SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

20 เมษายน 2566

เลเซอร์กระ รักษาปัญหากระแดด กระตื้น กระลึก

freckles-laser

กระ ถือเป็นปัญหาที่กวนใจสำหรับหลายคน รวมถึงกระที่ขึ้นบนใบหน้าอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ความมั่นใจในตัวเองนั้นลดลงเพราะสามารถเห็นได้ชัดเจน และมีสีไม่สม่ำเสมอกับสีผิว ดังนั้น “เลเซอร์กระ” จึงเป็นทางเลือกในการรักษาปัญหากระที่รวดเร็วและเป็นที่นิยมจากวิธีลดกระอื่นๆ ทั้งหมด

 

การเลเซอร์กระ คือการใช้พลังงานเลเซอร์ผิวหน้าส่วนที่มีสีผิวไม่สม่ำเสมอเพื่อจับและสลายเม็ดสี (Melanin) ใต้ชั้นผิว ทำให้ผิวมีความกระจ่างใสและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยในบทความนี้ SkinX ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเภท  ขั้นตอน รวมถึงคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลเซอร์กระมาไว้แล้ว

 

SkinX แอปพลิเคชันพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ที่รวบรวมแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำทั่วประเทศไว้กว่า 210 คน พร้อมให้คำปรึกษาตามที่ผู้ใช้งานสะดวก ไม่ต้องรอคิว สามารถปรึกษาปัญหาผิว อาทิ ปัญหาสิว เส้นผมและหนังศีรษะ รวมถึงหัตถการทางความงาม เป็นต้น

เลเซอร์กระคืออะไร?
สารบัญบทความ

เลเซอร์กระคืออะไร?

เลเซอร์กระ (Freckle Laser Treatment) เป็นวิธีรักษากระวิธีหนึ่ง โดยการใช้พลังงานเลเซอร์ยิงลงไปใต้ผิวเพื่อจับ รวมถึงสลายเม็ดสี หรือเมลานิน (Melanin) ที่ใต้ชั้นผิวโดยเฉพาะ การใช้วิธีลดกระด้วยเลเซอร์ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนในระยะเวลาที่สั้นกว่าการใช้ครีมหรือทำทรีตเมนต์ ซึ่งเลเซอร์กระในปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์หลากหลายชนิดด้วยกัน 

 

วิธีรักษากระบนใบหน้าด้วยเลเซอร์ หรือเลเซอร์กระนี้ ถือเป็นหนึ่งในหัตถการ เลเซอร์หน้าใส เพราะเป็นการช่วยทำให้ผิวหน้ามีสีเสมอกัน โดยมีส่วนช่วยทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสขึ้นด้วย

กระเป็นอย่างไร?

กระ

กระ (Freckle) คือ จุดสีน้ำตาลขนาดเล็กบนใบหน้า หรือบนผิวหนังบริเวณอื่นบนร่างกาย ซึ่งเป็นการที่เม็ดสีใต้ชั้นผิวมีการทำงานผิดปกติและกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผิวบริเวณนั้นมีสีเข้มขึ้น โดยกระมักจะมีขนาดประมาณหัวไม้ขีดต่อหนึ่งจุด 

 

ไม่ว่าเพศใด อายุเท่าไหร่ เชื้อชาติไหนก็สามารถเป็นกระได้ โดยกระสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และมักจะเกิดขึ้นบริเวณที่โดนแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า ลำคอ แขน หรือขา เป็นต้น สามารถรักษากระได้ด้วยการทาครีม เช่น AHA และ Hydroquinone หรือทำหัตถการเลเซอร์กระ

กระเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระหลัก มี 4 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่

 

  1. พันธุกรรม
    พันธุกรรมเกี่ยวกับสีผิวของชาวยุโรปหรือชาวอเมริกันจะสามารถมีโอกาสเกิดกระบนผิวได้มากกว่า แต่ในชาวเอเชียก็มีโอกาสเกิดกระได้เช่นกัน โดยพันธุกรรมนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดกระได้ตั้งแต่ในคนที่อายุน้อย

  2. การสัมผัสกับแสงแดด
    ถือเป็นสาเหตุสำคัญหลักๆ ที่กระตุ้นการเกิดของกระบนผิวหนัง เนื่องจากรังสี UV ในแสงแดดกระตุ้นให้เกิดการสร้างเมลานินจากเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่แทรกตัวอยู่ในหนังกำพร้าส่วนล่างสุดเนื่องจากเป็นกลไกของร่างกายเพื่อการปกป้องผิวหนังจากแสงแดด ส่งผลให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น

  3. ปัญหาด้านสุขภาพ
    ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพและต้องทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาที่เกี่ยวกับฮอร์โมน และสตรีมีครรภ์ที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง 

  4. ช่วงวัย
    เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การผลิตเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนังจะมีการเปลี่ยนแปลง และกระบวนการผลัดเซลล์ผิวนั้นไม่สม่ำเสมอเหมือนก่อน เป็นสาเหตุให้ผิวบางจุดมีสีเข้ม เป็นกระ

 

ด้วยสาเหตุที่ว่ามานั้นมีทั้งสาเหตุจากภายในและภายนอกร่างกาย จึงไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ 100% แต่ใช้วิธีทางการแพทย์ในการบรรเทา เช่น เลเซอร์กระ ทาครีม หรือทำทรีตเมนต์ เป็นต้น

กระ มีกี่ชนิด?

กระแบ่งออกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

 

  1. กระตื้น (Ephelides)
    เป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก ไม่เกิน 0.5 cm มักพบกระจายตัวทั่วไปบริเวณใบหน้า โหนกแก้ม จมูก หรือหากเป็นฝรั่งอาจพบได้บริเวณต้นแขนด้วย
    กระชนิดนี้อาจมีสีเข้มขึ้นหากมีการออกแดดเป็นระยะเวลานาน และจะจางลงหากไม่ออกแดดไปช่วงหนึ่ง พันธุกรรมมีผลให้เกิดกระตื้นในคนที่อายุน้อย

  2. กระลึก (Nevus of Hori)
    มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงน้ำตาลเทา มักพบบริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง พบบ่อยในผู้หญิงเอเชีย เป็นได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น โดยกระชนิดนี้อาจรักษาด้วยครีมได้ยากเพราะเม็ดสีที่เข้มขึ้นนั้นอยู่ลึกลงไป จึงต้องรักษาด้วยเลเซอร์กระถึงจะเห็นผลชัดเจน

  3. กระแดด (Solar Lentigines)
    มีลักษณะเป็นจุดดวงสีน้ำตาล มักพบบริเวณที่โดนแดดบ่อย เช่น ใบหน้า โหนกแก้ม แขน ขา หรือหลังมือ เป็นต้น กระชนิดนี้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน และอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องฮอร์โมนจนแสดงออกทางผิวหนังได้

  4. กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis)
    คือกระที่มีลักษณะเป็นเม็ดสีน้ำตาล มักเริ่มจากเป็นเม็ดขนาดเล็กแล้วค่อยๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงมีสีเข้มขึ้น เนื้อนูนขึ้นจากผิวชัดเจน สามารถพบได้ตามหลายส่วนบนร่างกาย เช่น ใบหน้า ลำคอ รักแร้ ลำตัว แผ่นหลัง เป็นต้น รักษาได้ด้วยการเลเซอร์กระ

กระ เป็นอันตรายหรือไม่?

กระนั้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพียงแต่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งอาจทำให้เสียความมั่นใจ หลายคนจึงมักรักษาด้วยการทำเลเซอร์กระ

 

“แต่ในอีกกรณีหนึ่ง “กระเนื้อ” ถือว่าเป็นเนื้องอกบนผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับมะเร็งผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี”

เลเซอร์กระมีกี่แบบ? อะไรบ้าง?

เลเซอร์กระมีกี่แบบ?

Fractional CO2 Laser

 

เป็นเลเซอร์กระที่มีความแม่นยำสูง ใช้วิธียิงพลังงานที่มีตัวกลางคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลอกเอาเซลล์ผิวที่เสียแล้วออกมา สามารถกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวใหม่

 

โดย Fractional CO2 Laser มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 10,600 nm และสามารถช่วยในการรักษากระเนื้อและกระชนิดอื่นๆ รวมถึงปัญหาผิวหย่อนคล้อยได้อีกด้วย

 

Q-switch laser

 

Q-switch laser หรือ Q-switch ND:YAG Laser มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 532 และ 1,064 nm ซึ่งความยาวคลื่น 532 nm จะสามารถรักษาปัญหาเม็ดสีที่อยู่ในผิวชั้นตื้น เช่น กระตื้น หรือ กระแดด เป็นต้น ส่วนความยาวคลื่น 1,064 nm จะสามารถรักษาปัญหาเม็ดสีที่อยู่ในผิวชั้นลึกอย่างกระลึก หรือใช้ลบรอยสัก เป็นต้น

 

ซึ่ง Q-switch laser ยังมีการใช้ตัวกลางต่างชนิดกัน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายตามความต้องการของการใช้งาน ดังนี้

 

  • Ruby Laser
    เลเซอร์ชนิดนี้ใช้ผลึกทับทิมเป็นตัวกลาง มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 694 nm นิยมใช้ในการรักษาปัญหาเม็ดสี เช่น กระลึก ปานดำ และลบรอยสัก นั่นเพราะสามารถส่งพลังงานได้ถึงผิวหนังชั้นกลาง (Mid-Dermis)

  • Alexandrite Laser
    ตัวกลางในการผลิตแสงของเลเซอร์ชนิดนี้ก็คือผลึก Alexandrite หรือเจ้าสามสี โดยมีความยาวคลื่นอยู่ที่ 755 nm นิยมใช้ในประเทศยุโรป มีความคล้ายกับ Ruby Laser เพียงแต่เหมาะสำหรับหัตถการเลเซอร์กำจัดขนมากกว่าเลเซอร์กระ

Picosecond

 

มีอีกชื่อที่รู้จักกันว่า Pico Laser ซึ่งเป็นนวัตกรรมเลเซอร์ที่ปล่อยพลังงานคลื่นแสงความถี่สูงด้วยความเร็วสูงสุดที่ระดับ 1 ต่อล้านล้านวินาที ทำให้ใช้เวลารวดเร็วในการรักษา ไม่ทำให้ความร้อนสะสมใต้ผิวจนเกิดเป็นอาการผิวไหม้อีกด้วย

 

โดยเลเซอร์ชนิดนี้มีความยาวคลื่นอยู่ที่ 532 nm และ 1,064 nm ซึ่งสามารถรักษาปัญหาเม็ดสีที่อยู่ในทั้งผิวหนังชั้นตื้น และชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) อย่างกระลึกได้ รวมถึงยังสามารถรักษาฝ้าและแก้ไขปัญหาผิวหย่อนคล้อยได้อีกด้วย

 

Dual yellow Laser

 

Dual yellow Laser ถือว่าเป็นนวัตกรรมเลเซอร์ที่อ่อนโยนกว่าเลเซอร์กระตัวอื่นข้างต้น โดยวิธีการทำงานของเลเซอร์ชนิดนี้คือผสานคลื่นเลเซอร์แสงสีเหลืองและคลื่นเลเซอร์แสงสีเขียวเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถรักษาปัญหาเม็ดสีทั้งรอยแดงและรอยดำได้เป็นอย่างดี

 

คลื่นความยาวของคลื่นเลเซอร์แสงสีเหลืองอยู่ที่ 578 nm และคลื่นความยาวของคลื่นเลเซอร์แสงสีเขียวอยู่ที่ 511 nm ซึ่งแหล่งกำเนิดพลังงานของเลเซอร์นั้นมาจาก Copper และ Bromide รวมถึงเลเซอร์ชนิดนี้ใช้รักษาเฉพาะจุด ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าผิวบริเวณรอบข้างจะได้รับความเสียหาย

IPL ใช้รักษากระได้ไหม? ต่างจากเลเซอร์กระอย่างไร?

IPL หรือ Intense Pulsed Light เป็นการใช้พลังงานคลื่นแสงที่มีความยาวของคลื่น 515-1,200 nm ทำให้สามารถกระจายพลังงานแสงได้มากกว่าเลเซอร์ โดย IPL สามารถรักษาปัญหาเม็ดสีในผิวชั้นหนังแท้โดยไม่ทำร้ายผิวชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)

 

โดย IPL ไม่ใช่การเลเซอร์ แต่สามารถรักษากระได้เหมือนการทำเลเซอร์กระ เพียงแต่การใช้ประโยชน์ของพลังงานจะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้กระจกกรองแสงของตัวเครื่อง เพราะ IPL ยังมีการใช้ในการทำหัตถการอื่น เช่น การกำจัดขน เป็นต้น

เลือกเลเซอร์กระแบบไหนดี?

การที่จะเลือกชนิดของเลเซอร์ในการทำหัตถการเลเซอร์กระนั้นขึ้นอยู่กับปัญหาผิวของแต่ละบุคคล บางคนอาจมีปัญหาเพียงแค่กระตื้น หรือกระแดด แต่ในบางคนอาจมีปัญหากระลึก หรือ กระเนื้อร่วมด้วย

 

หากต้องการรักษากระให้ถูกวิธี หรือเลือกชนิดเลเซอร์ที่เหมาะสมกับปัญหาของตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อที่จะได้รับคำแนะนำอันเหมาะสมต่อไป

วิธีเตรียมตัวก่อนทำเลเซอร์กระ

เตรียมตัวก่อนทำเลเซอร์กระ

ก่อนเข้ารับบริการเลเซอร์กระควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรงประมาณ 4-6 สัปดาห์ รวมถึงทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวระคายเคือง รวมถึงลดความเข้มของกระ

  • งดการทำครีมที่มีส่วนผสมที่เป็นกรด เช่น AHA BHA เรตินอยด์ เนื่องจากกรดจะทำให้เกิดการผลัดของเซลล์ผิว ทำให้ผิวหน้าไวต่อแสงและความร้อน

  • หากมีแผลสดควรปรึกษาแพทย์ว่าควรรักษากระด้วยการทำเลเซอร์หรือไม่ ลดโอกาสการติดเชื้อจากการทำหัตถการ

  • ทาครีมที่มีส่วนผสมทำให้ผิวชุ่มชื่น ป้องกันอาการแสบร้อนจากการทำเลเซอร์

  • รับประทานอาหารที่เสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิว

ขั้นตอนการทำเลเซอร์กระ

  1. ทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนผิวหน้าหรือบริเวณที่จะทำเลเซอร์กระ

  2. หากทำเลเซอร์บริเวณใบหน้า ต้องสวมใส่แว่นตากันแสงเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงเลเซอร์

  3. ทายาชาบริเวณผิว ทิ้งไว้ประมาณ 45 นาที

  4. แพทย์จะใช้เครื่องมือยิงเลเซอร์ลงบนผิวหน้าบริเวณที่ต้องการรักษากระ

  5. เช็ดทำความสะอาดผิว อาจมีการทายาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองของผิว

 

หากระหว่างอยู่ในขั้นตอนการทำมีอาการเจ็บปวด สามารถแจ้งแพทย์เพื่อที่แพทย์จะสามารถปรับลดค่าพลังงานหรือช่วยตรวจดูเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายได้

วิธีดูแลตัวเองหลังทำเลเซอร์กระ

หลังจากรับบริการเลเซอร์กระควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

 

  • งดให้ผิวบริเวณที่รักษากระโดนน้ำใน 24 ชั่วโมงแรก

  • ควรงดการออกแดดโดยตรงในระยะยาว และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงเพื่อป้องกันการกลับมาของกระ ฝ้า และจุดด่างดำ

  • งดการถู นวด หรือเกาใบหน้าแรงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผล

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเพื่อป้องกันผิวแห้ง รวมถึงทาครีมที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว

  • ดื่มนำให้เพียงพอเพื่อทำให้ผิวชุ่มชื่น ไม่ขาดน้ำ

  • หากมีอาการปวดบริเวณที่ทำ สามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้

  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพื่อทำให้ผิวแข็งแรง

ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์กระ

ผลข้างเคียงจากเลเซอร์กระ

การทำเลเซอร์กระอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้

 

  • อาการบวมแดง แต่จะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน

  • อาการผิวไหม้ อาจเกิดขึ้นได้ถ้ามีการใช้พลังงานที่สูงจนเกินไป

  • อาจเกิดสะเก็ดบนใบหน้า แต่สะเก็ดจะหลุดไปเองภายใน 5-7 วัน

  • ผิวมีสีเข้มขึ้น อาจเกิดขึ้นในบางคน โดยผิวจะจางลงไปเอง แต่ถ้าออกแดดโดยไม่ป้องกันก็อาจจางลงได้ช้า

 

ทั้งนี้ต้องมั่นใจได้ว่าสถานที่ที่เลือกในการทำเลเซอร์กระนั้นได้มาตรฐาน เพราะหากทำหัตถการด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานหรือแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าข้างต้นได้

คำถามที่พบได้บ่อย

เลเซอร์กระอยู่ได้ถาวรไหม?

 

การรักษากระด้วยเลเซอร์นั้น ผลลัพธ์คือสามารถทำให้กระในบริเวณที่รักษานั้นหายไปได้ถาวร แต่หากหลังทำการเลเซอร์กระยังคงออกแดดเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ป้องกันผิวโดยการทาครีมกันแดด กระก็สามารถกลับมาได้อีก

 

ผู้ที่เป็นกระซึ่งมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือจากปัจจัยทางสุขภาพอย่างอายุที่เพิ่มขึ้นและฮอร์โมนแปรปรวน อาจทำให้เกิดกระขึ้นมาอีกได้เช่นกัน

 

เลเซอร์กระเจ็บไหม?

 

การทำหัตถการเลเซอร์นั้นจะมีความรู้สึกเจ็บตึงๆ คล้ายถูกหนังยางดีด โดยที่เลเซอร์กระก็เช่นกัน แต่เป็นความรู้สึกเจ็บที่สามารถทนได้ โดยในขั้นตอนรักษามีการทายาชาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บไว้แล้วส่วนหนึ่ง

 

หากระหว่างทำเกิดรู้สึกเจ็บจนไม่สามารถทนได้ ควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาเพื่อทำการปรับค่าพลังงานลง ป้องกันการเกิดอาการผิวไหม้ที่อาจตามมา

 

ทำเลเซอร์กระกี่ครั้งถึงเห็นผล?

 

โดยปกติแล้ว การทำเลเซอร์กระให้เห็นผลจะขึ้นอยู่กับปัญหาของเม็ดสีว่ามากน้อยเพียงใด โดยบางคนอาจจะทำครั้งเดียวก็เห็นผล หรือบางคนก็ต้องทำ 2-6 ครั้งขึ้นไป

 

แต่จำนวนครั้งที่จะเห็นผลนั้นก็แตกต่างกันไปตามสภาพผิวของแต่ละบุคคลด้วย บางคนมีปัญหาผิวแบบเดียวกัน แต่ระยะเวลาที่ต้องรักษาก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ตามกรณีไป

สรุป

เลเซอร์กระคือการใช้พลังงานเลเซอร์ยิงลงบนผิวเพื่อรักษาปัญหาเม็ดสีใต้ชั้นผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นกระตื้น กระลึก กระแดด หรือกระเนื้อ ซึ่งปัจจุบันมาการพัฒนาเลเซอร์หลากหลายชนิดเพื่อใช้ในการรักษากระ โดยเลเซอร์แต่ละชนิดก็มีความสามารถในการช่วยรักษาปัญหาแตกต่างกันไป 

 

หากสนใจว่าเลเซอร์ชนิดใดที่เหมาะสำหรับการรักษาปัญหากระของตนเอง สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเกี่ยวกับหัตถการเลเซอร์กระได้โดยตรง หากเป็นผู้ใช้งานใหม่ ปรึกษาและขอคำแนะนำครั้งแรกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อ้างอิง

 

McDermott A. (2022, February 15). Freckles: Remedies, Causes, and More. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/how-to-get-rid-of-freckles

 

Victorian Cosmetic Institute. (2022, July). Freckle Laser Treatment. https://www.thevictoriancosmeticinstitute.com.au/detail/freckles/

 

Victorian Dermal Group. (2021, July 13).  Everything you need to know about getting rid of freckles. https://www.victoriandermalgroup.com.au/information-centre/everything-you-need-to-know-about-getting-rid-of-freckles#:~:text=Does%20laser%20remove%20freckles%20permanently,into%20obscurity%20after%20repeated%20sessions.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า