SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

20 ตุลาคม 2565

“ฉีดฟิลเลอร์ปาก” ทำปากอิ่ม ปากกระจับ ยกมุมปาก ปากชุ่มชื้นได้ในเข็มเดียว

ฉีดฟิลเลอร์ปาก

การฉีดฟิลเลอร์ปากเป็นหัตถการเพื่อความสวยความงามอย่างหนึ่ง ด้วยการฉีดสารเติมผิวเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้ผิวริมฝีปากที่หย่อนคล้อยเป็นร่องนั้นดูตื้นขึ้น บางครั้งอาจใช้เพื่อปรับทรงปากให้สวยงามตามต้องการ ให้ขอบปากชัดเป็นกระจับ ทั้งยังทำให้ผิวปากที่แห้ง แตก และลอกเป็นขุย กลับมานุ่มชุ่มชื้นขึ้นได้อีกด้วย

 

แล้วฟิลเลอร์ปากนี้คืออะไร? สารที่ใช้ฉีดมีอะไรบ้าง? ต้องฉีดกี่ cc ราคาเท่าไหร่? อันตรายไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? บทความนี้ SkinX มีคำตอบ พร้อมคำแนะนำก่อนฉีดฟิลเลอร์ ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ และการดูแลตนเองหลังฉีดฟิลเลอร์ให้ผลลัพธ์อยู่ได้นานยิ่งขึ้น

 

SkinX แอปพลิเคชันที่ทำให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังกว่า 210 ท่าน ได้สะดวกและรวดเร็ว พร้อมโปรโมชันราคาสุดคุ้มจากคลินิกเสริมความงามต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้งานใหม่ สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับคำปรึกษาครั้งแรกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

สรุป ฉีดฟิลเลอร์ปากดีไหม? ปลอดภัยกับร่างกายหรือไม่

 

  • ฟิลเลอร์ปากเป็นหัตถการที่ช่วยแก้ไขปัญหาผู้ที่มีริมฝีปากแห้งลอกเป็นขุย ปากมีร่องลึก และขอบปากไม่ชัดเจน ให้ริมฝีปากดูอวบอิ่มมากยิ่งขึ้น ปากดูสวยสุขภาพดี เพิ่มความมั่นใจให้กับรอยยิ้มมากยิ่งขึ้น
  • หลังฉีดฟิลเลอร์ปากไม่ควรรับประทานอาหารที่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด รวมถึงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ก็ควรงดเช่นกันในช่วงสัปดาห์แรกหลังฉีดฟิลเลอร์
  • ฉีดฟิลเลอร์ปากส่วนมากจะใช้ปริมาณยาอยู่ที่ 1 cc ราคาประมาณ 6,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ใช้ ปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้ และค่าบริการในแต่ละสถานพยาบาลต่าง ๆ 
  • ฟิลเลอร์ปากชนิดกรดไฮยาลูรอนิกจะอยู่ได้นาน 6-18 เดือน ก่อนจะสลายไปเอง ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองหลังฉีดฟิลเลอร์และสภาพร่างกายของแต่ละคน
  • เมื่อยาชาหมดฤทธิ์จากการฉีดฟิลเลอร์อาจจะรู้สึกเจ็บ ปวด หรือคันได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองประมาณ 12-24 ชั่วโมงและปากจะบวมอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนจะหายเป็นปกติ 
สารบัญบทความ

ฉีดฟิลเลอร์ปาก (Lip Filler) คืออะไร?

การฉีดฟิลเลอร์ปาก (Lip Filler) คือการฉีดสารเติมผิวเข้าที่ริมฝีปาก ซึ่งการฉีดฟิลเลอร์ที่ปากหรือที่ใบหน้าเข้าใต้ผิวหนังจะเรียกว่า “Dermal Fillers” นิยมใช้ฉีดเพื่อให้ริมฝีปากเต่งตึง ดูเรียบเนียน และปรับทรงให้เป็นไปตามที่ต้องการ พร้อมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากมากขึ้น 

ซึ่งสารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์จะมีหลากหลายชนิด สามารถแบ่งเป็นประเภทของฟิลเลอร์ตามสารที่ฉีดได้ 3 ประเภท ได้แก่

  1. Temporary Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว สารที่ใช้ฉีดจะเป็นสารที่สามารถสลายออกไปเองได้ในช่วงประมาณ 6-18 เดือน หรือสามารถฉีดสารอีกตัวเข้าไปเพื่อสลายฟิลเลอร์ได้ จึงเป็นฟิลเลอร์ปากที่มีความปลอดภัยมากที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือ หากต้องการผลลัพธ์คงที่ก็ต้องหมั่นฉีดทุกปี โดยสารที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว ตัวอย่างเช่น กรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic acid), คอลลาเจน (Collagen), แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxylapatite) เป็นต้น 

  2. Semi-Permanent Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดกึ่งถาวรที่สลายไปเองได้เช่นเดียวกับชนิดชั่วคราว แต่ต้องใช้เวลานานประมาณ 2 ปีขึ้นไป มีลักษณะเนื้อแข็ง เหมาะกับการเติมร่องลึกและต้องการให้ริมฝีปากคงรูป แต่ฟิลเลอร์ประเภทนี้อันตรายกว่าแบบชั่วคราว ได้แก่ โพลีแลกติกแอซิด (Poly Lactic Acid) และโพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide)

  3. Permanent Dermal Fillers คือฟิลเลอร์ชนิดถาวรที่แข็งตัวมากที่สุด เหมาะกับการใช้เติมร่องลึก ซึ่งจะคงอยู่ในผิวหน้าไปตลอด แต่มีข้อเสียคือสารที่ฉีดจะไม่ปรับตามผิวหน้าที่เปลี่ยนไปตามอายุ ทำให้อาจเห็นเป็นก้อนและไม่สามารถฉีดสลายได้ เช่น โพลีเมทิลเมทาคริลิค (Polymethylmethacrylate หรือ PMMA)

“นอกจากการใช้สารสังเคราะห์แล้ว การฉีดปากยังมีอีกแบบที่เรียกว่า Fat transfer หรือการฉีดไขมัน ที่ให้ผลคล้ายกับฟิลเลอร์ชนิดถาวร แต่มีกระบวนการที่แตกต่างกัน 

 

การฉีดไขมันจะเป็นการฉีดเซลล์ไขมันที่มีชีวิตของผู้เข้ารับการรักษาเอง เข้าสู่ผิวบริเวณที่หย่อนยานและมีริ้วรอย ทำให้เกิดกระบวนการคล้ายกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ร่างกายจะสร้างเส้นเลือดมาเชื่อมกับไขมันเพื่อทำให้ไขมันกลายเป็นเนื้อเยื่อหนึ่งของผิวหนังบริเวณดังกล่าว 

 

ข้อเสียคือสามารถแก้ไขได้ยาก และไม่เหมาะกับการนำมาฉีดเป็นฟิลเลอร์ปากเท่าไหร่ เพราะจะทำให้ปากบวมช้ำมากหลังฉีด อีกทั้งยังเจ็บกว่าการฉีดฟิลเลอร์ และยังช่วยเรื่องปากแห้งเป็นขุยได้ไม่ดีเท่าฟิลเลอร์กรดไฮยาลูรอนิกอีกด้วย”

 

ซึ่งการฉีดฟิลเลอร์ปากจะนิยมใช้เป็นฟิลเลอร์ชนิดชั่วคราว และสารที่นิยมใช้ที่สุดคือ กรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic acid หรือ HA) เนื่องจากร่องบริเวณปากมักไม่ลึกขนาดที่ต้องใช้ฟิลเลอร์แบบกึ่งถาวรหรือแบบถาวร อีกทั้งในปัจจุบันไม่นิยมใช้ฟิลเลอร์จากสารตัวอื่น ๆ ยกเว้นกรดไฮยาลูรอนิก เนื่องจากสารชนิดอื่นอันตราย และให้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่ากับกรดไฮยาลูรอนิกนั่นเอง

 

การฉีดฟิลเลอร์จากกรดไฮยาลูรอนิกนั้นมีความนิ่มแต่คงตัว ฉีดแล้วปากจะดูธรรมชาติ รวมถึงสามารถฉีดสลายได้ง่ายและไม่เป็นอันตราย เพราะเป็นสารที่อยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้วนั่นเอง

 

ตัวอย่างยี่ห้อฟิลเลอร์ที่นิยมนำมาฉีดปากที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ของทั้งไทยและอเมริกาแล้ว ได้แก่

 

  • Juvederm เป็นฟิลเลอร์ที่อุ้มน้ำได้ดี และยืดหยุ่นตามกล้ามเนื้อที่ขยับ ทำให้ริบฝีปากดูเรียบเนียนอย่างเป็นธรรมชาติไม่เป็นก้อน ทั้งยังมียาชาผสมทำให้รู้สึกเจ็บน้อยลงขณะฉีดและหลังฉีด
  • Restylane เป็นฟิลเลอร์ที่ออกแบบมาเพื่อฉีดฟิลเลอร์ปากโดยเฉพาะ มีเนื้อเนียนละเอียด ช่วยเสริมให้ปากอวบอิ่มและชุ่มชื้นมากยิ่งขึ้น
  • Belotero เป็นฟิลเลอร์ที่คงตัวมากและมีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ฉีดเสริมกระดูกได้ ทั้งยังมีหลายรุ่นให้เลือกฉีดตามตำแหน่งที่เหมาะสมอีกด้วย

นอกจากฟิลเลอร์เหล่านี้แล้ว ฟิลเลอร์มียี่ห้ออะไรอีกบ้างที่ผ่านอย.ไทยแล้ว? : ยี่ห้อฟิลเลอร์

ทำไมถึงต้องฉีดฟิลเลอร์ที่ปาก?

ฉีดปากกระจับ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตสารบางตัวได้ลดลง อย่างเช่นคอลลาเจน กรดไฮยาลูรอนิก หรือไฟเบอร์ต่าง ๆ ทำให้ผิวหนังและริมฝีปากของเราหย่อนคล้อย เมื่ออายุมากขึ้นริมฝีปากของเราจะบางลง ปากแห้งได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ปากดูสุขภาพไม่ดี ปากลอกเป็นขุย และทำให้ดูอายุมากขึ้นด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ปากที่มีกรดไฮยาลูรอนิกนั่นเอง

นอกจากการฉีดฟิลเลอร์จะช่วยแก้ไขปากหย่อนเป็นร่องแล้ว ยังสามารถปรับทรงปากให้ได้รูปที่ต้องการมากขึ้น เพื่อสร้างความสวยงาม และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้เข้ารับการรักษาได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ปากจะต้องมีความเข้าใจเรื่องฟิลเลอร์ในระดับหนึ่ง เนื่องจากฟิลเลอร์ไม่สามารถแก้ไขทรงปากได้ในทุกกรณี หากลักษณะทรงปากเดิมไม่เอื้อให้แก้ไขเป็นทรงใหม่ การฉีดฟิลเลอร์อาจไม่สามารถทำให้ปากเป็นไปตามทรงที่ต้องการได้

นอกจากฟิลเลอร์ปากแล้ว ในปัจจุบันยังคนส่วนใหญ่ยังนิยมฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อปรับโครงสร้างใบหน้า ให้ผิวเรียบเนียนลดรอยย่นได้อีกด้วย มีดังนี้

 

  • ฟิลเลอร์ใต้ตา
  • ฟิลเลอร์ขมับ
  • ฟิลเลอร์คาง
  • ฟิลเลอร์ร่องแก้ม
  • ฟิลเลอร์หน้าผาก
  • ฟิลเลอร์จมูก

ฉีดฟิลเลอร์ปากช่วยในเรื่องอะไรบ้าง?

การฉีดฟิลเลอร์ปากนอกจากจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเราแล้ว ฟิลเลอร์ปากยังมีข้อดีอื่น ๆ ดังนี้

 

  • ช่วยให้ทรงปากสมมาตรตามต้องการ และขอบปากดูชัดขึ้น
  • ช่วยปรับขนาดริมฝีปากให้หนาขึ้น ในกรณีที่ปากเดิมบางอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีปากบางลงตามอายุ
  • ช่วยให้ปากทรงกระจับได้โดยไม่ต้องผ่าตัดปาก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดและรอยแผลเป็น
  • ช่วยให้ริมฝีปากดูเต่งตึง เรียบเนียน และอิ่มน้ำมากขึ้น

“รูปปากแบบไหนสวย? ลักษณะปากที่กำลังนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบันจะมี 2 แบบหลัก คือ ‘ปากสายฝอ’ จะเน้นให้ริมฝีปากหนา อวบอิ่ม ฉ่ำน้ำ อีกแบบหนึ่งคือ ‘ปากเกาหลี’ จะมีลักษณะปากเป็นกระจับ มุมปากยกเล็กน้อย ทำให้ดูเหมือนกำลังยิ้มอยู่ตลอดเวลา”

ฉีดฟิลเลอร์ปาก 1cc กับ 2cc ต่างกันอย่างไร แบบไหนดีกว่ากัน?

ฉีดฟิลเลอร์ปาก 1 cc กับ 2 cc ต่างกันที่ความหนาของริมฝีปากหลังฉีด โดยปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้ฉีดปากเพียง 1 cc เท่านั้น เนื่องจากเป็นปริมาณที่พอเหมาะที่จะเพิ่มความเต่งตึงหรือปรับทรงปากให้ได้ตามที่ต้องการ

 

การฉีดฟิลเลอร์ปาก 2 cc จะใช้ในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษาอยากให้ริมฝีปากหนาเป็นทรงอวบอิ่มที่นิยมทำกันในฝั่งตะวันตก หรือผู้ที่มีริมฝีปากเดิมบาง ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำปริมาณที่เหมาะสมให้กับผู้เข้ารับการรักษาด้วยตนเอง

ฉีดฟิลเลอร์ปาก อันตรายไหม?

ผลเสียของการฉีดปาก

การใช้กรดไฮยาลูรอนิกฉีดฟิลเลอร์ปากนั้นมีความปลอดภัย เนื่องจากโอกาสแพ้ต่ำทั้งยังฉีดสลายได้หากได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีหรือเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหลังฉีด ทั้งนี้ ฟิลเลอร์ปากก็อาจมีความเสี่ยงเช่นกัน หากฉีดฟิลเลอร์โดยแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์อาจจะทำให้ฉีดไปโดนบริเวณที่มีเส้นเลือดกระจุกตัวอยู่ ทำให้สารเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือดจนทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนไม่มีเลือดมาเลี้ยงและเกิดเป็นเนื้อตายได้ 

 

ดังนั้นการเลือกแพทย์ที่น่าเชื่อถือในการฉีดฟิลเลอร์ปากเป็นเรื่องสำคัญมาก การฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ จะทำให้ลดความเสี่ยงที่ฟิลเลอร์จะอุดตันเส้นเลือด และถึงแม้ว่าจะเกิดความผิดปกติดังกล่าวขึ้น แพทย์ผู้มีประสบการณ์ก็จะสามารถฉีดสารไฮยาลูรอนิเดส (Hyaluronidase) เพื่อสลายฟิลเลอร์ปากกรดไฮยาลูรอนิกที่ไปอุดตันหลอดเลือดได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

 

อ่านเพิ่มเติม ฟิลเลอร์อันตรายไหม? : ฉีดฟิลเลอร์อันตรายไหม รวมข้อควรรู้ ควรฉีดดีไหม? – SkinX

ใครบ้างที่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ปาก?

  • ผู้ที่อยากปรับรูปปากให้สวยงามมากขึ้น
  • ผู้ที่ริมฝีปากไม่เท่ากัน ไม่สมมาตร
  • ผู้ที่ริมฝีปากเล็กหรือปากบางเกินไป
  • ผู้ที่ริมฝีปากเป็นร่อง ดูสุขภาพปากไม่ดี
  • ผู้ที่ริมฝีปากแห้งและปากลอกตลอดเวลา การฉีดฟิลเลอร์สามารถทำให้ปากนุ่มและชุ่มชื้นขึ้นได้
  • ผู้ที่อยากเสริมโหงวเฮ้ง โดยแก้ไขรูปปากให้ตรงกับตำราโหงวเฮ้งมากขึ้น

 

ในการแก้ไขรอยเหี่ยวย่น เลือกฉีดฟิลเลอร์หรือโบท็อก ดีกว่ากัน? หาคำตอบได้ที่ : Filler กับ Botox คืออะไร? แก้ไขริ้วรอยต่างกันอย่างไรบ้าง

ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์?

  • ผู้ที่เคยผ่าตัดปากมาก่อนในบางกรณี หากพังผืดจากแผลรั้งริมฝีปากมากเกินไปจะไม่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้ หรือฉีดได้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ
  • ผู้ที่กำลังใช้ยา หรือเป็นโรคที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน หรือยากลุ่ม NSAIDs ยาลดการแข็งตัวของเลือด รวมถึงวิตามินหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น วิตามินอี, กระเทียม, ขิง, แปะก๊วย เป็นต้น
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ผู้ที่กำลังเป็นโรคเริมหรืองูสวัด
  • ผู้ที่ผิวหนังบริเวณปากหรือบริเวณใกล้เคียงเกิดการอักเสบอยู่ ควรรักษาให้หายก่อนฉีดฟิลเลอร์ปาก
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชา
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเป็นคีลอยด์ได้ง่าย
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้กรดไฮยาลูรอนิก

“การแพ้ฟิลเลอร์เป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อยหากใช้ฟิลเลอร์กรดไฮยาลูรอนิกที่มีคุณภาพ แต่ก็สามารถพบได้หากร่างกายแพ้สารนี้อยู่แล้ว ผู้ที่แพ้จะเกิดลมพิษรุนแรงหลังฉีดไม่นาน ให้รีบติดต่อแพทย์ที่ฉีดให้เพื่อรักษาต่อไปทันที ส่วนในกรณีที่ฉีดไปนานหลายเดือนแล้วเกิดอาการบวมแดง อาจเกิดจากการแพ้ฟิลเลอร์เมื่อฟิลเลอร์เสื่อมอายุ หรืออาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ฉีดฟิลเลอร์เอง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็ควรพบแพทย์เพื่อฉีดสลายต่อไป”

ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บมั้ย

การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

 

  1. แพทย์จะประเมินลักษณะของริมฝีปากว่าสามารถทำเป็นทรงตามที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการได้หรือไม่ พร้อมกับถ่ายภาพเพื่อให้เปรียบเทียบกับปากหลังจากฉีด หากพอใจกับความเป็นไปได้หลังฉีด แพทย์จะนัดวันสำหรับฉีดฟิลเลอร์ปากต่อไป
  2. แจ้งประวัติการใช้ยาและโรคประจำตัวกับแพทย์ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง
  3. ควรงดยาทาที่มีผลต่อการผลัดเซลล์ผิว และให้หยุดอาหารเสริมที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นยาที่แพทย์จ่ายให้ทานต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนหยุดยา
  4. ควรงดอาหารรสจัดก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปาก 2-3 วัน
  5. ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดกิจกรรมอย่างการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ปากอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

 

  1. ฆ่าเชื้อในบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์ปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  2. ใช้ยาชาเพื่อทำให้รู้สึกไม่เจ็บบริเวณที่ฉีด แต่หากมีการแพ้ยาชา แพทย์อาจจะพิจารณาให้ใช้ยาฉีดที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทโดยเฉพาะ 
  3. หลังจากยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะฉีดฟิลเลอร์ปากด้วยเข็มขนาดเล็กตามปริมาณ และตำแหน่งที่กำหนดไว้ ขั้นตอนนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์เท่านั้น โดยแพทย์จะฉีดที่ความลึกประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เพื่อไม่ให้ตื้นเกินไปจนฟิลเลอร์ปูด หรือลึกเกินไปจนฟิลเลอร์ย้อนเข้าเส้นเลือด
  4. แพทย์จะทำความสะอาดแผล โดยไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลจากการฉีดฟิลเลอร์ปากมีขนาดเล็กมาก
  5. รอดูอาการหลังฉีดพร้อมใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวมแดง ประมาณ 30 นาที หรืออาจนานถึง 2 ชั่วโมงแล้วแต่กรณี ก็จะเสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปาก ดูแลอย่างไร?

หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก

หลังการฉีดฟิลเลอร์ปาก ผู้เข้ารับบริการมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 

1. หลังฉีดฟิลเลอร์ปากทันที

 

a. ไม่ควรทานอาหารเพราะอาจกัดริมฝีปากโดยไม่ได้ตั้งใจได้

b. ควรประคบน้ำแข็งให้นานที่สุด เพื่อให้อาการบวมแดงบรรเทาลง

 

2. ช่วง 2-3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

a. หลีกเลี่ยงการสัมผัสริมฝีปากโดยไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนและบริเวณที่ฉีดช้ำกว่าเดิม

b. ไม่ควรถูกแสงแดด เนื่องจากผิวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ

c. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลกับระบบไหลเวียนเลือด

 

3. ช่วง 4-5 วันแรก หลังฉีดฟิลเลอร์ปาก ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ

 

4.ช่วง 1 อาทิตย์แรกหลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

a. ไม่ควรทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งยังไม่ควรออกกำลังกายจนเลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ

b. ไม่ควรทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบและนมวัว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

c. ไม่ควรทานอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เพราะอาจไปกระตุ้นการอักเสบของแผลได้

 

5. ช่วง 1 เดือนหลังฉีดฟิลเลอร์ปาก 

 

a. ไม่ควรทำเลเซอร์ทุกชนิด

b. ไม่ควรอยู่ในที่ร้อนอย่างห้องซาวน่า ร้านอาหารที่มีเตาร้อน หรือทานของร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์เสื่อมได้ไว

หลังจากฉีดฟิลเลอร์ปากอาจจะรู้สึกเจ็บ ปวด หรือคันหลังยาชาหมดฤทธิ์ และอาการดังกล่าวจะหายไปเองประมาณ 12-24 ชั่วโมง หลังจากนั้นปากจะบวมแดงอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนจะหายเป็นปกติเอง หากอาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ประจำสถานพยาบาลที่รักษาให้เร็วที่สุด

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดฟิลเลอร์ปาก

  • อาการบวมแดงช้ำ, เจ็บ, คัน หรือมีเลือดไหลจากรอยเข็มที่ฉีดฟิลเลอร์ปาก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนจนเห็นจากภายนอก เกิดจากฉีดฟิลเลอร์ตื้นเกินไป
  • ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดจนส่งผลให้เกิดเนื้อตาย
  • ติดเชื้อหรือแพ้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์
  • ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อในบริเวณที่ไม่ต้องการ ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี

ทั้งนี้ โอกาสเกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงดังกล่าว สามารถลดลงได้โดยการเลือกคลินิกที่มีมาตรฐาน หรือปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ที่ปากราคาเท่าไหร่?

การฉีดฟิลเลอร์ปาก ราคาจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ใช้ ปริมาณที่ฉีด และค่าบริการของสถานพยาบาลนั้น ๆ ซึ่งปกติปริมาณที่ฉีดฟิลเลอร์ปากจะอยู่ที่ 1 cc ราคาประมาณ 6,000-20,000 บาท

 

ราคาฟิลเลอร์ฉีดปากจะค่อนข้างสูง หลายคนอาจเคยเห็นโปรโมชันการฉีดฟิลเลอร์ปากราคาเพียงไม่กี่พัน ในกรณีนี้ให้ระวังเรื่อง “ฟิลเลอร์ปลอม” เนื่องจากฟิลเลอร์ปลอมเหล่านี้จะมีสารอันตรายอยู่ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงหลังฉีดได้มาก เช่น การติดเชื้อบริเวณปาก ฟิลเลอร์อุดตัน หรือฟิลเลอร์เป็นก้อน

“ดูอย่างไรว่าเป็นฟิลเลอร์ปลอม? ก่อนการฉีดควรแน่ใจว่าแพทย์เปิดฟิลเลอร์กล่องใหม่ทุกครั้ง และควรขอดูเอกสารกำกับยาจากกล่องฟิลเลอร์ ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องเป็นภาษาไทยเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นฟิลเลอร์ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของไทย เพราะหากไม่มีเอกสารกำกับยาภาษาไทยอาจจะเป็นฟิลเลอร์ปลอมหรือฟิลเลอร์หิ้วได้ อีกทั้งสารที่ระบุในเอกสารกำกับยาต้องเป็นกรดไฮยาลูรอนิกเท่านั้นจึงจะเป็นฟิลเลอร์ที่ปลอดภัย”

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ปาก

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บไหม?

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากเจ็บไหม? คำตอบคือฉีดฟิลเลอร์ปากไม่เจ็บ หรือบางรายอาจจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากก่อนการฉีดแพทย์จะใช้ยาชาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนั้นระหว่างทำจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะรู้สึกตึง ๆ ที่ปากเท่านั้น โดยหลังจากยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกตึงและคันเล็กน้อย และอาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2 วัน แต่หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นเลยก็ควรไปพบแพทย์

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากบวมกี่วัน?

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากจะบวมมากที่สุดประมาณ 2-3 วันแรก จากนั้นอาการบวมจะเริ่มดีขึ้น และหายไปภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์เนื่องจากอาจมีความผิดปกติอื่นเกิดขึ้น

 

ฟิลเลอร์ปาก อยู่ได้นานแค่ไหน?

 

ฟิลเลอร์ปากที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิกจะอยู่ได้นานประมาณ 6-18 เดือน ก่อนที่จะสลายไป ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หากเป็นผู้ที่มีระบบเผาผลาญดีหรือถ้าทานของร้อนบ่อย ฟิลเลอร์บริเวณริมฝีปากก็จะยิ่งสลายเร็วมากขึ้น

 

ข้อควรระวังหลังฉีดฟิลเลอร์ห้ามกินอะไร?

 

เพื่อให้ฟิลเลอร์ปากเข้าที่เร็วและคงอยู่ได้นาน ควรงดอาหารบางชนิด ดังนี้

 

  • ฃเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • อาหารร้อน และอาหารที่ต้องทานหน้าเตาร้อน
  • อาหารรสจัดและของหมักดอง ควรงดในช่วงสัปดาห์แรก
  • นมวัวและอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ควรงดในช่วงสัปดาห์แรก

ฉีดฟิลเลอร์ปากทาลิปได้ไหม?

 

ฉีดฟิลเลอร์ปากกี่วันทาลิปได้? หลังฉีดฟิลเลอร์ปากยังไม่ควรทาลิปสติกทุกชนิด เนื่องจากเสี่ยงทำให้แผลติดเชื้อและเกิดการอักเสบมากกว่าเดิม ควรงดทาลิปสติกอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก เพราะอาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนหรือกระตุ้นให้ปากอักเสบได้ ทางที่ดีจึงควรงดการทาลิปประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากฉีดฟิลเลอร์ปาก

 

ปากหนาฉีดปากได้ไหม?

 

สำหรับผู้ที่ริมฝีปากหนาก็สามารถฉีดปากได้ โดยส่วนใหญ่นิยมฉีดฟิลเลอร์ปากเพื่อปรับรูปปากให้เป็นกระจับ หรือยกมุมปากขึ้น หากสนใจฉีดฟิลเลอร์ปากสามารถปรึกษาแพทย์ก่อนได้เพื่อหารูปปากที่เหมาะสม และประเมินปริมาณที่ควรฉีดต่อไป

สรุป

การฉีดฟิลเลอร์ปากสามารถทำได้ทั้งแก้ไขริมฝีปากเหี่ยวเป็นร่อง, ปากไม่สมมาตร, ปากบางเกินไป หรือถ้าปากไม่ได้รูปที่ต้องการก็สามารถแก้ไขได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นหัตถการที่ค่อนข้างปลอดภัยหากทำกับแพทย์ผู้มีประสบการณ์ เพราะฟิลเลอร์เป็นสารที่ไม่อันตราย หากผิดพลาดสามารถฉีดสารเพื่อสลายฟิลเลอร์ได้ 

 

ทั้งนี้ การทำฟิลเลอร์ก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะทำได้ และไม่ได้สามารถแก้ไขรูปปากให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทุกกรณี ดังนั้นผู้ที่กำลังตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ปาก หรือผู้ที่กำลังคิดว่าจะฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง และเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเองโดยคุณสามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางได้ที่แอป SkinX

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

 

Chique. (2018, March 9). Semi Permanent Fillers Explained. Chique. https://www.chiquesolutions.
com.au/semi-permanent-fillers-explained/

 

Cleveland Clinic medical professional. (2021, December 1). Lip Fillers. Cleveland Clinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22133-lip-fillers

 

Gantous, A. Temporary vs. Permanent Dermal Fillers: Which One Is the Right Choice for You?.
Andres Gantous. https://www.torontofacialplastic.com/blog/temporary-vs-permanent-
dermal-fillers/

 

What types of dermal fillers are available?. Connect. https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-
procedures/dermal-fillers/types#:~:text=Polymethyl%2Dmethacrylate%20microspheres
%20(PMMA)&text=When%20a%20more%20permanent%20solution,years%20in%20per
manent%20surgical%20implants. 

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า