ฉีดฟิลเลอร์จมูก ดีกว่าผ่าตัดเสริมจมูกหรือไม่? เสี่ยงตาบอดจริงหรือ?
ฟิลเลอร์จมูก เป็นหัตถการที่ช่วยเสริมจมูก ทำให้จมูกโด่ง จมูกเป็นสัน และปลายจมูกเชิดขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ในขณะเดียวกันการฉีดฟิลเลอร์จมูกก็เป็นการฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดด้วย แต่แล้วฟิลเลอร์จมูกคืออะไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ดีกว่าการศัลยกรรมจมูกหรือไม่ ราคาเท่าไหร่ มีขั้นตอนการทำและการดูแลตนเองหลังทำอย่างไร? ในบทความนี้ SkinX มีคำตอบ
SkinX แอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ที่ทำให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับเรื่องความสวยความงาม ปัญหาสิว ผิวพรรณ และโรคผิวหนังต่างๆ ได้ทุกที่ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอคิว เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!
ดาวน์โหลด SkinX ตอนนี้ ปรึกษากับแพทย์ครั้งแรกได้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย
สารบัญบทความ
ฉีดฟิลเลอร์ (Filler) ฉีดฟิลเลอร์ที่จมูก คืออะไร?
ฟิลเลอร์จมูก (Nose Filler หรือในต่างประเทศจะเรียกว่า Non-Surgical Nose Job) คือการฉีดสารเติมเต็มเข้าสู่ใต้ผิวหนังในบริเวณจมูก เน้นการรักษาเพื่อปรับโครงจมูก ทั้งสร้างสันจมูก ปรับทรงปลายจมูกให้เชิดขึ้น หรือทำเป็นปลายจมูกรูปหยดน้ำที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน โดยสารที่ใช้ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อปรับทรงจมูกนี้ เป็นสารเติมเต็มที่ชื่อว่า “กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid หรือ HA)”
ซึ่งสารเติมเต็มดังกล่าวเป็นสารที่มีอยู่ในผิวอยู่แล้ว ทำให้การฉีดจมูกด้วยกรดไฮยาลูรอนิคจึงค่อนข้างปลอดภัย เสี่ยงแพ้น้อย สารที่ฉีดสลายไปได้เองตามธรรมชาติ หรือสามารถฉีดสลายฟิลเลอร์ได้หากผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
นอกจากนี้ กรดไฮยาลูรอนิคยังทำหน้าที่กักเก็บน้ำ ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดชุ่มชื้น อิ่มน้ำ และเรียบเนียนขึ้นได้อีกด้วย
“นอกจากกรดไฮยาลูรอนิคแล้ว สารเติมเต็มหรือ ‘Filler’ ยังมีสารสังเคราะตัวอื่นๆ ที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์อีก เช่น โพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide), และโพลีเมทิลเมทาคริเลท (Polymethylmethacrylate หรือ PMMA) แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้สารเหล่านี้ฉีดเป็นฟิลเลอร์แล้ว เนื่องจากสารเหล่านี้เป็นฟิลเลอร์ชนิดถาวร และชนิดกึ่งถาวร ทำให้ไม่สลายตัวไปหลังฉีด จึงเป็นอันตราย หากต้องการแก้ไขผลการรักษาจะต้องผ่าตัดขูดออก อีกทั้งสารเหล่านี้ยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของไทยอีกด้วย”
ฟิลเลอร์ ที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์จมูก สามารถใช้ได้เพียงฟิลเลอร์ที่มีเนื้อค่อนข้างแน่น แข็ง ความคงตัวสูง ไม่ฟู ไม่ไหลง่าย เนื่องจากการฉีดฟิลเลอร์จมูกจะเป็นการฉีดเพื่อเลียนแบบกระดูก และกระดูกอ่อนที่เป็นฐานของทรงจมูก การเลือกฟิลเลอร์ที่เป็นเนื้อแข็งจะทำให้ได้ทรงจมูกที่เป็นธรรมชาติ จมูกหลังการรักษาเป็นทรงสวย ไม่ไหลไปที่เนื้อเยื่ออื่น
ซึ่งการเลือกฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีด แพทย์จะเป็นผู้เลือกให้ตามลักษณะเนื้อฟิลเลอร์ที่เหมาะสม และตามงบประมาณที่ตั้งไว้ ตัวอย่างยี่ห้อฟิลเลอร์ที่สามารถฉีดได้ ผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยาทั้งในไทยและสหรัฐอเมริกาแล้ว เช่น Juvederm, Belotero, Restylane, Neuramis, และ e.p.t.q. เป็นต้น
สาเหตุที่ต้องฉีดฟิลเลอร์จมูก
การฉีดฟิลเลอร์จมูกมีจุดประสงค์หลักในการปรับรูปทรงจมูก ทั้งการทำสันจมูก ปรับจมูกที่เบี้ยว ปรับสันจมูกที่โก่งให้ตรงขึ้น เปลี่ยนรูปปลายจมูก ปรับจมูกให้สวย เข้ากับรูปหน้ามากขึ้น
ทั้งนี้ การฉีดฟิลเลอร์จมูกก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ได้แก่
- อาจจะไม่สามารถทำตามแบบที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการได้ เนื่องจากฟิลเลอร์สามารถปรับทรงจมูกได้ประมาณหนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนทรงที่ต่างจากเดิมมากเกินไปได้ ผลการรักษาจึงอาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้เข้ารับการรักษา
- ผลการรักษาจะไม่อยู่อย่างถาวร เนื่องจากฟิลเลอร์กรดไฮยาลูรอนิคจะหายไปเองภายในเวลาประมาณ 1 – 2 ปี ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาต้องไปเติมฟิลเลอร์จมูกบ่อยๆ
- หากมีแผนจะผ่าตัดศัลยกรรมเสริมจมูกอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์จมูก เนื่องจากฟิลเลอร์อาจมีผลในการเกาะตัวกันของซิลิโคนกับเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดฟิลเลอร์จมูกมาก่อนการศัลยกรรมเสริมจมูก จะต้องขูดเนื้อเยื่อบางส่วนตามแนวที่ต้องการเสริมจมูกออกก่อนใส่ซิลิโคนเข้าไป
แล้วฉีดฟิลเลอร์จมูก กับผ่าตัดเสริมจมูก ต่างกันอย่างไร? อะไรดีกว่ากัน?
การฉีดฟิลเลอร์จมูกเป็นการฉีดสารเติมผิวเพื่อปรับทรงจมูก ในขณะที่การศัลยกรรมเสริมจมูกเป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนทรงจมูก โดยการใส่วัสดุทางการแพทย์เข้าไปบริเวณสันจมูก ตัวอย่างวัสดุเสริมจมูก เช่น ซิลิโคน (Silicone), กอร์เท็กซ์ (Gore-tex), หรือกระดูกอ่อน จากร่างกายผู้เข้ารับการรักษาเอง ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกันดังนี้
การฉีดฟิลเลอร์จมูก
| การศัลยกรรมเสริมจมูก | |
ประสิทธิภาพในการปรับทรงจมูก |
ปรับทรงได้น้อย แต่ทรงที่ได้จะดูเป็นธรรมชาติ เพราะอิงกับฐานจมูกเดิม
| สามารถปรับทรงได้มากกว่าการฉีดฟิลเลอร์ |
ความรู้สึกเจ็บปวดจากการรักษา |
เจ็บเล็กน้อยขณะฉีด
| หลังยาชาและยาสลบหมดฤทธิ์จะเจ็บระบมมาก |
ราคาการทำต่อครั้ง |
ถูกกว่า
| แพงกว่า |
ระยะเวลาของผลการรักษา |
อยู่ได้ประมาณ 1 – 2 ปี
| อยู่ได้อย่างถาวร |
ระยะเวลาที่ใช้ในการพักฟื้น |
ประมาณ 1 สัปดาห์
| ประมาณ 2 สัปดาห์ |
ระยะเวลาที่จมูกจะเข้ารูป |
ประมาณ 2 สัปดาห์
| ประมาณ 6 เดือน |
จากตาราง จะเห็นว่าการฉีดเสริมจมูกด้วยฟิลเลอร์และการศัลยกรรมมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน หากถามว่าอะไรดีกว่ากัน อาจจะต้องตอบว่าแล้วแต่กรณี เนื่องจากความต้องการ และพื้นฐานจมูกเดิมของผู้เข้ารับการรักษาแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากต้องการเปลี่ยนทรงจมูกที่ต่างจากเดิมมาก หรือไม่มีเวลาดูแลตัวเองมากนัก แพทย์จะแนะนำให้ทำจมูกไปเลย ทำรอบเดียวได้ผลที่ถาวร ทั้งยังทำให้ได้ทรงจมูกตามที่ต้องการได้มากกว่าแต่ถ้ากลัวเจ็บ ไม่กล้าผ่าตัด หรือไม่มีเวลาพักฟื้นนานเป็นเดือน แพทย์จะแนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์ไปก่อน อาจจะแนะนำให้ร้อยไหมยกทรงจมูก หรือแนะนำให้ทำทั้งสองอย่างร่วมกัน เนื่องจากการร้อยไหมและฉีดฟิลเลอร์ไม่ต้องพักฟื้นนาน ใช้เวลาในการทำน้อยกว่า และเจ็บน้อยกว่าด้วย
“ร้อยไหมคืออะไร? การร้อยไหมคือการใช้ไหมละลายที่มีปลายเป็นตะขอ ร้อยเข้าไปใต้ผิวหนัง โดยตะขอจะดึงเนื้อเยื่อให้ยกขึ้นการร้อยไหมจมูกสามารถทำให้จมูกโด่ง ปลายจมูกยกขึ้นได้ ผลการรักษาจากการร้อยไหมจะอยู่ได้ประมาณ 6 – 18 เดือนก่อนที่ไหมจะสลายไปเหมือนกับฟิลเลอร์จมูก แต่ไหมละลายไม่สามารถฉีดสลายได้เหมือนฟิลเลอร์ ทำให้แก้ไขผลการรักษาได้ยากกว่า”
ฉีดฟิลเลอร์จมูกช่วยเรื่องอะไรบ้าง?
- ปรับทรงจมูก ฉีดจมูกโด่ง ให้จมูกเป็นสันตรงสวย
- ปรับปลายจมูกให้ดูยกขึ้น เชิดขึ้นหรือทำปลายจมูกรูปหยดน้ำ ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปลายจมูก
- ปรับฮัมพ์ (Hump) ให้เรียบ โดยไม่ต้องตะไบกระดูก ทำให้สันจมูกตรงสวยได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
- แก้ไขจมูกเบี้ยวจากการผ่าตัดศัลยกรรม หรืออุบัติเหตุ
- ปรับทรงจมูกให้เข้ากับใบหน้ามากขึ้น
- ปรับทรงจมูกให้ตรงตามหลักโหงวเฮ้ง
“ฮัมพ์ (Hump) คือส่วนรอยต่อกระดูกระหว่างกระดูกแข็ง และกระดูกอ่อนบริเวณสันจมูก ผู้ที่มีเชื้อสายทางตะวันตก หรือตะวันออกกลางมักจะมีฮัมพ์นูนขึ้นมา ทำให้สันดั้งจมูกปูดโค้งขึ้นมาเหมือนเป็นตุ่ม ผู้เข้ารับการรักษาบางรายจึงอยากตะไบกระดูกในส่วนนี้ออกเพื่อให้สันจมูกคมและตรงขึ้น แต่การฉีดฟิลเลอร์จมูก สามารถฉีดเพื่อยกผิวหนังส่วนอื่นๆขึ้น ทำให้ฮัมพ์มองเห็นไม่ชัดเท่าเดิมได้ เป็นการแก้ไขฮัมพ์โดยไม่ต้องผ่าตัด”
ฉีดฟิลเลอร์จมูกอันตรายจริงหรือ?
จริงๆ แล้ว ฟิลเลอร์จมูกเป็นหัตถการที่อันตรายกว่าการฉีดฟิลเลอร์ในส่วนอื่นๆ เนื่องจากจมูกเป็นพื้นที่ที่เส้นเลือดแดงสำคัญบนใบหน้าวางตัวอยู่หลายเส้น ทำให้สามารถเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายหากแพทย์ไม่ชำนาญ
หากแพทย์ที่ฉีดไม่มีประสบการณ์มากพอ อาจทำให้เกิดอาการช้ำจากเส้นเลือดเสียหาย ฟิลเลอร์ย้อนเข้าเส้นเลือดจนเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดเนื้อตายหรือทำให้ตาบอดได้เลย
เส้นเลือดแดงเส้นสำคัญที่ชื่อ Dorsal nasal a. เป็นเส้นเลือดแดงที่จะนำเลือดไปหล่อเลี้ยงดวงตา ซึ่งเส้นเลือดดังกล่าวจะอยู่ใต้ผิวหนังตั้งแต่บริเวณหัวตา หว่างคิ้ว ลงมาจนถึงบริเวณใกล้ปลายจมูก ทำให้หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อฉีดฟิลเลอร์ หากเกิดข้อผิดพลาดจนฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดดังกล่าว จะทำให้ตาบอดได้
แม้ความเสี่ยงตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์จมูกจะมีมากกว่าการฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งอื่นๆ แต่จากสถิติพบว่าเคสผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นจากการฉีดฟิลเลอร์จมูกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีน้อยกว่า 0.08% และลดลงเรื่อยๆ เมื่อการแพทย์พัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์จะมีนัดติดตามผลหลังการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงอันตรายหลังการฉีดฟิลเลอร์จมูก ทำให้แม้ฟิลเลอร์จะอุดตันเส้นเลือดหลังการฉีด แพทย์ก็จะสามารถรักษาให้ได้ทันก่อนที่จะเกิดเนื้อตายหรือสูญเสียการมองเห็นนั่นเอง
ราคาการฉีดฟิลเลอร์จมูก
ฉีดฟิลเลอร์จมูกราคาเท่าไหร่? ฉีดจมูกราคาจะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อฟิลเลอร์ รุ่นของฟิลเลอร์ที่แพทย์เลือกใช้ ปริมาณฟิลเลอร์ที่ต้องฉีด และค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง โดยฟิลเลอร์จมูกไม่ควรฉีดเกิน 1 cc ราคาฟิลเลอร์โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ cc ละ 6,000 – 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่นของฟิลเลอร์ยี่ห้อนั้นๆ
ใครบ้างที่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ที่จมูก?
- ผู้ที่ไม่มั่นใจในรูปทรงจมูกของตนเอง จมูกโด่งแต่ไม่มีดั้ง จมูกไม่โด่ง ไม่มีสันจมูก ปลายจมูกไม่ได้รูป ต้องการแก้ไขให้จมูกได้รูปสวยมากขึ้น
- ผู้ที่จมูกผิดรูปจากการผ่าตัด พันธุกรรม หรืออุบัติเหตุ
- ผู้ที่ต้องการปรับทรงจมูกเพื่อแก้ไขโหงวเฮ้ง
- ผู้ที่ไม่ต้องการศัลยกรรมเสริมจมูกในอนาคต
- ผู้ที่ไม่มีเวลาพักฟื้นมากพอที่จะทำศัลยกรรมเสริมจมูก
- ผู้ที่ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ หรือผิวหนังอักเสบบริเวณจมูกหรือใกล้ๆ จมูก
- ผู้ที่ไม่ได้กำลังเป็นโรคเริม หรืองูสวัด
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์จมูก
การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์จมูก
- พูดคุยและประเมินลักษณะของจมูก พร้อมทั้งพูดคุยถึงความต้องการของผู้เข้ารับการรักษา ว่าสามารถทำได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์จมูกหรือไม่ ถ้าไม่ได้ควรแก้ไขอย่างไร หากแพทย์เห็นว่าสามารถทำฟิลเลอร์จมูกได้ ก็จะพูดคุยถึงขั้นตอนการทำ ปริมาณที่ต้องฉีด เลือกยี่ห้อฟิลเลอร์ตามรุ่นที่แพทย์แนะนำ จากนั้นจะนัดวันมาฉีดฟิลเลอร์จมูก หรือหากร่างกายพร้อมก็สามารถฉีดฟิลเลอร์ในวันดังกล่าวได้เลยเช่นกัน
- แจ้งประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และการตั้งครรภ์กับแพทย์ก่อนการฉีดฟิลเลอร์จมูกทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์จมูก 1 สัปดาห์ ควรงดยาทาที่มีผลต่อการผลัดเซลล์ผิวที่จมูก และรอบๆ จมูก หยุดยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด พร้อมทั้งยาแก้ปวดทั้งแอสไพรินและ NSAIDS หากเป็นยาที่แพทย์จ่ายให้ทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนหยุดยา
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์จมูก 2 – 3 วัน ให้งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มเพราะมีผลกับระบบหมุนเวียนโลหิต
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์จมูก 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดการสูบบุหรี่ และงดกิจกรรมที่ทำให้เลือดสูบฉีด เช่นการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์จมูก
- แพทย์จะฆ่าเชื้อในบริเวณจมูก หรือเฉพาะในบริเวณที่จะฉีดและบริเวณรอบๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ในกรณีที่ไม่แพ้ยาชา แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะฉีด ส่วนใหญ่จะเป็นยาชาแบบทา หรือหากไม่ต้องการใช้ยาชาก็สามารถแจ้งแพทย์ได้เช่นกัน หลังจากใช้ยาชาแล้วจะทิ้งไว้ 15 – 30 นาที รอให้ยาชาออกฤทธิ์
- ฉีดฟิลเลอร์จมูกในตำแหน่งที่แพทย์ประเมินแล้วว่าจะให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี ในขณะที่ฉีด แพทย์จะบีบกดบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จมูกไปด้วย เพื่อปั้นทรงให้ได้รูปจมูกตามที่ต้องการ
- แพทย์จะทำความสะอาดแผลอีกครั้ง ไม่ต้องเย็บแผล เพราะแผลจากการฉีดฟิลเลอร์จมูกมีขนาดเล็กมาก แพทย์จะปิดปลาสเตอร์ขนาดเล็กไว้ให้เพื่อห้ามเลือด
- หากแพทย์เห็นว่าตำแหน่งที่ฉีดเสี่ยงเกิดอาการบวม แพทย์จะให้ประคบน้ำแข็ง แต่ไม่ควรประคบเอง เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อการเซ็ตตัวของฟิลเลอร์ อีกทั้งการประคบน้ำแข็งอาจจะเผลอกดแรงจนฟิลเลอร์ผิดทรง หรือเคลื่อนไปที่เนื้อเยื่ออื่นได้ ส่งผลให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังฉีด
หลังฉีดฟิลเลอร์จมูก มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. ช่วง 2 – 3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์จมูก
a. หลีกเลี่ยงการจับบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จมูกโดยไม่จำเป็น ไม่ควรกด นวด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวยาก ฟิลเลอร์เคลื่อน และอาจทำให้ผิวช้ำได้
b. ไม่ควรถูกแสงแดด เนื่องจากผิวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ อีกทั้งอุณหภูมิกลางแจ้งยังมีผลต่อการเซ็ตตัวของฟิลเลอร์ด้วย
c. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลกับระบบเลือด อาจทำให้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จมูก อักเสบ และหายช้า
d. นอนหมอนสูงให้ศีรษะสูงกว่าลำตัว ควรนอนหงาย ไม่ควรนอนคว่ำหรือนอนตะแคง เพราะอาจทำให้ฟิลเลอร์ผิดรูปได้
2. ช่วง 4 – 5 วันหลังฉีดฟิลเลอร์จมูก ควรดื่มน้ำสะอาดประมาณ 1-2 ลิตรต่อวัน
3. ช่วง 1 อาทิตย์หลังจากฉีดฟิลเลอร์จมูก
a. ยังไม่ควรใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งยังไม่ควรออกกำลังกายจนเลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้แผลหายช้า
b. ไม่ควรทานอาหารสุกดิบ และนมวัว เพราะทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อ
c. ไม่ควรทานอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เพราะจะไปกระตุ้นการอักเสบ
4. ช่วง 1 เดือนหลังฉีดฟิลเลอร์จมูก ไม่ควรทำเลเซอร์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วกว่าที่ควรเป็น
5. ไม่ควรอยู่ในที่ร้อน เช่นห้องซาวน่า หรือร้านอาหารที่มีเตาร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวผิดปกติ และสลายได้ไว
หากดูแลตนเองตามข้อปฏิบัติดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผลการรักษาออกมาดี โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยลง และยังทำให้ฟิลเลอร์สลายได้ช้าลงอีกด้วย
นอกจากฟิลเลอร์จมูกแล้ว ยังมีการฉีดฟิลเลอร์หน้าในตำแหน่งอื่นๆ อีก ได้แก่
- ฟิลเลอร์ปาก
- ฟิลเลอร์ใต้ตา
- ฟิลเลอร์ขมับ
- ฟิลเลอร์คาง
- ฟิลเลอร์หน้าผาก
- ฟิลเลอร์ร่องแก้ม
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้
- อาการเจ็บปวดที่บริเวณจมูก หรือความรู้สึกแสบคัน เป็นผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย สามารถหายไปเองได้หลังการฉีดฟิลเลอร์จมูกประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง
- อาการบวม แดง ช้ำ อาจเกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการรักษาบางราย อาการดังกล่าวอาจเป็นมากในช่วง 2 – 3 วันแรก และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ หากพ้นเวลาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเจ็บปวดมากร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เนื่องจากอาจเกิดการอักเสบขึ้นได้
- ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด จนส่งผลให้เกิดเนื้อตายหรือตาบอด
- การติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จมูก
- อาการแพ้ฟิลเลอร์
- อาการแพ้ยาชาจากการฉีดฟิลเลอร์จมูก
- ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อในบริเวณที่ไม่ต้องการ ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี
- จมูกไม่ขึ้นทรง จากการใช้ฟิลเลอร์ที่เหลวเกินไป
ทั้งนี้ โอกาสเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวจะลดลงได้ หากผู้เข้ารับการรักษาศึกษาเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์จมูกมาก่อนการรักษา ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง รวมทั้งเลือกสถานพยาบาลได้มาตรฐาน และเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริง ดำเนินการฉีดฟิลเลอร์จมูกเองในทุกขึ้นตอน
คำถามที่พบบ่อย
ฉีดฟิลเลอร์จมูกดีมั้ย
สำหรับผู้ที่สนใจปรับรูปจมูก อยากมีทรงจมูกที่สวยขึ้น อยากได้ทรงจมูกที่ดูเป็นธรรมชาติมากๆ และไม่ได้อยากทำศัลยกรรมจมูก การฉีดฟิลเลอร์จมูกก็จะเป็นทางเลือกที่ดีมาก หากยังไม่มั่นใจก็สามารถปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนได้ ว่าทรงจมูกใหม่ที่อยากได้ สามารถแก้ไขด้วยหัตถการใดได้บ้าง แต่ละวิธีการมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจทำจมูกต่อไป
ฉีดฟิลเลอร์ที่จมูกเจ็บไหม
ฉีดฟิลเลอร์จมูกจะรู้สึกเจ็บตึงๆ เล็กน้อย เนื่องจากมีการใช้ยาชา ทำให้ไม่เจ็บมากอย่างที่คิด อีกทั้งฟิลเลอร์บางยี่ห้อ อย่าง Juvederm ยังผสมยาชาลงในเนื้อฟิลเลอร์ด้วย ทำให้ขณะฉีดและหลังฉีดรู้สึกเจ็บน้อยลง
ฉีดฟิลเลอร์ที่จมูกอยู่ถาวรไหม
ฟิลเลอร์ที่จมูกจะไม่อยู่ถาวร เนื่องจากฟิลเลอร์กรดไฮยาลูรอนิคเป็นฟิลเลอร์ที่สลายตัวได้เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 – 2 ปี ทำให้จมูกค่อยๆยุบลง และกลับมาเป็นทรงเดิมในที่สุด ผู้ที่สนใจฉีดเฟิลเลอร์จมูกอาจจะต้องไปเติมฟิลเลอร์ทุกๆปี หรือหากอยากให้ผลการรักษาอยู่อย่างถาวร ก็จะต้องทำศัลยกรรมเสริมจมูกแทน
ฟิลเลอร์ที่จมูกจะสลายไปเองไหม
ฟิลเลอร์ที่จมูกจะสลายไปเองได้ โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้างไว้ เนื่องจากร่างกายเราสามารถสลายกรดไฮยาลูรอนิคได้เป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้ฟิลเลอร์จมูกสามารถสลายไปเองได้โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายนั่นเอง
สรุป
นอกจากฟิลเลอร์จมูกแล้ว การแก้ทรงจมูกยังมีทางเลือกอีกมากมาย ผู้ที่สนใจควรศึกษาหาข้อมูล และปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจทำ เพื่อให้แพทย์ประเมินก่อนว่าทรงจมูกที่ต้องการทำสามารถแก้ไขด้วยวิธีการใดได้บ้าง แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อไป
ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์จมูก การทำจมูก หรือปัญหาเกี่ยวกับความสวยความงาม และปัญหาผิวหนังในด้านอื่นๆ สามารถปรึกษากับแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญกว่า 210 ท่านได้ง่ายๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน SkinX เพียงดาวน์โหลด และลงทะเบียน ก็สามารถเลือกปรึกษาแพทย์ในครั้งแรกได้ฟรี! ดาวน์โหลดและปรึกษาได้เลยตอนนี้ เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
DeVictor, S., Ong, A. A., & Sherris, D. A. (2021, February 16). Complications Secondary to
Nonsurgical Rhinoplasty: A Systematic Review and Meta-analysis. National Library of
Medicine. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33588622/#:~:text=The%20most%20comm
only%20reported%20complications,reports%20of%20infection%20(0.07%25).
Chen, Q., Liu, Y., & Fan, D. (2016, April 21). Serious Vascular Complications after Nonsurgical
Rhinoplasty: A Case Report. National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/
articles/PMC4859242/