นอนกรนเสียงดัง กับภัยแฝงอันตรายต่อชีวิต เกิดจากสาเหตุใด?
การนอนกรน เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล แม้จะเป็นอาการที่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอได้ ในบทความนี้ SkinX จะพาไปทำความรู้จักกับอาการนอนกรนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งสาเหตุ อาการ และอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
Key Takeaway
- นอนกรนเป็นอาการที่เกิดเสียงดังเมื่อหายใจขณะหลับ เนื่องจากทางเดินอากาศตีบแคบ ทำให้เนื้อเยื่อที่ลำคอหรือหลังโพรงจมูกสั่นสะเทือนเมื่ออากาศไหลผ่าน
- การนอนกรนนอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน และอาจทำให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
- หากการตีบของทางเดินอากาศรุนแรงจนอากาศไหลผ่านไม่ได้ อาจก่อให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งนำไปสู่โรคอันตรายมากมายจนถึงขั้นเสียชีวิต
- โรคนอนกรนรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมเสี่ยง และถ้าอากาศรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์
อาการนอนกรนคืออะไร?
อาการนอนกรน คือ อาการที่มีเสียงดังเกิดขึ้นจากลำคอหรือด้านหลังโพรงจมูกในขณะนอนหลับ และจะมีเสียงดังมากขึ้นในท่านอนหงาย แบ่งได้เป็นอาการนอนกรนแบบธรรมดา และอาการนอนกรนแบบอันตราย ซึ่งอาการนอนกรนแบบอันตราย จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อแก้นอนกรน และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงจากการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
โดยลักษณะของอาการนอนกรนมีดังนี้
- มีเสียงดังตามจังหวะการหายใจ สร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้าง
- นอนอ้าปากเพื่อช่วยหายใจ ทำให้มีอาการเจ็บคอ ปากแห้งเมื่อตื่นนอน
- อาจมีอาการสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน
- มักรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ ง่วงนอนตอนกลางวัน
การนอนกรนเกิดจากอะไร?
การกรน เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น จนทำให้เนื้อเยื่อบริเวณลำคอหรือด้านหลังโพรงจมูกมีการสั่นสะเทือนขณะหายใจ และกลายเป็นเสียงดังออกมา อีกทั้งการนอนกรนยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ดังเช่น
- มีน้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- มีไขมันในช่องคอหนา
- มีสรีระที่ผิดปกติ เช่น ช่องจมูกคด ลิ้นไก่โตกว่าปกติ เป็นต้น
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- มีพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม เช่น นอนหงายเป็นประจำ นอนหนุนหมอนในระดับที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ
- มีพฤติกรรมในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีความเครียด และความเหนื่อยล้าสะสม
การนอนกรนอันตรายไหม?
คนนอนกรน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาการนอนกรนแบบธรรมดา ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ เพียงแค่สร้างเสียงรบกวนให้กับคนรอบข้าง รวมถึงอาจมีอาการเจ็บคอเพียงเล็กน้อยหลังตื่นนอน ส่วนอีกประเภทคือ อาการนอนกรนแบบอันตราย ซึ่งมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการนอนกรนรุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
นอนกรน สัมพันธ์กับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างไร?
เมื่ออาการนอนกรนรุนแรงขึ้นนั่นหมายความว่าช่องทางเดินหายใจตีบแคบจนอากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ อาจนำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) เป็นภาวะที่ช่องทางเดินหายใจถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ จนอากาศไม่สามารถเดินทางไหลผ่านได้เลย ซึ่งภาวะนี้มีความอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีอาการนอนกรนเสียงดังมาก และหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ
- มีอาการสะดุ้งตื่น จากการสำลัก หรือหายใจติดขัด
- มีอาการนอนกรน เจ็บคอ และปากแห้งหลังตื่นนอน
- มีอาการชัก หรือขยับขาไปมาขณะหลับ
- มีอาการละเมอต่าง ๆ เช่น ละเมอเดิน ละเมอพูด
- มีอาการฝันร้าย ฝันผวา นอนหลับได้ไม่สนิท
- มีอาการนอนกัดฟัน
อันตรายของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- รู้สึกง่วงตลอดเวลา ไม่สดชื่น เนื่องจากพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในได้
- มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเสื่อมสมรรถทางเพศ
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดจนเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใหลตายขณะหลับ และเสียชีวิตได้
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอาการนอนกรน
หากมีอาการนอนกรนตามที่ได้กล่าวถึงมาในข้างต้น โดยเฉพาะถ้ามีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอาการนอนกรน มีดังต่อไปนี้
- เข้าพบแพทย์เพื่อซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพการนอน และอาการนอนกรนที่เป็น
- จากนั้นเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ คอ จมูก และช่องปาก ที่เป็นทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อประเมินหาความผิดปกติของสรีระ ที่อาจก่อให้เกิดอาการนอนกรนได้
- อาจมีการตรวจทางจมูก และลำคอด้วยการส่องกล้องในบางกรณี รวมไปถึงการส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ตามความจำเป็น
- แพทย์พิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ Sleep Test ด้วยเครื่อง Polysomnography เพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายขณะนอนหลับอย่างละเอียด โดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ
วิธีรักษาอาการนอนกรน
แนวทางการรักษาอาการนอนกรน และวิธีรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีแก้อาการนอนกรน ให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย
การรักษาด้วยเครื่อง CPAP
การรักษาด้วยอุปกรณ์แก้อาการนอนกรนอย่างเครื่อง Continuous Positive Airway Pressure (CPAP) ซึ่งเครื่อง CPAP คือ การใช้เครื่องอัดแรงดันอากาศผ่านทางจมูกหรือปากขณะหายใจเข้า เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น, หายใจรับอากาศได้อย่างเพียงพอมากขึ้น, ช่วยลดอาการนอนกรน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ จากภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
การผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหานอนกรนมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระดับความรุนแรงของอาการนอนกรน และการพิจารณาของแพทย์ ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดจมูก, การผ่าตัดต่อมทอนซิล, การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน, การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น หรือการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร เป็นต้น
การใช้เครื่องมือในช่องปาก
การใช้เครื่องมือในช่องปาก เป็นการใช้อุปกรณ์ทันตกรรมเพื่อแก้อาการนอนกรน เช่น การใส่เครื่องครอบฟัน เพื่อจัดตำแหน่งลิ้น และขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น ไม่มีอวัยวะไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ และช่วยลดอาการนอนกรนได้เป็นอย่างดี
“รู้หรือไม่? การใส่เครื่องครอบฟันเพื่อรักษาอาการนอนกรน เป็นวิธีการรักษาที่สะดวกสบาย และความยุ่งยากน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก สำหรับการรักษาอาการกรนแบบไม่รุนแรง นอกจากนี้ เครื่องครอบฟันยังสามารถแก้ปัญหาการนอนกัดฟันได้อีกด้วย”
การนอนกรนในเด็ก
อาการนอนกรนในเด็กนั้นอาจมีอาการที่สังเกตได้ชัดกว่าผู้ใหญ่เล็กน้อย เช่น มีปัญหาทางพฤติกรรม การนอนปัสสาวะราดที่นอน หรือภาวะไม่เจริญอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการนอนกรนควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุนอนกรนและทำการรักษานอนกรนโดยเร็ว
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการนอนกรน
ตอบคำถาม และข้อสงสัยที่พบบ่อยเกี่ยวกับการนอนกรน
ผู้หญิงพบอาการนอนกรนไหม?
อาการนอนกรนสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น ในผู้หญิงก็สามารถพบอาการนอนกรนได้เช่นกัน แม้ว่าจะพบในผู้ชายมากกว่าก็ตาม
วิธีแก้อาการนอนกรนในเด็กต้องทำอย่างไร?
วิธีแก้อาการนอนกรนในเด็ก สามารถทำตามวิธีเดียวกับผู้ใหญ่ได้ เบื้องต้นแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการนอนกรน ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม และดูแลเรื่องโภชนาการอย่างสม่ำเสมอ
สรุปเกี่ยวกับการนอนกรน
การนอนกรน เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมการนอน และอีกหลายสาเหตุ อาการนอนกรนมีทั้งแบบธรรมดาที่ส่งผลเพียงเสียงรบกวน ไปจนถึงอาการนอนกรนแบบอันตรายที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ จนถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม
เพราะนอนกรนอันตรายกว่าที่คิด แนะนำดีลเด็ดจาก SkinX อย่างการตรวจ Sleep Test เพื่อตรวจสุขภาพการนอนของคุณในราคาสุดคุ้ม โหลดเพื่อรับโปรโมชันเฉพาะชาว SkinX เท่านั้นที่ App store และ Play store
Reference
Chuang, L. P., Lin, S. W., Lee, L. A., Li, H. Y., Chang, C. H., Kao, K. C., Li, L. F., Huang, C. C., Yang, C. T., & Chen, N. H. (2017). The gender difference of snore distribution and increased tendency to snore in women with menopausal syndrome: a general population study. Sleep & breathing = Schlaf & Atmung, 21(2): 543–547. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5399062/
Ratini, M. (2021, November 27). Snoring. WebMD. https://www.webmd.com/sleep-disorders/sleep-apnea/snoring
Begum, J. (2023, October 3). Obstructive Sleep Apnea (OSA). WebMD. https://www.webmd.com/sleep-disorders/sleep-apnea/understanding-obstructive-sleep-apnea-syndrome