SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

13 กรกฎาคม 2567

ประโยชน์ของกัญชา รักษาโรคได้มากกว่าที่คิด

ประโยชน์ของกัญชา

กัญชา ถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย สามารถนำมาใช้เพื่อการนันทนาการ ความบันเทิง และการแพทย์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้มากเกินไป หรือใช้ในวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถกลายเป็นยาเสพติดได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการที่จะนำกัญชามาเพื่อใช้รักษาโรค จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยแพทย์อยู่เสมอ เพื่อดึงประโยชน์ของกัญชาออกมาใช้งานให้ได้สูงสุด และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ 

 

ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์มีอยู่มากมาย เช่น สามารถใช้เป็นยาลดความเจ็บปวดได้ ช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้ผ่อนคลาย และช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น เป็นต้น ในบทความนี้ SkinX จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชา ว่าสามารถใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาอาการใดได้บ้าง และนอกจากประโยชน์แล้ว ยังมีโทษแบบใด สามารถศึกษาข้อมูลเหล่านั้นได้จากบทความนี้


SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ที่สามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรับคำปรึกษาได้แม้จะอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลอีกต่อไป สามารถปรึกษาทุกปัญหาผิวกับหมอผิวหนังผ่านแอป SkinX ได้แล้ววันนี้ ดาวน์โหลดเลยที่ App Store หรือ Google Play

สารบัญบทความ

กัญชา คืออะไร

กัญชา (Cannabis) คือ พืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะใบเป็นแฉก 5-8 แฉก ขอบใบมีรอยหยักอยู่เป็นระยะ ดอกมีสองเพศ และอยู่ต่างต้นกัน โดยแต่ละส่วนของต้นกัญชาจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน สามารถเลือกใช้ได้ตามประโยชน์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นใบ ก้าน ราก ดอก และนำส่วนนั้นมาสกัด เพื่อใช้รักษาโรคในทางการแพทย์ต่อไป

 

โดยสารสกัดในกัญชา ที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ ได้แก่ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) และสาร Cannabidiol (CBD) ซึ่งกัญชาแต่ละสายพันธุ์ ก็จะมีปริมาณสารเหล่านี้มากน้อยต่างกันไป ทีนี้ เรามาทำความรู้จักกันดีกว่า ว่า THC CBD คืออะไร

1. ประโยชน์ของ THC

THC ย่อมาจาก Tetrahydrocannabinol หรือที่เรียกว่า สารเมา เป็นสารสกัดหลักของกัญชา มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เมาเคลิ้ม และเสพติดได้ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จะมีผลทางการรักษา เช่น ช่วยลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ, ลดอาการคลื่นไส้, ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น และช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เป็นต้น 

 

แต่หากได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบอันตรายต่อร่างกายได้ จึงต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ระหว่างการใช้งานเพื่อการรักษา

2. ประโยชน์ของ CBD

CBD ย่อมาจาก Cannabidiol เป็นสารสกัดชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในกัญชา ในปริมาณที่น้อยกว่าสารหลักอย่าง THC ที่มีฤทธิ์ทำให้เมาเคลิ้ม จึงจำเป็นที่จะต้องผ่านกระบวนการสกัดมาแล้วเท่านั้น ถึงจะนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง 

 

โดยสาร CBD เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิต (Non-Psychoactive Compound) ไม่ทำให้เสพติด และมีผลทางการรักษา เช่น ลดความเจ็บปวด, ลดอาการทางจิตประสาท, ลดความวิตกกังวล, ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน, ลดอาการชักจากโรคลมชักต่าง ๆ และอาจช่วยบรรเทาโรคนอนไม่หลับได้    

 

ปัจจุบัน มีการนำสาร CBD มาผสมและแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น น้ำมัน เยลลี่ แคปซูลเม็ด เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น โดยที่นิยมมากที่สุด จะเป็นในรูปแบบ CBD Oil 

 

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว CBD Oil คือน้ำมันที่สกัดมาจากต้นกัญชง ที่มีสาร CBD สูง THC ต่ำ เหมาะกับการใช้รักษาทางการแพทย์มากกว่า CBD Oil ที่ผลิตมาจากต้นกัญชา ควรเลือกใช้น้ำมันแต่ละชนิดให้ตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการ เนื่องจากปริมาณสารสกัดที่ไม่เท่ากัน ย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

“ถือได้ว่าสาร CBD เป็นสารสกัดจากกัญชา ที่ปลอดภัยกว่าสาร THC เนื่องจากไม่มีฤทธิ์ในการเสพติด และในบางโรค เช่น ลมชักบางประเภท สาร CBD อาจมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สาร THC จะค่อนข้างมีประสิทธิภาพกว่า ทั้งในเรื่องลดอาการปวด เพิ่มความอยากอาหาร และช่วยในการนอนหลับ”

ประโยชน์ของกัญชา สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง

กัญชาทางการแพทย์

สารสกัดจากกัญชา โดยเฉพาะสารสกัดจากใบและช่อดอก จะมีสาร THC และ CBD ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากกว่าส่วนอื่น ๆ สามารถรักษาโรคได้หลากหลาย หากใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดระยะเวลาการใช้งาน ตัวอย่างโรคที่สามารถใช้ประโยชน์ของกัญชาเพื่อการรักษาได้ เช่น

1. โรคนอนไม่หลับ

โดยทั่วไปพบว่า หากใช้สาร THC จากกัญชาในระยะสั้น จะช่วยลดความวิตกกังวลลง และทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน สาร CBD ก็ช่วยทำให้ง่วงหลับได้ง่ายและเร็วขึ้นเช่นกัน และยังช่วยลดโอกาสที่จะตื่นขึ้นมากลางคัน แถมช่วยให้หลับได้นานขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ในระยะยาวเพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา และประสิทธิภาพการนอนหลับโดยรวมลดลงได้

2. อาเจียนจากเคมีบำบัด

จากผลวิจัยทางคลินิก ยา Nabilone ซึ่งมีสาร THC ที่ถูกสกัดจากกัญชา สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากการทำเคมีบำบัดได้ และยานี้ยังได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในหลายประเทศอีกด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเบลเยียม ทั้งนี้ สามารถพิจารณาการใช้ยานี้ได้ก็ต่อเมื่อการรักษาในวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผลเท่านั้น

3. โรคลมชัก

สามารถพิจารณาใช้สาร CBD เพื่อรักษาโรคลมชักบางประเภท และโรคลมชักที่มีภาวะดื้อต่อยารักษาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป โดยมีผลวิจัยระบุว่า การใช้สาร CBD ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท สามารถลดความถี่อาการชักต่อเดือนได้ถึง 48% เลยทีเดียว

4. ภาวะไม่อยากอาหารจากโรคเรื้อรัง

สาร THC ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นอย่างมาก ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้มากขึ้น และไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และไขมันไปมากกว่าเดิม ป้องกันภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia) ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึง ทำให้ผู้ป่วยมีแรงพอที่จะรับการรักษาโรคเรื้อรังต่อไป

5. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

การใช้สาร THC และสาร CBD ควบคู่กัน สามารถช่วยลดอาการปวด และอาการเกร็งจากโรคได้ดี ทั้งนี้ สามารถพิจารณาการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการจากโรคนี้ได้ ก็ต่อเมื่อการรักษาในวิธีมาตรฐานไม่ได้ผลอีกต่อไปเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้กัญชาเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษา

6. โรคออทิซึม

การใช้สาร CBD ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด สามารถบรรเทาอาการบางส่วนของผู้ป่วยออทิสติกจากโรคออทิซึม (Autism) ได้ ซึ่งผลวิจัยกล่าวว่า หลังจากใช้สาร CBD ผู้ป่วยมีอัตราการทำร้ายตัวเอง และอาการสมาธิสั้นลดลง อีกทั้งยังมีการนอนหลับที่ดีขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์ของกัญชา ที่กำลังมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

ประโยชน์ของกัญชายังมีอีกมากมายที่รอให้ถูกค้นพบ ทั้งนี้ โรคบางอย่างก็มีการใช้งานประโยชน์ของกัญชาเพื่อทางการแพทย์อยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ต้องการงานวิจัยที่มากพอ และข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน เพื่อยืนยันประสิทธิภาพก่อนการใช้งานกับผู้ป่วยอย่างแพร่หลาย

1. โรคพาร์กินสัน

จากข้อมูลบางส่วน พบว่าสาร CBD สามารถช่วยให้อาการหลักของโรคพาร์กินสันอย่างการเคลื่อนไหวติดขัดดีขึ้นได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดถึงผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ที่ยืนยันได้คือ สารสกัดจากกัญชาสามารถทำได้แค่บรรเทาอาการข้างเคียงของโรคอย่างอาการปวด หรือการนอนไม่หลับเท่านั้น

2. โรคอัลไซเมอร์

ในปัจจุบัน มีแค่งานวิจัยบางส่วนเท่านั้น ที่กล่าวว่าสาร THC สามารถช่วยในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ก็ไม่ได้ผลการรักษาที่ดีนัก ยังขาดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และงานวิจัยอีกจำนวนมาก เพื่อยืนยันการใช้งานกัญชาเพื่อรักษาโรคนี้

3. โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ

ยังไม่มีงานวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่พบว่าสาร THC ช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกในผู้ป่วยจากโรค Tics and Tourette syndrome ได้บ้าง แต่ความถี่และความรุนแรงของรอยโรคไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน

โทษของกัญชาที่ไม่ควรมองข้าม

โทษของกัญชาที่ส่งผลกระทบอันตรายต่อร่างกาย มักเกิดมาจากการใช้สาร THC ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสาร THC สามารถก่อให้เกิดอาการทางจิตต่าง ๆ ได้ ส่วนสาร CBD หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ ท้องเสีย ง่วงนอน อ่อนเพลีย เอนไซม์ตับผิดปกติได้ แต่หากใช้ในขนาดที่เหมาะสมมักไม่ค่อยพบผลข้างเคียง และถือว่าเป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัยในทางการแพทย์ โดยโทษของกัญชาจากสาร THC ที่สามารถพบได้ ได้แก่

  • มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง 
  • มีความจำแย่ลง สมองทำงานได้ลดลง ตัดสินใจได้แย่ลง
  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างถาวรไปตลอดชีวิต
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และปริมาณอสุจิในเพศชายลดลง
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะ
  • มีอาการทางจิตที่มากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

สรุป

ปัจจุบัน มีหลักฐานทางการแพทย์มากมายที่กล่าวถึงประโยชน์ของกัญชา และมีการนำมาใช้เพื่อการแพทย์อย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือก และแพทย์แผนไทย 

 

ทั้งนี้ แม้กัญชาจะสามารถบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ได้จริง แต่การใช้งาน จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ หากซื้อมาใช้งานเอง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เนื่องจากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งหากเกิดอาการเสพติดขึ้นมา จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงขึ้นไปอีก สุดท้ายนี้ สมุนไพรทุกชนิดล้วนมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ควรระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ในการใช้งานอยู่เสมอ 

 

สำหรับใครที่ต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผิว ผม หรือความงาม สามารถพบแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่แอปพลิเคชัน SkinX เท่านั้น นอกจากนี้ ที่ SkinX ยังมีบริการให้คำปรึกษาจากคุณหมอที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองแพทย์ผู้ผ่านหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์อีกด้วย ดาวน์โหลดแอปวันนี้ พร้อมรับโปรโมชันดี ๆ เลย

อ้างอิง

 

ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์, และโชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ. (2561). ประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์และการเปิดเสรีการใช้กัญชา. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 12(1): 71-94. https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4856/hsri_journal_v12n1_p71.pdf?sequence=1 

การใช้กัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ. (2562). สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย. https://sst.or.th/sleep/แถลงการณ์จุดยืน-การใช้ก/ 

Nitayaporn, M. (24 กรกฎาคม 2562). CBD และ THC ในพืชกัญชา คืออะไร??. กรมสุขภาพจิต. https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2264 

ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. (13 กันยายน 2562). ขนาดยาจากกัญชาที่เหมาะสมในการรักษาโรค. กรมการแพทย์ทางเลือก. https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2019/09/ขนาดยาจากกัญชาที่เหมาะสมในการรักษาโรค.pdf 

สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. (2563). ความคิดเห็นต่อการนำกัญชามาใช้ประกอบการรักษาในโรคระบบประสาทสำหรับบุคลากรทางการแพทย์. วารสารประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย, 36(2): 66-70. http://neurothai.org/images/journal/2020/vol36_no2/07%20Various%20topics.pdf  

Departmant of Medical Services. (2019). Guidance on Cannabis for Medical Use, 2019(2): 1-22. https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2020/09/Final_Guidance.pdf 

Kamkaen, N. & Treesak, C. (2019). Medicinal Cannabis for Cancer. The Journal of Chulabhorn Royal Academy, 1(1): 16-29. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/jcra/article/view/216400 

What is the difference between hemp CBD and cannabis CBD?. (2023, April 12). MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/hemp-cbd-vs-cannabis-cbd#summary

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า