SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

22 ตุลาคม 2565

สิวที่คางเห่อ เกิดจากฮอร์โมนจริงหรือ?

สิวที่คาง

การเป็นสิวที่คาง เป็นปัญหาผิวหนังที่ทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อขยับปากหรือใส่หน้ากากอนามัย สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นสิวได้มาก แล้วสิวที่คางแบบนี้เกิดจากอะไร ป้องกันได้ไหม หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร ในบทความนี้ SkinX จะพาไปทำความรู้จักทุกแง่มุมเกี่ยวกับสิวที่คาง

 

สิวที่คาง คืออะไร?

สิวที่คาง คือปัญหาโรคผิวหนังที่เรียกว่าโรคสิว (Acne Vulgaris) ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณคาง รวมไปถึงสิวใต้คาง สิวขึ้นกรอบหน้า และสิวบริเวณสันกรามด้วยสิวที่คางเกิดได้จากหลายสาเหตุ รายงานวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าสิวที่คางซึ่งเห่อหนักนั้น เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็ได้


สิวที่คางเห่อหนักเกี่ยวกับฮอร์โมน คือมีฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้ต่อมไขมันทำงานผิดปกติ สร้างน้ำมันออกมามากกว่าเดิม ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวมากกว่าปกติ จนรูขุมขนอุดตันได้ง่าย ส่งผลให้มีโอกาสเกิดสิวมากกว่าที่ควรเป็น


เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดสิวที่คาง หน้าผาก และจมูกก่อนส่วนอื่นๆ เพราะคางเป็นหนึ่งในส่วนเส้นกลางใบหน้าและลำตัว ที่จะมีต่อมไขมันเยอะกว่าผิวหนังบริเวณอื่น เมื่อร่างกายถูกฮอร์โมนกระตุ้น ความมันที่คางจึงเสียสมดุลก่อน และเกิดเป็นสิวที่คางขึ้นมาก่อนส่วนอื่นๆ

 

Fact : "Androgens เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่จะมีมากในเพศชาย และสามารถพบได้ตามปกติในเพศหญิง ตัวอย่างฮอร์โมน Androgens ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางคือ Testosterone ส่วน Androgens ตัวที่มีผลกับสิวมากที่สุดคือ DHT หรือ Dihydrotestosterone"

สิวที่คางเกิดจากอะไร

สิวที่คางเกิดจากอะไร

เป็นสิวที่คางเกิดจากอะไร? ก่อนทราบสาเหตุของสิวที่คาง ควรทราบสาเหตุของสิวโดยทั่วไปก่อน ปกติแล้วสิวเกิดจาก

 

1. เซลล์ในรูขุมขนเพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป (Follicular epidermal hyperproliferation) ปกติแล้วผิวหนังของเราจะผลัดเซลล์ออกเป็นขี้ไคลตามปกติ แต่หากเซลล์ที่ถูกผลัดออกมามีจำนวนมากเกินกว่าปกติ เซลล์เหล่านั้นจะเกาะตัวกันอุดตันรูขุมขน เมื่อเกาะตัวรวมกับเคราติน (Keratin) น้ำมันจากต่อมไขมัน (Sebum) และแบคทีเรียจะเกิดเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ขึ้นมา

 

2. ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Sebum production) เมื่อน้ำมันจากต่อมไขมันหรือซีบัม (Sebum) มีจำนวนมากเกินไป จะทำให้แบคทีเรีย C.acnes เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และทำให้กรดไลโนเลอิกปริมาณลดลง จนผิวหนังผลัดเซลล์ผิวมากกว่าเดิม เป็นต้นเหตุทำให้รูขุมขนอุดตันได้มาก

 

3. การทำงานของแบคทีเรีย C.acnes ที่ทำให้เกิดการอักเสบ จนผิวหนังผลัดเซลล์ผิวมากกว่าปกติ และสามารถทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่ผิวหนังหรือต่อมไขมันได้

 

4. การอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response) เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นสิวอักเสบขึ้นได้ และทำให้เกิดการอุดตันมากขึ้นด้วย


สิวที่คางเกิดจากอะไร? สิวขึ้นคาง สิวที่คางเกิดจากปัจจัยเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งสิ่งกระตุ้นให้เกิดปัจจัยต้นเหตุของการเกิดสิว มี 2 สาเหตุใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และการสะสมของสิ่งสกปรก

 

1. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
เมื่อฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen มีมากขึ้น จะทำให้เซลล์ในต่อมไขมัน (Sebocyte) เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันสร้างซีบัมออกมามากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ Keratinocyte หรือเซลล์ผิวหนังในรูขุมขนเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกิดการอุดตันและเป็นสิวได้มากกว่าปกติ
ปัจจัยที่ทำให้ระดับฮอร์โมน Androgen มีหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในผู้หญิงคือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในช่วงก่อนการเป็นประจำเดือน


ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นสิวที่คาง หรือบริเวณจมูกและหน้าผากก่อนการเป็นประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีระดับฮอร์โมน Androgen มากกว่าปกติ


ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า จะหลั่งมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน หรือ 1 วันก่อนไข่ตก เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ไข่ตกจากรังไข่ แต่นอกจากจะทำให้ไข่ตกแล้ว ฮอร์โมน LH ดังกล่าวยังไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen จากรังไข่และต่อมหมวกไตด้วย


ด้วยเหตุนี้ ฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen จึงจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนการมีประจำเดือน ส่งผลให้ผู้หญิงมักจะเป็นสิวในช่วงก่อนการมีประจำเดือนนั่นเอง เมื่อระดับฮอร์โมน Androgen ลดลงมาเป็นปกติ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวจากฮอร์โมนจะหายไปนั่นเอง
ส่วนในผู้ชาย ระดับฮอร์โมน Androgen จะเพิ่มขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในช่วงวัยรุ่น ทำให้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจึงสามารถพบสิวในวัยรุ่นเพศชายได้มากกว่าวัยรุ่นเพศหญิง


นอกจากปัจจัยตามธรรมชาติดังกล่าวแล้ว ระดับฮอร์โมน Androgen ยังสามารถเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอื่นๆได้อีก ตัวอย่างเช่น

 

  • ต่อมไร้ท่อผิดปกติ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ

  • ทานอาหารที่มีผลต่อฮอร์โมน เช่น อาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น รวมถึงนมและอาหารที่ทำจากนม

  • ความเครียด หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ

  • การสูบบุหรี่

  • การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อฮอร์โมน

 

Fact : "งานวิจัยหนึ่งจากแคนาดา ระบุว่านิโคตินในบุหรี่สามารถเพิ่มฮอร์โมน DHT ในร่างกายได้ถึง 14% ซึ่งจะยิ่งไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันและการผลัดเซลล์ผิว ส่งผลให้เป็นสิวได้มากกว่าเดิม"

2. การสะสมของสิ่งสกปรก

 

คางเป็นบริเวณที่เกิดสิวจากความสกปรกได้ง่าย เนื่องจากเป็นบริเวณที่คนเรามักจะใช้มือที่สกปรกจับไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเท้าคาง หรือจับเล่นเมื่อใช้ความคิด หากไปจับมากๆจะเป็นการเพิ่มเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกให้กับผิว ส่งผลให้เกิดการอักเสบของผิวหรือการอุดตันได้ง่ายกว่าปกติ


นอกจากนี้ยังเป็นบริเวณที่ต้องสัมผัสกับหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อเสียดสี หรือเหงื่อไคลและสิ่งสกปรกสะสมรวมกันอยู่ จะทำให้เป็นสิวได้ง่ายกว่าปกติด้วย


นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว สิวขึ้นคางยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีก อาจจะเป็นพันธุกรรมที่ทำให้เกิดสิวที่คางมากกว่าปกติ หรือการแพ้สารเคมีจนผิวหนังอักเสบและเป็นสิวได้ง่าย เมื่อสิวขึ้นที่คางมากกว่าปกติก็ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุการเกิดสิวต่อไป

 

ชนิดสิวที่คาง

 

สิวที่คาง สิวใต้คาง และสิวที่สันกราม สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายประเภท ดังนี้

 

สิวอุดตันที่คาง

สิวอุดตัน(Comedones) มีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่สิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) หรือบางครั้งเรียกว่าสิวหัวดำ (Blackhead) และสิวหัวอุดตันปิด (Closed comedone) หรือที่เรียกว่าสิวหัวขาว (Whitehead)

 

สิวอุดตันเกิดจากการที่เซลล์ Keratinocyte รวมถึงเคราติน ซีบัม และแบคทีเรียอุดตันอยู่ที่ปากรูขุมขน หรือในรูขุมขนจนเกิดเป็น Microcomedone และพัฒนาใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นสิวอุดตัน หรือ Comedone ในที่สุด ซึ่งที่คางนั้นเกิดการอุดตันได้ง่ายจากทั้งสิ่งสกปรก และการกระตุ้นโดยฮอร์โมน

 

สิวอักเสบที่คาง

สิวอักเสบ (Inflamed acne) เป็นสิวที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเกิดขึ้นเองหรืออาจเกิดจากสิวอุดตันที่ใหญ่ขึ้นจนผนังรูขุมขนแตกทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังและเกิดจากอักเสบจากการเหนี่ยวนำของแบคทีเรียก็ได้

 

โดยสิวอักเสบมีทั้งหมด 4 ประเภท คือสิวตุ่มนูน (Papule) สิวหัวหนอง (Pustule) ที่เป็นการอักเสบอย่างตื้น สิวไต (Nodule) และสิวอักเสบรุนแรง (Severe nodular acne) เช่นสิวหัวช้าง


สิวที่คางไม่มีหัว


สิวไม่มีหัวเป็นชื่อเรียกที่ใช้กันสำหรับสิวที่บีบหัวสิวออกไม่ได้ หรือบีบออกได้ยาก อาจเป็นได้ทั้งสิวหัวขาว สิวตุ่มนูน สิวไต และสิวหัวช้าง ซึ่งสิวที่คางไม่มีหัวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 4 แบบเลย

 

ปัญหาผิวหนังที่คาง อาจไม่ใช่สิว

สิวที่คางอาจไม่ใช่สิว เพราะนอกจากสิวแล้ว บริเวณคางยังสามารถเกิดโรคผิวหนังหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่ “สิว”หรือโรคที่ชื่อ “Acne Vulgaris” ได้ โดยที่โรคเหล่านั้นอาจมีรอยโรคเป็นตุ่มนูนคล้ายสิวจนสร้างความเข้าใจผิด และทำให้รักษาด้วยตนเองผิดวิธีได้ ซึ่งโรคผิวหนังนอกเหนือจากสิวที่เกิดขึ้นที่คาง มีดังนี้

 

สิวผดที่คาง

สิวผด (Acne aestivalis หรือ Acne mallorca) ไม่ใช่สิว แต่เป็นอาการรูเปิดต่อมเหงื่อบวม เกิดจากการกระตุ้นโดยรังสี UVA จากแสง หรืออาจเกิดจากเชื้อรา P.ovale

 

ลักษณะของรอยโรคจะเป็นผื่นตุ่มขนาดเล็ก คล้ายสิวหัวปิดหรือสิวตุ่มแดง ไม่สามารถรักษาด้วยการบีบสิวได้ บางครั้งหากมีอาการดังกล่าว เข้าใจว่าเป็นสิวที่คางไม่มีหัว จริงๆ แล้วอาจเป็นสิวผดได้ สิวผดแบบนี้มักจะขึ้นมาในช่วงที่อากาศร้อน มีฝุ่นมาก ถ้าไม่มีปัจจัยดังกล่าวมากระตุ้นก็จะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา

 

สิวเสี้ยนตรงคาง

สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) ไม่ใช่สิวเช่นเดียวกัน แต่สิวเสี้ยนเป็นความผิดปกติของการสร้างขน รูขุมขนที่เป็นสิวเสี้ยนจะสร้างเส้นขนเยอะมากกว่าปกติ ปกติรูขุมขนหนึ่งควรมีเส้นขน 1 – 4 เส้น แต่สิวเสี้ยนจะมีเส้นขน 5 – 25 เส้นภายในรูขุมขนเดียว ทำให้ลักษณะเส้นขนจะเหมือนกับเสี้ยนสีดำพ้นออกมาจากผิวหนังเล็กน้อย ลักษณะดูคล้ายกับสิวอุดตันหัวเปิดหรือสิวหัวดำ

 

ในความเป็นจริง สิวเสี้ยนมักพบที่ศีรษะ อก และหลังเป็นส่วนใหญ่ จะพบสิวเสี้ยนที่คางได้น้อยมาก แต่คนเรามักจะเรียกสิวตุ่มขนาดเล็กสีขาวที่อาจจะมีเส้นขนเล็กๆ อยู่ด้วย 1 – 2 เส้นที่คางว่าสิวเสี้ยน แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ดูคล้ายเสี้ยนที่เกิดขึ้นที่คางนั้น ไม่ใช่สิวเสี้ยน แต่เป็นสิวอุดตันหัวเปิดที่มีสีขาว ที่หัวสิวไม่ได้ทำปฏิกิริยา กับอากาศจนกลายเป็นสีดำ ทำให้เป็นสิวลักษณะสีขาว ที่สามารถบีบสิวออกมาได้นั่นเอง

 

ขนคุดที่คาง

ขนคุดที่คางเกิดได้มากโดยเฉพาะในผู้ชาย มักจะเกิดจากการโกนหนวดที่ผิดวิธี อาจจะใช้มีดที่ไม่คม กดแรงเกินไป หรือโกนย้อนแนวเส้นขน มักพบในคนที่ขนบนหน้าหยิก บ่อยกว่าผู้ที่ขนบนหน้าเป็นเส้นตรง ในทางการแพทย์จะเรียกอาการนี้ว่า Razor Bumps หรือ Pseudofolliculitis Barbae


รูขุมขนอักเสบที่คาง

รูขุมขนอักเสบเป็นความผิดปกติจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกตำแหน่งของร่างกายที่มีรูขุมขน ดังนั้นที่คางก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ลักษณะอาการคือเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหัวหนอง คล้ายกับสิวหนองเม็ดเล็กๆที่คาง แต่จะมีขนขึ้นอยู่ตรงกลางตุ่ม ไม่มีการอุดตัน ไม่สามารถรักษาด้วยการกดหัวสิวออกได้เหมือนกับสิวรูขุมขนอักเสบมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราหรือแบคทีเรียก่อโรค

 

ผิวหนังอักเสบที่คาง

ผิวหนังอักเสบ เป็นความผิดปกติที่ไม่ใช่สิว แต่ลักษณะอาการจะขึ้นเป็นผื่น หรือเป็นตุ่มแดงเหมือนสิว เกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเหมือนกับรูขุมขนอักเสบ แต่ผิวหนังอักเสบนี้ตัวโรคจะส่งผลกับผิวหนังเป็นบริเวณกว้างกว่า ตัวอย่างรูขุมขนอักเสบที่คางที่พบได้บ่อย เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบรอบปาก (Perioral Dermatiti) และโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea)

 

นอกจากโรคที่กล่าวมานี้ ยังมีโรคผิวหนังอีกหลายอย่างที่สามารถเกิดขึ้นที่คางได้ และลักษณะคล้ายกับสิวที่คาง เช่น ผื่นภูมิแพ้สัมผัส, สิวหิน, สิวเม็ดข้าวสาร, กลาก, หูด, หรือตุ่มเนื้องอกต่างๆ ดังนั้นก่อนการรักษาจึงควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค พร้อมทั้งหาสาเหตุและวิธีรักษาต่อไป

 

ส่วนการรักษาสิวแต่ละชนิดจะใช้วิธีการคล้ายกัน แต่หากเป็นปัญหาโรคผิวหนังอื่นจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุและอาการของโรค ซึ่งหลายครั้งจะต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเท่านั้น

 

วิธีการรักษาสิวที่คาง สิวใต้คาง

 วิธีการรักษาสิวที่คาง สิวใต้คาง

สิวที่คาง สิวใต้คางหรือบริเวณสันกราม สามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งการปรับฮอร์โมน ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ ลดความมันหรือลดการทำงานของต่อมไขมัน รักษาความสะอาด และลดการระคายเคืองที่ผิวบริเวณคาง โดยวิธีการรักษาสิวที่คาง มีดังนี้

 

1. ยาทาภายนอก

ยาทาภายนอก จะใช้เป็นยาพื้นฐานในการรักษา สามารถใช้ได้ทั้งการรักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบ สำหรับยาทาที่นิยมใช้กันเป็นยาทาหลักจะมี 2 ชนิด ได้แก่ Retinoids และ Benzoyl peroxide

 

  • Retinoids หรือยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ – ออกฤทธิ์ลดการอักเสบและการอุดตันของรูขุมขน

  • Benzoyl peroxide – ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

 

จะใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันก็ได้ เนื่องจากตัวยาออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน แต่หากต้องการใช้ยาร่วมกันจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากตัวยา Retinoids บางตัวไม่สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide ได้


ในกรณีที่เป็นสิวอุดตันจำนวนมาก หรือเป็นสิวอักเสบที่คางที่อักเสบรุนแรง หรือเชื้อลามมาก อาจจะใช้ยาทาเพิ่ม ยาที่นิยมใช้ทาเพิ่มเพื่อรักษาอาการสิวรุนแรงมีด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่ ยาปฏิชีวนะชนิดทา, Salicylic acid, Azelaic acid และยังต้องใช้ร่วมกับยาสำหรับทานหรือยาปรับฮอร์โมนด้วย เพื่อให้เห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น

 

2. ยาสำหรับทาน

ยาทานสำหรับรักษาสิวจะใช้ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบที่คางหรือสิวขึ้นกรอบหน้า ที่มีจำนวนมากหรือเป็นสิวอักเสบรุนแรง เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์กับร่างกายโดยรวมและบริเวณใต้ผิวหนังได้มากกว่ายาทา ยาสำหรับทานจึงใช้รักษาสิวรุนแรงได้ดีกว่า


แต่ในขณะเดียวกันยาสำหรับทานก็มีผลข้างเคียงที่อันตรายมากกว่า แพทย์จึงจำกัดการใช้เฉพาะในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง และมีความเสี่ยงจะเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้น้อย


ยาสำหรับทานรักษาสิวที่คางนิยมใช้กันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

 

  • ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotics and antibacterial agents) – ออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานและลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย

  • ยา Isotretinoin – ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ลดการอักเสบ และช่วยให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ

 

การใช้ยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างจำกัดเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ส่วนยา Isotretinoin แม้จะมีข้อดีมากแต่ก็มีผลข้างเคียงมากเช่นกัน มีตั้งแต่อาการพื้นฐานอย่างคลื่นไส้ อาเจียน ผิวแห้ง ไปจนถึงผมบาง ผิวหนังอักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับตา หรือแม้กระทั่งมีอาการทางจิตได้เลย

 

3. ยาปรับฮอร์โมน

ยาปรับฮอร์โมน เป็นยาที่ใช้สำหรับควบคุมระดับฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ต้นเหตุของการเกิดสิว โดยเฉพาะฮอร์โมน DHT ที่จะออกฤทธิ์ทำให้เกิดสิวได้มากกว่าฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ตัวอื่นๆ


แต่จะสามารถใช้รักษาได้แค่ในผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากหากใช้ในผู้ชายจนทำให้ฮอร์โมน Androgen น้อยเกินไปจะส่งผลถึงการแสดงออกทางเพศบนร่างกายของเพศชายได้


ส่วนยาที่นิยมใช้จะเป็นยาคุมกำเนิดที่จะออกฤทธิ์ลดการสร้างฮอร์โมน Androgen จากต่อมหมวกไตและรังไข่, ลดปริมาณ Free testosterone ในเลือด ที่เป็นสารตั้งต้นของการสร้างฮอร์โมน DHT, ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เปลี่ยน Testosterone ให้กลายเป็น DHT, และต่อต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน Androgen

 

4. การรักษาด้วยหัตถการอื่นๆ

การรักษาด้วยหัตถการอื่นๆ เป็นทางเลือกที่มักทำควบคู่กันไปกับการใช้ยา เนื่องจากจะทำให้อาการสิวหายเร็วขึ้นได้ อย่างเช่นการกดสิวเพื่อนำหัวสิวอุดตันออกมา, การกรีดเอาหนองใต้ผิวหนังออก, การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง, และการทำเลเซอร์ หากสนใจทำสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังได้ หรือบางครั้งหากการรักษาด้วยยาไม่เห็นผลเท่าที่ควร แพทย์จะแนะนำให้ทำหัตถการต่างๆ ร่วมด้วย

 

5. ปรึกษาแพทย์

 

สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกหลังจากสิวขึ้นคางหรือเป็นสิวที่คางซ้ำๆ คือการปรึกษาแพทย์ การที่สิวเห่อหรือเป็นสิวซ้ำๆ มักเกิดจากปัจจัยกระตุ้นบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดสิวได้มากกว่าปกติ


เพื่อทราบถึงปัจจัยสาเหตุและแก้ปัญหาสิวที่ต้นเหตุ จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้การรักษาสิวใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ พร้อมทั้งป้องกันการกลับมาของสิว


หลายคนอาจเข้าใจว่าการปรึกษาแพทย์ผิวหนังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการรักษาครั้งหนึ่งจะต้องไปโรงพยาบาล เดินทางไกล ทั้งยังต้องใช้เวลานาน อาจจะเสียเวลาไปทั้งวันในการเดินทางและรอพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีทางเลือกหลายอย่างที่ทำให้การปรึกษาแพทย์ผิวหนังเป็นเรื่องง่ายขึ้น


แอปพลิเคชัน SkinX เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการรักษาสิว เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน นัดเวลากับแพทย์ที่ต้องการปรึกษา ก็สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทุกที่ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลารอพบแพทย์ที่สถานพยาบาล เลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษาได้ตามชอบ

 

อีกทั้งยังดูรีวิวแพทย์จากผู้ที่เคยใช้บริการได้ด้วย สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว รอรับยาได้ที่บ้าน เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

 

การป้องกันไม่ให้เกิดสิวที่คางซ้ำๆ

สิวที่คางเกิดจากฮอร์โมนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวิธีการป้องกันสิวที่คางจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ร่วมกับการรักษาความสะอาดของผิวเพื่อลดการอุดตันและทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นไปตามปกติ โดยวิธีป้องกันสิวที่คางมีดังนี้

 

  • ล้างหน้ารวมถึงคางวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง ที่สามารถส่งผลต่อการผลัดเซลล์ผิวจนทำให้เกิดการอุดตันได้

  • ทำความสะอาดผิวที่คางและใบหน้าให้สะอาดหลังใช้เครื่องสำอาง

  • ใช้ครีมบำรุงผิวที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดโอกาสผิวแห้ง ระคายเคือง ที่เสี่ยงต่อการเกิดสิว

  • รักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติด้วยการดูแลสุขภาพ ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด

  • ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาใดๆก็ตาม

  • ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และนมพร่องมันเนยที่มี IGF-1

  • ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเมื่อเริ่มเกิดสิวอย่างไม่ทราบสาเหตุ เป็นสิวจำนวนมาก หรือเป็นสิวอักเสบรุนแรง

 

สรุป


สิวที่คาง เป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นบริเวณที่สิวเกิดจากสิ่งสกปรกได้มากเช่นกัน ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาด ร่วมกับการควบคุมระดับฮอร์โมนโดยการดูแลสุขภาพโดยรวม และหากสิวที่คางเห่อขึ้นมามากกว่าปกติก็ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังทันที เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาต่อไป


ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ SkinX ดาวน์โหลดแอปได้ทั้งระบบ IOS และ Android เพียงคลิก

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Field, A. E. (1994, November). The relation of smoking, age, relative weight, and dietary intake to
serum adrenal steroids, sex hormones, and sex hormone-binding globulin in middle-aged
men. National Library of Medicine. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/7962322/

 

Oakley, A. (2014, June). Trichostasis spinulosa. DermNet NZ. https://dermnetnz.org/topics/trichostasis-spinulosa

 

Rabach, M. (2020, June 22). What That Acne Spot on Your Face Means, According to Science.
Healthline. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/pimple-acne-face-map

 

Wysowski DK, Pitts M, Beitz J. An analysis of reports of depression and suicide in patients treated
with isotretinoin. J Am Acad Dermatol. 2001;45:515-519.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า