จบปัญหาหน้าพังเป็นหน้าใสด้วยการใช้เลเซอร์ฝ้า
เลเซอร์ฝ้า นวัตกรรมการแพทย์ช่วยลดเลือนรอยฝ้าให้ดูจางลง ใบหน้าดูเรียบเนียน ผิวใสขึ้นกว่าที่เคย ช่วยแก้ปัญหาฝ้าที่เป็นปัญหากวนใจใครหลายคน รักษาก็ยาก บางครั้งรักษาหายไปแล้วก็ยังขึ้นมาซ้ำเหมือนเดิม จะคอยแต่งหน้ากลบรอยฝ้าบนหน้าบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาผิวอื่น ๆ อย่างเช่น ผิวเป็นสิวตามมา
โดยการเกิดฝ้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทำงานไปจนถึงวัยทอง เมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดดหรือแสง UV เพื่อเป็นการปกป้องผิวหนังร่างกายจึงสร้างเม็ดสีเมลานินที่สามารถปกป้องผิวเราจากรังสี UV ขึ้นมา แต่เพราะเม็ดสีเมลานินมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลคล้ำ กลายเป็นทำให้สีผิวของเราไม่สม่ำเสมอนั่นเอง
เมื่อเกิดฝ้าบนผิว หลายคนจึงเสาะหาวิธีรักษาฝ้าแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยารักษาฝ้า การฉีดยารักษาฝ้า รวมไปถึงการทำเลเซอร์ฝ้า ซึ่งวิธีการรักษาฝ้าแต่ละแบบก็ให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน ในบทความนี้ทาง SkinX ได้รวบรวมวิธีรักษาฝ้าที่ให้ผลชัดและเร็วที่สุดอย่างการทำเลเซอร์ฝ้า
ให้การรักษาปัญหาผิวหนังเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นกับแอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ SkinX ที่ได้รวบรวมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมาให้บริการปรึกษาปัญหาผิวหนังแบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิกอีกต่อไป อีกทั้งยังบริการจ่ายยา สั่งยาผ่านแอปพลิเคชัน SkinX ได้โดยตรงในราคาพิเศษที่สุด
เลเซอร์ฝ้า คืออะไร?
เลเซอร์ฝ้า คือ หนึ่งในวิธีรักษาปัญหาผิวที่เกิดจากการทำงานที่มากผิดปกติของเม็ดสีเมลานิน ด้วยการใช้เลเซอร์ช่วยปรับสีผิวให้กลับมาเรียบเนียนอีกครั้ง โดยลำแสงเลเซอร์ที่ใช้นั้นมีช่วงของความยาวคลื่นที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการรักษาความผิดปกติบนผิวหนัง
การใช้เลเซอร์ซึ่งเป็นพลังงานจากแสงในการปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ใหม่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง ได้มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของเมลาโนโซม (เป็นออร์แกเนลล์ชนิดหนึ่งที่มีเม็ดสีเมลานินอยู่ภายใน) สังเกตการเปลี่ยนแปลงได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน
ผลที่ได้พบว่าการใช้เลเซอร์ปรับสีผิวให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยแสงเลเซอร์จะเข้าไปทำลายเฉพาะส่วนของเมลาโนโซมเท่านั้น ในขณะที่เซลล์เมลาโนไซต์ (เซลล์สร้างเม็ดสี และเป็นส่วนที่มีเมลาโนโซมอยู่ภายใน) และเซลล์อื่น ๆ โดยรอบไม่ถูกทำลายไปด้วย จึงสามารถสรุปได้ว่าการใช้เลเซอร์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการปรับสีผิวจากเม็ดสีเมลานินทำงานเยอะผิดปกติ
เพราะความสามารถของเลเซอร์ที่ไปทำลายเม็ดสีที่เป็นต้นเหตุของการเกิดฝ้าภายใต้ผิวหนังได้อย่างเจาะจง ไม่ไปทำลายเซลล์บริเวณอื่น ๆ ในวงการแพทย์ผิวหนังจึงได้นำเลเซอร์มาใช้ในการรักษาฝ้า จุดด่างดำ ผิวไม่สม่ำเสมอ
“ทฤษฎีการใช้เลเซอร์ในการรักษาความผิดปกติบนผิวหนังเริ่มขึ้นในปี 1983 โดย Anderson และ Parrish ได้สังเกตเห็นถึงการดูดซับความยาวคลื่นแสงของเม็ดสีภายในเนื้อเยื่อที่มีความจำเพาะเจาะจง ทำให้สามารถเลือกความยาวคลื่นที่มีความจำเพาะกับเม็ดสีเพื่อใช้ในการทำลายเฉพาะเม็ดสีโดยที่ไม่ไปรบกวนเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงหรือรบกวนน้อยที่สุด จากทฤษฎีนี้ทำให้เลเซอร์ถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษาความผิดปกติบนผิวหนังอย่างแพร่หลาย”
เลเซอร์ฝ้า มีกี่แบบ? ฝ้าลักษณะนี้ควรใช้เลเซอร์ฝ้าแบบไหนดี?
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการใช้ เลเซอร์ หน้าใส เลเซอร์รักษาฝ้าออกมาหลายชนิด ซึ่งเลเซอร์ฝ้าในแต่ละชนิดจะมีความต่างในเรื่องของพลังงานแสงที่ใช้ ความยาวคลื่นที่แตกต่าง โดยที่ความแตกต่างนี้จะส่งผลต่อการเข้าไปทำลายเม็ดสีเมลานินในระดับต่างกัน
Pico laser
Picosecond laser หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อ Pico laser เป็นนวัตกรรมใหม่ของการทำเลเซอร์ฝ้า โดย Pico Laser สามารถให้พลังงานสูงในเวลาที่สั้นมาก ทำให้สามารถทำลายเม็ดสีเมลานินได้อย่างละเอียดโดยที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อผิวส่วนอื่นโดยรอบได้รับความเสียหายจากการมีความร้อนสะสมใต้ผิวหนัง
ในปัจจุบัน Pico laser มีช่วงความยาวคลื่นถึง 3 ช่วงตั้งแต่ 532, 755 และ 1064 นาโนเมตร ซึ่งความยาวคลื่นที่นิยมใช้ในการเลเซอร์ฝ้าที่เกิดจากเม็ดสีเมลานินจะใช้ช่วงความยาวคลื่น 755 นาโนเมตรที่เป็นช่วงที่เม็ดสีเมลานินสามารถดูดซับได้ดีมากและมีประสิทธิภาพในการลดเม็ดสีที่ดี
Pico laser ยังสามารถส่งพลังงานแสงความถี่สูงลงมาได้ลึกถึงผิวหนังชั้น Dermis เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงเลเซอร์ ผิวหนังก็จะมีการสร้างอีลาสตินและคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ทำให้ผิวสดใส เต่งตึง ลดเลือดริ้วรอยไปในตัว
Pico laser จึงเป็นเลเซอร์ฝ้าที่มีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์การรักษาที่ชัดเจน เห็นผลได้ในทันที อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ผิวเรียบเนียน กระจ่างใส ไร้ริ้วรอยได้ไวกว่า
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: Pico Laser นวัตกรรมช่วยฟื้นฟูผิวให้กระจ่างใส เรียบเนียน
Dual yellow laser
Dual yellow laser เลเซอร์ฝ้า เลเซอร์หน้าใส ที่ช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอขึ้นอย่างอ่อนโยนด้วยการใช้ความยาวคลื่นร่วมกัน 2 ความยาวคลื่น ดังนี้
- ความยาวคลื่น 578 นาโนเมตร หรือคลื่นสีเหลือง เป็นความยาวคลื่นยาวที่ลงไปแก้ปัญหาถึงผิวชั้นใน โดยจะไปยับยั้งการไหลเวียนเลือดของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเม็ดสีเมลานิน ทำให้สีผิวบริเวณนั้นค่อย ๆ จางลง
- ความยาวคลื่น 511 นาโนเมตร หรือคลื่นสีเขียว เป็นความยาวคลื่นสั้นที่จะไปแก้ไขปัญหาผิวชั้นนอก มีความสามารถในการเข้าไปลดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดสี ค่อย ๆ ทำให้สีผิวจางลงโดยที่ไม่ไปทำลายผิวชั้นใน
Dual yellow laser เป็นเลเซอร์ที่ใช้รักษาปัญหาผิวได้หลายอย่าง ด้วยคุณสมบัติของความยาวคลื่น 2 ชนิดที่สามารถรักษาความผิดปกติของเม็ดสีเมลานินและความผิดปกติของเส้นเลือด จึงสามารถลดเลือนรอยสีแดงและสีดำได้เป็นอย่างดี
สำหรับการเลเซอร์ฝ้าด้วย Dual yellow laser จะเหมาะกับการรักษาฝ้าเพื่อป้องกันการเกิดฝ้าซ้ำด้วยการไปลดปัจจัยการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: “Dual yellow laser” เทคโนโลยีแก้ปัญหากระ ฝ้า บอกลาหน้าหมองคล้ำและจุดด่างดำ
Q-Switch
เลเซอร์ฝ้าอีกชนิดที่นิยมนำมาใช้รักษาฝ้าคือ Q-Switch โดยเลเซอร์ฝ้าตัวนี้จะใช้คลื่นแสงพลังงานสูงในการทำให้เม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนังเกิดการแตกกระจาย และหลังจากนั้นร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเม็ดสีเมลานินที่แตกตัว ทำให้รอยฝ้าค่อย ๆ จางลง
การเลเซอร์ฝ้าด้วยวิธี Q-Switch อาจพบการตกสะเก็ดบนผิวหนัง หรือเกิดรอยดำขึ้นหลังเลเซอร์ฝ้า แต่มักจะหลุดลอกและกลับมาผิวเรียบเนียนได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานวิจัยที่พบว่าการใช้เลเซอร์ฝ้า Q-Switch ในการรักษาฝ้าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรักษา
Zhou et al., (2011) จึงได้ทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ Q-Switch laser ในการเลเซอร์ฝ้า จากผลการศึกษาพบว่า Q-Switch มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้า แต่หลังเข้ารับการรักษาด้วย Q-Switch ไปแล้ว 3 เดือนและติดตามผล พบว่าระดับเม็ดสีเมลานินกลับเข้าสู่ระดับเดิมถึง 64% หรือหมายความว่ามีโอกาสเกิดฝ้าซ้ำสูงนั่นเอง
ถึงแม้ว่า Q-Switch จะช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาฝ้าให้ลดลงได้เร็ว แต่หากไม่มีการรักษาร่วมกับวิธีอื่นก็มีโอกาสเกิดฝ้าซ้ำได้ ดังนั้นจึงควรรับการรักษาฝ้าแบบอื่นควบคู่กันไปด้วยเช่นการใช้ Dual yellow laser หรือใช้ยาทา เพื่อลดโอกาสการเกิดฝ้าซ้ำ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: “Q-Switch laser” ตัวช่วยลบรอยสัก รักษาฝ้า กระ และจุดด่างดำ
ฝ้า คืออะไร
ฝ้า (Melasma) คือภาวะความผิดปกติของเม็ดสีเมลานินที่มีการสร้างมากกว่าปกติ โดยมักจะเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยหลายอย่างเช่น
- การได้รับแสง UVA, UVB ซึ่งเป็นรับสีที่มีอำนาจในการทะลุทะลวงเข้าสู่ชั้นผิวหนังและทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์
- การหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับมากกว่าปกติ ทำให้เมลาโนไซด์ไปผลิตเม็ดสีเมลานินและทำให้เกิดฝ้าบนผิว
- กรรมพันธุ์
- เครื่องสำอางบางชนิดที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ชั้นผิวถูกทำลายและอ่อนแอลง เกิดเป็นฝ้าได้ง่าย
การเกิดฝ้าไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย แต่จะทำให้สีผิวดูไม่สม่ำเสมอ และอาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองได้
ข้อดีของเลเซอร์ ฝ้า
การเลเซอร์รักษาฝ้าจะเป็นการรักษาปัญหาฝ้าที่ตัวการโดยตรง โดยข้อดีของการเลเซอร์ฝ้ามีดังนี้
- ลดเลือนรอยฝ้าบนผิวหน้าได้ทันทีหลังทำ
- สามารถผลัดเซลล์ผิวเก่าออกเผยผิวใหม่กระจ่างใสได้อย่างรวดเร็วกว่า
- เลเซอร์ฝ้าสามารถกำหนดจุดที่ต้องการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจง ลดการไปรบกวนเนื้อเยื่อรอบข้าง ผลข้างเคียงต่ำ
- เลเซอร์ฝ้าสามารถใช้รักษาความผิดปกติอื่น ๆ บนผิวหนังที่เกิดจากเม็ดสีเมลานินทำงานมากกว่าปกติได้ เช่น จุดด่างดำ รอยแผลเป็น รอยดำ กระ เป็นต้น
ข้อเสียของเลเซอร์ ฝ้า
ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยการเลเซอร์ฝ้าจะช่วยให้รอยฝ้าจางลงอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างเช่นกัน
- เลเซอร์ฝ้าเป็นการใช้พลังงานแสงความเข้มข้นค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดการสะสมความร้อนบนผิวหนังและเกิดอาการแสบร้อน ระคายเคืองได้
- อาจพบอาการลอก แดง หลังจากเลเซอร์ฝ้าในช่วง 1-2 อาทิตย์แรก
- ในบริเวณที่เลเซอร์ฝ้า มีความเสี่ยงที่เมลาโนไซต์อาจถูกทำลายไปด้วยและอาจทำให้ผิวบริเวณนั้นบางลง ไม่สามารถปกป้องผิวต่ออันตรายจากรังสี UV ได้
- อาจเกิดรอยดำหรือจุดด่างขาวขึ้นได้ในผู้ที่มีผิวคล้ำ
เตรียมตัวก่อนเลเซอร์ฝ้า
เพื่อให้ผลการรักษาฝ้าด้วยการทำเลเซอร์ฝ้าให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรจะมีการเตรียมตัวก่อนดังนี้
- เข้าพบแพทย์ผิวหนังเพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของฝ้าบนใบหน้าและเลือกวิธีการรักษาฝ้าที่เหมาะสมที่สุด
- ควรถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเลเซอร์ฝ้าก่อนเข้ารับการรักษาเช่น ชนิดของเลเซอร์ฝ้าที่ใช้ ใช้เวลาทำนานหรือไม่ ต้องเลเซอร์รักษาฝ้ากี่ครั้งจึงจะเห็นผล ต้องรักษาฝ้าต่อเนื่องเท่าไหร่ เพื่อไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
- ก่อนทำเลเซอร์ฝ้า ควรดูแลร่างกายตนเองให้พร้อม เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือมีความเครียด
- หากมีการใช้ยาใด ๆ หรือมีข้อจำกัดบางประการ เช่น เป็นผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย แผลหายช้า มีกิจวัตรประจำวันที่ต้องโดนแสงแดดบ่อย ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้าทำเลเซอร์ฝ้าเพราะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัย
ขั้นตอนการทำเลเซอร์ฝ้า
เลเซอร์ฝ้าเป็นหัตถการที่ใช้เวลาไม่นานมาก โดยเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเข้ารับการรักษาฝ้าด้วยการเลเซอร์ฝ้าแพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษา และทำความสะอาดผิวหน้าเพื่อเตรียมตัวเลเซอร์ฝ้า
หลังจากทำความสะอาดผิวหน้าเสร็จ แพทย์จะใช้แว่นกันแสงปิดตาให้และมีการเป่าลมเย็นเพื่อลดอาการแสบร้อนจากแสงเลเซอร์ แพทย์จะยิงเลเซอร์ฝ้าไปยังบริเวณที่มีปัญหาฝ้า อาจรู้สึกเหมือนมีอะไรมาดีดบนผิว ในกระบวนการนี้จะใช้เวลาในการทำประมาณ 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับเคส หลังจากยิงเลเซอร์ฝ้าเสร็จแล้วแพทย์จะทาครีมลดอาการระคายเคืองให้ก่อนกลับ
การดูแลตัวเองหลังเลเซอร์ฝ้า
เพื่อให้การทำเลเซอร์ฝ้ามีผลข้างเคียงหลังทำน้อยที่สุด และให้ประสิทธิภาพการรักษาดีที่สุดจึงควรดูแลตัวเองหลังเข้ารับการรักษา ดังนี้
- ทายาลดอาการระคายเคืองในช่วงหลังเลเซอร์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรง ทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงแสงแดด แสงสีฟ้าในช่วง 1-2 อาทิตย์แรกหลังเลเซอร์ฝ้า
- หมั่นทาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ
- ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสครับผิว หรือการผลัดเซลล์ผิวในช่วง 1-2 อาทิตย์แรกหลังเลเซอร์ฝ้า
ผลข้างเคียงจากเลเซอร์ฝ้า
การรักษารอยจากฝ้าด้วยการใช้เลเซอร์ฝ้าสามารถให้ผลการรักษาที่ดีและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์ฝ้าก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้พลังงานแสงความเข้มสูง ๆ ได้เช่นกัน เช่น
- เกิดรอยแดง รอยดำ
- ผิวลอก
- ผิวตกสะเก็ด
- จุดด่างขาว
- ผิวไหม้
โดยการเกิดรอยแดง รอยดำ ผิวลอก ตกสะเก็ดเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ และมักจะเป็นในช่วงแรกหลังทำเลเซอร์ฝ้าสามารถจางหายไปเองได้ภายใน 1-2 อาทิตย์หลังเลเซอร์ฝ้า
แต่อย่างไรก็ตามหากมีการตั้งค่าพลังงานที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เช่นผิวไหม้ อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น หรือเกิดจุดด่างขาวจากเซลล์เม็ดสีถูกทำลายถาวร
คำถามยอดนิยม
เลเซอร์ฝ้า เจ็บหรือไม่?
ตอบ ในระหว่างการรักษาด้วยเลเซอร์ฝ้า แพทย์จะใช้ลมเย็นเป่าไปบริเวณที่ยิงเลเซอร์ฝ้า ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บแสบมาก เหมือนแค่มีอะไรมาดีดบนผิวเท่านั้น
เลเซอร์ฝ้า ได้ผลถาวรไหม?
ตอบ เลเซอร์ฝ้าให้ฝ้าบนผิวหน้าหายไปอย่างถาวรอาจเป็นเรื่องยาก เพราะฝ้าสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ หากมีความจำเป็นที่ต้องสัมผัสกับแสงแดดบ่อย หรือเป็นฝ้าจากกรรมพันธุ์ ก็อาจทำให้มีโอกาสเกิดฝ้าซ้ำได้
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะทำให้ฝ้าหายไปอย่างถาวรไม่ได้แต่ก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้การเกิดฝ้ารุนแรงขึ้น เห็นชัดขึ้นได้
เลเซอร์รักษาฝ้าทำให้หน้าบางลงไหม?
หากเข้ารับการรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์ฝ้ากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและใช้เลเซอร์ในระดับที่เหมาะสม การเลเซอร์ฝ้าก็ไม่ทำให้ผิวหน้าบางลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างอีลาสตินและคอลลาเจนให้ผิวแข็งแรงขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากใช้เลเซอร์ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ผิวถูกทำร้ายและเกิดอาการผิวหน้าบางลงได้
เลเซอร์ฝ้ากี่ครั้งเห็นผล?
ถึงแม้ว่าการเลเซอร์ฝ้าจะสามารถเห็นผลได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ แต่เพื่อให้ฝ้าจางลงจนเผยผิวเรียบเนียน สม่ำเสมอเช่นเดิมควรจะเข้ารับการเลเซอร์รักษาฝ้าต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ ประมาณ 3-10 ครั้ง
สรุป
เลเซอร์ฝ้าเป็นวิธีรักษาฝ้าที่เห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็วและชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ อีกทั้งยังใช้เวลาในการรักษาฝ้าที่สั้นกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามการใช้เลเซอร์ในการรักษาควรจะต้องรักษากับแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากการใช้เลเซอร์ที่เป็นคลื่นแสงความถี่สูงอาจทำให้เกิดอันตรายได้
ก่อนเข้ารับการรักษาฝ้าด้วยการเลเซอร์ฝ้าควรเข้ารับการประเมินจากแพทย์ก่อนเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความสะดวก SkinX ได้รวบรวมแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมากกว่า 210 ท่าน มาให้คำปรึกษา รวมถึงการประเมินปัญหาฝ้าของคุณได้ง่าย ๆ ทุกที่ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องรอคิว รู้ผลการรักษาทันที
แหล่งอ้างอิง
Anderson, R.R. & Parrish, J.A. (1983). Selective Photothermolysis: Precise Microsurgery by
Selective Absorption of Pulsed Radiation. Science, 220, 524-527.
https://www.science.org/doi/10.1126/science.6836297
Curtis, L. (2022, November 11). What to Know Before Getting Melasma Laser Treatment.
verywellhealth. https://www.verywellhealth.com/melasma-laser-treatment-5496391
Mun, J.G. Jeong, S.Y. Kim, J.H. Han, S.S. & Kim, I.H. (2011). A low fluence Q-switched Nd:YAG
laser modifies the 3D structure of melanocyte and ultrastructure of melanosome by
subcellular-selective photothermolysis. Journal of Electron Microscopy (Tokyo), 60(1),
11-8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20937709/
Sarkar, R. Aurangabadkar, S. Salim, T. Das, A. Shah, S. Majid, I. Singh, M. Ravichandran, G.
Godse, K. Arsiwala, S. Arya, L. Gokhale, N. Sarma, N. Torsekar, R.G. Sonthalia, S. & Somani,
V.K. (2017). Lasers in Melasma: A Review with Consensus Recommendations by Indian
Pigmentary Expert Group. Indian Journal of Dermatology, 62(6), 585-590.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5724305/
Trivedi, M.K. Yang, F.C. & Cho, B.K. (2017). A review of laser and light therapy in melasma.
International Journal of Women’s Dermatology, 3(1), 11-20.
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352647517300047
Xi, Z. Gold, M.H.Zhong, L. & Ying, L. (2011). Efficacy and Safety of Q-Switched 1,064-nm
Neodymium-Doped Yttrium Aluminum Garnet Laser Treatment of Melasma. Dermatologic
Surgery, 37, 962-970.
https://journals.lww.com/dermatologicsurgery/Abstract/2011/06280/Efficacy_and_Safety_of_Q_Switched_1,064_nm.9.aspx