SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

31 สิงหาคม 2565

สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) สาเหตุการเกิด และ วิธีการรักษา

รักษาสิวเสี้ยนให้หายขาด

สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa) ไม่ใช่สิว แต่เป็นความผิดปกติของการสร้างเส้นขนภายในรูขุมขน ดังนั้นการรักษาสิวเสี้ยนจึงแตกต่างจากการรักษาโรคสิวโดยสิ้นเชิง แต่การรักษาสิวเสี้ยนควรทำอย่างไร? 11 วิธีรักษาสิวเสี้ยนมีอะไรบ้าง?

 

SkinX แอปพลิเคชันพบหมอผิวหนังออนไลน์ ที่ได้รวบรวมเหล่าทีมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมากมาย มาให้คำปรึกษาด้านผิวหนังโดยเฉพาะ รักษาสิวเสี้ยนและปัญหาผิวอื่น ๆ ได้ทุกเวลาที่สะดวก สามารถโหลดแอปแล้วทดลองปรึกษาครั้งแรกได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

 

สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับสิวเสี้ยน 

 

  • สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) คือโรคผิวหนังอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของการสร้างขน ทำให้มีขนเกิดขึ้นจำนวนมากกว่าปกติในรูขุมขนเดียว

  • สิวเสี้ยนอาจเกิดได้จากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ปัญหาจากระบบต่อมไร้ท่อ ระบบฮอร์โมน และอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้เช่นกัน เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวระคายเคืองหรือรูขุมขนอุดตัน

  • บริเวณที่มักเกิดสิวเสี้ยน ได้แก่ หน้าผาก, คางและใต้คาง, จมูก, หลัง และหน้าอก

  • สิวเสี้ยนและสิวหัวดำต่างกันตรงที่ สิวเสี้ยนจะเป็นกลุ่มของเส้นขนขนาดเล็ก ในขณะที่สิวหัวดำจะเป็นสิวอุดตันชนิดหนึ่ง สามารถสังเกตถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนจากลักษณะของเม็ดสิว

  • วิธีการรักษาสิวเสี้ยนมีหลากหลายวิธี เช่น ถอนออกด้วยแหนบ, กดสิวออก, ใช้มาสก์ลอกสิว, สครับผิว, ใช้ยาทา, ใช้สารเคมีลอกผิว, การทำเลเซอร์กำจัดขน เป็นต้น  

สารบัญบทความ

สิวเสี้ยน เกิดจากอะไร

ก่อนรู้สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยน ควรรู้จักโรคผิวหนังที่เรียกว่าสิวเสี้ยนเสียก่อน

 

สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) คือโรคผิวหนังอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของการสร้างขน ทำให้มีขนเกิดขึ้นจำนวนมากกว่าปกติในรูขุมขนเดียว ปกติแล้ว 1 รูขุมขนจะมีขนเกิดขึ้นเพียง 1 – 4 เส้น แต่หากเป็นสิวเสี้ยน เส้นขนอาจเกิดขึ้นมากถึง 5 – 25 เส้นภายในรูขุมขนเดียว 

ทำให้เมื่อเป็นสิวเสี้ยน เส้นขนที่ขึ้นมาจำนวนมากจะมีขนาดเล็ก เกาะตัวรวมกันเอง และเกาะกับเคราติน ไขมัน รวมถึงเซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออกมาจากรูขุมขน เกิดเป็นกลุ่มขนสีดำขนาดเล็กลักษณะคล้ายเสี้ยน โผล่พ้นขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย

 

แล้วสิวเสี้ยนเกิดจากอะไร? สิวเสี้ยนเกิดจากการสร้างเส้นขนที่ผิดปกติ และการอุดตันภายในรูขุมขน จนขนเหล่านั้นเกาะตัวรวมกันเป็นสิวเสี้ยน แต่สาเหตุกระตุ้นให้เกิดสิวเสี้ยนนั้น ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด

 

ทั้งนี้ คาดกันว่าสาเหตุกระตุ้นน่าจะมาจากการที่ปัจจัยภายในร่างกายบางอย่างถูกรบกวน อย่างระบบต่อมไร้ท่อ ระบบฮอร์โมน ระบบการเผาผลาญภายในร่างกาย และยังสามารถพบสิวเสี้ยนกระจายทั่วร่างกายได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายด้วย

 

นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าสิวเสี้ยนอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้เช่นกัน อย่างการรบกวนผิวมากๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวระคายเคือง ทำให้รูขุมขนอุดตัน หรือขัด เช็ด ถูที่ผิวในบริเวณนั้นๆ แรงเกินไปจนทำให้รากขนแตกออกจากกัน เกิดเป็นขนหลายเส้นอยู่ด้านในรูขุมขน เกาะตัวกันเป็นสิวเสี้ยนนั่นเอง

 

แพทย์บางส่วนเชื่อว่าสิวเสี้ยนเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนได้คล้ายกับสิว แต่แทนที่จะทำให้รูขุมขนอุดตันเพียงอย่างเดียว การอุดตันจะเกาะตัวรวมกับขนที่ผิดปกติจนเกิดเป็นสิวเสี้ยนขึ้นมาได้ด้วย ดังนั้นปัจจัยการกระตุ้นให้เกิด สิวอุดตัน จึงเชื่อว่าคล้ายกันกับสิว อย่างเช่นอาการ ผิวมัน เชื้อโรคและแบคทีเรียบนผิวหนัง การผลัดตัวที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง และการอักเสบระคายเคืองของผิว เป็นต้น

บริเวณที่สิวเสี้ยนมักเกิด

บริเวณที่มักเกิดสิวเสี้ยน ได้แก่ 

  • สิวเสี้ยนที่หน้าผาก
  • สิวเสี้ยนที่คางและใต้คาง
  • สิวเสี้ยนที่จมูก
  • สิวเสี้ยนที่หลัง
  • สิวเสี้ยนที่หน้าอก

สิวเสี้ยนที่หน้าผาก คาง และจมูก จะเป็นสิวเสี้ยนเล็กน้อยที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่สิวเสี้ยนในบริเวณดังกล่าวมักถูกสับสนกับสิวหัวดำ

สิวเสี้ยนและสิวหัวดำต่างกันอย่างไร

สิวเสี้ยนเป็นกลุ่มของเส้นขนขนาดเล็ก ในขณะที่สิวหัวดำเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ชนิดหนึ่ง ที่สิ่งอุดตันอย่างเซลล์ผิวเก่า ไขมัน เคราติน และแบคทีเรีย ดันรูขุมขนให้เปิดกว้างจนสามารถเห็นสิ่งอุดตันได้จากภายนอก บางครั้งสิ่งอุดตันนั้นจะทำปฏิกิริยากับอากาศจนเกิดเป็นหัวสิวสีดำขึ้นมา และถูกเรียกว่าสิวหัวดำนั่นเอง

 

ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่าจะสามารถเห็นจุดแตกต่างของสิวทั้งสองอย่างเห็นได้ชัด โดยสิวหัวดำนั้น สิ่งอุดตันจะดูเป็นก้อนกลม หัวแบน ไม่นูนขึ้นมาจากผิวมากนัก บางครั้งเป็นสีดำ บางครั้งเป็นสีขาวครีม ส่วนสิวเสี้ยนนั้นจะเห็นเป็นเหมือนเสี้ยนแหลมสีเดียวกับขนส่วนอื่น ๆ บนร่างกาย หากมองใกล้ ๆ จะเห็นว่าเป็นเส้นขนหลายเส้นเกาะตัวรวมกันอยู่ ตัวสิวเสี้ยนจะโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวหนังมากกว่าสิวหัวดำ และมักเกิดสิวที่จมูกเป็นส่วนมาก

 

แม้โรคทั้งสองอย่างจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่การรักษาต่างกัน ดังนั้นควรแยกทั้งสองโรคออกจากกันเพื่อรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ส่วนสิวเสี้ยนที่หลังและหน้าอก จะพบในกรณีที่เป็นสิวเสี้ยนจำนวนมากกระจายทั่วร่างกาย หากพบสิวเสี้ยนจำนวนมากในบริเวณดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการและทำการรักษาสิวต่อไป

11 วิธีการรักษาสิวเสี้ยน

ก่อนการแนะนำ 11 วิธีรักษาสิวเสี้ยน ควรทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายในการรักษาสิวเสี้ยนเสียก่อน เพราะโดยแท้จริงแล้วนั้นสิวเสี้ยนเป็นโรคผิวหนังที่ไม่จำเป็นต้องรักษา ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิวเสี้ยนเป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังตื้น ๆ ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาสิวเสี้ยนจึงทำเพื่อความสวยงามเท่านั้น ไม่ได้มีผลเกี่ยวกับสุขภาพแต่อย่างใด

 

การรักษาสิวเสี้ยนจึงเน้นไปที่การกำจัดกลุ่มขนสิวเสี้ยนออก เพื่อให้จุดดำของสิวเสี้ยนบนใบหน้าหรือผิวหนังหายไป โดยวิธีรักษาสิวเสี้ยน มีดังนี้

 

1. ถอนออกด้วยแหนบ

 

วิธีรักษาสิวเสี้ยนที่ได้ผลมากคือการถอนสิวเสี้ยนออก เมื่อถอนแล้ว กลุ่มขนที่เป็นสิวเสี้ยนหายไป ผิวจะเรียบเนียนมากขึ้น สามารถใช้ได้ทั้งแหนบปลายแหลม ปลายแบน ปลายเอียง และปลายกลม แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือแหนบปลายแหลม เนื่องจากเข้าถึงพื้นที่เล็ก ๆ ได้ง่าย สามารถถอนสิวเสี้ยนออกได้เกลี้ยงกว่าแหนบแบบอื่น

ทั้งนี้ควรต้องระวังในการใช้งาน เนื่องจากปลายแหนบอาจทิ่มผิวจนเกิดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบตามมาได้ นอกจากนี้การถอนสิวเสี้ยนยังเป็นวิธีรักษาสิวเสี้ยนที่แก้ไขที่ปลายเหตุ การถอนไม่ได้ลดสิวเสี้ยนลงแต่อย่างใด ทางที่ดีควรถอนสิวเสี้ยนควบคู่ไปกับการรักษาสิวเสี้ยนที่ต้นเหตุด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

 

2. กดสิวเสี้ยนด้วยที่กดสิว

บีบสิวเสี้ยน

การกดสิวเสี้ยนด้วยที่กดสิว เป็นการนำกลุ่มขนสิวเสี้ยนออกเช่นเดียวกับการถอน การกดสิวเสี้ยนจะช่วยนำเส้นขนพร้อมกับสิ่งอุดตันออกไปพร้อมกันในคราวเดียว แต่การกดสิวเสี้ยนควรใช้เครื่องมือเฉพาะอย่างที่กดสิวแบบต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ควรใช้มือบีบเอง เนื่องจากการใช้มือหรือเล็บบีบสิวอุดตันอาจจะทำให้ติดเชื้อ หรือเกิดแผลเป็นหลังการบีบสิวเสี้ยนได้

 

ทั้งนี้ ก่อนการกดสิวต้องแน่ใจว่าสิ่งที่จะกดออกเป็นสิวเสี้ยน ไม่ใช่สิวหัวดำที่เป็นสิวอุดตัน เนื่องจากหากเป็นสิวอุดตันจะเสี่ยงทำให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดเป็นสิวอักเสบรุนแรงรักษายาก ทั้งยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้หลังการรักษาได้ หากพบว่าตนเองเป็นสิวอุดตัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาสิวต่อไป

 

3. ใช้แผ่นแปะหรือมาสก์ลอกสิว

 

การใช้แผ่นแปะลอกสิวเสี้ยน หรือมาสก์ลอกสิวเสี้ยน เป็นการถอนสิวเสี้ยนหัวดำออกเป็นบริเวณกว้างในคราวเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวเสี้ยนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในบริเวณจมูก หลัง และหน้าอก ซึ่งในปัจจุบันแผ่นแปะและมาสก์มีขายอยู่ทั่วไปตามร้านเครื่องสำอาง สามารถใช้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบแปะหรือทาแล้วทิ้งไว้ให้แห้งแล้วลอกออก ทั้งนี้ต้องระวังในกรณีที่เป็นแผล ผิวลอก หรือผิวแห้ง เพราะการใช้แผ่นแปะหรือมาสก์ลอกสิวเสี้ยนออก จะทำให้ผิวระคายเคืองมากกว่าเดิมได้

 

4. ลอกสิวเสี้ยนด้วยมาสก์ DIY

 

มาสก์ลอกสิวเสี้ยน เป็นวิธีลดสิวเสี้ยนที่สามารถทำเองได้ที่บ้านด้วยวัตถุดิบภายในครัวเรือน โดยการใช้ไข่ขาวทาบนบริเวณที่เป็นสิวเสี้ยน แล้วใช้กระดาษซับมันแปะลงบนไข่ขาวที่ทาไว้ รอให้แห้งแล้วลอกออก ซึ่งนอกจากไข่ขาวแล้วก็ยังสามารถใช้เจลาตินได้ โดยการนำเจลาตินผสมน้ำอุ่น สามารถเติมส่วนผสมอื่น ๆ ได้ตามชอบ แล้วพอกลงบนจมูก เมื่อเจลาตินแห้งแล้วจึงลอกออก สิวเสี้ยนก็จะหลุดออกมาพร้อมกับเจลาติน

 

ทั้งนี้ เมื่อต้องการใช้วัตถุดิบในครัวเรือนทาลงบนผิว ให้ทาในบริเวณเล็ก ๆ ก่อนเพื่อทดสอบอาการแพ้ อีกทั้งต้องระวังความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วย ในกรณีที่เป็นแผลเปิด หรือแผลยังไม่หายดี ไม่ควรใช้ไข่ขาวหรือเจลาตินทาลงบนแผลโดยตรง เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้ออักเสบได้

 

หลังจากลอกสิวเสี้ยนด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ควรล้างทำความสะอาดผิวในบริเวณที่ลอกสิวเสี้ยนให้สะอาด ป้องกันสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคตกค้าง ที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวเสี้ยนมากกว่าเดิม หรือเกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ ตามมาได้

 

“ ในการลอกสิวเสี้ยนโดยใช้เจลาติน คนส่วนใหญ่มักใส่นมลงไปด้วย เนื่องจากนมสามารถทำให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้นขึ้น แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย”

 

5. การสครับผิว

การสครับผิว

การสครับผิว สามารถช่วยลดสิวเสี้ยนได้จากข้อดีหลายประการ ทั้งทำให้สิวเสี้ยนหลุดง่าย ช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตันในรูขุมขน ป้องกันไม่ให้ขนที่ขึ้นมาติดอยู่ภายในรูขุมขนจนอัดแน่น และยังช่วยให้ผิวเนียนนุ่มขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ การสครับไม่ได้ทำให้สิวเสี้ยนหายไปทั้งหมด หรือป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนได้ 100% อีกทั้งการทำสครับบ่อย ๆ ยังเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากการขัดผิวด้วยของแข็ง อาจทำให้ผิวระคายเคืองจนอาจเกิดการอักเสบขึ้นได้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวเสี้ยนและโรคผิวหนังอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ การขัดเอาผิวหนังชั้นบนออกเป็นประจำยังทำให้ผิวแพ้ง่าย และไวต่อแสงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคผิวหนังจากการกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อมหรือสารเคมีต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเดิม

 

6. เซรั่มหรือครีมลดสิวเสี้ยน

 

เซรั่มลดสิวเสี้ยน ครีมลดสิวเสี้ยน หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเวชสำอางอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีส่วนผสมของกรดอ่อน เพื่อช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิว ลดต้นเหตุการเกิดสิวเสี้ยน และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้ง่าย ส่วนผสมดังกล่าว เช่น Azelaic Acid, Salicylic Acid, AHA, และ BHA

 

ทั้งนี้ การใช้กรดเหล่านี้เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยในเรื่องการกำจัดสิวเสี้ยนเท่าใดนัก อาจจะต้องใช้การถอนสิวเสี้ยนร่วมด้วยเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และหากใช้เซรั่มหรือครีมไม่เห็นผล อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ยาทาลดสิวเสี้ยนแทน

 

“AHA (Alpha Hydroxy Acid) และ BHA (Beta Hydroxy Acid) เป็นสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ มีฤทธิ์เป็นกรด AHA จะช่วยเรื่องผลัดเซลล์ผิว ส่งเสริมการสร้างคอลลาเจน และลดรอยดำ ส่วน BHB จะช่วยเรื่องการผลัดเซลล์ผิว ลดรอยดำ รวมทั้งลดรอยแดง การอักเสบ หรือระคายเคืองด้วย”

 

7. ยาทาลดสิวเสี้ยน

 

ยาทาลดสิวเสี้ยน จะเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้สำหรับทาภายนอกเพื่อรักษาโรคผิวหนัง ไม่ใช่เวชสำอาง ยาที่นิยมใช้เพื่อรักษาสิวเสี้ยนมี 2 ตัว คือ Topical Retinoid และ Benzoyl Peroxide โดยยา Topical Retinoid จะออกฤทธิ์ช่วยลดการอุดตัน ส่วน Benzoyl Peroxide จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ต้นเหตุหนึ่งของอาการอักเสบบนผิวหนังที่ส่งผลให้เซลล์ผิวเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติจนเสี่ยงเกิดการอุดตันและกลายเป็นสิวเสี้ยน

 

ยาทั้งสองตัวนิยมใช้ควบคู่กัน และจะใช้ร่วมกับการถอนหรือกดสิวเสี้ยนออกไปด้วย เพื่อช่วยลดสิวเสี้ยน ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่เมื่อต้องการเริ่มใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อน เพื่อให้ใช้ยาได้ถูกกับโรคผิวหนังที่เป็นอยู่

 

8. การใช้สารเคมีลอกผิว

 

การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical Peeling) เป็นการรักษาที่ต้องทำโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้น โดยแพทย์จะใช้กรดกัดผิวหนังในบางบริเวณ เพื่อรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ ซึ่งการใช้สารเคมีลอกสิวเสี้ยนจะเป็นการผลัดเซลล์ผิวชั้นบนสุด ทำการขจัดไขมันที่อุดตันอยู่ในรูขุมขน ช่วยลดการเกิดสิวเสี้ยน และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้ง่ายขึ้น

 

ทั้งนี้ การรักษาสิวเสี้ยนด้วยสารเคมีลอกผิวยังไม่นิยมทำมากนักในประเทศไทย อีกทั้งยังให้ผลการรักษาในเวลาสั้น ๆ หลังการรักษาจึงต้องใช้ยาทาลดสิวเสี้ยนร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สิวเสี้ยนกลับมาเกิดซ้ำอีก

 

9. การทำเลเซอร์กำจัดขน

เลเซอร์สิวเสี้ยน

การทำเลเซอร์ (Laser) เป็นการรักษาสิวเสี้ยนด้วยการกำจัดขน เพราะสิวเสี้ยนเกิดจากการที่รูขุมขนสร้างขนมากเกินไป การกำจัดขนไม่ให้เซลล์รากขนงอกขนขึ้นมา จึงเป็นการแก้ปัญหาสิวเสี้ยนที่ต้นเหตุ ทั้งสามารถกำจัดสิวเสี้ยน และป้องกันการเกิดรอยโรคซ้ำในระยะหนึ่งได้ด้วย

 

เลเซอร์จะทำงานโดยการเข้าไปทำลายเมลานินในเส้นขน ทำให้เส้นขนถูกกำจัดออกไปได้หมดโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่การทำเลเซอร์ก็มีความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงเช่นกัน ในผู้เข้ารับการรักษาบางรายอาจเกิดแผลพุพอง ผิวหนังตกสะเก็ด ผิวหนังผลิตเม็ดสีผิดปกติชั่วคราว หรืออาจเกิดรอยแผลเป็นหลังทำก็ได้ ก่อนการตัดสินใจทำเลเซอร์จึงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อน เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการทำเลเซอร์ และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงลง

 

10. การทำ IPL

 

IPL (Intense Pulsed Light) เป็นเครื่องสร้างลำแสงความเข้มข้นสูง นิยมใช้เพื่อรักษาโรคผิวหนังหรือปรับสภาพผิว ในกรณีของสิวเสี้ยน การทำ IPL จะเป็นการกำจัดขนคล้ายกับเลเซอร์ แตกต่างกันเพียงชนิดของลำแสงที่ใช้ในการรักษา

 

โดยการทำเลเซอร์ จะเป็นการใช้ลำแสงกำจัดขนที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า ให้พลังงานที่สูงกว่า กำจัดขนได้ไวกว่า และให้ผลข้างเคียงที่น้อยกว่าเมื่อใช้กับผู้ที่มีผิวสีเข้ม แต่ในปัจจุบัน IPL ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันหลายบริษัทผลิตเครื่อง IPL แบบพกพา ที่สามารถใช้เองได้ที่บ้าน ไม่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหมือนอย่างการทำเลเซอร์

 

การทำ IPL ด้วยเครื่องแบบพกพานั้นค่อนข้างปลอดภัย เครื่องบางยี่ห้อผ่านการรับรองจาก FDA ของไทยแล้ว แต่ถ้าไม่แน่ใจในเรื่องผลข้างเคียง หรือต้องการรักษาสิวเสี้ยนให้หายเร็วขึ้น สามารถปรึกษากับแพทย์ผิวหนังเพื่อขอคำแนะนำได้

 

11. ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง SkinX

 

สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากพบว่าเป็นสิวเสี้ยน หรือโรคผิวหนังใด ๆ ก็ตาม คือควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากโรคผิวหนังหลายอย่างมีลักษณะของรอยโรคคล้ายกัน แต่เกิดจากสาเหตุต่างกัน ทำให้การรักษาแตกต่างกันไปด้วย

 

สิวเสี้ยนเองก็เหมือนกัน บางครั้งคล้ายคลึงกับสิวหัวดำมาก เมื่อต้องการรักษาควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการรักษาต่อไป

 

ปรึกษาแพทย์ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถจองคิวปรึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องเดินทาง ก็สามารถเลือกปรึกษาปัญหาผิวกับแพทย์ผิวหนังได้มากกว่า 210 ท่าน จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศผ่านทางแอปพลิเคชัน SkinX เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

สรุป

การรักษาสิวเสี้ยนจะเน้นไปที่การกำจัดสิวเสี้ยนโดยการถอนหรือลอกออก ร่วมกับการป้องกันไม่ให้เกิดสิวเสี้ยนซ้ำ การรักษาทั้ง 11 วิธีที่แนะนำนี้ สามารถลองทำหลายวิธีร่วมกัน หรือทำผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆได้เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับผิวของตนเองให้มากที่สุด

 

หากต้องการรักษาให้ตรงจุด ใช้เวลาการรักษาน้อยลง เสี่ยงแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หรือเข้ารับการรักษากับแพทย์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน SkinX ได้ คุยกับแพทย์ผ่านแอปได้ทุกที่ ถ้าแพทย์จ่ายยาให้ สามารถรับได้ที่วัตสันสาขาที่ร่วมรายการ หรือรอรับยาที่บ้านผ่านบริการเดลิเวอรีได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก

 

Health Jade Team. Trichostasis spinulosa. Health Jade. https://healthjade.net/trichostasis-
        spinulosa/#:~:text=The%20cause%20of%20trichostasis%20spinulosa,in%20the%
        20obstructed%20follicular%20infundibulum.

 

Kositkuljorn, C. &Suchonwanit, P. (2020, October 30). Trichostasis Spinulosa: A Case Report with
        an Unusual Presentation. Pubmed. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7670378/

 

March, B. &Schroeder, R. (2020, February 21). The differences between IPL and laser hair removal.
        Harper’s Bazaar. https://www.harpersbazaar.com/uk/beauty/skincare/a30794701/ipl-vs-
        laser-hair-removal/

 

Oakley, A. (2014, June). Trichostasis spinulosa. DermNet NZ. https://dermnetnz.org/topics/
        Trichostasis-spinulosa

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า