SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

24 เมษายน 2567

ทำความรู้จักกับสาเหตุของ “สิวที่หลัง” เกิดจากอะไรกันแน่ ?

สิวที่หลัง

สิวเป็นปัญหาที่ใครคงเคยเจอสักครั้งหนึ่งในชีวิต อีกทั้งสิวยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่บนร่างกายของคุณ โดยปกติแล้วสิวมักจะเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใบหน้า, หน้าอก, ไหล่, คอ และหลัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบสิวที่บริเวณหลัง

ในบทความนี้ ได้รวบรวมสาเหตุของการเกิด “สิวที่หลัง” และวิธีการรักษาสิวอย่างถูกต้อง รวมถึงวิธีจัดการกับสิวที่หลังแบบไม่ทิ้งรอย เพราะหากคุณรักษาสิวอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดหลุมสิวหลังจากการรักษาได้

SkinX แอปสำหรับการพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาผิวได้กว่า 20 ประเภท เช่น ปัญหาสิว ปัญหาเส้นผม และหนังศีรษะ หรือการทำหัตถการทางความงามประเภทต่าง ๆ สามารถรับคำปรึกษาได้ตามสะดวกโดยไม่ต้องเดินทาง สำหรับผู้ใช้งานใหม่สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับคำปรึกษาครั้งแรกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สรุป สิวที่หลังเกิดจากอะไร? รักษาอย่างไรให้เห็นผล 

  • สิวที่หลัง (Back acne หรือ Bacne) เกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวที่ตาย ไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงสิ่งสกปรกที่เกาะตามเสื้อผ้า ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการเกิดสิวอุดตันที่หลังเช่นกัน
  • สิวที่หลังสามารถเกิดขึ้นชนิดเดียว หรือหลายชนิดได้ในบริเวณเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน, สิวตุ่มแดง, สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่, สิวหัวหนอง และสิวหัวช้าง ที่อาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดตามมาได้
  • สิวที่หลังสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยาแบบรับประทานในการปรับสมดุลของฮอร์โมน รวมถึงการรักษาสิวด้วยเลเซอร์ก็เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเช่นกัน
  • วิธีป้องกันสิวอักเสบด้วยตัวเอง สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นสิว การรักษาความสะอาดบริเวณแผ่นหลัง และไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
  • หากใครมีสิวที่หลังขึ้นเรื้อรัง และรักษาสิวอย่างไรก็ไม่หายขาดสักที การปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี เพราะคุณจะได้ทราบสาเหตุ รวมถึงวิธีรักษาสิวได้อย่างตรงจุด
สารบัญบทความ

สิวที่หลัง เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลายคนคงมีคำถามว่า ทำไมหลังเป็นสิว? สิวที่หลังเกิดจากอะไรกันแน่? หาคำตอบไปพร้อมกับ SkinX ได้ที่นี่ 

 

สิวที่หลัง (Back acne หรือ Bacne) เกิดจากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่แล้ว สิวที่หลังมักเกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวที่ตายและไขมัน (Sebum) ภายในรูขุมขนของผิวหนัง รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes หรือ Cutibacterium Acnes ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดสิว จนทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขนและเกิดสิวในที่สุด

 

หากต่อมไขมันในร่างกายผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป และไม่ทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็สามารถทำให้เกิดสิวที่หลังได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิวที่หลัง ได้ดังนี้ 

  • พันธุกรรม 

การที่คนภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ หรือคนใดคนหนึ่ง มีประวัติเคยมีสิวขึ้นหลัง หรือบริเวณหลังจนไปถึงสะโพก ก็อาจทำให้คุณมีโอกาสที่จะเป็นสิวเหมือนกับพวกเขาด้วย 

  • การเสียดสี 

การสวมเสื้อผ้าที่รัดหรือขนาดพอดีตัว รวมไปถึงการสะพายกระเป๋าเป้ที่มีสิ่งสกปรก หรือเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ เมื่อเกิดการเสียดสีกับผิวหนังบริเวณหลังที่มีเหงื่อและความมันอยู่ก่อนแล้ว ก็ทำให้เป็นสิวที่หลังได้ 

  • ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวที่หลัง เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน หรือผู้ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ต่างมีแนวโน้มที่สิวจะขึ้นมากกว่าปกติ เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงขณะนั้น 

  • การใช้ยาบางชนิด

ยาบางชนิด รวมถึงยา Corticosteroids สามารถทำให้เกิดสิวที่หลังได้ หากใช้ยาที่ได้กล่าวไปข้างต้นและต้องการรักษาสิวไปพร้อมกัน ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถลดขนาดยาหรือเปลี่ยนตัวยาได้หรือไม่ 

  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์บางชนิดเป็นสาเหตุของการเกิดสิวที่หลัง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม อาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และเกิดสิวที่หลังตามมาได้

  • ความเครียดสะสม

ความเครียดถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกเครียดหรือกังวล ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Cortisol ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้มีการผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ จนอาจเกิดการสะสมของสิ่งสกปรกแล้วเกิดเป็นสิวที่หลัง

  • เหงื่อและสิ่งสกปรก

เหงื่อและสิ่งสกปรกถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิวที่หลัง โดยเฉพาะเหงื่อออกเมื่ออากาศร้อน หรือการออกกำลังกาย หากมีการผสมกับสิ่งสกปรกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว อาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนจนเกิดสิวที่หลังในที่สุด 

  • สิ่งสกปรกใกล้ตัวที่อาจมองข้าม

ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกบนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าห่มที่ไม่ได้ทำความสะอาดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวที่หลัง นอกจากนี้ความมันจากเส้นผมที่ไม่ได้สระสามารถทำให้เกิดสิวตามมาได้

ชนิดของสิวที่หลัง

สิวที่หลังนอกจากจะทำให้เจ็บปวดแล้ว ยังส่งผลเราเกิดความไม่มั่นใจเวลาใส่เสื้อผ้าที่ต้องโชว์หลังอีกด้วย ซึ่งสิวที่หลังสามารถเกิดได้ทั้งชนิดเดียวทั่วทั้งหลัง และหลายชนิดผสมกัน โดยชนิดของสิวที่อาจจะเกิดบนบริเวณแผ่นหลัง มีดังนี้

สิวที่หลัง มีอะไรบ้าง

สิวอุดตันหัวขาว (Whiteheads)

สิวอุดตันหัวขาว หรือที่เรียกกันว่า สิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedones) มีลักษณะเป็นสิวขนาดเล็ก มีหัวสิวสีขาวที่ไม่สามารถเห็นได้จากภายนอก แต่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกถึงตุ่มนูนบริเวณใต้ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเชื้อแบคทีเรีย ต่อมไขมัน และเคราตินเกาะตัวกันภายในรูขุมขน

สิวอุดตันหัวดำ (Blackheads)

อีกชื่อของสิวอุดตันหัวดำ คือ สิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) มีลักษณะเป็นก้อนไขมันแข็ง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากภายนอก ในตอนแรกหัวสิวจะเป็นสีขาวเหลือง แต่เมื่อหัวสิวสัมผัสกับอากาศและสิ่งสกปรกไปสักระยะหนึ่ง หัวสิวจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเคราตินและไขมันบริเวณชั้นผิวบน

สิวตุ่มแดง (Papule)

สิวตุ่มแดงเป็นหนึ่งในประเภทของสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ไม่มีหัวหนองใต้บริเวณชั้นของผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย ซึ่งสิวตุ่มแดงเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนและการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่มีการเจริญมากเกินจนร่างกายกระตุ้นการอักเสบ

สิวหัวหนอง (Pustule)

สิวหัวหนองมีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงบริเวณฐานและตรงกลางมีจุดสีขาวเหลือง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย สิวหัวหนองมีสาเหตุการเกิดเดียวกับสิวตุ่มแดง เพียงแต่สิวหัวหนองต้องมีการติดเชื้อไปสักระยะ จนหนองก่อตัวขึ้นมาใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งไม่ควรรักษาสิวหัวหนองด้วยการบีบหรือกดด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดรอยสิวที่หลัง และมีการอักเสบมากกว่าเดิมได้

สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule)

สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่เป็นสิวอักเสบที่มีความรุนแรงมาก สิวประเภทนี้มีลักษณะเป็นไตขนาดใหญ่ใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บปวดมาก สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่จะไม่มีหัวหรือหนอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามไปยังชั้นใต้ผิวหนัง ที่ทำให้มีการอักเสบรุนแรงกว่าสิวตุ่มแดงและสิวหัวหนอง

สิวหัวช้าง (Nodulocystic ance หรือ Sever Nodular acne)

สิวหัวช้างถือเป็นสิวอักเสบที่มีความรุนแรงมากที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ที่มีความอ่อนนุ่มเหมือนมีของเหลวอยู่ข้างใน  เมื่อสัมผัสจะมีความเจ็บปวดมากแต่สิวประเภทนี้จะไม่มีหัวหนอง ซึ่งสิวหัวช้างรักษาได้ยากกว่าสิวชนิดอื่น ๆ และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหรือหลุมสิว เพราะเกิดจากการอักเสบรุนแรงที่ชั้นผิวหนังแท้

วิธีการรักษาสิวที่หลัง ให้หลังกลับมาเรียบเนียน

รักษาสิวที่หลัง

การใช้ยารักษาสิวที่หลัง

สำหรับผู้ที่เป็นสิวที่หลัง ซึ่งมีความรุนแรงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่มักเลือกวิธีรักษาสิวโดยใช้ยารักษาสิวที่หลัง ได้แก่

  • Benzoyl Peroxide

Benzoyl Peroxide หรือที่รู้จักในชื่อว่า Benzac มีการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา ข้อดีของ Benzoyl Peroxide คือ การฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เหมือนกับยาปฏิชีวนะ ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ รวมถึงยา Benzac ไม่ก่อให้เกิดอาการดื้อยา จึงไม่ค่อยพบผู้แพ้ยาชนิดนี้มากนัก

  • Retinoid

Retinoid เป็นยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอที่สามารถลดการอุดตัน และยับยั้งการอักเสบของสิว โดยสามารถใช้รักษาได้ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ แต่ยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวแห้งง่ายและไวต่อแสงแดดมากขึ้น ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ควรทาครีมกันแดดทุกวัน และหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง 

  • Salicylic Acid

Salicylic Acid เป็นกรดธรรมชาติที่มีฤทธิ์ลดการอุดตัน และสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ อีกทั้งยังสามารถผลัดเซลล์ผิวได้ดีอีกด้วย ซึ่งการผลัดเซลล์ผิวจะทำให้เคราตินเกาะตัวกันน้อยลง รวมถึงช่วยลดการเกิดสิวได้อีกด้วย แต่ยาชนิดนี้จะได้ผลน้อยกว่าการใช้ยา Benzoyl Peroxide และ Retinoid 

  • Sulfur

Sulfur มักถูกผสมเข้ากับสารตัวอื่นที่ช่วยในการรักษาสิว ซึ่งตัวยานี้สามารถดูดซับความมันและสิ่งสกปรกได้เป็นอย่างดี จึงถูกนิยมมาใช้ในการรักษาสิวอักเสบ เพราะ Sulfur สามารถดูดซับไขมัน และสิ่งสกปรกที่อุดตันภายในรูขุมขนได้

  • Doxycycline / Erythromycin

Doxycycline และ Erythromycin เป็นยาปฏิชีวนะที่สามารถลดปริมาณของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวบนผิวหนังได้ แต่ไม่ควรใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ติดต่อกันมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการดื้อยา และอาจจะเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีในลำไส้ได้ด้วย 

  • Isotretinoin

Isotretinoin สามารถช่วยควบคุมความมัน ลดการอักเสบของรูขุมขน และต้านเชื้อแบคทีเรียได้ ยาชนิดนี้นิยมใช้กับผู้ที่มีสิวอักเสบรุนแรง โดยจากผลสำรวจประมาณ 85% ของผู้ที่ใช้ยานี้ พบว่ามีสิวลดลง แต่การใช้ยา Isotretinoin ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงในการรักษาได้ 

  • ยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดเป็นยาที่มีผลกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยนิยมใช้รักษาสิวในเพศหญิง เนื่องจากยาคุมมีฤทธิ์ช่วยลดปริมาณ Androgen, Free Testosterone และออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

 

ทั้งนี้ ยาทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ยาเอง 

การใช้เลเซอร์รักษาสิว และลดรอยสิวที่หลัง

วิธีการใช้เลเซอร์รักษาสิว และรักษารอยสิวที่หลัง ถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่น่าพอใจ และรวดเร็วกว่าการใช้ยารักษา แต่การเลเซอร์มักมีราคาที่สูงกว่าการรักษาแบบทั่วไป โดยการเลเซอร์รักษาสิวมีหลายประเภท ดังนี้ 

  • เลเซอร์แสงสีแดง สีน้ำเงิน หรือแสงอินฟราเรด สามารถรักษาสิวที่หลังได้ แต่ไม่สามารถใช้รักษาสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำได้ 

  • Photopneumatic therapy ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน รวมถึงสามารถรักษาสิวหัวขาวและสิวหัวดำได้ แต่ไม่สามารถรักษาสิวหัวช้างที่มีการอักเสบรุนแรงได้

  • Photodynamic therapy มีคุณสมบัติในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย P. acne ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว ซึ่งสามารถรักษาสิวที่มีอาการรุนแรงและรอยสิวได้

ทั้งนี้ อุปกรณ์เลเซอร์รักษาสิวด้วยตัวเองสามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน แต่ความเข้มข้นของแสงเลเซอร์จะน้อยกว่าอุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ การเลเซอร์รักษาสิวที่หลังจึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเลือกประเภทของการทำเลเซอร์ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง

การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสิวที่หลังรุนแรง สำหรับใครที่ได้ลองรักษาด้วยวิธีที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ควรปรึกษาแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับผิวหนังของคุณมากที่สุด

 

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่า ควรไปหาแพทย์เฉพาะทางที่ไหนดี สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง ผ่านแอป SkinX ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เวลาไหน ก็สามารถปรึกษาแพทย์ผู้มีประสบการณ์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องลางานทั้งวันเพื่อนัดพบแพทย์อีกต่อไป และ SkinX ยังได้รวบรวมแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังกว่า 210 คน จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ มาให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาสิวที่กวนใจคุณ!

การป้องกันสิวไม่ให้เกิดขึ้นที่หลัง

ป้องกันสิวที่หลัง

สำหรับผู้ที่ต้องการป้องกันไม่ให้สิวที่หลังเกิดซ้ำ หรือมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม สามารถทำตามวิธีต่อไปนี้ 

  • การใช้ยาบางชนิด 

ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และทำให้ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น เช่น Androgens เป็นฮอร์โมนซึ่งอาจทำให้เกิดสิวตามมา ใครที่กำลังรับประทานยาประเภทนี้อยู่ควรงดไปก่อนในช่วงรักษาสิวที่หลัง

  • การสัมผัสบริเวณที่เป็นสิว

ควรหลีกเลี่ยงการบีบ, แกะ, แคะ และกดสิวที่หลังด้วยตัวเอง เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้สิวมีอาการอักเสบมากกว่าเดิม

  • การใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวกาย 

ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความสะอาดผิวกายที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน รวมถึงควรเลือกครีมบำรุงผิวที่มีสูตรอ่อนโยน เพื่อไม่ให้ผิวพรรณของเราเกิดการอุดตันเช่นกัน 

  • การสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดจนเกินไป 

สำหรับผู้ที่มีเหงื่อออกจำนวนมากจากการออกกำลังกาย แนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัด เพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก และเป็นการลดการเสียดสีระหว่างหลังกับเสื้อผ้าลง รวมถึงหากออกกำลังกายเสร็จควรทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกบริเวณผิวหนัง

  • การรักษาความสะอาด

ผ้าปูและปลอกหมอน ถือเป็นแหล่งรวมของฝุ่นละออง เหงื่อ และสิ่งสกปรก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวที่หลัง แนะนำให้ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้เป็นประจำ เพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อาจเกิดการอุดตันจนเกิดการสะสมบนผิวกายได้

สรุป

สิวที่หลัง เกิดจาก

ส่วนใหญ่สิวที่หลังเกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตาย, ไขมันภายในรูขุมขน, แบคทีเรีย และสิ่งสกปรก ซึ่งบริเวณแผ่นหลังสามารถเกิดสิวได้ทุกประเภททั้งชนิดเดียวกันและหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบ หรือสิวหัวช้าง โดยวิธีการรักษาสิวที่หลังที่แนะนำคือ การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อให้คุณได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะหากรักษาสิวที่หลังอย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้สิวทิ้งรอยแผลและหลุมสิวไว้หลังการรักษา

แหล่งอ้างอิงข้อมูลบางส่วน

 

Higuera, V. (2020, May 15). Back Acne (‘Bacne’): Why Pimples Pop Up, and How to Prevent and Get Rid of Them. EVERYDAYHEALTH. https://www.everydayhealth.com/acne/back-acne-treatment.aspx

 

Caldwell, A. (2021, Dec 16). How to get rid of acne on the back. MEDICAL NEWS TODAY. https://www.medicalnewstoday.com/articles/318548

 

Cherney, K. (2019, Feb 21). Can I Treat Acne Scars with Microneedling?. Healthline. https://www.healthline.com/health/microneedling-for-acne-scars

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า