ชาเขียวมัทฉะลดน้ำหนักกินตอนไหนดีที่สุด?
ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการลดน้ำหนักก็คงจะเคยได้ยินว่าการกินชาเขียวมัทฉะมีส่วนช่วยในเรื่องการลดน้ำหนัก แต่ก็อาจยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะอยู่บ้างว่าทำไมจึงสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ ในชาเขียวมีสารอะไรกันแน่ แล้วการชาเขียวมัทฉะเพื่อลดน้ำหนักควรกินตอนไหนจึงจะเห็นผลดีที่สุด
ในบทความนี้ SkinX จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของชาเขียวมัทฉะ ทำไมจึงช่วยลดน้ำหนักได้ พร้อมแนะนำวิธีกินชาเขียวมัทฉะลดน้ำหนัก กินตอนไหนดี แต่ละช่วงเวลาให้ผลต่างกันอย่างไร
Key Takeaways
- ชาเขียวมีสารสำคัญอย่างคาเฟอีน คาเทชีนที่ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ร่างกายสามารถผลาญพลังงานออกไปได้มากขึ้น
- วิธีกินชาเขียวมัทฉะเพื่อลดน้ำหนักควรจะกินหลังรับประทานอาหารและขณะออกกำลังกาย เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดี
ชาเขียวมัทฉะคืออะไร กับประโยชน์ดี ๆ ที่ควรรู้
ชาเขียวมัทฉะ คือ เครื่องดื่มประเภทชาที่ได้มาจากต้นชาเขียวมีกระบวนการปลูกโดยปลูกต้นชาเขียวในสภาวะที่มีแสงแดดไม่เพียงพอ ทำให้ต้นชาเขียวมีการผลิตคลอโรฟิลล์และปริมาณกรดอะมิโนเพิ่ม ใบชาเขียวที่ปลูกด้วยกระบวนการนี้จึงมีสีเขียวเข้ม จากนั้นนำใบชาเขียวมาผ่านความร้อนอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านการหมัก ทำให้ใบชาสดใหม่ ไม่สลายตัวเร็ว มีกลิ่นหอมรวมถึงคงคุณประโยชน์ของสารสำคัญในใบชา ซึ่งสารสำคัญในชาเขียวมัทฉะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ดังนี้
ช่วยลดน้ำหนัก ยกระดับการเผาผลาญ
ในชาเขียวมัทฉะมีสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนักอยู่ ดังนี้
- คาเทชิน : สารประกอบฟีนอลกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบมากในใบชาเขียวเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดการเกิดมะเร็ง เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน โดยคาเทชินจะดึงไขมันมาเป็นแหล่งพลังงาน ทำให้ไขมันสะสมลดลง
- คาเฟอีน : สารแซนทีนอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดชื่น รวมถึง เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ทำให้น้ำหนักลด
“มีงานวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับการลดน้ำหนักด้วยชาเขียว พบว่าเมื่อกินชาเขียวพร้อมกับคุมอาหารและออกกำลังกาย ช่วยให้ดัชนีมวลกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง
ในชาเขียวมัทฉะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
ช่วยเพิ่มสมาธิ สมองปลอดโปร่ง
L-Theanine เป็นกรดอะมิโนที่พบในชาเขียวมัทฉะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองปล่อยคลื่นอัลฟาทำให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความเครียด และทำให้มีสมาธิจดจ่อง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ความจำดีขึ้นอีกด้วย
ลดโอกาสติดเชื้อ
ในชาเขียวมีองค์ประกอบที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานดีขึ้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีจึงสามารถต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่บุกรุกเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วยในเรื่องผิวพรรณ
อย่างที่ทราบกันว่าในชาเขียวมัทฉะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ สารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวจะไปดักจับอนุมูลอิสระเพื่อไม่ให้เซลล์ผิวถูกทำลาย จึงทำให้ผิวพรรณคงสภาพดี ดูอ่อนเยาว์ขึ้น
ชาเขียวมัทฉะ ลดน้ำหนัก กินตอนไหนดี?
การกินชาเขียวมัทฉะในแต่ละช่วงเวลาอาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ไปดูกันว่าการกินชาเขียวมัทฉะช่วงเวลาไหน ให้ประโยชน์แบบใดกันบ้าง
- การกินชาเขียวมัทฉะช่วงเช้า
คาเฟอีนในชาเขียวมัทฉะจะไปกระตุ้นให้สมองตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรกินชาเขียวตอนท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้
- การกินชาเขียวมัทฉะช่วงกลางวัน
ในช่วงกลางวันเป็นช่วงที่ร่างกายอาจเริ่มอ่อนเพลีย การกินมัทฉะในช่วงนี้จะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวดี ลดอาการง่วงนอนได้
- การกินชาเขียวมัทฉะช่วงเย็นและก่อนนอน
ในชาเขียวมัทฉะมีคาเฟอีน หากกินในช่วงก่อนนอนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับเพราะสมองตื่นตัวได้ หากต้องการกินชาเขียวมัทฉะในช่วงเวลานี้อาจต้องเว้นระยะอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนมากนัก และยังช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้เพิ่มขึ้นแม้ขณะนอนหลับอีกด้วย
- การกินชาเขียวขณะออกกำลังกาย
การกินชาเขียวมัทฉะตอนออกกำลังกายจะช่วยให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้ผลลัพธ์การออกกำลังกายให้ผลดี ลดไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดไม่ลับ เลือกกินชาเขียวมัทฉะอย่างไรเพื่อลดน้ำหนัก
การกินชาเขียวมัทฉะในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนะนำให้กินชาเขียวมัทฉะปริมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยชาเขียวร้อน 1 แก้ว 200 ซีซี มีปริมาณคาเทชีนประมาณ 100-200 มิลลิกรัม ดังนั้น แนะนำให้รับประทานชาเขียวมัทฉะ 1-2 แก้ว ต่อวัน นอกจากนี้ไม่ควรชงด้วยน้ำร้อนจัดเพราะอาจทำให้คาเทชีนเสียสภาพไป นอกจากนี้ไม่ควรกินรวดเดียว แต่ให้ทยอยจิบทั้งวันจะช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ดูดซึมคาเทชีนดีกว่า
ที่สำคัญ การกินชาเขียวมัทฉะเพื่อลดน้ำหนัก ควรจะกินในรูปแบบเพียว ๆ ไม่ใส่น้ำตาล น้ำผึ้ง นม หรือส่วนผสมอื่น ๆ ที่ให้รสหวาน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มแคลอรีให้กับเครื่องดื่ม นอกจากไม่ทำให้น้ำหนักลดแล้ว ยังอาจเพิ่มน้ำหนักอีกด้วย
กินชาเขียวมัทฉะมากเกินไป เป็นผลเสียมากกว่าผลดี
การกินชาเขียวมัทฉะเพื่อลดน้ำหนักนั้นควรจะกินในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำ การกินชาเขียวมัทฉะมากเกินไปอาจส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ เพราะคาเฟอีนในชาเขียวมัทฉะสามารถทำให้หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ ส่งผลต่อการนอนหลับ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ในส่วนของคาเทชีนก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตับได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ลดลง
ดังนั้นการกินชาเขียวมัทฉะในปริมาณที่พอดีจึงจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุด
ชาเขียวมัทฉะลดน้ำหนัก กินตอนไหน กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์
การกินชาเขียวมัทฉะเพื่อลดน้ำหนักนั้นสามารถกินได้ในช่วงที่ออกกำลังกาย หรือกินชาเขียวหลังอาหารเพื่อให้สารสำคัญในชาเขียวมัทฉะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อร่างกาย หรือหากกินชาเขียวมัทฉะก่อนนอนประมาณ 2 ชั่วโมงก็สามารถช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกินชาเขียวมัทฉะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานในร่างกายเท่านั้น จึงควรทำควบคู่ไปกับการคุมอาหารลดน้ำหนักและออกกำลังกาย เพื่อให้การลดน้ำหนักเห็นผล
สำหรับใครที่ต้องการคำปรึกษาการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเองที่สุด สามารถขอคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้ที่แอป SkinX โหลดฟรี ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล โหลดเลยที่ https://skinx.app/
อ้างอิง
Ajmera, R. (2023, November 13). 7 Proven Ways Matcha Tea Improves Your Health. healthline. https://www.healthline.com/nutrition/7-benefits-of-matcha-tea
Cangeloso, L. (2024, June 10). 5 Health Benefits Of Matcha Tea, According To Science. forbes health. https://www.forbes.com/health/supplements/matcha-tea-health-benefits/
Lin, Y., Shi, D., Su, B., Wei, J., Găman, M. A., Sedanur Macit, M., Borges do Nascimento, I. J., & Guimaraes, N. S. (2020). The effect of green tea supplementation on obesity: A systematic review and dose-response meta-analysis of randomized controlled trials. Phytotherapy research : PTR, 34(10), 2459–2470. https://doi.org/10.1002/ptr.6697