SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

13 มีนาคม 2566

ตุ่มสิวใต้ตา อาจเกิดจาก “สิวหิน (Syringoma)”

สิวหิน

หลายคนอาจส่องกระจกแล้วพบว่าตนเองเป็นสิวใต้ตาหรือเปลือกตาจำนวนมาก จะบีบจะแกะอย่างไรก็ไม่ออก ทิ้งไว้ก็ไม่ได้เจ็บอะไร แต่ทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจจากตุ่มนูนบริเวณดวงตาเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตุ่มนูนแข็งอาจไม่ใช่สิว แต่เป็นโรคผิวหนังที่ชื่อว่า “สิวหิน”

 

แต่สิวหินคืออะไร? สิวหิน สิวข้าวสารใต้ตาเหมือนกันหรือไม่? แล้วจะสามารถป้องกันหรือรักษาอาการสิวหินได้อย่างไร? บทความนี้ทาง SkinX จะตอบคำถามทุกข้อเกี่ยวกับสิวหิน

สารบัญบทความ

“สิวหิน” คืออะไร 

 

สิวหิน ไม่ใช่โรคสิว (Acne Vulgaris) แต่สิวหิน (Syringoma) คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นที่ต่อมเหงื่อ (Eccrine sweat glands) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงหรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign หรือ Non-cancerous neoplasms) ตัวเนื้องอกจะอยู่ลึกลงไปในผิวหนังชั้นหนังแท้ สามารถพบได้บ่อยในวัยรุ่นเพศหญิง โดยเฉพาะชาวเอเชียที่มีสีผิวค่อนข้างเข้ม, ชาวคอเคเซียน (Caucasian), และผู้ที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น (Japanese)

 

Fact: เนื้องอก (Neoplasms) คือเนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์แบ่งตัวและเจริญอย่างผิดปกติ เนื้องอกมีทั้งเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งอย่างสิวหิน และเนื้องอกชนิดเนื้อร้ายหรือมะเร็ง เรียกว่า Malignant tumors

 

ลักษณะของสิวหินใต้ตา และสิวหินในบริเวณอื่นๆ จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนหลายเม็ด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีสีเดียวกับผิวหนัง สีขาวซีด หรืออาจเป็นสีเหลืองในกรณีที่ผู้ป่วยมีผิวสีเข้ม

 

สิวหินมักปรากฏอยู่ตามใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้ม ใต้ตา และเปลือกตา นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในบริเวณหนังศีรษะ, อวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง (vulva), อวัยวะเพศชาย, หน้าอก, และรักแร้ อีกด้วย

 

สิวหินโดยปกติจะเป็นโรคที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และไม่สามารถเจริญไปเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่าเดิมได้ เพียงแต่จะสร้างความรำคาญหรือรู้สึกว่าไม่สวยงามเมื่อส่องกระจกเท่านั้น ทั้งนี้มีรายงานว่า สิวหินทำให้รู้สึกเจ็บหรือคันได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเวลาที่เหงื่อออก แต่ก็พบกรณีดังกล่าวได้น้อยมาก

สิวหิน VS สิวข้าวสาร

 

หลายคนเข้าใจว่าสิวหินและสิวข้าวสารใต้ตาเป็นโรคเดียวกัน เนื่องจากลักษณะของโรคที่คล้ายคลึงกันมากเมื่อมองจากภายนอก แต่ความเป็นจริงแล้ว สิวข้าวสาร (Milia หรือ Milium Cysts) เป็นซีสต์ที่มีผนัง ต่างกับสิวหินที่เป็นเนื้องอก ทั้งสองอย่างเกิดจากสาเหตุต่างกัน ใช้การรักษาที่ต่างกัน แม้ลักษณะโดยรวมจะคล้ายกันแต่ก็สามารถแยกจากกันได้จากการดูภายนอก

 

สิวหินจะอยู่ลึกใต้ผิวหนัง ทำให้ตุ่มสิวหินจะนูนน้อยกว่า ไม่เป็นไตแข็งเท่าสิวข้าวสาร ส่วนสิวข้าวสารจะเป็นตุ่มนูน เนื่องจากก้อนซีสต์อยู่ที่ผิวหนังชั้นบน บางครั้งตัวซีสต์สามารถบีบออกมาได้คล้ายกับสิว

 

Fact : ซีสต์กับเนื้องอกแตกต่างกัน ซีสต์เป็นถุงที่บรรจุอากาศ น้ำ หรือไขมัน บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อด้วย ต่างกับเนื้องอกที่เป็นเนื้อเยื่อเพียงอย่างเดียว การรักษาและอันตรายจากโรคก็จะแตกต่างกันไปด้วย

สาเหตุการเกิดสิวหิน

สิวหินเกิดจาก

สิวหินเกิดจากท่อต่อมเหงื่อจับกลุ่มกัน และรวมตัวกับเนื้อเยื่อไฟบรัส (Fibrous stroma) เกิดเป็นก้อนเนื้องอกใต้ผิวหนังขึ้นมา ส่วนสาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดสิวหินนั้นยังไม่แน่ชัด บางครั้งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ บางครั้งเกิดจากการที่ต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไปจนแบ่งเซลล์ผิดปกติ บางกรณีก็อาจเกิดจากพันธุกรรมได้เช่นกัน

 

มีรายงานว่าการเกิดสิวหินสามารถเป็นผลข้างเคียงจากโรค หรือเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับโรคบางอย่างได้เช่นกัน อย่างภาวะดาวน์ซินโดรม (Down syndrome), Brooke-Spiegler syndrome, และโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

บริเวณที่มักเกิดสิวหิน

 

สิวหินใต้ตาและเปลือกตา

 

สิวหินเปลือกตาและใต้ดวงตา จะเกิดขึ้นกระจายตัวอยู่รอบๆดวงตา (Periorbital) จะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่ได้เป็นสิวหินจำนวนมากนัก รักษาได้ยาก เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้อวัยวะบอบบาง บางครั้งสิวหินสามารถลามลงมาถึงบริเวณโหนกแก้มได้ด้วย

 

สิวหินที่หน้าอกและลำตัว

 

ในกรณีที่เป็นสิวหินจำนวนมาก (Eruptive Syringoma) สิวหินจะปรากฏอยู่ที่หน้าอก ลำตัวหน้าท้อง และแขนขาได้ บางกรณีที่เป็นรุนแรง อาจพบสิวหินเป็นตุ่มสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ที่ต้นขาและขาหนีบร่วมด้วยได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก

ทั้งนี้ สิวหินในแต่ละบริเวณมีลักษณะของโรคและสาเหตุการเกิดโรคเหมือนกัน

วิธีรักษาสิวหิน

สิวหินรักษา

วิธีกำจัดสิวหิน ทำอย่างไร? สิวหินไม่ใช่โรคผิวหนังที่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่อันตราย แม้ปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ได้มีผลด้านสุขภาพ ดังนั้นการรักษาสิวหินจึงทำเพื่อเหตุผลด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว 

 

ส่วนวิธีการรักษาสิวหิน ที่นิยมใช้กันจะมีเพียงหัตถการที่ต้องทำโดยแพทย์ 4 วิธี ดังนี้

 

การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatment)

 

วิธีกำจัดสิวหินด้วยเลเซอร์ จะนิยมใช้เลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอก (Ablative Laser Resurfacing) และเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวลอกเฉพาะส่วน (Fractionated Laser) อย่าง CO2 Laser และ Erbium: YAG laser

 

ผู้เข้ารับการรักษาที่มีผิวสีเข้ม จะเสี่ยงเป็นแผลเป็นได้มากกว่าผู้ที่มีผิวสีอ่อน ก่อนการรักษา แพทย์จะให้ลองรักษาในจุดเล็กๆก่อนเพื่อดูว่าเป็นแผลเป็นหรือไม่ หรือเป็นในปริมาณที่รับได้ไหม ถ้าอยู่ในระดับที่พึงพอใจจะทำต่อ จึงค่อยรักษาในบริเวณที่เหลือต่อไป 

 

ซึ่งเลเซอร์ที่นิยมใช้รักษาสิวหินสำหรับผู้เข้ารับการรักษาที่มีผิวสีเข้ม จะนิยมใช้ Erbium: YAG laser เนื่องจากมีความเสี่ยงการเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าเมื่อใช้รักษากับผู้ที่ผิวสีเข้ม

 

การรักษาครั้งหนึ่งจะใช้เวลาฟื้นตัวเพื่อเห็นผลลัพธ์การรักษาประมาณ 5 – 14 วัน สำหรับผู้ที่ผิวเข้มหลังการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะการสร้างเม็ดสีมากหรือน้อยกว่าปกติ (hyperpigmentation or hypopigmentation) ชั่วคราว ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าการสร้างเม็ดสีจะกลับมาเป็นปกติ

 

ทั้งนี้ วิธีรักษาสิวหินใต้ตาและพื้นที่อื่นๆ ด้วยการทำเลเซอร์ เป็นวิธีการรักษาที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเห็นผลชัดเจน โอกาสเกิดแผลเป็นและการติดเชื้อหลังการรักษาน้อยกว่าวิธีอื่นๆ 

 

การรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery)

 

เมื่อใช้ไฟฟ้าจี้สิวหิน ความร้อนจากไฟฟ้าจะไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติอย่างสิวหิน และทำลายเส้นเลือดในก้อนเนื้องอกให้สิวหินฝ่อไป ทำแค่ครั้งเดียวก็สามารถหายได้ มีความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นเช่นกัน แต่โอกาสการเกิดค่อนข้างน้อยเหมือนกับการทำเลเซอร์

 

การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Excision)

 

การรักษาสิวหินด้วยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกสิวหินออก ใช้ในกรณีที่เป็นสิวหินขนาดใหญ่หรือไม่สามารถใช้วิธีอื่นๆ ได้เท่านั้น ไม่นิยมใช้ในกรณีการรักษาทั่วไป เพราะแม้จะสามารถนำสิวหินออกจากผิวหนังได้หมด แต่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแผลเป็นสูงกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย

 

วิธีการรักษาสิวหินวิธีอื่นๆ เช่น Cryotherapy การใช้ความเย็นจี้, Dermabrasion การขัดผิว, และ Chemical peels การใช้สารเคมีลอกผิว ก็มีทำเช่นกัน แต่ไม่นิยมใช้รักษาสิวหินมากนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงการเกิดแผลเป็นมากกว่าวิธีการใช้เลเซอร์และการจี้ด้วยไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ หลังการรักษาทุกวิธี สิวหินมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ทั้งหมด

 

ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง SkinX

 

เมื่อต้องการรักษาสิวหิน ควรเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาไม่สามารถทำเองได้ที่บ้าน ต้องรักษาโดยการทำหัตถการ ซึ่งแต่ละกรณีก็มีหัตถการที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ควรให้แพทย์ผิวหนังเป็นผู้แนะนำจะดีที่สุด

 

เมื่อต้องการปรึกษาแพทย์ แต่ไม่มีเวลา ไม่อยากเสียค่ารถ ไม่อยากรอคิวทั้งวัน สามารถปรึกษากับแพทย์ผิวหนังโดยตรงได้ที่แอปพลิเคชัน SkinX ปรึกษาง่าย เลือกแพทย์ได้ มีรีวิวแพทย์แต่ละท่านให้ดู สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

การป้องกัน สิวหิน

วิธีรักษาสิวหิน

การป้องกันการเกิดสิวหินอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากสาเหตุการเกิดไม่ชัดเจน ในเบื้องต้นการป้องกันจึงเป็นการทำให้กระบวนการการผลัดเซลล์เป็นไปอย่างปกติ ทำให้อัตราการแบ่งเซลล์เป็นปกติ ลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอก การลดการทำงานของต่อมเหงื่อ เพื่อไม่ให้ต่อมเหงื่อทำงานมากเกินไปจนผิดปกติ ร่วมกับการลดปัจจัยกระตุ้นอื่นๆจากสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นสารเคมี หรือรังสี UV จากแสงแดด ก็นิยมทำด้วยเช่นกัน

 

ซึ่งวิธีการป้องกันการเกิดสิวหิน มีดังนี้

 

  • ทาครีมกันแดดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ผิวระคายเคืองหรือเกิดการแพ้
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากสิวหินอาจเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิว เช่นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน A และ E
  • ทำความสะอาดผิวอยู่เสมอ ทำให้การผลัดเซลล์ผิวและการแบ่งตัวของเซลล์ผิวดำเนินไปตามปกติ บางครั้งอาจใช้ครีมบำรุงผิวที่เป็นกรดอ่อนร่วมด้วย เพื่อช่วยในการผลัดเซลล์ผิว
  • หากต่อมเหงื่อทำงานมากกว่าปกติอยู่แล้ว อาจจะใช้ botox ร่วมด้วยได้ เพื่อลดการทำงานของต่อมเหงื่อ ลดโอกาสการเกิดสิวหิน

คำถามที่พบบ่อย

 

สิวหินเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่

 

สิวหินสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ในบางกรณี หากพบว่าลูกเกิดสิวหิน มีโอกาสพบว่าคนในครอบครัวเคยเป็นสิวหินได้ บางครั้งสิวหินยังมีโอกาสเกิดมากในเชื้อชาติหนึ่งๆ ได้ด้วย ซึ่งก็เกี่ยวกับพันธุกรรมเช่นกัน

 

เซรั่มรักษาสิวหิน ครีมรักษาสิวหิน สามารถใช้ได้หรือไม่

 

เซรั่มรักษาสิวหิน และครีมรักษาสิวหินสามารถใช้ได้ โดยจะนิยมใช้ Retinoids เป็นหลัก แต่ผลการรักษาไม่ดี และส่วนใหญ่จะแทบไม่เห็นผลเลย การรักษาด้วยเลเซอร์ หรือการใช้ไฟฟ้าจี้จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

สิวหิน ปูนแดงรักษาได้ไหม

 

หลายคนเชื่อว่าปูนแดงสามารถรักษาสิวหินได้ จากการที่ปูนแดงมีฤทธิ์กัดกร่อนเหมือนกับการทำ Chemical peel แต่ความเป็นจริงแล้ว สิวหินเป็นเนื้องอกที่อยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ การกัดกร่อนแค่ผิวนอกไม่สามารถรักษาสิวหินได้

 

นอกจากนี้ปูนแดงยังไม่ได้กัดผิวเฉพาะที่ ทำให้ไม่ปลอดภัยเหมือนการทำ Chemical peel เมื่อทาปูนแดงจึงอาจทำให้ผิวส่วนอื่นๆ นอกจากส่วนที่มีสิวหินได้รับผลกระทบไปด้วย อีกทั้งปูนแดงยังไม่ใช่สารบริสุทธิ์หรือผ่านการฆ่าเชื้อมาก่อน หลังทาที่ผิวอาจมีความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อได้ด้วย

สรุป

 

สิวหินไม่ใช่สิว แต่เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง สามารถรักษาได้ แต่ต้องรักษาด้วยหัตถการโดยแพทย์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเป็นสิวหินและต้องการรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้เข้ารับการรักษาต่อไป

 

เป็นสิวหิน อยากรักษาสิวหิน สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังกว่า 210 ท่านได้ที่แอปพลิเคชัน SkinX ดาวน์โหลดได้ง่ายๆ ทั้งในระบบ IOS และ Android เพียงคลิกเดียว

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

 

Goyal, S., &Martins, C. R. (2000, October). Multiple syringomas on the abdomen, thighs, and
        groin. PubMed. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11109147/

 

Huizen, J. (2017, October 25). What is syringoma and how is it treated?. MedicalNewsToday.
        https://www.medicalnewstoday.com/articles/319805

 

Lim, D. S., &Bekhor, P. S. (2019). Syringoma. The Australasian College of Dermatologists.
        https://www.dermcoll.edu.au/atoz/syringoma/#:~:text=Syringomas%20are%20benign
        %20skin%20tumours,they%20often%20recur%20after%20treatment.

 

Seo, H., Choi, J., Min, J., &Kim, W. (2016, March 31). Carbon dioxide laser combined with
        botulinum toxin A for patients with periorbital syringomas. Taylor & Francis Online.
        https://www.tandfonline.com/doi/full/10.3109/14764172.2015.1052517

 

Wu, W. M., &Lee, Y. S. (2010, April 19). Autosomal dominant multiple syringomas linked to
        chromosome 16q22. Wiley Online Library. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.
        1365-2133.2010.09677.x

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า