13 เรื่องน่ารู้ฉีดก่อนฟิลเลอร์ร่องแก้ม แก้ไขริ้วรอยร่องแก้มได้ทุกกรณีจริงหรือ?
ฟิลเลอร์ร่องแก้มเป็นฟิลเลอร์ในตำแหน่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากร่องแก้มเกิดจากหลายสาเหตุ และมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน
ในบทความนี้ SkinX จะให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มทั้ง 13 ข้อ ว่าฟิลเลอร์ร่องแก้มคืออะไร สาเหตุของปัญหาร่องแก้มเกิดจากอะไร และปัญหาใดบ้างที่สามารถจัดการด้วยฟิลเลอร์ได้ พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม และตอบคำถามทั้งหมดเกี่ยวกับฟิลเลอร์ร่องแก้มที่หลายคนสงสัย
SkinX แอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังกว่า 210 ท่านได้ทุกที่ ไม่ต้องเดินทางและไม่ต้องรอคิว เพียงดาวน์โหลดแอป ก็สามารถปรึกษาครั้งแรกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมแนะนำสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดฟิลเลอร์จากทั่วประเทศ เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!
สรุป ฟิลเลอร์ร่องแก้ม อัตรายไหม? ที่นี่มีคำตอบ
- การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่เป็นอันตรายหากฉีดด้วยฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากไฮยาลูรอนิกเป็นสารที่มีอยู่ในผิวหนังของเราอยู่แล้ว จึงค่อนข้างปลอดภัยและสามารถสลายเองได้ในอนาคต
- ฟิลเลอร์ร่องแก้มสามารถฉีดได้อย่างปลอดภัย เพราะผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาจากทั้งในสหรัฐอเมริกาและในไทยแล้ว ก่อนฉีดควรดูใบกำกับยาและศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
- ฟิลเลอร์ร่องแก้มราคา cc ละ 6,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณ cc ที่ใช้ฉีด ยี่ห้อของฟิลเลอร์ และค่าบริการขอแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งโดยปกติฟิลเลอร์ร่องแก้มจะใช้ฟิลเลอร์ประมาณ 1-2 cc
- ฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่องลึกได้อย่างถาวร เนื่องจากฟิลเลอร์จะสลายได้เองภายใน 12-24 เดือน จากนั้นใบหน้าจะกลับสู่สภาพเดิม
1. ฟิลเลอร์ร่องแก้ม (Mid Cheek Groove Filler) คืออะไร
การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม (Mid cheek Groove Filler Injection) คือการฉีดสารเติมเต็มเข้าที่ใต้ผิวหนัง เพื่อแก้ไขปัญหารอยร่องแก้มบนใบหน้าจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งสารสังเคราะห์ที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์ในปัจจุบันมีเพียง “ กรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic acid)” เท่านั้น
เนื่องจากไฮยาลูรอนิกเป็นสารที่มีอยู่ในผิวหนังของเราอยู่แล้ว การฉีดฟิลเลอร์จึงเป็นหัตถการที่ค่อนข้างปลอดภัย มีโอกาสแพ้มีน้อยกว่าสารสังเคราะห์อื่น ๆ และสามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถแก้ไขผลการรักษาได้ด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์อีกด้วย
โดยยี่ห้อของฟิลเลอร์เติมร่องแก้มมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกฉีดตามลักษณะเนื้อของฟิลเลอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาร่องแก้มที่ต้นเหตุอย่างเหมาะสม ตัวอย่างยี่ห้อฟิลเลอร์ ได้แก่ Juvederm, Belotero, Restylane, Neuramis, e.p.t.q. เป็นต้น
“นอกจากการฉีดแก้มด้วยฟิลเลอร์แล้ว ยังมีการฉีดไขมันร่องแก้มเพื่อแก้ไขปัญหาร่องแก้มลึกด้วย ซึ่งการฉีดกราฟไขมันจะค่อนข้างปลอดภัยมาก เนื่องจากไขมันที่นำมาฉีด มักจะนำมาจากไขมันบริเวณหน้าท้องหรือต้นขาของร่างกายผู้เข้ารับการรักษาเอง ทำให้มีโอกาสเกิดการแพ้น้อย
แต่ข้อเสียของการฉีดไขมันร่องแก้มคือผลการฉีดจะอยู่ถาวร ไม่สามารถสลายตัวได้เหมือนฟิลเลอร์ หากไม่พอใจผลการรักษาหรือหากอายุมากขึ้นแล้วรูปหน้าเปลี่ยน จะแก้ไขผลการรักษาได้ยากกว่าการฉีดฟิลเลอร์มาก”
2. ทำไมถึงต้องฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้ม
ร่องแก้มลึกเกิดจากอะไร? ปัญหาร่องแก้ม (Malar Groove, Midcheek Groove, หรือ Nasolabial Fold) สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่เกิดจากการที่อายุมากขึ้น ทำให้ปริมาณกระดูกบริเวณร่องแก้มลดลง ส่งผลให้ไขมันและเอ็นในบริเวณแก้มหย่อนลง จากการที่ไม่มีฐานกระดูกดันทรงไว้อย่างเดิม
การที่กระดูกใบหน้าลดลงส่งผลให้เกิดถุงใต้ตา ตาลึกโหล ร่วมกับแก้มห้อย ย้อยลงมารวมกันอยู่ที่บริเวณเหนือกล้ามเนื้อร่องแก้ม จนทำให้เห็นรอยต่อระหว่างหน้าแก้มกับส่วนที่เป็นจมูกและปากเป็นเส้นชัดเจน ซึ่งแก้มที่ห้อยย้อยจนเห็นเป็นร่องแก้มนี้เองที่ทำให้ดูอายุมากขึ้น นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ปัญหาร่องแก้มอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนี้
- ไขมันบริเวณแก้มมีเยอะกว่าปกติ
- กล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป
- กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณแก้มหย่อนลงกว่าที่ควรเป็น
- ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นจนเห็นร่องแก้มเป็นรอยพับหลังจากยิ้ม
การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มสามารถแก้ไขปัญหาร่องแก้มลึกได้เฉพาะปัญหาร่องแก้มที่เกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ปริมาณกระดูกบริเวณใต้ตาและร่องแก้มลดลง สามารถฉีดฟิลเลอร์แก้มที่มีเนื้อแข็ง เพื่อเติมฐานกระดูกที่หายไป ฟิลเลอร์ร่องแก้มที่ฉีดแทนที่กระดูกจะทำให้ไขมันและเอ็นบริเวณแก้มถูกดันกลับเข้าไปที่เดิมและร่องแก้มจะดูตื้นขึ้น โดยอาจฉีดฟิลเลอร์บริเวณผิวหนังตื้น ๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาร่องแก้มจากผิวหนังด้านบน
- กล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป สามารถแก้โดยการฉีดโบท็อก (Botox) เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ และสามารถฉีดฟิลเลอร์เสริมเพื่อกดกล้ามเนื้อ หรือหนุนกล้ามเนื้อให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
- ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น ในกรณีนี้สามารถฉีดฟิลเลอร์เนื้อที่ค่อยข้างนิ่มในบริเวณผิวหนังชั้นตื้น เพื่อแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากฟิลเลอร์ที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิกนั้นนอกจากจะทำให้ผิวหนังเต็มขึ้น ยังทำให้ผิวชุ่มชื้นมากขึ้นได้ด้วย
ในกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ อย่างการที่มีไขมันมากเกินไป กล้ามเนื้อและเอ็นหย่อนมากเกินไป หรือกระดูกยุบตัวลงมากจากอายุที่มากขึ้นหรืออุบัติเหตุ อาจจะต้องแก้ไขร้องแก้มที่เกิดขึ้นด้วยวิธีอื่น ตัวอย่างเช่น การฉีดสลายไขมัน, การดูดไขมัน, การผ่าตัดศัลยกรรมเสริมร่องแก้ม หรือดึงร่องแก้ม บางกรณีอาจใช้วิธีการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มร่วมด้วยก็จะยิ่งทำให้ผิวหน้าดูดีมากขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มและสนใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดี พร้อมทั้งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด
“ปัญหาร่องแก้มจากเอ็นหย่อนเล็กน้อย มีไขมันส่วนเกิน หรือใบหน้าขาดน้ำ สามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ด้วยการดูแลตนเอง โดยวิธีลดร่องแก้มด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ทานอาหารที่มีประโยชน์, ดื่มน้ำสะอาด, ทาครีมบำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น, ผ่อนคลายความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้สุขภาพผิวและปัญหาร่องแก้มดีขึ้นได้แล้ว”
3. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม หรือ Botox แบบไหนดีกว่ากัน
การแก้ไขปัญหาร่องแก้มสามารถทำได้ทั้งการฉีดโบท็อกและการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าวิธีการใดเหมาะสมกว่า ขึ้นอยู่กับปัญหาร่องแก้มที่เกิดขึ้น
โบท็อกเป็นหัตถการรักษารอยเหี่ยวย่นของผิวหนังที่เกิดจากการขยับกล้ามเนื้อ โดยการฉีดสารที่มีชื่อว่าโบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin type A) เข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทให้กล้ามเนื้อทำงานได้ลดลง เมื่อการขยับกล้ามเนื้อลดลง ริ้วรอยก็จะลดลงได้ด้วยนั่นเอง
ปัญหาริ้วรอยร่องแก้มสามารถใช้โบท็อกแก้ปัญหาได้ การฉีดโบท็อกจะไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องการ ทำให้รอยร่องแก้มลดลง แต่ถ้าฉีดโบท็อกในปริมาณยาที่มากจนเกินไป ขณะยิ้มจะดูไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงหากฉีดโบท็อกในปริมาณที่น้อยเกินไปก็จะไม่สามารถรักษาปัญหาร่องแก้มได้
ในปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มจึงนิยมฉีดโบท็อกร่วมกับการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มด้วยเทคนิค Myomodulation ซึ่งเป็นการฉีดฟิลเลอร์เพื่อหนุนหรือกดกล้ามเนื้อ ทำให้หลังฉีดร่องแก้มหายไปจะทำให้รอยยิ้มยังคงดูสดใสและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม Filler กับ Botox ต่างกันอย่างไร? อะไรดีกว่ากัน : Filler กับ Botox ต่างกันอย่างไร
4. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มช่วยในเรื่องอะไรบ้าง
- แก้ปัญหาหน้าหย่อนคล้อย ร่องแก้มลึก
- แก้ปัญหาแก้มห้อยจนทำให้ดูมีอายุ
- แก้ปัญหาถุงใต้ตา ตาลึกโหลจนเกิดปัญหาร่องแก้ม
- ยกกระชับใบหน้า ทำให้ใบหน้าดูเด็กลง
- ทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น รอยยับบนใบหน้าจากผิวแห้งลอกลดลง
- ทำให้ใบหน้าดูเต่งตึง ฉ่ำน้ำ และผิวดูสุขภาพดีขึ้น
5. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มยี่ห้อไหนดี
การเลือกยี่ห้อฟิลเลอร์ร่องแก้ม แพทย์จะเป็นผู้เลือกตามงบประมาณของผู้เข้ารับการรักษาและปัญหาร่องลึกที่เกิดขึ้น เนื่องจากฟิลเลอร์นั้นมีหลายเกรด หลายราคา แพทย์จึงเลือกตามลักษณะของเนื้อฟิลเลอร์ที่ต้องใช้เป็นหลัก ซึ่งการเลือกลักษณะของเนื้อฟิลเลอร์เป็นเรื่องสำคัญในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม เพราะหากเลือกใช้เนื้อฟิลเลอร์ผิดประเภท นอกจากจะทำให้ร่องแก้มไม่หายไปแล้ว ยังมีโอกาสทำให้ร่องแก้มชัดกว่าเดิมได้อีกด้วย
ในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มมักจะใช้ทั้งฟิลเลอร์ที่มีเนื้อแน่นแข็งและเนื้อนิ่ม ฟิลเลอร์ที่เนื้อแน่นแข็งจะคงรูปได้ดี นิยมใช้ฉีดในผิวหนังใต้ชั้นกล้ามเนื้อ ส่วนฟิลเลอร์เนื้อนิ่มจะมีการกระจายตัวสูง จะนิยมฉีดในชั้นผิวหนังตื้น เพื่อปรับผิวให้เรียบเนียน รอยร่องแก้มดูจางลง และเพิ่มความชุ่มชื้นขึ้นได้ด้วย
ในปัจจุบัน ฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อจะผลิตออกมาหลายรุ่น และมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน โดยฟิลเลอร์ร่องแก้มที่สามารถฉีดได้อย่างปลอดภัย ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาจากทั้งในสหรัฐอเมริกา (USFDA) และในไทยแล้ว (THFDA) เช่น Juvederm, Restylane, Neuramis, Belotero, e.p.t.q., Perfectha Filler, YVOIRE หรือ Revanesse Ultra เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มควรพูดคุยกับแพทย์ ขอดูใบกำกับยาภาษาไทย และศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้อฟิลเลอร์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา เพราะบางสถานพยาบาลอาจมีการใช้ฟิลเลอร์ปลอม หรือฟิลเลอร์หิ้วที่คุณภาพต่ำกว่า ซึ่งหากฉีดฟิลเลอร์เหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังฉีดได้
เรียนรู้เพิ่มเกี่ยวกับฟิลเลอร์ และรุ่นของฟิลเลอร์ที่ผ่านอย.ไทยแล้ว : ฟิลเลอร์ (Filler) คืออะไร? เห็นผลจริงไหม ฉีดแล้วช่วยอะไรบ้าง?
6. ฟิลเลอร์ร่องแก้มอันตรายไหม
ฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่อันตรายหากฉีดด้วยฟิลเลอร์ที่ผ่านมาตรฐาน และทำหัตถการโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ เนื่องจากโอกาสแพ้ฟิลเลอร์มีค่อนข้างน้อย และฉีดสลายได้โดยไม่ได้ทิ้งสารตกค้างไว้ในร่างกาย
แต่หากคุณฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มที่ไม่มีมาตรฐานอาจทำให้เสี่ยงต่อร่างกายของเรา ทั้งฟิลเลอร์ไหล, การอักเสบ ติดเชื้อ, หลอดเลือดเสียหาย หรือฟิลเลอร์ย้อนเข้าเส้นเลือดจนเสี่ยงเกิดเนื้อตายหรือสูญเสียการมองเห็น
ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจดูอันตราย แต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงนั้นเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติในบริเวณที่ฉีด แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อติดตามผลหลังฉีดฟิลเลอร์ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้นั่นเอง
“ฟิลเลอร์ปลอม ใช้เรียกรวมฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ฟิลเลอร์ปลอมบางอย่างทำจากกรดไฮยาลูรอนิก และอาจทำจากสารสังเคราะห์อื่น อย่างเช่น โพลีแลคติคแอซิด (Poly Lactic Acid), โพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide) และโพลีเมทิลเมทาคริลิค (Polymethylmethacrylate หรือ PMMA) ก็จะเป็นอันตรายมากหากฉีดเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากฟิลเลอร์ปลอมเหล่านี้ไม่สามารถสลายเอง วิธีการนำออกคือต้องผ่าตัดขูดฟิลเลอร์ออกเท่านั้น”
ฟิลเลอร์อันตรายหรือไม่? อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการฉีดฟิลเลอร์ : ฉีดฟิลเลอร์อันตรายไหม รวมข้อควรรู้ ควรฉีดดีไหม? – SkinX
7. ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มเหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มไม่ลึกมาก ในแบบที่ยังสามารถรักษาด้วยการฉีดฟิลเลอร์ได้
- ผู้ที่กระดูกใต้ตาและร่องแก้มลดลงจนเกิดร่องแก้มลึก
- ผู้ที่มีผิวแห้งจนเกิดรอยที่ร่องแก้ม ไม่เรียบเนียน
- ผู้ที่มีร่องแก้มจากกล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป
- ผู้ที่ต้องการยกกระชับใบหน้าให้ดูเด็กลงได้ในบางกรณี
8. ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้ม
การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- พูดคุยและประเมินลักษณะของร่องแก้มกับแพทย์ เพื่อประเมินปัญหาร่องแก้ม พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนและปริมาณที่ต้องฉีด รวมถึงพูดคุยเพื่อเลือกยี่ห้อที่เหมาะสมกับปัญหาร่องแก้มและงบประมาณที่มี แพทย์จะนัดวันสำหรับฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม หรืออาจฉีดในวันที่ประเมินเลยก็ได้เช่นกัน
- แจ้งประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และการตั้งครรภ์กับแพทย์ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 1 สัปดาห์ ควรงดยาทาที่มีผลต่อการผลัดเซลล์ผิว รวมถึงหยุดยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด แต่หากเป็นยาที่แพทย์จ่ายให้ทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนหยุดยา
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 2-3 วัน ให้งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มเพราะมีผลกับระบบหมุนเวียนโลหิต
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดกิจกรรม หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฆ่าเชื้อในบริเวณแก้ม, ร่องแก้ม, โหนกแก้ม, ใต้ตา หรือเฉพาะในบริเวณที่จะฉีดและบริเวณรอบเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ในกรณีที่ไม่แพ้ยาชา แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะฉีด เพื่อลดความเจ็บปวด แล้วทิ้งไว้ 15-30 นาที เพื่อรอให้ยาชาออกฤทธิ์
- ฉีดฟิลเลอร์ด้วยเข็มขนาดเล็กในตำแหน่งและความลึกต่างกันในแต่ละบุคคล เพื่อให้ผลการรักษาออกมาเข้ากับรูปหน้า และแก้ปัญหาร่องแก้มอย่างตรงจุดของทุกคน
- แพทย์จะทำความสะอาดแผลอีกครั้ง และแพทย์จะปิดปลาสเตอร์ขนาดเล็กไว้ให้เพื่อห้ามเลือด
- พักฟื้นสักครู่แล้วจึงสามารถกลับบ้านได้ หากแพทย์เห็นว่าตำแหน่งที่ฉีดเสี่ยงเกิดอาการบวม แพทย์จะให้ประคบน้ำแข็ง แต่ไม่ควรประคบเอง เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อการเซตตัวของฟิลเลอร์ อีกทั้งการประคบน้ำแข็งอาจจะเผลอกดแรงจนฟิลเลอร์เคลื่อนไปที่เนื้อเยื่ออื่นได้ ส่งผลให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
9. ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
หลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. ช่วง 2-3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
a. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เซตตัวยาก ฟิลเลอร์เคลื่อน และอาจทำให้ผิวช้ำได้
b. ไม่ควรถูกแสงแดด เนื่องจากผิวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ อีกทั้งอุณหภูมิกลางแจ้งยังมีผลต่อการเซตตัวของฟิลเลอร์ด้วย
c. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลกับระบบเลือดอาจทำให้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มอักเสบได้
2. ช่วง 4-5 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ
3. ช่วง 1 อาทิตย์หลังจากฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
a. ไม่ควรใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งยังไม่ควรออกกำลังกายให้เลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้แผลหายช้าลง
b. ไม่ควรทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบและนมวัว เพราะทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อ
c. ไม่ควรทานอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เพราะจะไปกระตุ้นการอักเสบ
4. ช่วง 1 เดือนหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
a. ไม่ควรทำเลเซอร์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วกว่าที่ควรเป็น
b. ไม่ควรอยู่ในที่ร้อนอย่างห้องซาวน่า หรือร้านอาหารที่มีเตาร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวผิดปกติและสลายได้ไว
การดูแลตนเองตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างเคร่งครัด สามารถทำให้แผลจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม และผิวหนังที่บวมช้ำหายเป็นปกติไวขึ้น มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยลง ทั้งยังทำให้ฟิลเลอร์อยู่ได้นานขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มอาจจะรู้สึกเจ็บปวดหรือคันเล็กน้อย และอาการเหล่านี้จะหายไปเองหลังจากผ่านไปประมาณ 12-24 ชั่วโมง
ในช่วง 2-3 วันบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จะบวมมาก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ยุบลง และหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ หากอาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ประจำสถานพยาบาลที่รักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งนอกจากฟิลเลอร์ร่องแก้มแล้ว ยังมีการฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งอื่น ๆ บนใบหน้าอีกด้วย ได้แก่
- ฟิลเลอร์ปาก
- ฟิลเลอร์ใต้ตา
- ฟิลเลอร์ขมับ
- ฟิลเลอร์คาง
- ฟิลเลอร์หน้าผาก
- ฟิลเลอร์จมูก (ในปัจจุบันการฉีดฟิลเลอร์จมูกยังไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ไทย)
10. ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- อาการบวมแดง, ช้ำ, เจ็บ หรือคัน มีเลือดไหลเล็กน้อยจากรอยเข็มที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดจนส่งผลให้เกิดเนื้อตาย
- ติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์เป็นก้อน
- แพ้ฟิลเลอร์
- แพ้ยาชาจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อในบริเวณที่ไม่ต้องการ
ทั้งนี้ โอกาสเกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงดังกล่าวจะน้อยลดลงได้ โดยการเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐานหรือปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
ฉีดฟิลเลอร์แล้วเห็นเป็นก้อน สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์ : การฉีดสลายฟิลเลอร์ ฉีดดีไหม ทำไมถึงต้องฉีด?
11. ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มราคาเท่าไหร่
การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มมีราคาขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ฉีดเติมร่องแก้ม ยี่ห้อของฟิลเลอร์ และค่าบริการของสถานพยาบาล ซึ่งปกติแล้วฟิลเลอร์ร่องแก้มราคา cc ละ 6,000-20,000 บาท
โดยปกติแล้ว การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มจะใช้ฟิลเลอร์ประมาณ 1-2 cc เพื่อปรับผิวบริเวณร่องแก้มให้ดูตื้นขึ้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่ต้องฉีดเสริมฐานของเนื้อเยื่อแทนที่กระดูกใต้เบ้าตา และบริเวณร่องแก้มที่สลายไปตามอายุ จะใช้ฟิลเลอร์ประมาณ 3-4 cc ซึ่งราคาในการรักษาก็จะสูงขึ้นตามปริมาณฟิลเลอร์ที่ฉีดนั่นเอง
12. แก้ร่องลึกถาวรด้วยการฉีดฟิลเลอร์ได้ไหม
การแก้ร่องลึกถาวรไม่สามารถทำได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากฟิลเลอร์เป็นสารเติมผิวที่สามารถสลายได้ภายในเวลาประมาณ 12-24 เดือน ทำให้ผลการรักษาอยู่ได้นานที่สุดเพียง 2 ปี หลังจากนั้นใบหน้าและร่องแก้มจะกลับเข้าสู่สภาพเดิม
แม้จะต้องไปฉีดฟิลเลอร์ซ้ำเรื่อย ๆ แต่ข้อดีของการเติมฟิลเลอร์คือแพทย์สามารถปรับการรักษาตามรูปหน้าที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น ให้ผลการรักษาดูเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ สำหรับใครที่อยากแก้ร่องลึกถาวร อาจจะต้องใช้การฉีดไขมัน หรือการผ่าตัดเสริมร่องแก้มแทน เนื่องจากไขมันหรือวัสดุที่นำมาเสริมร่องแก้มจะไม่สลายไปตามเวลาเหมือนฟิลเลอร์นั่นเอง
13. คำถามที่พบบ่อย
แก้มห้อย ร่องแก้มลึกทำไงดี?
ร่องแก้มลึกแก้ยังไง? หากร่องแก้มลึก สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือศึกษาข้อมูลว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง แต่ละวิธีการมีข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยงอย่างไร จากนั้นจึงปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง แล้วจึงดำเนินการรักษาต่อไป
ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มเจ็บไหม?
ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่บอกว่าการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่เจ็บเลย เนื่องจากแพทย์ใช้ยาชาก่อนการฉีด โดยขณะฉีดอาจจะรู้สึกตึงที่ใบหน้าบ้าง และหลังจากยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย รวมถึงรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ บริเวณผิว แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน แต่หากไม่ได้มีการอักเสบหรือติดเชื้อก็จะไม่เจ็บเลย
ฟิลเลอร์ร่องแก้มอยู่ได้นานแค่ไหน?
ฟิลเลอร์ร่องแก้มอยู่ได้นานประมาณ 6-24 เดือน ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของฟิลเลอร์ที่ใช้ รวมถึงการดูแลรักษา หากอยู่ในที่ร้อนเป็นเวลานาน หรือเป็นผู้ที่มีระบบเผาผลาญดี ฟิลเลอร์ก็จะสลายตัวได้เร็วกว่าปกติ
ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มจะยกกรามขึ้นไหม?
ฟิลเลอร์ร่องแก้มสามารถทำให้กรอบหน้าชัดขึ้นได้ เพราะเป็นเหมือนการยกเนื้อเยื่อบริเวณแก้มขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงการฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้มีผลกับกระดูกกราม การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่ได้สามารถทำให้กรามเล็กลง หรือทำให้กรอบหน้าชัดขึ้นได้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ที่อยากยกกรามและแก้ไขกรอบหน้า ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับตนเองต่อไป
สรุป
ผู้ที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจ เนื่องจากปัญหาร่องแก้มเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และบางสาเหตุไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม แพทย์ผู้มีประสบการณ์จึงต้องวินิจฉัยสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาร่องแก้มได้อย่างตรงจุด
สำหรับผู้ที่มีร่องแก้มลึกและกำลังหาว่าจะฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อจัดการปัญหาร่องแก้มโดยตรงผ่านแอปพลิเคชัน SkinX เพียงโหลดแอป ก็สามารถเลือกปรึกษาแพทย์ผิวหนังกว่า 210 ท่าน จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศได้ทุกที สะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอคิว ดาวน์โหลดตอนนี้ปรึกษาแพทย์ครั้งแรกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
Bagci, B. (2020, June). A New Approach in the Correction of the Midcheek Groove: The Liquid
Malar-lift Technique. PRS Global Open. https://journals.lww.com/prsgo/fulltext/2020/06000
/a_new_approach_in_the_correction_of_the_midcheek.19.aspx
Mountford, T. (2022, August 4). How to get a Cheek Lift with Fillers. Cosmetic Skin Clinic.
https://www.cosmeticskinclinic.com/2020/12/07/cheek-lift-with-fillers/#:~:text=What%
20are%20Cheek%20Fillers%3F,in%20our%20skin’s%20connective%20tissues.
Watson, K. (2020, January 20). All About Cheek Fillers. Healthline. https://www.healthline.com/health/cheek-fillers