เช่นกัน
สิวหัวหนองตามไรผม
โดยส่วนใหญ่แล้วสิวที่ขึ้นตามไรผม อาจจะเกิดจากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Comedogenic) ทำให้เกิดการอุดตันและการอักเสบของผิวหนังจนกลายเป็นสาเหตุของการเกิดสิวตามไรผม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการอุดตัน เครื่องประดับบางอย่าง เช่น หมวก และที่คาดผม ทำให้เกิดการเสียดสี รวมถึงแรงกดทับระหว่างผิวหนังจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็สามารถทำให้เกิดสิวบริเวณไรผมได้เช่นกัน มักพบบ่อยในนักกีฬา
แนะนำให้ทำความสะอาดหมวก ที่คาดผม และอุปกรณ์กีฬาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกตกค้าง จนเป็นสาเหตุของการเกิดสิวหัวหนองตามไรผม
สิวหัวหนองรักษายังไง ให้หายขาด!
วิธีรักษาสิวหัวหนองมีกี่วิธี? ส่วนใหญ่การรักษามักจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการอักเสบสิว และปริมาณของสิวหัวหนอง ซึ่งวิธีการรักษาสิวหัวหนองมีดังนี้
รักษาสิวหัวหนอง ด้วยยาทาภายนอก
สิวอักเสบหัวหนองใช้อะไรดี? ยาทาภายนอกสำหรับรักษาสิวหัวหนอง ส่วนใหญ่มักมีสารที่ช่วยลดอาการอักเสบที่เป็นต้นเหตุหลักของการเกิดสิวหัวหนองได้ และสารบางตัวที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นต้นสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบ ยาทาภายนอกสำหรับรักษาสิวหัวหนองมีดังนี้
- Benzoyl Peroxide
เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ มีคุณสมบัติในการเพิ่มอัตราการผลัดเซลล์ผิว และทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิวอักเสบ โดยปกติแล้วอัตราความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ 2.5% จนถึง 10% ซึ่งควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความรุนแรง และอาการอักเสบของสิวที่ขึ้นอยู่ในขณะนั้น
Benzoyl Peroxide หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการระคายเคือง รอยแดง และอาการหน้าแห้งลอกเป็นขุย และสำหรับคนที่ใช้ยาในกลุ่มยา Retinoic Acid หรือ ครีมที่มีส่วนผสมของ Retinol อยู่ก่อนแล้ว แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้พร้อมกัน เช่น หากคุณใช้ยาเรตินอลตอนกลางคืน ให้ใช้ Benzoyl Peroxide ในตอนกลางวันแทน
- Tretinoin แบบทา
ผลิตภัณฑ์ยาทาภายนอกมักมาในรูปแบบเจลและครีม สามารถใช้รักษาได้ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ มีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบ และช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยปกติ Tretinoin ทุกตัวทำให้เกิดการระคายเคืองและผิวบางลง ยา Retinoids ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อถูกแสงแดด แนะนำให้ใช้ยา Tretinoin ในช่วงก่อนนอน
- Sulfur
ซัลเฟอร์ หรือ กำมะถัน มักจะถูกผสมไปกับสารตัวอื่น ๆ ที่ใช้รักษาสิว ซัลเฟอร์มีคุณสมบัติในการดูดซับความมันและสิ่งสกปรก สามารถยับยั้งการก่อตัวของกรดไขมันอิสระ จึงนิยมนำมาใช้รักษาสิวอักเสบ เพราะช่วยดูดซับไขมันและสิ่งสกปรกที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนได้
คำแนะนำ ไม่ควรใช้ในขณะที่ผิวหนังมีอาการไหม้จากแสงแดด หรือผิวแห้งลอก ซัลเฟอร์มีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง หากใช้ยาแล้วมีอาการระคายเคืองรุนแรง ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- Topical Antibiotics
Topical Antibiotics เป็นยาปฏิชีวนะชนิดทาที่แพทย์ส่วนใหญ่มักใช้ในการรักษาสิวและนิยมใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เพื่อลดอาการดื้อยาลง เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะตัวเดียวสามารถทำให้เกิดอาการดื้อยาได้เมื่อใช้ยาไปสักระยะหนึ่ง ในการรักษาสิวจึงนิยมใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาชนิดอื่น
ใช้ยาชนิดรับประทาน
โดยส่วนใหญ่ หากรักษาสิวโดยแพทย์ผิวหนังมักจะมีการจ่ายยาชนิดรับประทานให้ทานร่วมกับการใช้ยาทาภายนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น โดยยาที่ใช้รับประทานรักษาสิวหัวหนองจะเป็น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสิว
แผ่นดูดสิว
แผ่นดูดสิวกลายเป็นตัวช่วยในการรักษาสิวที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากจะใช้งานง่ายสะดวก แล้วยังช่วยกลบสิวช่วยให้แต่งหน้าได้ง่ายขึ้นด้วย
ประโยชน์ของแผ่นดูดสิว นอกจากจะช่วยดูดซับของเหลวหรือหนอง ออกมาจากสิวทำให้สิวแห้งได้ง่ายขึ้น ยังช่วยลดอาการอักเสบ ลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น และป้องกันไม่ให้มือไปสัมผัสกับผิวโดยตรง ช่วยลดการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกได้ดี แผ่นดูดสิวสามารถใช้รักษาได้เพียงผิวหนังบริเวณชั้นบนเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการใช้รักษาสิวหัวหนอง ที่เป็นอาการอักเสบตื้น ๆ บนชั้นผิวหนัง
สามารถเลือกใช้แผ่นดูดสิวได้ตามความรุนแรงของอาการ โดยมีให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ แผ่นดูดสิวชนิดมียารักษาในตัว (Medicated), แผ่นดูดสิวชนิดไม่มียารักษาในตัว (Non-Medicated) และแผ่นดูดสิวชนิดหัวเข็มละลายหัวสิว (Microneedle)
การรักษาสิวหัวหนองด้วยแสงและเลเซอร์ (Phototherapy and Lasers)
การรักษาสิวด้วยแสงและเลเซอร์เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ และกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลารักษาน้อย และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยา การรักษาด้วยเลเซอร์สามารถฆ่าเชื้อ C. acne และลดการอักเสบของสิวได้ นอกจากนี้ เลเซอร์ยังสามารถรักษารอยหลุมสิว รอยแดง รอยดำที่เกิดจากสิวได้ เลเซอร์ที่ใช้รักษาสิวในปัจจุบัน มีดังนี้
- Pulsed dye laser 595 nm (vBeam)
- Copper – Bromide laser 578 nm (Dual Yellow)
- Diode laser 1450 nm
- Long-pulse Nd:YAG laser 1064 nm
- Er:Glass laser 1550 nm
ทั้งนี้ แสงและเลเซอร์แต่ละประเภท มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ในการรักษาที่แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อเลือกประเภทของเลเซอร์ในการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เพราะสิวหัวหนองมีลักษณะหัวสีขาวด้านบน ทำให้หลายคน เมื่อเห็นแล้วรู้สึกอยากบีบ, จับ, แคะ หรือแกะ แต่สิวหัวหนองไม่ควรบีบหรือกดสิวด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ และอาจทำให้เกิดการลุกลามไปมากกว่าเดิม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อหาวิธีรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สำหรับคนที่ไม่สะดวกในการเดินทางออกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาสิว สามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังผ่านแอป SkinX ที่รวบรวมแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังกว่า 210 คน สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android เพียงแค่นี้ ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็สามารถปรึกษาได้ เพียงคลิกเดียว ที่สำคัญปรึกษาก่อน จ่ายทีหลัง สามารถรู้ค่าใช้จ่ายได้ก่อนเริ่มหาหมอ
อ่านต่อได้ในบทความ : วิธีการรักษาสิว ดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดสิวหัวหนอง
รักษาความสะอาดผิวหน้าอย่างถูกวิธี
ขั้นตอนแรกของการทำความสะอาดคือ การใช้คลีนเซอร์สำหรับเช็ดเครื่องสำอาง ควรใช้สำลีเช็ดเครื่องสำอางให้หมดจนไม่เหลือคราบ ใช้โฟมล้างหน้าหรือผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดสำหรับคนที่เป็นสิวโดยเฉพาะ ควรทำความสะอาดผิวหน้าทุกวัน แม้จะไม่ได้แต่งหน้า เพราะบนใบหน้ายังมีคราบไขมันและฝุ่นละอองที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิวอยู่ด้วย
ใช้ผลิตภัณฑ์ควบคุมความมัน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุบนฉลากว่า ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกิดไปจนหน้าลอกเป็นขุย เพื่อให้ผิวยังคงสมดุลและแข็งแรง
หลีกเลี่ยงการบีบ กดสิวหัวหนองด้วยตัวเอง
ไม่ควรบีบและกดสิวหัวหนองด้วยตัวเองเพราะจะทำให้สิวอักเสบและลุกลามมากกว่าเดิม ที่สำคัญเมื่อหายแล้วยังมีโอกาสที่จะทิ้งรอยสิวได้ เพราะฉะนั้นไม่แนะนำให้กดและบีบสิวด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
คำถามที่พบบ่อยในสิวหัวหนอง
สิวหัวหนอง หายเองได้ไหม?
สิวหัวหนอง ไม่สามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ การปล่อยให้สิวหัวหนองหายไปเอง อาจจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ และมีโอกาสทำให้เกิดสิวอักเสบซ้ำ สำหรับสิวหัวหนองแนะนำปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี เพราะการปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสเกิดซ้ำ และเกิดการอักเสบรุนแรงมากกว่าเดิม
สิวหัวหนองควรบีบไหม?
คำถามที่พบบ่อยอย่างสิวหัวหนองบีบได้ไหม จริง ๆ แล้ว สิวหัวหนอง “ไม่ควรบีบ” ด้วยตัวเอง การบีบสิวหัวหนองด้วยตัวเองถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงมากกว่าเดิม และอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดสิวหัวหนองขึ้นเพิ่มด้วย แนะนำให้รักษาตามวิธีที่แนะนำไปข้างต้น เพื่อการรักษาสิวหัวหนองอย่างถูกต้อง และลดโอกาสของการเกิดรอยสิวจากการบีบ แกะ แคะ อีกด้วย
สิวหัวหนอง เป็นแล้วรีบรักษา มีโอกาสหายไม่ทิ้งรอยได้สูง
สาเหตุการเกิดสิวหัวหนอง คือ การอุดตันของรูขุมขนที่เต็มไปด้วยน้ำมัน เชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตาย และ สิวหัวหนองที่เกิดจากสิวอุดตันที่ถูกรบกวนจากการบีบ แกะ แคะ ทำให้เชื้อแบคทีเรีย สิ่งสกปรกเข้าไปในชั้นผิวหนัง จนเกิดการอักเสบติดเชื้อ กลายเป็นสิวหัวหนองในที่สุด ทั้งนี้สิวหัวหนองไม่ควรบีบด้วยตนเอง เพราะอาจจะทำให้หนองแตก และแพร่กระจายทำให้เกิดสิวอักเสบบริเวณใกล้เคียงได้ วิธีรักษาสิวหัวหนองที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเลือกวิธีรักษาที่ดีที่สุด
สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ด้วยตนเอง สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX เพื่อปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลถึงคลินิกหรือโรงพยาบาล ไม่ว่าตัวคุณอยู่ไหนก็สามารถปรึกษาได้ทันที เพราะผิวดี ไม่จำเป็นต้องรอ! บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว
แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
Goh, C., Cheng, C., Agak, G., Zaenglein, A.L., Graber, E.M., Thiboutot, D.M., & Kim, J. (n.d.). Acneiform Disorders. Fitzpatrick’s Dermatology 9 TH Edition (1391-1404). McGraw-Hill Education.
Fletcher, J. (2019, May 31). What to know about pustules. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/325342
Smith, M. (2020, Aug 24). Pustules. WebMD.
https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/pustules-facts
Kahn, A. (2019, July 31). What Causes Pustules?. Healthline.
https://www.healthline.com/health/pustules#_noHeaderPrefixedContent
Luke, M. (n.d.) Retin-A (tretinoin). Ortho Dermatological.
https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/16921s21s22s25lbl.pdf