SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

30 สิงหาคม 2565

มีสิวตรงจมูก อยากให้ผิวเรียนเนียนควรทำอย่างไร?

สิวตรงจมูก

จู่ๆก็เป็นสิวที่จมูกเยอะมาก ทำยังไงดี เชื่อว่า คนส่วนใหญ่มักเคยมีประสบการณ์สิวขึ้นตรงจมูกกันทั้งนั้น บางรายอาจเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบ หรือเป็นสิวเสี้ยนที่จมูก ซึ่งแต่ละชนิดของสิวก็มีลักษณะและอาการที่แตกต่างกันออกไป

 

สิวตรงจมูก สามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าในบริเวณส่วนอื่นๆ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิด สิว เหล่านี้ โดยวิธีการรักษาสิวที่ดี จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพผิวและชนิดของสิวที่เกิดขึ้น การเลือกใช้วิธีที่ผิด อาจทำให้ปัญหาสิวที่มีอยู่บานปลายได้

 

ดังนั้น ก่อนจะเลือกวิธีการรักษา เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า การเป็นสิวที่จมูกเกิดจากอะไร ประเภทของสิวที่จมูกแต่ละชนิด รวมไปจนถึงส่วนที่ทุกคนสงสัย อย่างการบีบสิวจริงๆแล้วควรทำหรือไม่ และการป้องกันสิวขึ้นที่จมูกด้วยตนเองฉบับง่ายๆ เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้วิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม และดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง   

สิวที่จมูกเกิดจากอะไรได้บ้าง

สิวที่จมูกเกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ ดังนี้

  • Follicular Epidermal Hyperproliferation

เซลล์ผิวหนังบริเวณชั้นหนังกำพร้าเกิดการหนาตัวขึ้น ซึ่งบริเวณนั้นเป็นส่วนของรูขุมขนที่มีทางเชื่อมต่อกับต่อมไขมัน(Sebaceous Gland) ส่งผลให้เมื่อเคราติน(Keratin) ไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย รวมตัวกัน และเกิดการขยายตัวในท่อรูขุมขน จะทำให้มีการอุดตันของรูขุมขน (Follicular Plug) เกิดขึ้น

 

  • Sebum Production

บริเวณจมูก เป็นพื้นที่ที่อยู่ใน T-Zone ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการผลิตน้ำมันหรือไขผิวหนัง(Sebum) ออกมามากกว่าบริเวณส่วนอื่นๆ ทำให้เมื่อมีการหลั่งไขมันออกมามากจนเกินไป ไขมันเหล่านั้น จึงกลายเป็นอาหารชั้นดีของบรรดาเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes ที่เป็นตัวการของการเกิดสิว

 

  • ปริมาณของเชื้อ Cutibacterium acnes

ปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium Acnes มีความสัมพันธ์กับการเกิดสิว โดยยิ่งมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสในการเกิดสิวมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะสิวอักเสบ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียใช้เอนไซม์ Lipase ย่อยไขมัน จนได้เป็นกรดไขมันอิสระ ที่สามารถแทรกซึมออกมาจนทำให้เกิดสิวอักเสบที่จมูกได้

  • Inflammation and Immune Response

การอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ เมื่อท่อรูขุมขนอุดตันและอักเสบ จะเกิดการขยายตัวขึ้นจนกระทั่งรูขุมขนแตกออก สารที่อยู่ภายในรูขุมขนจะหลั่งไหลออกมาที่บริเวณผิวหนังชั้นนอก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆที่อาจทำให้เกิดสิวข้างจมูก หรือสิวบริเวณจมูกขึ้น ได้แก่

1.ช่วงวัย จากการศึกษาพบว่า ความชุกของสิวมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เพศชายจะมีโอกาสเป็นสิวมากกว่าเพศหญิง ส่วนในวัยผู้ใหญ่ เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นสิวมากกว่าเพศชาย โดยช่วงอายุ 20 ปี จะมีอัตราการเกิดสิวสูงถึง 64% ช่วงอายุ 30 ปี มีอัตราอยู่ที่ 43% และช่วงอายุ 50 ปี เพศหญิงจะอยู่ที่ 15% และเพศชาย 7%

2.ปัจจัยด้านพันธุกรรม หากมีสมาชิกภายในครอบครัวเป็นสิว ก็จะมีโอกาสในการเป็นสิวด้วยเช่นกัน ส่วนในคู่ฝาแฝดประเภทไข่ใบเดียวกัน จะเกิดสิวเหมือนกันทั้งคู่ โดยมีโอกาสมากถึง 98% เมื่อเทียบกับคู่ฝาแฝดแบบไข่คนละใบ ที่มีโอกาสเพียง 55% 

3.การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ช่วงรอบประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด

สิวที่จมูกมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

การที่สิวขึ้นที่จมูก สามารถเกิดได้หลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนี้

สิวอุดตันที่จมูก

สิวอุดตันที่จมูก

สิวอุดตัน ที่เกิดขึ้นบริเวณจมูก เป็นสิวที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ ส่วนใหญ่มักพบเป็นสิวอุดตันที่จมูกแบบชนิดหัวเปิด หรือที่เรามักเรียกกันว่า สิวหัวดำ(Blackheads)

 

สิวหัวดำ(Blackheads) เป็นสิวอุดตันจมูกที่มักจะมีลักษณะสิวที่เรียบแบน หรือโผล่ขึ้นมาเล็กน้อย บริเวณตรงกลางของสิวหัวดำ จะเห็นได้ว่ามีเคราติน(Keratin) และลิพิด(Lipid) ฝังแน่นอยู่ภายใน โดยเมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น(Oxidation) จะทำให้สิ่งที่ฝังแน่นอยู่ภายในรูขุมขน กลายเป็นสีเข้ม จนเรามองเห็นเป็นสิวหัวดำนั่นเอง

เป็นสิวที่จมูกไม่มีหัว

การ สิวขึ้นจมูกไม่มีหัว (Blind Pimples) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สิวตุ่มนูน(Papules) เป็น สิวอักเสบ (Inflammatory Acne) ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดนบริเวณนั้นๆ

 

การเป็นสิวที่จมูกไม่มีหัวเกิดจากการรวมตัวกันของเคราติน(Keratin) ไขมันจากต่อมไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย ที่มาอุดตันรูขุมขน จนทำให้เกิดการขยายตัวของ Follicular unit ออกไปมากขึ้น โดยยิ่งมีปริมาณเชื้อแบคทีเรีย Proprionibacterium Acnes (P.acnes) มากเท่าไหร่ จะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจาย และระดับการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

ลักษณะของสิวไม่มีหัวที่เป็นสิวข้างจมูก คือ คุณจะพบตุ่มนูนๆ สีแดง ไม่มีหัว มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดปานกลาง บางรายอาจสิวขึ้นข้างจมูก สิวบนจมูก หรือเป็นสิวใต้จมูก ก็สามารถเกิดขึ้นได้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล  

สิวเสี้ยนที่จมูก

สิวเสี้ยนตรงจมูก

การเป็น สิวเสี้ยน ที่จมูก (Trichostasis Spinulosa) เป็นสิ่งที่พบเจอได้อยู่บ่อยๆ ในคนส่วนใหญ่ หลายๆครั้ง มักถูกเข้าใจผิดว่า สิวเสี้ยน คือ สิวชนิดหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิวเสี้ยนไม่ใช่สิว แต่ประการใด

 

สิวเสี้ยนที่จมูกเกิดจากความผิดปกติของ เส้นขน รากขนหลายเส้น จับตัวรวมกับเคราติน(Keratin) อุดตันอยู่ภายในรูขุมขนเดียวกัน จึงทำให้สายตาเรามองเห็นว่าสิวเสี้ยน มีลักษณะเป็นจุดสีเข้ม ขนาดเล็กมาก เมื่อสัมผัสที่บริเวณนั้น จะให้ความรู้สึกสะดุด เพราะมีก้อนเล็กๆแหลมๆโผล่พ้นรูขุมขนขึ้นมา

ทำไมเราถึงไม่ควรบีบสิวที่จมูก

หลีกเลี่ยงการบีบสิวตรงจมูก

สิวควรบีบไหม เชื่อว่าใครหลายๆคน อาจชื่นชอบการใช้วิธีบีบสิว ในการกำจัดสิวที่จมูก เพราะดูเป็นวิธีที่สามารถทำด้วยตนเองได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว หรือบางรายอาจรู้สึกดีเวลาที่บีบสิวออกมาได้สำเร็จ เลยทำให้ใช้วิธีนี้ต่อไปเรื่อยๆ 

แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว การบีบสิวที่จมูกด้วยตนเอง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ได้มากกว่าที่เราคิด เพราะบริเวณร่างกายของเรา มีจุดที่ห้ามบีบสิวอยู่ ดังนั้น หากชอบบีบสิวที่จมูก คุณอาจมีโอกาสต้องเผชิญกับผลเสียจากการบีบสิว ดังนี้

1.การบีบสิวอักเสบที่จมูก อาจทำให้ระดับความรุนแรงของสิวที่มีอยู่เดิม ถูกพัฒนาให้อักเสบรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้นนั่นเอง

 

2.บางกรณีที่มีสิวอักเสบจมูกมากๆ หากเราทำการบีบสิวซ้ำๆ หรือพยายามฝืนบีบสิวที่บีบไม่ออก จะทำให้มีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหลังจากการรักษาสิว ซึ่งรอยแผลเป็นหรือหลุมสิว รักษาได้ยากมาก

 

3.เซลล์ผิวในบริเวณนั้นอ่อนแอลงและเกิดสิวเพิ่มมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียง

 

4.มีโอกาสที่จะเกิดสิวลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ หรือเกิดสิวเรื้อรัง

 

5.มีความเสี่ยงต่อการเป็นสิวติดเชื้อที่มีผลกระทบต่อดวงตาและสมอง เนื่องจากบริเวณจมูก มีเยื่อบุเชื่อมต่อไปยังโพรงจมูกที่มีหลอดเลือดจำนวนมาก หากเกิดการแพร่กระจายเชื้อ อาจทำให้เชื้อเข้าไปยังเนื้อเยื่อโพรงจมูกส่วนลึก และสมองได้  

6.การบีบสิวหัวช้างที่จมูก อาจทำให้รู้สึกเจ็บปลายจมูก และเกิดอาการบวมมากขึ้น จนกลายเป็นปลายจมูกอักเสบในที่สุด

 

รวม 4 วิธีรักษาสิวที่จมูก

สิวที่จมูกรักษายังไงได้บ้าง การ รักษาสิว ที่จมูกอย่างถูกวิธี ควรจะต้องพิจารณาถึงชนิดของสิวที่เกิดขึ้น ระดับความรุนแรงของสิว และสภาพผิวของบุคคลนั้นๆ เพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับแต่ละบุคคล 

 

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง จะเป็นบุคคลสำคัญในการกำกับดูแลเกี่ยวกับการรักษาทั้งหมด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นรอยแผลเป็นหลังการรักษา รอยดำจากสิว หลุมสิวต่างๆ ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งวิธีรักษาสิวที่จมูก มีดังนี้

 

การใช้ยารักษาสิวที่จมูก

“ยา” เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสิวที่จมูก ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยตัวยาเหล่านี้ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น ยาสำหรับรับประทาน ยาสำหรับใช้ภายนอก แบบเจล โลชั่น ครีม น้ำยาทำความสะอาด หรือโฟม ซึ่งตัวยาที่มีการใช้ในการรักษาบ่อยๆ ได้แก่…  

 

  • ยาทาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids) 

ยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) สามารถเกาะติดและกระตุ้น Retinoic Acid Receptor (RARs) ได้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการตอบสนองทางชีววิทยาขึ้น โดยตัวยาที่มักใช้รักษาสิวที่จมูกบ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น…

 

Tretinoin : มีฤทธิ์ในการลดการเกิดสิวอุดตันข้างจมูก สามารถต้านการอักเสบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกจำเป็นต้องใช้ตามเวลาที่แพทย์กำหนด เนื่องจากต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าผิวสามารถทนทานต่อยาตัวนี้ได้ อีกทั้ง ยา Tretinoin จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อถูกแสงแดด และไม่สามารถใช้ร่วมกับ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ได้

 

  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)

เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นตัวยาที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี ลดการอุดตันของสิวได้เล็กน้อย เป็นตัวยาสำหรับใช้ทาภายนอก มีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5% – 5% มีผลเสียคืออาจทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเริ่มจากระดับความเข้มข้นน้อยๆก่อน ในผู้ที่ไม่เคยใช้ยาตัวนี้มาก่อน  

 

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) อย่าง Erythromycin และ Clindamycin เป็นตัวยาที่ใช้รักษาสิวที่จมูกกันอย่างแพร่หลาย ควรใช้ Erythromycin และ Clindamycin ร่วมกับ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อป้องกันอาการดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้

   

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) 

กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มักมาในรูปแบบของยาแบบเจล และน้ำยาทำความสะอาดผิว โดยมีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5% – 2% มีฤทธิ์ในการลดการอุดตันของผิว และยังทำให้เกิดอาการผิวหนังลอก (Exfoliation) ที่บริเวณผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้ Keratinocyte ที่อยู่บนผิวเกาะกันน้อยลง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ให้ผลลัพธ์ในการรักษาน้อยกว่ากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ(Retinoids) และ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อีกทั้งยังก่อให้เกิดการระคายเคืองขึ้นเล็กน้อยด้วย 

 

  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) 

กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) มักจะมาในรูปแบบ ครีม ความเข้มข้น 20% ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ ลดการอุดตันผิว ต้านการสร้างเม็ดสี ทำให้เมื่อใช้งาน อาจทำให้รอยดำหลังการอักเสบจางลงได้ อีกทั้งยังเป็นตัวยาที่ผู้ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์สามารถใช้งานได้อีกด้วย

 

  • ซัลเฟอร์ (Sulfur)

ซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นตัวที่สามารถช่วยยับยั้งการก่อตัวของกรดไขมันอิสระ และมีฤทธิ์ในการทำให้ผิวหนังที่มีความแข็ง หลุดลอกออกไปได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวซัลเฟอร์ (Sulfur) มักจะนิยมใช้ผสมกับ Sodium Sulfacetamide เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น 

 

  • ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)

ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นตัวยาที่มักนิยมใช้ในกลุ่มสิวที่มีระดับอาการรุนแรงและดื้อยา รวมไปจนถึงกลุ่มที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบรับประทานแล้วไม่ได้ผล โดยฤทธิ์ของยาไอโซเตรทติโนอิน รักษารูขุมขนที่อักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือสิวชนิดต่างๆได้ อีกทั้งยังสามารถใช้รักษาได้ในระยะยาวอีกด้วย

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยานี้อาจส่งผลให้เด็กทารกในครรภ์มีความผิดปกติ หรือเกิดร่างกายพิการ แนะนำว่า ควรใช้ยาตัวนี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 

 

รักษาด้วยการปรับฮอร์โมน(Hormonal Therapy)

การรักษาด้วยการปรับฮอร์โมน(Hormonal Therapy) ควรใช้เฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเป็นสิวด้วยสาเหตุจากความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ แนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย อัลตราซาวด์ และตรวจเลือดเพิ่มเติม ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากมีผลข้างเคียงของยาที่ต้องเฝ้าระวัง

 

การทำหัตถการอื่นๆ

 

  • การบำบัดด้วยแสงและเลเซอร์(Phototherapy and Laser)

การบำบัดด้วยแสงและเลเซอร์ เป็นวิธีลดสิวที่จมูกรูปแบบใหม่ โดยแนะนำว่า ควรทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

 

เครื่องมือเลเซอร์ที่ได้รับการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาสิว หรือทำให้สิวบริเวณนั้นๆลดลงได้ ยกตัวอย่างเช่น…

Pulse KTP Laser (532 nm) : พบว่า เมื่อใช้เลเซอร์ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สามารถลดการผลิต sebum ได้ใน 1 เดือน จึงทำให้สิวลดลงได้ 35.9% 

 

Pulse-dye laser (585 nm) : เป็นการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำ กระตุ้นการสร้าง Procollagen โดยการเพิ่มความร้อนในเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆหลอดเลือด ส่งผลให้สามารถรักษาสิวได้เช่นเดียวกัน

  

  • การกดสิว

การกดสิวสามารถช่วยระบายสิ่งที่อุดตันออกจากรูขุมขนของเราได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทำด้วยตนเอง เนื่องจากการกดสิวในบริเวณที่ไม่เหมาะสม หรือการกดสิวผิดวิธี อาจส่งผลให้รูขุมขนแตกออก และพัฒนามาเป็นการอักเสบในที่สุด โดยเครื่องมือในการกดสิวที่ถูกต้อง ควรจะต้องเป็นแบบหัวแบนกว้าง ไม่มีขอบที่แหลมคม และจะต้องมีความสะอาดอย่างถูกวิธี

 

จึงขอแนะนำว่า ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการกดสิวออก จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะการกดสิว จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความสะอาด องศาและแรงในการกดสิวที่พอเหมาะ หากไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอ อาจทำให้เกิดหลุมสิว หรือรอยสิวตามมาทีหลังได้

 

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังกับ SkinX 

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตัดสินใจเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด เพราะในความเป็นจริง มีสิวมากมายหลายชนิด บางชนิดอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้ยากที่จะแยกออกด้วยตนเอง ซึ่งประเด็นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสม เพราะเมื่อสิวคนละชนิดกัน ลักษณะของสิวแตกต่างกัน ก็ย่อมทำให้วิธีการรับมือสิวเหล่านั้นแตกต่างกันออกไปด้วย

 

การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้เราไม่ต้องมาคาดเดา หรือลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพราะแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง จะใช้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และประสบการณ์จากเคสต่างๆ ในการประเมิน วิเคราะห์ วินิจฉัย รวมไปจนถึงการวางแผนการรักษาและการเลือกใช้วิธีการรักษาสิวที่จมูกที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

 

ถึงแม้ว่า การเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง หลายๆคนอาจรู้สึกว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะต้องหาเวลาว่างให้ตรงกับวันที่แพทย์เฉพาะทางเข้าทำงาน ต้องลาหยุดจากการทำงาน ต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆอีก ทำให้หลายๆคนล้มเลิกความตั้งใจในการเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

 

ไม่ต้องทนรู้สึกยุ่งยากแบบนั้นอีกต่อไป เพราะปัจจุบัน มีตัวช่วยดีๆอย่างแอปพลิเคชัน SkinX ที่จะทำให้คุณสามารถเลือกเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางของสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ ได้มากถึง 210 ท่าน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางหรือลาหยุดงาน อยู่ที่ไหนเวลาใดก็สามารถปรึกษาได้ง่ายๆ สะดวกสบาย เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ    

การป้องกันไม่ให้เกิดสิวที่ตรงจมูก

1.การทำความสะอาดใบหน้า วันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีความอ่อนโยน ไม่รบกวนค่า pH ของผิวหนัง โดยสารที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทางการแพทย์ เช่น Benzoyl Peroxide, Salicylic Acid และ Sulfur

2.ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน 

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือบีบจมูกบ่อยๆ

4.เปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยๆ

5.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน และปราศจากน้ำมัน

6.พยายามผ่อนคลาย ลดความเครียดจากเรื่องต่างๆ

7.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ โดยไม่นอนดึกจนเกินไป

สรุป

สิวที่จมูก เป็นบริเวณที่สามารถพบเจอได้บ่อย เพราะไม่ว่าจะเป็นสิวชนิดไหน ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น สิวหัวดำ(Blackheads) สิวอักเสบที่จมูกไม่มีหัว (Blind Pimples) สิวหัวช้างจมูก(Nodulocystic acne) หรือแม้กระทั่งสิวเสี้ยน(Trichostasis Spinulosa) 

การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดของสิวที่เกิดขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะการเลือกที่ถูกต้อง จะเป็นวิธีกำจัดสิวที่จมูกได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งก็จะทำให้สิวต่างๆจางหายไปได้ไว ลดโอกาสในการเกิดปัญหาอื่นๆ อย่างรอยแผลเป็นจากสิว หรือหลุมสิวตามมาอีกด้วย

นอกจากเรื่องของการรักษา อีกส่วนหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือการป้องกันสิวขึ้นจมูกด้วยการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันโอกาสในการเกิดสิวที่จมูกซ้ำขึ้นอีกในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

 

 

Bhate, K. & Williams, HC. Epidemiology of acne vulgaris. Br J Dermatol. 2013;168:474-485.

 

Dreno, B., Jean-Decoster, C., Georgescu, V. Profile of patients with mild-to-moderate acne in Europe: a survey. Eur J Dermatol. 2016;26:177-184.

 

Felman, A. (2017, June 28). The best treatments for acne. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/191530#_noHeaderPrefixedContent

 

Radhakrishnan, R. (2022, April 18). How Do I Get Rid of a Pimple on My Nose Fast?. MedicineNet. https://www.medicinenet.com/how_do_i_get_rid_of_a_pimple_on_my_nose_fast/article.htm

 

Wei, B., Pang, Y., Zhu, H., et al. The epidemiology of adolescent acne in North East China. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2010;24:953-957.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า