คอเลสเตอรอลสูง อันตรายถึงโรคหัวใจ
หากใครที่รับประทานอาหารมันๆ หรืออาหารที่ผ่านการทำแบบทอดหรือผัด อาจเกิดปัญหาไขมันคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ความจริงแล้วคอเลสเตอรอลเป็นไขมันอิ่มตัวที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในการใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต รวมถึงใช้สร้างฮอร์โมนบางชนิด แต่มีการคอเลสเตอรอลที่มากจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้
ในบทความนี้ SkinX จะพามาทำความรู้จักว่าคอเลสเตอรอล คืออะไร ทำไมการมีคอเลสเตอรอลสูงจึงส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีวิธีดูแลตัวเอง และสาระความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับคอเลสเตอรอลในบทความนี้
SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ที่ได้รวบรวมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาล และคลินิกชั้นนำทั่วประเทศที่พร้อมให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผิวหนัง และหัตถการเสริมความงาม สามารถพบแพทย์ออนไลน์ได้ง่ายๆ สำหรับลูกค้ารายใหม่ ปรึกษาแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
คอเลสเตอรอล คืออะไร
คอเลสเตอรอล หรือ Cholesterol คือ สารประกอบไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย พบได้ในส่วนของผนังเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลวคล้ายขี้ผึ้ง ร่างกายของเราจะได้รับคอเลสเตอรอลทั้งจากการที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองจากตับ และการรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย เช่น หนังสัตว์ เนื้อติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนม ชีส เนย รวมถึงอาหารที่ผ่านการปรุงโดยกรรมวิธีผัดหรือทอดน้ำมัน ล้วนมีคอเลสเตอรอลทั้งสิ้น
ถึงแม้ว่าคอเลสเตอรอลสามารถสร้างสุขภาพดีให้กับเราได้ เช่น การสร้างวิตามิน และการผลิตฮอร์โมนในร่างกาย แต่หากเรามีปริมาณคอเลสเตอรอล มากจนเกินไปคอเลสเตอรอลจะกลายเป็นส่วนเกินของร่างกาย และอาจเป็นตัวร้ายที่ทำลายสุขภาพของเราได้เช่นกัน
คอเลสเตอรอลมีกี่ประเภท
คอเลสเตอรอลในร่างกายของเราแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL – Cholesterol) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL – Cholesterol)
1. HDL Cholesterol
คอเลสเตอรอลชนิดดี (High-density Lipoprotein : HDL) เป็นคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อหลอเลือด เนื่องจากช่วยลำเลียงไขมันชนิดไม่ดีที่เกาะตามผนังหลอดเลือดออกไปกำจัดที่ตับ จึงต่อต้านการสะสมของไขมันในเส้นเลือด และส่งผลให้คอเลสเตอรอลโดยรวมมีปริมาณน้อยลง ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่สำคัญ เช่นหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ส่งผลให้ลดการเกิดโรคสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
2. LDL Cholesterol
คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-density Lipoprotein : LDL) หรือที่เรียกทั่วไปว่า ไขมันเลว เป็นคอเลสเตอรอลอันตราย ที่เกาะผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
คอเลสเตอรอลเกิดจากอะไร
ส่วนใหญ่คอเลสเตอรอลเกิดขึ้นจากภายในร่างกายของเรา ตับจะทำหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอลขึ้นมาเพื่อการย่อยไขมันในอาหาร สร้างวิตามิน และฮอร์โมนอื่น ๆ
คอเลสเตอรอลบางส่วนพบในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน พบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น นม เนย และชีส ซึ่งอาหารเหล่านี้ต่างมีไขมันอิ่มตัวแฝงอยู่ หากเรารับประทานอาหารประเภทนี้ในปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายของเรามีปริมาณไขมันสะสมสูง จนอาจก่อปัญหาทางสุขภาพได้
Cholesterol กับ Triglycerides ต่างกันอย่างไร
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) กับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) มีความแตกต่างกันที่คอเลสเตอรอลนั้นร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่ไตรกลีเซอไรด์จะได้มาจากอาหารเป็นหลัก อีกทั้งในเรื่องของหน้าที่คอเลสเตอรอลมีการสร้างเซลล์และฮอร์โมนบางชนิดให้กับร่างกาย ส่วนหน้าที่ของไตรกลีเซอไรด์ คือ กักเก็บพลังงานและไขมันที่ไม่ได้ใช้ให้เป็นพลังงานสำรอง หากมีการสะสมไว้มากอาจทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้
อย่างไรก็ตามทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ล้วนมีความจำเป็นต่อร่างกายเหมือนกัน แต่หากมีไขมันทั้งสองชนิดนี้สะสมในร่างกายมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และในส่วนของการวัดค่าของคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกันคือการตรวจเลือด เราก็สามารถรู้ได้ทั้งค่าคอเลสเตอรอลรวม ค่าคอเลสเตอรอลแบบ HDL, LDL และค่าไตรกลีเซอไรด์
อันตรายจากภาวะคอเลสเตอรอลสูง
ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงโดยมากมักไม่มีอาการใดๆ หากคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือดมากขึ้น จึงเกิดอาการในรูปแบบของภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ อย่างเช่น
- รู้สึกแน่นหน้าอก
- รู้สึกเหนื่อย หรือเพลียง่าย
- ปวดตามข้อ แขน ขา หรือน่อง
- โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- โรคหัวใจ
เกณฑ์การวัดค่าคอเลสเตอรอล
ผู้ที่ต้องการทราบค่าคอเลสเตอรอลของตัวเองสามารถเข้ารับการตรวจเลือดได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งเราจะทราบค่าคอเลสเตอรอลแต่ละตัว ดังนี้
- ค่าคอเลสเตอรอลรวม ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ค่าคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-density Lipoprotein : HDL)
- สำหรับผู้ชาย สูงกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- สำหรับผู้หญิง สูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-density Lipoprotein : LDL)
- สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ควรต่ำกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้เป็นเบาหวาน ควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผู้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ควรต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทั้งนี้ ขึ้นกับแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล
วิธีการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
ระดับคอเลสเตอรอลของเราจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามอายุ อีกทั้งระดับคอเลสเตอรอลสูงยังสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนและแก้ไขได้ เพื่อให้ระดับคลอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติได้มากที่สุด คือพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ดังนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารของเราได้ต่อไปนี้
- อาหารที่ควรเลี่ยง เพื่อลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดเลว ได้แก่
1. อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม รวมถึงอาหารที่ปรุงโดยการผัดหรือทอดด้วยน้ำมัน
2. อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น มาการีน ครีมเทียม โดนัท คุกกี้
3. อาหารจานด่วน เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด
4. อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ไส้อั่ว หมูยอ กุนเชียง
- อาหารที่ควรรับประทานเพื่อเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี ได้แก่
1. พืชตระกูลถั่ว เช่น วอลนัท อัลมอนด์ ถั่วลิสง
2. น้ำมันพืชที่ไม่เป็นไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันงา
3. เนื้อสัตว์ปีกไม่ติดมัน เช่น อกไก่
4. ปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากระพง
5. ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
6. ผักและผลไม้ เช่น กระเทียม อะโวคาโด มะกอก มะเขือเทศ ฝรั่ง แอปเปิล
“นอกจากนี้ควรงดหรือลดการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ทำลายผนังหลอดเลือด และลดไขมันชนิดดีในเส้นเลือด ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันตามอวัยวะสำคัญได้มากยิ่งขึ้น”
สรุป
คอเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ และสามารถพบในอาหารที่รับประทานบางชนิด คอเลสเตอรอลยังมีประโยชน์ในการเป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างวิตามิน และฮอร์โมนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับใครที่ต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง หรือมีปัญหาต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถปรึกษาและพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านออนไลน์ได้โดยตรงที่ SkinX แอปพลิเคชันที่รวบรวมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำในไทย ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX ได้เลยที่ App Store & Google Play
อ้างอิง
Cholesterol Levels: What You Need to Know. (2020). Medline Plus. https://medlineplus.gov/cholesterollevelswhatyouneedtoknow.html
Cholesterol Myths and Facts. (2022). Center for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/cholesterol/myths_facts.htm
Cholesterol – healthy eating tips. (n.d.). Better Health. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/cholesterol-healthy-eating-tips#bhc-content