หยุดหายใจขณะหลับเป็นยังไง? อันตรายไหม? รู้ได้ที่นี่
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่มีอาการนอนกรนร่วมกับอาการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่มีความอันตรายสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ และอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในขณะหลับได้แบบไม่รู้ตัว ในบทความนี้ SkinX จะพาไปทำความรู้จักกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้มากยิ่งขึ้น ทั้งสาเหตุ วิธีการรักษา และอันตรายร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้าม
SkinX แอปพลิเคชันหาหมอผิวหนังเฉพาะทางแบบออนไลน์ ที่สามารถพบแพทย์ได้ในทุกที่ทุกเวลาที่คุณต้องการ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหาหมอที่สถานพยาบาลแบบเดิม ๆ อีกต่อไป ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX ได้เลยที่ App Store & Google Play
ทำความรู้จักกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ ภาวะที่ช่องทางเดินหายใจถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ จนอากาศไม่สามารถเดินทางไหลผ่านได้เลย ทำให้มีอาการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะนอนหลับ มักพบภาวะนี้ในผู้ที่มีปัญหาการนอนกรน โดยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) คือภาวะที่มีความผิดปกติในทางเดินหายใจ อันเกิดจากการอุดกั้นของอวัยวะบางส่วน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดสมองส่วนกลาง (Central Sleep Apnea, CSA) เป็นความผิดปกติจากสมองส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ มักเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคเส้นเลือดสมองอุดตัน (stroke) และอาจเกิดได้จากยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดซับซ้อน (Complex Sleep Apnea Syndrome, CompSAS) เป็นความผิดปกติแบบผสม จากทั้งชนิดอุดกั้น และชนิดสมองส่วนกลาง
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถสังเกตได้จากหลากหลายอาการ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สังเกตถึงความผิดปกติได้มากกว่า ซึ่งอาการของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีดังนี้
- นอนกรนเสียงดังมาก และหยุดหายใจในขณะนอนหลับเป็นช่วง ๆ
- นอนกัดฟัน
- มีอาการสะดุ้งตื่น จากการสำลัก หรือหายใจติดขัด
- รู้สึกเจ็บคอ และปากแห้งหลังตื่นนอน
- มีอาการชัก หรือขยับขาไปมาขณะหลับ
- มีอาการละเมอต่าง ๆ เช่น ละเมอเดิน ละเมอพูด
- มีอาการฝันร้าย ฝันผวา นอนหลับได้ไม่สนิท
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากอาการกรนที่แย่ลง โดยทางเดินหายใจส่วนต้นจะมีอาการตีบแคบ และอาการแย่ลงจนถูกปิดกั้นโดยสมบูรณ์ ซึ่งอากาศจะไม่สามารถเดินทางไหลผ่านได้เลย ทำให้มีภาวะหยุดหายใจเป็นเวลาชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ มีดังเช่น
- มีน้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- มีไขมันในช่องคอหนา
- มีสรีระที่ผิดปกติ เช่น ช่องจมูกคด ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ เป็นต้น
- มีอายุที่เพิ่มมากขึ้น
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีพฤติกรรมการนอน เช่น นอนหงาย นอนหนุนหมอนสูงเป็นประจำ
- มีพฤติกรรมในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีความเครียด และความเหนื่อยล้าสะสม
การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะเริ่มจากการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพการนอน และอาการหยุดหายใจขณะหลับที่เป็น ทั้งนี้ ควรพาบุคคลใกล้ชิดมาในขั้นตอนการซักประวัติด้วย เพื่อที่จะได้ทราบลักษณะอาการอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการตรวจวินิจฉัยจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ, คอ, จมูก และช่องปาก ที่เป็นทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อประเมินหาความผิดปกติของสรีระ ที่อาจก่อให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับได้
- ตรวจภายในจมูก และลำคอ ด้วยการส่องกล้องในบางกรณี ที่การตรวจทั่วไปไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติของอวัยวะในทางเดินหายใจได้ รวมไปถึงการส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ตามความจำเป็น
- ตรวจการนอนหลับ Sleep Test เป็นการตรวจด้วยเครื่อง Polysomnography เพื่อตรวจสอบอาการหยุดหายใจขณะหลับ และสภาพร่างกายขณะนอนหลับอย่างละเอียด โดยการทำ Sleep Test นี้ สภาพการนอนหลับทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ตลอดการนอน เป็นระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง
“การตรวจการนอนหลับหรือ Sleep Test สามารถทำที่บ้านได้ โดยเรียกว่า Home Sleep Test วิธีการคือ นำเครื่องตรวจวัดไปติดตั้งและตรวจที่บ้าน แต่การตรวจชนิดนี้ไม่ได้เหมาะกับคนไข้ทุกราย เนื่องจากผลการตรวจจะมีความแม่นยำน้อยกว่าการมาตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละกรณี โดยมีจุดประสงค์ด้านความสะดวกของคนไข้เป็นหลัก”
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอันตรายไหม?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในขณะหลับได้แบบไม่รู้ตัว ตัวอย่างความอันตรายของภาวะนี้ ดังเช่น
- รู้สึกง่วงตลอดเวลา เหมือนนอนน้อย ปวดหัว ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในได้
- มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเสื่อมสมรรถทางเพศ
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองขาดเลือด จนเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใหลตายขณะหลับ และเสียชีวิต
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีหลายแนวทาง แพทย์จะทำการพิจารณาเลือกวิธีแก้นอนกรน และวิธีรักษาอาการหยุดหายใจขณะหลับให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย โดยมีรายละเอียดการรักษาดังนี้
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
- ลดน้ำหนัก: น้ำหนักที่มากเกินไป จะทำให้มีเนื้อบริเวณลำคอมากและทำให้เกิดการอุดกั้นได้ขณะนอนหลับได้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจหายไปหากคุณกลับมามีน้ำหนักตัวที่ปกติอีกครั้ง
- เลิกสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่อาจทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแย่ลง
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์: แอลกอฮอล์สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหลังคอ ทำให้เกิดการอุดกั้นและหยุดหายใจได้
- การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยบรรเทาอาการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ แม้ว่าจะไม่ได้ลดน้ำหนักก็ตาม
การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกภายในทางเดินหายใจ
การใช้เครื่องช่วยสร้างแรงดันบวกภายในทางเดินหายใจด้วยเครื่อง CPAP เพื่อรักษาอาการหยุดหายใจขณะหลับ โดยเครื่องจะอัดแรงดันอากาศให้กับผู้ใช้งานในขณะที่หายใจเข้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น เมื่ออากาศไหลเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้สะดวก จึงสามารถลดอาการนอนกรน และอาการหยุดหายใจขณะหลับได้เป็นอย่างดี
การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก
การใช้อุปกรณ์ในช่องปากอย่างเครื่องครอบฟัน เป็นการแก้ไขปัญหาตำแหน่งอวัยวะในช่องปากที่ไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับขึ้น ซึ่งเครื่องครอบฟันสามารถจัดตำแหน่งลิ้น และขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น และช่วยรักษาอาการหยุดหายใจขณะหลับได้
การผ่าตัดเพื่อรักษา
การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการหยุดหายใจขณะหลับ เป็นการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของอวัยวะบางส่วน ที่ไปปิดกั้นทางเดินหายใจอยู่ ตัวอย่างการผ่าตัดแก้ภาวะหยุดหายใจ เช่น การผ่าตัดจมูก, การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร, การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน หรือการผ่าบริเวณคอหอย เป็นต้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ใครเสี่ยงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?
ผู้ที่เสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจากโรคอ้วน หรือบางส่วนจะเกิดในผู้ที่มีโครงสร้างของใบหน้า จมูก และศีรษะผิดปกติ ทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นจากสรีระที่ไม่ถูกต้อง จนขาดออกซิเจนขณะหลับเป็นบางช่วง และเกิดภาวะหยุดหายใจได้
หยุดหายใจขณะหลับกี่ครั้ง ถึงนับว่ามีอาการรุนแรง?
จากผลการทดสอบ Sleep Test หากคนไข้มีอาการหยุดหายใจขณะหลับน้อยกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง นับว่าเป็นอาการปกติ ถ้ามีอาการ 5-15 ครั้งต่อชั่วโมง นับว่าอาการรุนแรงน้อย หากมีอาการหยุดหายใจ 15-30 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่ามีอาการรุนแรงปานกลาง และถ้านอนแล้วหยุดหายใจ มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่ามีอาการรุนแรงมาก
สรุปเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ ภาวะที่ช่องทางเดินหายใจถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ จนอากาศไม่สามารถเดินทางไหลผ่านได้เลย ทำให้มีอาการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ขณะนอนหลับ ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในขณะหลับได้แบบไม่รู้ตัวจากโรคใหลตาย สามารถรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้หลากหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และพิจารณาของแพทย์
สำหรับใครที่ต้องการจะตรวจภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยการทำ Sleep Test สามารถเลือกซื้อดีลราคาดีจากสถานพยาบาลชั้นนำที่ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน SkinX ได้ โหลดแอปเลยวันนี้เพื่อรับโปรโมชันดี ๆ อีกมากมาย
Reference
WebMD Editorial Contributors. (2023, October 3). Obstructive Sleep Apnea (OSA). WebMD. https://www.webmd.com/sleep-disorders/sleep-apnea/understanding-obstructive-sleep-apnea-syndrome
Watson, S. (2023, June 26). The Effects of Sleep Apnea on the Body. Healthline. https://www.healthline.com/health/sleep-apnea/effects-on-body
SLEEP APNEA Causes and Risk Factors. (2022, March 24). National Heart, Lung, and Blood Institute. https://www.nhlbi.nih.gov/health/sleep-apnea/causes