สิวฮอร์โมนในผู้ชายและผู้หญิง สิวประจำเดือน สัญญาณเตือนโรคระบบฮอร์โมน!
“สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne)” คือ สิว ที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำให้สิวฮอร์โมนมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมซ้ำๆ เช่น ช่วงรอบประจำเดือน ช่วงหมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ ภาวะความเครียด ฯลฯ ส่งผลให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสิวฮอร์โมน ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยผู้ใหญ่นั่นเอง
แล้วแบบนี้ สิวฮอร์โมนเป็นยังไง? เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง? ตำแหน่งสิวฮอร์โมนที่มักพบบ่อย รวมไปจนถึง สิวฮอร์โมนรักษายังไง? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆกันได้ในบทความนี้
สารบัญบทความ
- สิวฮอร์โมนเป็นยังไง
- สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร
- บริเวณที่มักเกิดสิวฮอร์โมน
- สิวฮอร์โมนรักษายังไง
- วิธีป้องกันสิวฮอร์โมน
- คำถามที่พบบ่อย
- สรุป
สิวฮอร์โมนเป็นยังไง
สิวฮอร์โมนเป็นแบบไหน? ลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง? หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “สิวฮอร์โมน” ที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน สามารถเป็นได้ทั้งสิวอุดตันและ สิวอักเสบ จึงทำให้อาการแสดงของสิวฮอร์โมนที่ปรากฏในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน โดยลักษณะสิวฮอร์โมนแต่ละประเภท มีดังนี้
- สิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) หรือ สิวหัวดำ (Blackheads)
มีลักษณะเป็นสิวอุดตันขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางมีการฝังตัวของเคราติน(Keratin)และลิพิด(Lipid) ที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น(Oxidation)กับอากาศ ทำให้จากสีขาวเหลือง กลายเป็นสีเข้มหรือสีดำนั่นเอง
- สิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedone) หรือ สิวหัวขาว (Whiteheads)
ลักษณะเป็นสิวอุดตันขนาดเล็กที่มีความนูนออกมาเล็กน้อย บริเวณหัวสิวมีสีขาว และสังเกตเห็นจากภายนอกได้ยาก
- สิวตุ่มนูนแดง (Papule)
สิวตุ่มนูนแดง (Papule) เป็นลักษณะสิวกลมๆ สีแดง ขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร ภายในไม่มีการเกิดหนอง เมื่อสัมผัสอาจให้ความรู้สึกเจ็บเล็กน้อย
มีลักษณะเป็นสิวสีแดง ตรงกลางปรากฏหนองสีขาวเหลือง ให้ความรู้สึกเจ็บปวดแก่ผู้ที่สัมผัสโดนเล็กน้อย
- สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule)
การอักเสบระดับรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะเป็นสิวขนาดใหญ่ แข็งเป็นก้อน ไม่มีหัวสิว ไม่มีหนองอยู่ภายใน ไม่สามารถบีบออกได้ เนื่องจากเป็นสิวที่เกิดอยู่ในระดับชั้นผิวหนังที่ค่อนข้างลึก
สิวฮอร์โมนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน หรือ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกาย เมื่อปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) เพิ่มสูงขึ้น ฮอร์โมนนี้จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ให้ผลิตซีบัม(Sebum) ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น
หากเคราติน(Keratin) ซีบัม(Sebum) และเชื้อแบคทีเรียรวมตัวกัน จะก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน จนกลายมาเป็นสิวอุดตัน (Comedones) หรือในบางกรณี เมื่อมีการอุดตันรูขุมขนขึ้นมากๆ ขยายตัวจนทำให้ท่อรูขุมขนเกิดการอักเสบ ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะกลายเป็นสิวอักเสบ (Inflammatory acne) ได้เช่นกัน
กรณีที่ทำให้ระดับฮอร์โมนภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น…
- ช่วงประจำเดือน ได้แก่ การมีประจำเดือน, ผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS)
- ภาวะHyperandrogenism
- ภาวะความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ช่วงการตั้งครรภ์
บริเวณที่มักเกิดสิวฮอร์โมน
ตำแหน่งสิวฮอร์โมนที่มักพบบ่อย ได้แก่ สิวฮอร์โมนแก้ม กรามซึ่งเป็นบริเวณส่วนล่างของใบหน้า และสิวฮอร์โมนที่หลั
สิวฮอร์โมนรักษายังไง
การรักษาสิวฮอร์โมน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุร่วมอื่นๆด้วย เช่นภาวะถุงน้ำรังไข่ ซีสที่รังไข่ ส่วนการดูแลรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี โดยแต่ละวิธี อาจมีรายละเอียดการรักษาที่แตกต่างกันออกไป จึงควรพิจารณาวิธีรักษาสิวฮอร์โมนที่เหมาะสมกับชนิดของสิว และสภาพผิวของตนเอง เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีรักษาสิวฮอร์โมน มีดังนี้
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนแบบธรรมชาติ
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนแบบธรรมชาติ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ได้แก่…
- Tea Tree Oil น้ำมันสำหรับทาเฉพาะที่ ที่ช่วยในเรื่องลดการอักเสบของสิว โดยควรทำการทดสอบกับผิวหนังก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นได้
- ขัดผิวด้วยสครับอย่างอ่อนโยน เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ไม่ให้เกิดการอุดตันรูขุมขน แต่ไม่ควรทำบ่อยกว่า 1 ครั้ง/เดือน
- รับประทานน้ำมันปลา เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้
- กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids : AHAs) เป็นสารสกัดธรรมชาติที่ได้มาจากผลไม้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นส่วนผสมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีฤทธิ์ในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และช่วยลดรอยแผลเป็นให้จางลง
รักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาทา
วิธีแก้สิวฮอร์โมนด้วยยาทา เป็นยาที่ใช้ภายนอก เพื่อรักษาเฉพาะบริเวณที่เกิดสิวฮอร์โมนโดยตรง ซึ่งสิวฮอร์โมนรักษาได้ด้วยกลุ่มยาดังต่อไปนี้
- ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids)
ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) เป็นกลุ่มที่สามารถรักษาได้ทั้งสิวอุดตัน และสิวอักเสบ โดยตัวยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Tretinoin, Adapalene, Tazarotene มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ และลดการอุดตันของสิว แต่อย่างไรก็ตาม อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง และไวต่อแสงได้มากขึ้น
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สามารถลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียได้โดยการปล่อย Free Oxygen Radicals เพื่อจับกับส่วนต่างๆของเซลล์แบคทีเรียและทำลายแบคทีเรียลง
อีกทั้งตัวยาชนิดนี้ ยังลดการอุดตันของสิว และเชื้อแบคทีเรียไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ทนทานต่อฤทธิ์ยาได้ จึงทำให้ไม่มีประเด็นเรื่องของการดื้อยา ซึ่งเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มีทั้งรูปแบบโลชั่น เจล ครีม โฟม ที่มีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้ยาชนิดนี้ อาจต้องระมัดระวังเรื่องของผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอาการผิวแห้ง และการระคายเคืองต่างๆ ได้
- ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Antibiotics)
ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Antibiotics) โดยทั่วไปมักนิยมใช้อยู่ 4 ตัว ได้แก่ Erythromycin, Clindamycin, Metronidazole และ Dapsone
ยา Erythromycin, Clindamycin และ Metronidazole เป็นยาทาภายนอกที่ควรใช้ร่วมกับ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา จึงไม่นิยมใช้ตัวยาเพียงแค่ตัวเดียวในการรักษาเท่าไหร่นัก
ส่วน Dapsone เป็นตัวยาที่ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย และไม่ควรใช้ยา Dapsone ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เนื่องจากอาจเกิดรอยสีส้มขึ้นบนผิวหนัง
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นกรดที่ได้จากสารสกัดตามธรรมชาติ สามารถเป็นยาต้านจุลชีพ(Antimicrobial) ช่วยลดการอุดตันรูขุมขน ต้านการสร้างเม็ดสี (Tyrosinase inhibitor) และลดรอยดำหลังจากการรักษาสิวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ควรใช้ปริมาณตามที่แพทย์ให้คำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนได้
ยารักษาสิวฮอร์โมนแบบรับประทาน
การใช้ยาลดสิวฮอร์โมนแบบรับประทาน เป็นการรักษาสิวฮอร์โมนจากภายใน ซึ่งสามารถช่วยแก้สิวฮอร์โมนที่มีระดับความรุนแรงมาก หรือสิวเรื้อรัง ให้มีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยยารักษาสิวฮอร์โมนแบบรับประทาน มีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน (Antibiotics)
ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน (Antibiotics) มีตัวยาที่อยู่ในกลุ่มนี้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น Tetracycline, Doxycycline, Minocycline, Macrolides ฯลฯ ซึ่งแต่ละตัว อาจมีข้อดีและผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างนั้น ยาปฏิชีวนะยังคงเป็นกลุ่มยาที่มีการจำกัดการใช้ยาอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดการดื้อยาขึ้นนั่นเอง
- การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เป็นการใช้ยา เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) และควบคุมฮอร์โมนให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่…
- ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน(Oral Contraceptives)
ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน(Oral Contraceptives) เป็นยาที่ลดปริมาณแอนโดรเจน (Androgen) โดยการเข้าไปยับยั้งการสร้าง Luteinizing Hormone (LH), ลดปริมาณ Free Testosterone และขัดขวางการทำงานของ Androgen Receptor
- ยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists
ยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists (GnRH Agonists) มีฤทธิ์ในการทำลายวงจรการหลั่งฮอร์โมน Gonadotropin ที่มาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) ส่งผลให้ปริมาณแอนโดรเจน (Androgen)ลดลง
- การใช้ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)
ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) นิยมใช้ในกลุ่มสิวอักเสบที่มีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนถึงความรุนแรงมาก และกลุ่มที่มีอาการดื้อยา รักษาด้วยยาชนิดอื่นๆ ไม่ได้ผล ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของต่อมไขมันที่ผลิตซีบัม(Sebum)ออกมามากจนเกินไป ลดการอักเสบ และช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวเข้าสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น
การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยหัตถการอื่นๆ
การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการทำหัตถการอื่นๆ ก็สามารถช่วยให้สิวจากฮอร์โมนลดลงได้เช่นเดียวกัน โดยวิธีการรักษาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่…
- การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical Peel)
การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical Peel) เป็นวิธีการลดสิวฮอร์โมนด้วยการใช้สารเคมีลอกผิวหนังชั้นนอกสุดออกมา เพื่อป้องกันการอุดตันรูขุมขนและช่วยในเรื่องของการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งมักจะนิยมใช้ในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาสิวด้วยรูปแบบอื่นๆได้ เช่น ผู้ที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ ผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้
- การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser)
การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser) เป็นวิธีการรักษาสิวฮอร์โมนและสิวชนิดอื่นๆ แบบใหม่ ที่ในปัจจุบันยังคงมีการพัฒนาอยู่ตลอด
โดยการรักษาประเภทนี้ จะช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C.acne ลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดรอยดำ หลุมสิว หรือรอยแผลเป็นจากสิวได้ อีกทั้งการทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสงนี้ จะเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาชนิดอื่นๆ อีกด้วย
- การฉีดสิว (Cortisone Injections)
การฉีดสิวเป็นการฉีดยาเพื่อลดการอักเสบของสิวชนิดเป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง ให้ผลการรักษาที่ดี แต่ควรใช้ยาทาอื่นๆควบคู่ไปด้วย
แนะนำปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
“สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne)” เป็นสิวที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากฮอร์โมนภายในร่างกายเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดสิวได้หลากหลายชนิด ซึ่งจะส่งผลให้วิธีการดูแลรักษาสิวแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้น การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและชนิดของสิวที่เกิดขึ้น อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสิวฮอร์โมนอย่างถูกวิธี
ปัจจุบัน การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพราะแอปพลิเคชั่น SkinX ได้ทำการรวบรวมแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศมากกว่า 210 ท่าน มาให้คำปรึกษา และดูแลคุณโดยเฉพาะ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลานัดหมาย อยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายๆ เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ
อ่านต่อบทความ: รักษาสิวดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธี ให้ผิวกลับมาเนียนใส!
วิธีป้องกันสิวฮอร์โมน
ถึงแม้ว่า “สิวฮอร์โมน(Hormonal Acne)” อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เราสามารถลดอัตราความเสี่ยงในการเกิดสิวฮอร์โมนได้ ดังนี้
- พยายามหากิจกรรมที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดสะสม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่อุดตันรูขุมขน หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของลาโนลิน(Lanolin) ซิลิโคน(Silicone) และน้ำมันแร่(Mineral Oil)
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ทำความสะอาดใบหน้า และส่วนอื่นๆของร่างกาย วันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่แต่งหน้า ควรทำความสะอาดเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดหมดจด
- งดการบีบ แคะ หรือสัมผัสสิวบริเวณนั้นๆ
คำถามที่พบบ่อย
สิวประจำเดือนเป็นแบบไหน?
สิวประจำเดือนเป็นยังไง? “สิวฮอร์โมนประจำเดือน” เป็นการเกิดสิวที่มีความสัมพันธ์กับช่วงรอบประจำเดือนของแต่ละบุคคล เนื่องจากช่วงใกล้เข้าสู่รอบประจำเดือน จะเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่มีความแตกต่างไปจากสภาวะปกติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีประจำเดือน
โดยสิวประจำเดือนจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกรอบประจำเดือน ส่วนใหญ่มักจะเกิดเป็นสิวก่อนประจำเดือนจะมาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายสิวอาจขึ้นตอนเป็นประจำเดือนแล้ว ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน และนอกจากเรื่องของสิว ในช่วงนี้อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ความเครียด หรือเจ็บบริเวณหน้าอกร่วมด้วย
สิวฮอร์โมนหายตอนไหน
หลายๆ คน อาจมีข้อสงสัยว่า สิวฮอร์โมนหายตอนไหน? ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่? ในความเป็นจริงระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาของแต่ละคน มีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิวฮอร์โมน และการเลือกวิธีการรักษาสิวฮอร์โมน จึงทำให้บางรายสิวฮอร์โมนอาจอยู่ได้เพียง 2-3 วัน แต่ในบางกรณีก็คงอยู่ได้ถึง 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยๆจางหายไป
สรุป
“สิวฮอร์โมน(Hormonal Acne)” เป็นสิวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ โดยช่วงที่ฮอร์โมนมักมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่วงรอบประจำเดือน ความเครียด ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ฯลฯ จึงทำให้การแก้ไขปัญหานี้ด้วยตนเอง อาจไม่ง่ายดายนัก
ฉะนั้น การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทางด้านผิวหนังโดยตรง อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองควบคู่ไปกับการเข้ารับการรักษา ก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจทำให้ระดับความรุนแรงของสิวทุเลาลง และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวใหม่ๆขึ้นเช่นเดียวกัน
บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Cherney, K. (2019, March 7). Hormonal Acne: Traditional Treatments, Natural Remedies, and More. Healthline. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/hormonal-acne#diet
Hess, S. (2020, November 20). What is Hormonal Acne? Hormonal Acne Treatment. Apotheco Pharmacy. https://www.apothecopharmacy.com/blog/what-is-hormonal-acne-hormonal-acne-treatment/
Hormonal Acne. (2021, October 09). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21792-hormonal-acne#outlook–prognosis
Macgill, M. (2018, July 23). Hormonal acne: What you need to know. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/313084
Perkins, S. (2020, June 12). The Ultimate Guide to Period-Related Breakouts. Healthline. https://www.healthline.com/health/period-acne