SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

17 สิงหาคม 2565

สิวขึ้นรอบปาก มุมปาก ใต้ปาก เกิดจากความสกปรกเพียงอย่างเดียวจริงหรือ?

“สิวขึ้นรอบปาก” คือ ความผิดปกติทั่วไปที่พบได้ใน Pilosebaceous Unit ซึ่งปัญหาทางผิวหนังเหล่านี้ ถูกเรียกกันว่า “โรคสิว (Acne Vulgaris)” โดยพื้นที่สิวบริเวณปากที่สามารถพบได้มีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น สิวมุมปาก สิวใต้ปาก สิวขึ้นรอบปากและคาง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นสิวขึ้นตรงปากเหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีลักษณะและชนิดของสิวที่เกิดแตกต่างกันไป บางรายอาจเป็นสิวอุดตันรอบปาก บางรายอาจเกิดสิวอักเสบ หรือแม้กระทั่งบางกรณีอาจพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโรคที่มีลักษณะคล้าย สิว แต่ไม่ใช่สิวอย่างแท้จริงก็เป็นได้

การทราบเกี่ยวกับรูปแบบสิวแต่ละชนิดที่เกิดขึ้น จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการเลือกวิธีรักษาสิวที่เหมาะสม รวมไปจนถึงการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวในลำดับถัดๆไป

สารบัญบทความ

  1. สิวขึ้นที่ปาก เกิดจากอะไร
  2. สิวขึ้นที่ปากสามารถเกิดบริเวณไหนได้บ้าง
  3. สิวขึ้นรอบปากรักษายังไง
  4. การป้องกันไม่ให้สิวขึ้นที่ปาก
  5. สรุป

สิวที่ปากเกิดจากอะไร

หลายๆคนอาจสงสัยว่า การที่สิวขึ้นที่ปาก หรือสิวรอบปากเกิดจากอะไร? สาเหตุที่แท้จริงของสิวขึ้นรอบปากเกิดจากหลากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆของสิวหลายๆชนิด มีดังนี้

  1. Follicular Epidermal Hyperproliferation

Follicular Epidermal Hyperproliferation คือ การที่เซลล์ชั้นหนังกำพร้าหนาตัวขึ้นผิดปกติที่บริเวณท่อรูขุมขน ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับต่อมไขมัน(Sebaceous Gland) เมื่อเคราติน(Keratin) น้ำมันจากต่อมไขมัน(Sebum) และเชื้อแบคทีเรีย เกาะตัวรวมกัน จะทำให้อุดตันรูขุมขน(Follicular Plug) จนเกิดเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ขึ้น

  1. Sebum Production

การที่ต่อมไขมันมีการผลิตน้ำมัน หรือซีบัม(Sebum) ออกมามากจนเกินไป น้ำมันเหล่านั้น จะกลายเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes ซึ่งจะทำให้ปริมาณของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น

  1. ปริมาณของเชื้อ Propionibacterium Acnes (P.acnes)

เมื่อเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes (P.acnes) มีปริมาณมากขึ้น อาจมีการใช้เอนไซม์ Lipase ย่อยไขมัน จนกลายเป็น Free Fatty Acid ที่แทรกซึมออกมา ทำให้สิวรอบปากที่เกิดขึ้น เป็น สิวอักเสบ

  1. Inflammation and Immune Response

การเป็นสิวที่ปาก บางครั้งอาจมาจากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดการตอบสนองต่อสิ่งนั้นๆ ทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเป็นสิวอักเสบที่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากสาเหตุหลักๆในข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสิวขึ้นรอบปากได้ ยกตัวอย่างเช่น…

  • ระดับฮอร์โมนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ช่วงรอบประจำเดือน การตั้งครรภ์ การเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด
  • ประวัติทางพันธุกรรมของสมาชิกภายในครอบครัว จากการศึกษา คิดเป็น 62.9% – 78% ที่มีโอกาสเป็นสิว เมื่อมีบุคคลภายในครอบครัวเคยเป็นสิวมาก่อน
  • การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน จนกลายมาเป็นสิวที่ปาก ยกตัวอย่างเช่น ลิปบาล์ม ลิปสติก ครีมโกนหนวด รองพื้น คอนซีลเลอร์ เป็นต้น
  • การใช้เครื่องดนตรีที่สัมผัสบริเวณรอบปากอยู่ตลอด เช่น เครื่องดนตรีชนิดเครื่องเป่า
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การใช้มือสัมผัสบริเวณปากบ่อยๆ การเสียดสีหรือใช้งานหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลานาน การดูแลความสะอาดบริเวณปาก ความเครียดสะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอ

สิวขึ้นที่ปากสามารถเกิดบริเวณไหนได้บ้าง

บริเวณสิวที่ปาก

สิวขึ้นบริเวณปาก เป็นส่วนที่ทุกๆคนมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ โดยบริเวณตำแหน่งที่มักเกิดสิว ได้แก่ สิวใต้ปาก สิวขึ้นมุมปาก สิวขึ้นริมฝีปาก สิวขึ้นรอบปากและคาง ซึ่งพบว่า บริเวณตำแหน่งเหล่านี้ สามารถเกิดสิวหลากหลายประเภทที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้

สิวอุดตันชนิดหัวเปิด (Open Comedones) หรือ สิวหัวดำ (Blackhead)

มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางมีสีเข้ม หรือสีดำ อันเนื่องมาจากการฝังตัวของเคราติน (Keratin) และลิพิด (Lipid) ที่ได้รับปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) กับออกซิเจนในอากาศ

สิวอุดตันชนิดหัวปิด (Closed Comedone) หรือ สิวหัวขาว (Whitehead)

มีลักษณะเป็นสิวขนาดเล็ก หัวสิวเป็นสีขาว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกได้ว่ามีตุ่มนูนขึ้นมาเล็กน้อย มองเห็นจากภายนอกได้ยาก

สิวตุ่มนูน (Papule)

มีลักษณะเป็นสิวหัวสีแดง รูปร่างกลมๆ ขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร ไม่มีหัวหนอง อาจให้ความรู้สึกเจ็บเล็กน้อย เมื่อสัมผัสโดนตัวสิวในบริเวณนี้

สิวหัวหนอง (Pustule)

มีความคล้ายคลึงกับสิวตุ่มนูน โดยจะมีลักษณะเป็นสิวสีแดงที่บริเวณตรงกลางมีหนองสีขาวเหลือง อยู่ภายใต้ผิวหนัง ซึ่งเมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกเจ็บเช่นเดียวกัน

สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule)

สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ เป็นการอักเสบที่ค่อนข้างรุนแรง โดยสิวที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ สิวหัวช้าง, สิวไต ซึ่งสิวประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดใหญ่ ไม่มีหัว ไม่มีหนอง แข็งเป็นก้อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง เมื่อสัมผัสโดนจะให้ความรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

สิวขึ้นรอบปากรักษายังไง

“สิวขึ้นรอบปากรักษายังไง” โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิวขึ้นมุมปาก สิวขึ้นเหนือปาก สิวที่ขอบปาก หรือการเป็นสิวใต้ปาก ล้วนแล้วแต่จะมีวิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

วิธีการรักษาสิวขึ้นปาก

การใช้ยารักษาสิวที่ปาก

  • ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids)

ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids) มีความสามารถในการเกาะติดและกระตุ้น Retinoic Acid Receptor (RARs) ซึ่งตัวยาที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Tretinoin, Adapalene, Tazarotene ฯลฯ

Tretinoin : ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดสิว โดยในช่วงเริ่มแรกของการใช้ยา ควรสังเกตผิวตนเองว่าสามารถทนทานต่อยาได้หรือไม่ และระมัดระวังเรื่องของการออกแดด โดยยาชนิดนี้ จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อถูกแสงแดด แนะนำว่า ควรใช้ยาชนิดนี้ในตอนกลางคืน และไม่ใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide

Adapalene : มีความทนทานต่อแสง สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide ได้ คนส่วนใหญ่สามารถทนทานต่อยาชนิดนี้ได้มากกว่า ตัวยานี้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเจลปราศจากแอลกอฮอล์และแบบครีม ระดับความเข้มข้น 0.1% และแบบเจล ระดับความเข้มข้น 0.3%

Tazarotene : มีฤทธิ์ลดการอุดตันของสิวได้ในระดับมาก สามารถลดอาการระคายเคืองของยาชนิดนี้ได้โดยการใช้แบบ Short-Term Contact Therapy เช่น การทาทิ้งไว้สักครู่หนึ่งแล้วจึงค่อยล้างออก

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยากลุ่มวิตามินเอคือ ห้ามใช้ยาชนิดนี้กับผู้ที่อยู่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรักษาด้วยยาชนิดนี้

  • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์(Benzoyl Peroxide)

เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์(Benzoyl Peroxide) สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้โดยการปล่อย Free Oxygen Radicals ออกมาลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งตัวยานี้ สามารถลดการอุดตันของรูขุมขนได้เล็กน้อย และไม่ค่อยพบผู้ที่แพ้ยาตัวดังกล่าว แต่อาจมีการระคายเคืองได้ถ้าทาในปริมาณที่หนาเกินไป

โดยเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์(Benzoyl Peroxide) มีทั้งรูปแบบของครีม โลชั่น เจล น้ำยาทำความสะอาดผิว หรือแบบโฟม และมีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5% – 10% จึงควรเลือกใช้ระดับความเข้มข้นของยาให้เหมาะสมกับตนเอง เนื่องจากเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์(Benzoyl Peroxide) อาจทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองขึ้นได้ง่าย

  • ยาปฏิชีวนะ (Topical Antibiotics)

ยาปฏิชีวนะ (Topical Antibiotics) ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น Erythromycin, Clindamycin และ Dapsone โดยทั่วไป อาจมีการใช้ Erythromycin และ Clindamycin ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เพื่อลดอัตราการดื้อยาลง จึงนิยมใช้เป็นสูตรผสมมากกว่าการใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง

ส่วน Dapsone มีทั้งรูปแบบของยาทาภายนอก และยารับประทาน โดยยาทาภายนอกของ Dapsone เป็นแบบเจล มีระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 5% และ 7.5% ใช้เพียง 2 ครั้งต่อวัน จะสามารถควบคุมดูแลการอักเสบของสิวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาตัวนี้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)

กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีทั้งแบบเจลและแบบน้ำยาทำความสะอาด ระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5% – 2% มีฤทธิ์ลดการอุดตันรูขุมขน และทำให้ผิวหนังกำพร้าชั้นบนสุดเกิดการลอกออกมา อย่างไรก็ตาม เรื่องของประสิทธิภาพอาจได้ผลน้อยกว่ายากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids) และ Benzoyl Peroxide

  • การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน (Oral Contraceptives)

การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน จะช่วยให้อาการของสิวดีขึ้นในคนไข้บางกลุ่ม จากการที่ตัวยาเข้าไปลดปริมาณของ Androgen กดการสร้างฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) เพิ่มการสร้าง SHBG (Sex Hormone Binding Globulin) เพื่อทำให้ปริมาณ Free Testosterone ลดลง อีกทั้งยังเข้าไปยับยั้งการทำงานของ 5-α reductase และปิดกั้น Androgen Receptor เพื่อต่อต้านฮอร์โมน Androgen อีกด้วย

  • ไอโซเตรติโนอิน(Isotretinoin)

ไอโซเตรติโนอิน(Isotretinoin) เป็นยาที่นิยมใช้ในกลุ่มสิวดื้อยา สิวอักเสบรุนแรง กลุ่มที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล โดยยาไอโซเตรติโนอิน(Isotretinoin) มีฤทธิ์ในการช่วยลดการผลิตน้ำมัน ทำให้การผลัดเซลล์ผิวเป็นไปได้ดี ไม่อุตตัน สามารถใช้รักษาในระยะยาวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาชนิดนี้มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน ความเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์พิการ และยังทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ด้วย

การใช้หัตถการอื่นๆในการรักษา

  • การบำบัดด้วยแสงและเลเซอร์ (Phototherapy and Lasers)

การบำบัดด้วยแสงและเลเซอร์ เป็นการรักษาวิธีใหม่ที่มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องมือที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Pulse Dye Laser 595nm (vBeam), Copper-Bromide Laser 578nm (DualYellow), Diode Laser 1450nm, Long-Pulse Nd:YAG Laser 1064nm, Er:Glass Laser 1550nm เป็นต้น โดยเลเซอร์แนะนำให้ทำทุก 2-4 สัปดาห์ ส่วนการรักษาด้วยแสง LED ลดอักเสบและลดเชื้อแบคทีเรีย แนะนำให้ทำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งบริเวณใบหน้าจะทำครั้งละ 15 นาที ส่วนบริเวณหน้าอก หลัง จะทำครั้งละ 45 นาที

ปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ที่ SkinX

ปรึกษาแพทย์รักษาสิวที่ปาก

การเลือกวิธีการรักษาสิวข้างปาก และการดูแลสิวที่ขึ้นตามบริเวณต่างๆด้วยตนเอง อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดายนัก จะดีกว่าไหม? หากคุณจะเลือกเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง เพื่อขอคำปรึกษาและรักษาสิวที่เป็นอยู่ตามวิธีการที่เหมาะสม

ถึงแม้ว่าในอดีต การเข้าพบแพทย์ตามสถานพยาบาลต่างๆเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งทางเราได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านั้น จึงทำให้ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น SkinX ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างง่ายดาย โดยทางเราได้รวบรวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ มาคอยดูแลและให้คำปรึกษาสำหรับคุณ

ให้คุณสะดวกสบายกับการบริการที่ไม่จำเป็นต้องลาหยุด ไม่ต้องเดินทาง จะปรึกษาช่วงเวลาใดที่ไหนก็สามารถทำได้ เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ

การป้องกันไม่ให้สิวขึ้นที่ปาก

รักษาสิวที่ปาก

ถึงแม้ว่าจะเคยสิวขึ้นที่ปากมาก่อน หรือผู้ที่ไม่เคยสิวขึ้นรอบปาก ก็ไม่ควรละเลยการดูแลผิวบริเวณริม

ฝีปาก เพราะอาจมีโอกาสที่จะเกิดสิวที่ริมฝีปากซ้ำได้ ด้วยเหตุนี้ ทางเราจึงขอแนะนำ วิธีการป้องกันการเกิดสิวที่ปากแบบง่ายๆ มาฝากให้ทุกคนลองทำกัน ดังนี้

  • ทำความสะอาดใบหน้า และส่วนอื่นๆของร่างกาย วันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีความอ่อนโยน
  • พิจารณาเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้อยู่ หากผลิตภัณฑ์นั้น ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน ทำให้น้ำมันสะสมบนใบหน้ามากขึ้น หรือก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
  • หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณปาก หรือส่วนอื่นๆบนใบหน้า
  • ไม่ควรบีบ หรือ แคะสิวบนปาก
  • เช็ดหรือทำความสะอาดริมฝีปาก หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการศึกษา พบว่า สารนิโคตินที่อยู่ภายในบุหรี่ เป็นตัวที่ทำให้ฮอร์โมน DHT ในร่างกายเพิ่มขึ้น และยังสามารถกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน รวมไปจนถึงการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติได้ ทำให้มีโอกาสเกิดสิวขึ้นบนปากนั่นเอง
  • ทำความสะอาดสิ่งของต่างๆที่ใช้บ่อย เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องดนตรีชนิดเครื่องเป่า แปรงแต่งหน้า ผ้าขนหนู ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน เป็นต้น
  • หากต้องใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนหน้ากากถ้ามีการอับชื้น

สรุป

การเป็นสิวรอบปาก หรือสิวขึ้นบริเวณปาก มีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย จึงทำให้สิวบริเวณนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะฉะนั้น เราจึงควรหาวิธีดูแลผิวบริเวณริมฝีปากอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดสิวและปัญหาอื่นๆที่มีความรุนแรงตามมา หากคุณสังเกตเห็นสิวขึ้นที่ริมฝีปาก แล้วพบว่าสิวมีลักษณะผิดปกติ เช่น สิวเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น หรือมีสิวเกิดขึ้นเยอะ ใกล้ๆกันหลายจุด แนะนำว่า ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ วินิจฉัย และรักษาตามความเหมาะสมต่อไป

บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว

เอกสารอ้างอิง

Cafasso, J. (2019, October 3). What Causes Acne Around the Mouth, and How to Treat and Prevent It. Healthline. https://www.healthline.com/health/acne-around-mouth

Dreno, B., Jean-Decoster, C., Georgescu, V. Profile of patients with mild-to-moderate acne in Europe: a survey. Eur J Dermatol. 2016;26:177-184.

Felman, A. (2017, June 28). The best treatments for acne. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/191530

Goh, C., Cheng, C., Agak, G., Zaenglein, A.L., Graber, E.M., Thiboutot, D.M., & Kim, J. (n.d.). Acneiform Disorders. Fitzpatrick’s Dermatology 9 TH Edition (1391-1404). McGraw-Hill Education.

Pietrangelo, A. (2018, January 22). Effects of Isotretinoin (Accutane) on the Body. Healthline. https://www.healthline.com/health/accutane-side-effects-on-the-body

Wei, B., Pang, Y., Zhu, H., et al. The epidemiology of adolescent acne in North East China. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2010;24:953-957.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า