SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

17 สิงหาคม 2565

สิวเม็ดข้าวสาร ใช่สิวจริงๆ หรือเป็นซีสต์กันแน่?

“สิวเม็ดข้าวสารหรือสิวข้าวสาร”
(Milia หรือ Milium Cysts) เป็นสิ่งที่หลายๆ คนสงสัยว่า ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิวอุดตัน หรือซีสต์ขนาดเล็กกันแน่ เพราะเมื่อลองสำรวจดูด้วยตาเปล่า จะพบว่ามีส่วนที่เข้าข่ายทั้ง 2 กลุ่ม ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถตัดสินได้นั่นเอง

ผู้ที่เป็นสิวข้าวสาร จะพบว่า มีก้อนตุ่มนูนขนาดเล็ก สีขาว มีความแข็ง ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มในบริเวณหนึ่งของผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ

ดังนั้น บทความนี้ จะทำให้คุณได้รู้เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับสิวข้าวสาร ไม่ว่าจะเป็นสิวข้าวสารเกิดจากอะไร? สิวข้าวสาร กับ สิวหิน ใช่ชนิดเดียวกันไหม? สิวข้าวสารรักษายังไง? บริเวณที่มักเกิดสิวหัวข้าวสารบ่อยๆ รวมไปจนถึงคำถามยอดนิยมที่หลายๆคนสงสัย มาร่วมไขข้อข้องใจไปพร้อมๆกันได้ที่นี่

สารบัญบทความ

  1. สิวข้าวสาร คืออะไร?
  2. สิวข้าวสาร กับ สิวหิน แท้จริงแล้วเหมือนกันหรือไม่?
  3. สิวเม็ดข้าวสารเกิดจากอะไร สาเหตุที่แท้จริงในการเกิดสิวข้าวสาร
  4. วิธีรักษาสิวข้าวสารที่ถูกต้อง
  5. บริเวณที่มักเกิด สิวข้าวสาร
  6. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวเม็ดข้าวสาร

สิวข้าวสาร คืออะไร?

สิวหัวข้าวสารบริเวณดวงตา
สิวข้าวสาร (Milia หรือ Milium Cysts) คือ ความผิดปกติของผิวหนังที่มีอาการแสดงคล้ายคลึงกับเม็ด สิว ทำให้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว สิวเม็ดข้าวสาร ถูกจัดอยู่ในกลุ่มซีสต์ที่มีผนัง มีส่วนประกอบของเคราติน(Keratin) อยู่ภายใน ไม่ใช่กลุ่ม สิวอุดตัน และสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยชรา

ลักษณะของสิวข้าวสาร คือ มีความเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก แข็งๆ บางกรณีเป็นสิวสีขาว แต่บางครั้งอาจเป็นสีเดียวกับผิวหนัง เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร อยู่ในชั้นผิวหนังตื้นๆ พบได้บริเวณใกล้เปลือกตาส่วนบน เปลือกตาส่วนล่าง แก้ม จมูก คาง และส่วนอื่นๆของร่างกาย อีกทั้งยังสามารถเกิดในตำแหน่งที่ผิวถูกทำลาย อย่างเช่น หลังการขัดผิวหน้า อาการไหม้แดด แผลถลอก ฯลฯ

โดยสิวข้าวสารไม่มีความรุนแรงของโรค หรือก่อให้เกิดการอักเสบใดๆ แต่หากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็น และความมั่นใจในตนเองได้

สิวข้าวสาร กับ สิวหิน แท้จริงแล้วเหมือนกันหรือไม่?

“สิวข้าวสาร”กับ “สิวหิน” เหมือนกันหรือไม่? ถึงแม้ว่า สิวข้าวสารกับสิวหิน จะมีอาการที่ปรากฏคล้ายๆกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิวข้าวสารกับสิวหิน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ดังนี้

สิวข้าวสาร (Milia) : เป็นซีสต์ไขมันใต้ผิวหนังที่มีการสะสมเคราติน(Keratin)อยู่ภายใน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และไม่อันตรายต่อผิวหนัง โดยสิวข้าวสารสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทารกแรกเกิด วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่

สิวหิน (Syringoma) : เป็นเนื้องอกต่อมเหงื่อ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีขาวขุ่นหรือสีเหลือง สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีกแต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ พบได้บ่อยในกลุ่มคนเอเชีย หรือผู้ที่มีผิวเข้ม มักขึ้นบริเวณเปลือกตาล่าง แก้ม และคอ โดยอาการจะเริ่มปรากฏในช่วงวัยรุ่น และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุประมาณ 25-30 ปี)

สิวเม็ดข้าวสารเกิดจากอะไร สาเหตุที่แท้จริงในการเกิดสิวข้าวสาร

สาเหตุที่แท้จริง ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่า สิวข้าวสารเกิดจากการรบกวนของรูขุมขนอ่อนด้านบนใกล้กับต่อมไขมัน (Sebaceous collar of vellus hair) หรือท่อของต่อมเหงื่อ (Sweat ducts) ส่งผลให้มีการรวมตัวกันของเคราตินจนแข็งตัว กลายเป็นรอยโรคสิวข้าวสาร (Milium) ซึ่งเกิดขึ้นได้เอง (Primary milia) หรือเกิดตามหลังสาเหตุต่างๆ (Secondary milia) ยกตัวอย่างเช่น

  • ตามหลังความเสียหายของผิวหนัง (Traumatic superficial abrasions) เช่น ผื่นอักเสบระคายเคือง, แผล Burn, การทำหัตถการบนผิวหน้า เป็นต้น
  • โรคพันธุกรรมบางอย่างเช่น โรคตุ่มน้ำพองใสชนิดหนึ่ง (Epidermolysis Bullosa : EB) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) เป็นต้น
  • ยาบางชนิด รวมถึงการใช้ยาทาสเตียรอยด์ ( Topical Corticosteroids) เป็นระยะเวลานาน
  • เกิดจากพันธุกรรม หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นสิวเม็ดข้าวสาร (Milia)

วิธีรักษาสิวข้าวสารที่ถูกต้อง

หลายคนอาจมีปัญหาคาใจ อย่าง สิวเม็ดข้าวสารรักษายังไงได้บ้าง? และวิธีกำจัดสิวข้าวสารอย่างถูกต้องทำอย่างไร? ในหัวข้อนี้ เราจะมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า สิวเม็ดข้าวสารรักษาด้วยวิธีอะไรได้บ้าง ดังนี้

วิธีรักษาสิวข้าวสารด้วยเลเซอร์

เลเซอร์สิวข้าวสาร

การรักษาสิวข้าวสาร ด้วยวิธีการใช้เลเซอร์กลุ่มคาร์บอนไดออกไซด์(Carbondioxide Laser) คือ การนำคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มาใช้เป็นตัวกลางในการทำให้เกิดแสงเลเซอร์ เพื่อใช้สำหรับทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังที่มีความผิดปกติของผิวหนังชั้นตื้นๆ

ส่วนของการรักษา วิธีนี้จะต้องทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น โดยการรักษาจะเริ่มจากการทายาชาหรือฉีดยาชา เมื่อยาชาออกฤทธิ์ จะเริ่มทำการยิงแสงเลเซอร์เข้าสู่ผิวหนังบริเวณที่มีสิวข้าวสารเพื่อกำจัดออกไป จากนั้นจะทายาป้องกันการติดเชื้อ และอาจมีการปิดแผลด้วยปิดพลาสเตอร์หรือไม่ตามดุลยพินิจของแพทย์

หลังการรักษา คุณอาจพบรอยแผลตื้นๆ คล้ายแผลถลอกขนาดเล็ก ให้คุณดูแลรักษาตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสน้ำประมาณ 24 ชั่วโมง ใช้น้ำเกลือเช็ดแผล ทายาขี้ผึ้งฆ่าเชื้อ ประมาณ 3 – 7 วัน และควรเข้าพบแพทย์ตามการนัดตรวจ หากแผลไม่เกิดการติดเชื้อ จะทำให้รอยแผลสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

การกดสิวข้าวสาร

การกดสิวข้าวสาร

การกดสิวข้าวสาร เป็นวิธีที่จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรทำด้วยตนเอง เพราะอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ เป็นรอยแผลหลังจากการรักษาได้

ช่วงของการรักษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง จะใช้วิธีการเปิดหัวสิวข้าวสารด้วยเข็มเจาะผ่านการฆ่าเชื้อมาสะกิดหัว หรือใช้การจี้ด้วยลวดไฟฟ้า (Electrosurgery) และการแต้มด้วยกรดเฉพาะที่ (Chemical peeling) เพื่อเปิดหัวสิวเม็ดข้าวสาร จากนั้นจึงจะสามารถใช้เครื่องมือกดสิว หรือก้านสำลี ค่อยๆกดหรือรีดให้สิวเม็ดข้าวสารออกมาจนหมด โดยในกรณีที่พยายามกดสิวข้าวสาร แต่ไม่สามารถทำให้หลุดออกมาได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการใช้เลเซอร์ช่วยในการทำร่วมด้วย

การรักษาด้วยยา

รักษาสิวข้าวสารด้วยยา

ถึงแม้ว่า สิวข้าวสารจะไม่ใช่สิว แต่ก็ยังอาจใช้ครีมรักษาสิวทั่วไปบาง

ชนิด มาใช้รักษาสิวข้าวสารได้ ซึ่งยาที่สามารถใช้ในการรักษาสิวเม็ดข้าวสารได้ มีดังนี้

  • ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids)

ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids) เป็นตัวยาที่สามารถเกาะติดและกระตุ้น Retinoic Acid Receptor (RARs) ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีววิทยา (Biological Response) ตามมา โดยยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอที่สามารถใช้รักษาสิวเม็ดข้าวสาร ได้แก่

Tretinoin : มีฤทธิ์ในการลดการอุดตัน หรือการก่อตัวขึ้นของสิว และยังสามารถต้านการอักเสบได้อีกด้วย โดยยาชนิดนี้ หากได้รับแสงแดดอาจมีประสิทธิภาพลดลง จึงควรใช้เพียงช่วงเวลาตอนกลางคืนเท่านั้น ช่วงแรกของการใช้ยา ควรทดลองและสังเกตผิวของตนเองดูก่อนว่าสามารถทนทานต่อยาได้หรือไม่ อีกทั้งยังทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงได้ง่ายขึ้น จึงควรใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

“ Fact : ยา Tretinoin ไม่ควรใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เนื่องจากจะทำให้ Tretinoin ไม่เกิดฤทธิ์ใดๆ ต่อสิวข้าวสาร”

Adapalene : เป็นตัวยาที่ผู้ใช้ทนทานต่อยาได้มาก มีผลต่อ RARγ receptor โดยเฉพาะ ทำให้ตัวยาทนทานต่อแสง และใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide ได้ ซึ่ง Adapalene มีระดับความเข้มข้นหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระดับความเข้มข้น 0.1% รูปแบบเจลไม่ผสมแอลกอฮอล์และแบบครีม

Tazarotene : เมื่อ Tazarotene กลายเป็น Tazarotenic Acid จะเข้าไปยับยั้ง RARβ และ RARγ receptor ทำให้มีการออกฤทธิ์ลดการอุดตันของสิวได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยา Tazarotene ไม่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มผู้ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์และให้นมบุตร

“ Fact : เราสามารถลดการระคายเคืองของ Tazarotene ได้ด้วยการใช้เทคนิค Short-Term Contact Therapy คือ การทาให้ยาสัมผัสกับผิวหนังน้อยลง เช่น ทายาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วทำการล้างออกด้วยน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น”

ทั้งนี้ Tazarotene ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรเลือกใช้ยาดังกล่าว

  • กรด AHA และ BHA
    กรด AHA (Alpha Hydroxy Acid) และ BHA (Beta Hydroxy Acid) เป็นกรดที่มักใช้เป็นส่วนผสมของเวชสำอาง ออกฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบริเวณหนังกำพร้าชั้นบนสุดเกิดการหลุดลอกออก(Exfoliation) ลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน ตัวอย่าง AHA เช่น Glycolic และ Lactic ส่วน BHA ที่นิยมใช้กันคือ Salicylic Acid

ทั้งนี้ การใช้กรด AHA และ BHA ในการรักษาสิวข้าวสารไม่เป็นที่นิยมมากนัก แม้จะหาซื้อง่ายแต่มีความเสี่ยงอาจทำให้ระคายเคือง ทั้งยังเห็นผลการรักษาค่อนข้างช้า แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อกดสิวข้าวสารออกจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ดังนั้น เรื่องของการรักษาด้วยยา จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาอื่นๆที่กำลังใช้อยู่ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง และปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคตได้

ปรึกษาแพทย์ผิวหนังกับ SkinX

ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจว่า เลือกวิธีรักษาสิวเม็ดข้าวสารแบบใดจึงจะดีที่สุด แนะนำว่า ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล รวมไปจนถึงคำแนะนำหลังการรักษา การติดตามผลต่างๆ ที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดสิวเม็ดข้าวสารซ้ำ

ถึงแม้หลายๆคนอาจมองว่า การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ต้องจองคิว เคลียร์ตารางงานเพื่อลาหยุด ต้องเสียเวลาเยอะ ประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และอีกหลากหลายเหตุผลที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ชอบการเดินทางไปพบแพทย์

ชีวิตของคุณจะง่ายขึ้น เพียงแค่ใช้ “SkinX” แอปพลิเคชันที่รวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังของสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศกว่า 210 ท่าน มาให้คำแนะนำและดูแลการรักษาให้แก่คุณตลอดทั้งกระบวนการ ให้คุณได้รับการรักษาอย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานพยาบาลต่างๆ อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ช่วงเวลาใดก็สามารถปรึกษาได้ง่ายๆ ไปกับSkinX

บริเวณที่มักเกิด สิวข้าวสาร

สิวเม็ดข้าวสาร สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยบริเวณที่พบได้บ่อยในคนส่วนใหญ่ มีดังนี้

  • สิวเม็ดข้าวสารที่เปลือกตา
  • สิวข้าวสารใต้ตา
  • สิวเม็ดข้าวสารที่หน้าผาก

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวเม็ดข้าวสาร

ใช้ปูนแดงในการกำจัดสิวข้าวสารได้ไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่พบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถรองรับเรื่องของการใช้ปูนแดงในการกำจัดสิวข้าวสารได้ และไม่แนะนำให้ใช้ปูนแดงในการกำจัดสิวเม็ดข้าวสาร เนื่องจากปูนแดง มาจากการใช้ปูนขาวผสมกับผงขมิ้นและเกลือป่น โดยจะมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อสัมผัสกับผิว โดยเฉพาะผิวบอบบาง แพ้ง่าย อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองขึ้น และจะอันตรายยิ่งขึ้น หากมีการใช้บริเวณรอบดวงตา

หากรักษาสิวเม็ดข้าวสารจนหายแล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม?

“สิวเม็ดข้าวสาร” สามารถกลับเกิดขึ้นใหม่ได้อีก เนื่องจากอาจมีปัจจัยกระตุ้นในการเกิดสิวข้าวสารและสภาพผิวของแต่ละบุคคล ย่อมมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อให้คำแนะนำและค้นหาปัจจัยในการเกิดสิวข้าวสาร รวมทั้งให้การรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง

บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว

เอกสารอ้างอิง

Gnanapragasam, V. (2006, March 10). At A Glance – Syringoma versus milia. GP. https://www.gponline.com/glance-syringoma-versus-milia/dermatology/article/586352

Huizen, J. (2017, October 25). What is syringoma and how is it treated?. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319805#surgical-options

Kinman, T. (2018, June 1). Milium Cysts in Adults and Babies. Healthline. https://www.healthline.com/health/milia

Palmer, A. (2021, December 09). The Best Ways to Treat and Prevent Milia. Verywellhealth. https://www.verywellhealth.com/how-to-treat-milia-15668

Porter, D. (2021, May 18). What Are Milia?. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-are-milia

Thomas, Liji. (2019, February 27). Milia Causes. News Medical Life Sciences. https://www.news-medical.net/health/Milia-Causes.aspx

Watson, K. (2019, March 07). Home Remedies to Remove Milia from Under Your Eyes. Healthline. https://www.healthline.com/health/milia-under-eyes

What to Know About Milia. (n.d.). WebMD. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-to-know-about-milia

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า