ไขมันทรานส์ตัวร้าย อันตรายต่อชีวิต
ไขมันทรานส์ คือ ไขมันอิ่มตัวที่ถูกเปลี่ยนแปลงสถานะ เพื่อให้รสชาติของอาหารมีความเสถียร ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และใช้ในการยืดอายุอาหารให้สามารถเก็บรักษาได้นานมากขึ้น แม้จะเป็นผลดีในด้านอุตสาหกรรมอาหาร แต่ทางด้านสุขภาพ ไขมันทรานส์ คือ ไขมันที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และโรคทางหลอดเลือดได้
ไขมันทรานส์ คืออะไร ในบทความนี้ SkinX จะมาทำความรู้จัก “ไขมันทรานส์” ให้มากขึ้น และเราสามารถพบเจอไขมันทรานส์ได้จากอาหารประเภทอะไรบ้าง รวมทั้งวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ พร้อมทั้งสาระน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับไขมันทรานส์ในบทความนี้ได้เลย
SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ทำให้การหาหมอผิวหนังเฉพาะทางเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปรอพบแพทย์ที่คลิกนิก หรือโรงพยาบาลแบบเดิมอีกต่อไป คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ เพียงโหลดแอปพลิเคชัน SkinX พร้อมรับดีลสุดคุ้มมากมายเฉพาะในแอป SkinX เท่านั้น
ไขมันทรานส์ หรือทรานส์แฟตคืออะไร
ไขมันทรานส์ (Trans Fat) คือ กรดไขมันอิ่มตัว ที่เกิดจากการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวด้วยกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) นอกจากนี้ยังสามารถพบไขมันทรานส์จากธรรมชาติได้เช่นกัน
น้ำมันที่ผ่านกระบวนการจนมาอยู่ในรูปไขมันทรานส์ที่มีสถานะเป็นของแข็ง หรือของกึ่งเหลวนั้นจะสามารถคงรูปได้นาน ไม่เหม็นหืน ทำให้ในอุตสาหกรรมนิยมเลือกไขมันทรานส์มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร
แต่อย่างไรก็ตามไขมันทรานส์ หรือทรานส์แฟตก็มีผลข้างเคียง เนื่องจากไขมันทรานส์จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol) ในร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
“เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีประกาศ และผลบังคับใช้ ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายไขมันทรานส์ หรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนบางส่วนในประเทศไทย จึงสบายใจได้ว่า อาหารที่เรารับประทานผ่านกระบวนการรองรับการปราศจากไขมันทรานส์”
อาหารที่มีไขมันทรานส์
ในชีวิตประจำวันของเราสามารถเจอไขมันทรานส์ได้บ่อย เนื่องจากไขมันทรานส์พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด ที่มีส่วนผสมของมาการีน เนยขาว และครีมเทียม พบได้บ่อยในอาหารประเภททอด และเบเกอรี เช่น มันฝรั่งทอด, ไก่ทอด, เค้ก, คุกกี้ และโดนัท ซึ่งเราสามารถดูที่ห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าได้ ว่ามีปริมาณไขมันทรานส์อยู่มากน้อยแค่ไหน
แต่อย่างไรก็ตามหากในข้อมูลโภชนาการระบุว่า “ไขมันทรานส์ 0 กรัม” ก็ใช่ว่าสินค้านั้นจะไม่มีไขมันทรานส์เลย เพราะตามกฎหมายสามารถระบุว่า “ไม่มีไขมันทรานส์” ได้หากมีไขมันทรานส์น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อจำนวนบริโภค
“องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) แนะนำให้บริโภคไขมันทรานส์ไม่เกิน 1% ของพลังงานทั้งหมด โดยเฉลี่ยพลังงานที่ควรได้รับอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี เท่ากับ บริโภคไขมันทรานส์ได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม”
ประเภทของไขมันทรานส์
หลังจากที่ทราบข้างต้นว่า ไขมันทรานส์พบเจอได้ในอาหารหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถแบ่งไขมันทรานส์ได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ วัว แกะ และผลิตภัณฑ์สัตว์ หรือนม แต่ส่วนใหญ่มักจะพบไขมันทรานส์จากธรรมชาติได้ค่อนข้างน้อยมาก
ไขมันทรานส์จากการสังเคราะห์ พบในปริมาณมากจากอุตสาหกรรมอาหาร หรือการแปรรูปอาหาร ได้แก่ อุตสาหกรรมมาการีน เนยขาว และครีมเทียม ที่นิยมนำมาใช้ทำของหวานต่าง ๆ ซึ่งไขมันหรือน้ำมันดังกล่าวทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นโดยที่ผลิตภัณฑ์ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่เป็นไขง่าย และทนความร้อนได้สูง อีกทั้งไขมันทรานส์ยังมีราคาต่ำกว่าไขมันชนิดอื่นอีกด้วย
อันตรายจากไขมันทรานส์
การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์จำนวนมาก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้
- โรคหัวใจ เมื่อร่างกายได้รับไขมันทรานส์ในปริมาณมาก กรดไขมันทรานส์จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol) มีจำนวนเพิ่มขึ้น และลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol) ในร่างกาย ซึ่งหมายถึง คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีจะเข้าสู่ร่างกาย และเกาะติดกับผนังหลอดเลือดไว้ ส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน นำไปสู่โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดได้ในที่สุด
- โรคไขมันในเลือด เมื่อร่างกายมีไขมันมากเกินไป ไขมันจะไปเกาะตามผนังต้านในของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และอาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้เป็นโรคไขมันในเส้นเลือดได้
- โรคความดันโลหิตสูง เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้
โรคเบาหวาน การรับประทานไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงในโรคเบาหวาน เนื่องจากไขมันทรานส์ไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งหากรับประทานในปริมาณมากจนเกินไป น้ำหนักตัวของผู้ที่รับประทานไขมันทรานส์จะมีมากขึ้นอีกด้วย
6 วิธีป้องกันไขมันทรานส์
ในปัจจุบันเราอาจจะเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ค่อนข้างยาก เนื่องจากไขมันทรานส์ปะปนอยู่กับอาหารในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว แต่หากเลี่ยงไขมันทรานส์ได้ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ ด้วยวิธีออกห่างจากไขมันทรานส์ ดังนี้
- ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันดอกทานตะวันในการทำอาหาร
- เลือกรับประทานอาหารด้วยวิธีการอบ, นึ่ง, ย่าง และต้ม แทนอาหารที่ใช้การทอด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และไขมันคอเลสเตอรอลในปริมาณต่ำ เช่น ผัก, ผลไม้, ธัญพืชไม่ขัดสี, ปลา, เนื้อไม่ติดมัน และสัตว์ปีกไม่ติดมัน
- ลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของมาการีน เนยขาว และครีมเทียม เช่น โดนัท, คุกกี้, เค้ก, บิสกิต เป็นต้น
- ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการใช้น้ำมันซ้ำ เช่น มันฝรั่งทอด ไก่ทอด ของทอดต่าง ๆ รวมถึงอาหารจานด่วนที่มีไขมัน
- ตรวจสอบฉลากอาหาร และข้อมูลทางโภชนาการก่อนซื้อสินค้า เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารปราศจากไขมันทรานส์ หรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils: PHOs)
สรุป
ไขมันทรานส์ หรือทรานส์แฟต คือ ไขมันอิ่มตัวที่พบได้ทั้งในธรรมชาติ และผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม การรับประทานไขมันทรานส์ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ แล้วยังทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้อง มีน้ำหนักเกิน ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งภายนอก และภายในอีกด้วย
สำหรับใครที่ต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง SkinX ให้คุณได้คำตอบที่สงสัย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกแบบเดิม ๆ อีกต่อไป อีกทั้งยังมีดีลสุดคุ้ม ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX ได้เลยที่ App Store & Google Play
อ้างอิง
American Heart Association. (2017). Trans Fats. https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/fats/trans-fat
Chrisman, V. (2022). 6 Ways to Eliminate Trans Fats in Your Family’s Diet. https://health.choc.org/eliminate-trans-fat-family-diet/
WHO. (n.d.). HEALTHY ALTERNATIVES TO TRANS-FATS. [Pamphlet]. https://www.afro.who.int/sites/default/files/2023-05/HEALTHY%20ALTERNATIVES%20TO%20TRANS-FATS.pdf
กระทรวงสาธารณสุข. (2018). คู่มือแนวทางการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย. https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=512217294336827392&name=manual_388.pdf