SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

27 มกราคม 2566

หน้าเป็นหลุมสิวทำอย่างไรดี? รักษาด้วยตัวเองได้หรือไม่?

หลุมสิวรักษายังไง

“หลุมสิว” ปัญหาที่ตามมาหลังการเกิดสิว เป็นปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังเป็นรอยจนสร้างความรำคาญใจได้ไม่ต่างจากสิวเลย ในบทความนี้ SkinX จะพาไปรู้จักกับหลุมสิว ว่าคืออะไร ต่างจากรอยแผลเป็นจากสิวอื่นๆอย่างไร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดหลุมสิว ประเภทของหลุมสิว การรักษาและป้องกันการเกิดหลุมสิว ให้คุณสามารถรับมือกับหลุมสิวได้ในเบื้องต้น

สารบัญบทความ

หลุมสิวคืออะไร? ต่างจากแผลเป็นอื่นอย่างไร?

หลุมสิวคือ

หลุมสิว (Atrophic Acne Scars) คือแผลเป็นจากสิวชนิดหนึ่ง ที่จะมีลักษณะเป็นหลุมยุบตัวกว่าระดับของผิวหนังปกติ ทำให้เห็นว่าผิวหนังไม่เรียบเนียน เป็นหลุมบ่อ กลายเป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดต่อเนื่อง และเป็นผลข้างเคียงหลังการเกิดสิว (Acne Vulgaris) โดยเฉพาะสิวอักเสบรุนแรง

ปกติแล้วแผลเป็นจากการเกิดสิวที่พบได้บ่อย มี 2 ประเภท ได้แก่หลุมสิว (Atrophic scars) และแผลเป็นนูน (Hypertrophic scars) แผลเป็นจากสิวทั้งสองชนิดจะแตกต่างกันตามระดับของแผลเป็น ถ้าแผลเป็นต่ำกว่าผิวหนังโดยรอบจะเรียกว่าหลุมสิว แต่ถ้าแผลเป็นนั้นสูงกว่าผิวหนังโดยรอบจะเรียกว่าแผลเป็นนูน ซึ่งแผลเป็นทั้งสองแบบจำเป็นต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เนื่องจากมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน

Fact: หลังการเกิดสิวไม่ได้มีแค่ปัญหาแผลเป็นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหารอยสิวจากการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีหลังเกิดสิวด้วย (Pigmentary Changes) ซึ่งปัญหาดังกล่าวคือการเกิดรอยแดง (Post – inflammatory Erythema) และรอยดำ (Post – inflammatory Hyperpigmentation) จากสิวนั่นเอง

ทำไมสิวจึงทำให้เกิดหลุมสิว?

หลุมสิวเกิดจากกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อหลังเกิดสิว ที่ไม่สามารถสร้างคอลลาเจน (Collagen) และเนื้อเยื่อได้เพียงพอ ทำให้เนื้อเยื่อใต้ชั้นหนังกำพร้าหายไปบางส่วน จนเกิดแผลเป็นที่เป็นหลุมหลังจากรักษาสิวหาย

 

สิวหลายชนิด โดยเฉพาะสิวอักเสบ จะทำลายเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบให้หายไปบางส่วน บางครั้งการรักษาด้วยการกดสิวหรือบีบสิวที่ผิดวิธี ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ ก็ทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายไปได้เช่นกัน 

 

เมื่อผิวหนังฟื้นฟูตัวหลังการอักเสบหายไป ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นใหม่เพื่อเติมผิวในส่วนเดิมที่ถูกทำลายไป แต่ถ้าผิวหนังถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างและลึก ร่างกายจะไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อเพื่อเติมส่วนที่หายไปได้ทั้งหมด ทำให้เกิดเป็นหลุมสิวขึ้นนั่นเอง

 

บางครั้งหลุมสิวอาจเกิดจากการสมานแผลที่ไม่สมบูรณ์ จนเกิดพังผืดระหว่างผิวหนังชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ดึงผิวหนังให้ยุบลงจนเห็นเป็นหลุมสิวได้เช่นกัน

 

ซึ่งต้นเหตุของหลุมสิว มักเกิดจากการอักเสบรุนแรง การรักษาสิวช้าเกินไป รักษาไม่ถูกวิธี ขนาดของแผล ความตึงของผิวหนัง และสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย

หลุมสิวมีกี่แบบ?

ประเภทหลุมสิว

หลุมสิวมีกี่แบบ? รอยหลุมสิวมีด้วยกัน 3 แบบ แบ่งออกตามลักษณะการยุบตัวของผิวหนัง ดังนี้

Ice-pick Scars

รอยหลุมสิวแบบ Ice-pick Scars จะยุบเข้าไปในผิวเป็นกรวยแหลม ขอบหลุมสิวไม่เรียบ ฐานหลุมสิวลึก แคบเล็ก บางครั้งอาจลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ เส้นผ่านศูนย์กลางหลุมสิวมีขนาดน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เป็นหลุมสิวชนิดที่รุนแรง และรักษาได้ยากมากที่สุด

 

Box Scars

หลุมสิวแบบ Box Scars จะเป็นรอยแผลเป็นกว้างรูปวงกลมหรือวงรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.5 ไปจนถึง 4 มิลลิเมตร มีขอบหลุมสิวชัดเจน ขอบและฐานของหลุมสิวกว้างเท่ากัน

 

Rolling scars

หลุมสิวแบบ Rolling scars จะมีลักษณะเป็นแผลตื้นกว้าง เส้นผ่านศูนย์กลางจะมากกว่า 4 – 5 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นแอ่ง ปากหลุมสิวค่อนข้างกว้าง แต่จะค่อยๆโค้งลง ทำให้ฐานหลุมสิวแคบกว่าปากหลุม บางครั้งทำให้ผิวโดยรวมดูขรุขระเหมือนลูกคลื่นได้

 

ประเภทหลุมสิวแบ่งตามลักษณะของหลุมสิวและความรุนแรงของแผลเป็น ส่วนเรื่องการรักษาก็จะรักษาด้วยวิธีการเดียวกัน เพียงแต่จะฟื้นตัวยากง่ายแตกต่างกันไปตามความรุนแรงนั่นเอง

หลุมสิวรักษาอย่างไร? 

รักษาหลุมสิว

การรักษาหลุมสิว แก้หลุมสิว สามารถทำได้หลากหลายวิธี ส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างคอลลาเจนขึ้นมาเพื่อเติมให้หลุมสิวที่ยุบลงไป ตื้นและเต็มขึ้นมาเท่ากับผิวในส่วนอื่นๆ โดยวิธีการที่ใช้กันเพื่อรักษาหลุมสิว มีดังนี้

 

เลเซอร์ (Laser)

 

เลเซอร์เป็นวิธีแก้หลุมสิวที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถเลือกให้เลเซอร์ส่งผลกับเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ต้องการได้โดยการปรับความยาวคลื่น ทำให้รักษาได้อย่างตรงจุด ทั้งยังไม่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบเสียหายด้วย

 

เลเซอร์ที่ใช้รักษาหลุมสิวมีทั้ง Erbium YAG laser (Er:YAG), Long Pulse Nd YAG laser (Nd:YAG), และ Carbon dioxide (CO2) laser เลเซอร์เหล่านี้จะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมา เพื่อให้หลุมสิวเต็มขึ้น เลเซอร์บางตัวก็ทำให้ผิวหนังชั้นนอกลอกออก เพื่อผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวเรียบเนียนมากขึ้นด้วย

 

ส่วนข้อเสียของการใช้เลเซอร์รักษาหลุมสิวคืออาจทำให้ระคายเคือง ผิวหนังแดงลอกหลังจากรักษา และการใช้เลเซอร์ไม่ได้เหมาะกับทุกสีผิว หากใช้เลเซอร์รักษาหลุมสิวในผู้ที่มีผิวสีเข้ม (Fitzpatrick Scale อยู่ที่ระดับ 5 – 6) อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดรอยดำหลังการรักษาได้

 

Fact : Fitzpatrick Scale เป็นสเกลบอกระดับความเข้มของสีผิวที่มีผลทางการแพทย์ โดยจะมีระดับตั้งแต่ 1 – 6 ระดับ 1 คือผิวสีอ่อนที่สุด ระดับ 6 คือผิวสีเข้มที่สุด

 

การทำ Microneedling

หน้าเป็นหลุมสิวรักษายังไง

Microneedling เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กทิ่มลงที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นหลุมสิว โดยจะทิ่มให้ถึงผิวหนังที่อยู่ใต้ฐานหลุมสิว เพื่อกระตุ้นเนื้อเยื่อด้านล่างให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมา เติมหลุมสิวให้ตื้นขึ้นเสมอกับผิวบริเวณโดยรอบ

 

เวลาแทงเข็ม แพทย์จะแทงให้ลึกเล็กน้อยเพื่อให้เกิดผลที่ผิวหนังในชั้นลึกลงไป โดยจะลึกประมาณ 1.5 – 2 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับว่าแผลเป็นอยู่ลึกขนาดไหน ผิวหนังหนาบางเท่าไหร่ จำเป็นต้องแทงลึกแค่ไหนจึงจะเห็นผล

 

นอกจากจะช่วยรักษาหลุมสิวแล้ว Microneedling ยังช่วยเรื่อง anti-aging และการสร้างเม็ดสีด้วย Microneedling เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ผิวสีเข้มที่ต้องการลดหลุมสิว เนื่องจากไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดรอยดำ ส่วนผลข้างเคียงทั่วไปของ Microneedling คือจะทำให้ผิวแสบ แดง เกิดสะเก็ดขึ้นเนื่องจากการใช้เข็มเจาะผิว ทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อหากทำในสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย 

 

ทั้งนี้ Microneedling ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA ในไทยให้ใช้รักษาหลุมสิว ดังนั้นจึงหาทำได้ยาก และยังเป็นหัตถการที่ไม่สามารถทำเองได้ที่บ้าน เพราะนอกจากจะเสี่ยงติดเชื้อแล้ว ยังเจ็บและอาจไม่ได้ผลหากแทงเข็มไม่ลึกพอ

 

Fact : FDA หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่คอยควบคุมสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ซึ่งหัตถการต่างๆ ก็ต้องผ่านการรับรองจาก FDA ก่อนเปิดให้บริการเช่นเดียวกัน

 

การลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)

ลอกผิวรักษาหลุมสิว

การลอกผิวด้วยสารเคมี เป็นวิธีการรักษาสิวและรักษาหลุมสิวที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ ส่วนในไทยวิธีการนี้ยังไม่นิยมทำมากนัก โดยวิธีการคือแพทย์จะใช้สารเคมีทาบนผิวทั้งหมดหรือเฉพาะส่วน เพื่อเร่งการผลัดเซลล์ผิวและลอกผิวส่วนบนออกไป เพื่อให้ผิวเรียบเนียนมากขึ้น หลุมสิวตื้นขึ้น หากใช้สารเคมีลอกผิวระดับลึกก็จะสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ด้วยเช่นกัน

 

การลอกผิวด้วยสารเคมี มีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ การลอกผิวระดับตื้น (Superficial depth chemical peels) ลอกผิวระดับปานกลาง (Medium depth chemical peels) และลอกผิวระดับลึก (Deep depth chemical peels) ซึ่งระดับความลึกแต่ละอย่างก็จะให้ผลการรักษาที่ต่างกันไป อย่างการลอกผิวระดับตื้นอาจจะทำได้เพียงปรับพื้นผิวของผิวหนังโดยรวม ส่วนการลอกผิวระดับลึกจะสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ด้วย

 

การลอกผิวด้วยสารเคมีในระดับลึก จะใช้ทาเฉพาะจุดที่เป็นหลุมสิวด้วยเครื่องมีปลายแหลม และต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากสารเคมีลอกผิวในระดับลึกมักจะเป็นกรดที่ค่อนข้างแรง หากใช้ในตำแหน่งอื่นที่เป็นผิวปกติ หรือใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดผลเสียกับผิวหนังมากกว่าผลดีได้ 

 

ตัวอย่างหัตถการซึ่งใช้สารเคมีลอกผิวระดับลึกเพื่อรักษาหลุมสิวที่นิยมทำกัน มีชื่อว่า “TCA Cross” หัตถการดังกล่าวเป็นหัตถการไม่กี่อย่างที่สามารถรักษาหลุมสิวแบบ Ice-pick Scars ได้

 

ข้อเสียของการทำ Chemical Peels คือจะทำให้ผิวหนังคัน แดง แสบ ระคายเคืองในช่วงแรก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดรอยดำ (Hyperpigmentation) และรอยด่าง (Hypopigmentation) จากการกัดกร่อนของกรด นอกจากนี้การทำ Chemical Peels ด้วยสารเคมีอย่าง “Phenol” ยังมีความเสี่ยงส่งผลเสียต่อหัวใจ ไต และตับได้ หากการรักษาไม่ได้ควบคุมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

 

นอกจาก Laser, Microneedling, และ Chemical Peels แล้ว ยังมีหัตถการอื่นที่ทำได้อีก อย่างเช่น Subcision การใช้เข็มตัดพังผืดหลุมสิว, Dermal Filler การฉีดฟิลเลอร์เติมหลุมสิว, และ Dermabrasion การขัดผิวเพื่อให้หลุมสิวตื้นขึ้น

 

การใช้ยาทาแก้หลุมสิว

 

ยาทาสำหรับแก้หลุมสิว หรือครีมรักษาหลุมสิว จะนิยมใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอ่อนๆ เพื่อลอกผิวชั้นตื้นๆ ให้ผิวหนังเรียบเนียนเสมอกันมากขึ้น โดยสารเคมีที่ใช้จะมีทั้งกรดต่างๆ อย่าง Lactic Acid หรือ Alpha hydroxy acids และยาที่ช่วยทั้งเรื่องการผลัดเซลล์ผิวและการสร้างคอลลาเจนอย่าง Retinoids

 

ยาในกลุ่ม Retinoids มีหลายตัวมาก บางตัวนิยมใช้สำหรับรักษาสิว บางตัวก็นิยมใช้สำหรับรักษาหลุมสิวได้เช่นกัน แต่การรักษาหลุมสิวด้วยยาทา ทั้งยากลุ่มกรดหรือ Retinoids จะไม่ได้ผลดีมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับหัตถการอื่นๆ เนื่องจากยาทาไม่สามารถให้ผลได้ลึกมากพอที่จะรักษาหลุมสิวได้นั่นเอง

 

ปรึกษาแพทย์ SkinX

 

การรักษาหลุมสิวเป็นสิ่งที่ยากกว่าการรักษาสิวอย่างมาก เนื่องจากหลุมสิวเป็นภาวะของผิวหนังที่จะคงอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ หากไม่รักษาจะไม่สามารถหายไปเองได้เลยไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม อีกทั้งการรักษาหลุมสิวด้วยตัวเองยังใช้เวลานาน และให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ดังนั้นการรักษาโดยแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาหลุมสิว

 

การปรึกษาแพทย์เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพื่อประเมินความรุนแรงของหลุมสิวในเบื้องต้นและหาทางรักษาหลุมสิวที่เหมาะกับสภาพผิว สีผิว และความรุนแรงของหลุมสิวที่เป็น

 

การปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องง่าย เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SkinX ก็สามารถเลือกปรึกษาปัญหาหลุมสิว และปัญหาผิวหนังอื่นๆ กับแพทย์จากสถานพยาบาลชั้นนำได้มากกว่า 200 ท่าน สะดวก ปรึกษาได้ทุกที่ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอคิว เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ!

การป้องกันการเกิดหลุมสิว

ป้องกันหลุมสิว

การป้องกันการเกิดสิว การอักเสบของสิว และการเกิดหลุมสิวนั้นไม่สามารถทำได้ 100% แต่ก็มีวิธีการที่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดหลุมสิวได้ และสามารถทำได้ง่ายกว่าการรักษาหลุมสิว โดยการทำตามวิธีดังต่อไปนี้

 

  • ปรึกษาแพทย์ และรักษาสิวทันทีเมื่อเริ่มเป็นสิว เพื่อลดโอกาสเกิดสิวอักเสบที่จะทำให้เป็นหลุมสิวในอนาคต
  • หากสิวขึ้นเล็กน้อยให้ใช้ยาทาเบื้องต้น อย่าง Retinoids หรือ Benzoyl peroxide ไม่ควรกดสิว หรือบีบสิวเองเด็ดขาด
  • หลังสิวหายแล้วตกสะเก็ด ห้ามแกะสะเก็ดแผล เนื่องจากจะทำให้แผลสมานตัวช้าลงและเกิดเป็นหลุมสิวได้
  • หากรู้ตัวว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นแผลเป็นหรือหลุมสิวง่าย ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

คำถามที่พบบ่อย

 

รักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง ได้ไหม?

วิธีรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง สามารถทำได้ แต่จะรักษาได้เพียงหลุมสิวตื้นๆ เท่านั้น ซึ่งการใช้ยาทารักษาหลุมสิวจะทำได้เพียงกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวไวขึ้น ช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้นได้เล็กน้อย ไม่สามารถรักษาหลุมสิวให้หายสนิทได้

ยาทารักษาหลุมสิวดังกล่าวได้แก่ Lactic Acid, Alpha hydroxy acids, และ Retinoids ในกลุ่มยาดังกล่าว Retinoids ได้รับความนิยมมากที่สุด

 

วิตามินซีช่วยในเรื่องของหลุมสิวไหม?

วิตามินซีช่วยในเรื่องหลุมสิวได้ หากใช้เป็นยาทาจะช่วยเรื่องการผลัดเซลล์ผิว แต่ถ้าใช้ร่วมกับการทำ Microneedling จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ในระดับหนึ่ง

 

หลุมสิวนานไหมกว่าจะหายไป?

หลุมสิวนั้นใช้เวลานานในการรักษา และหากไม่รักษาก็จะไม่หายไปเอง ในกรณีที่รักษาหลุมสิวอาจจะใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน หรือเป็นปีกว่าหลุมสิวจะหายไป แม้จะรักษาด้วยหัตถการที่เหมาะสมแล้วก็ตาม ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิวตั้งแต่แรกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สรุป

หลุมสิวเป็นแผลเป็นที่เกิดจากสิว ซึ่งสามารถรักษาได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานาน ทั้งยังต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นการปรึกษากับแพทย์ก่อนตัดสินใจทำเลเซอร์, Microneedling, หรือ Chemical Peels เป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อไม่ให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายเกินควร

 

ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับการรักษาหลุมสิว และปัญหาผิวหนังอื่นๆได้ง่ายๆ เพียงดาวน์โหลดแอปฯ SkinX ก็สามารถดูรีวิวและเลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษาได้เลย ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอนาน ดาวน์โหลดแอปฯ ง่ายๆได้ทั้งระบบ IOS และ Android 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Chawla, S. (2014, December). Split Face Comparative Study of Microneedling with PRP Versus
        Microneedling with Vitamin C in Treating Atrophic Post Acne Scars. PubMed.
        https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4338464/

 

Gozali, M. V., & Zhou, B. (2015, May). Effective Treatments of Atrophic Acne Scars. PubMed.
        https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4445894/

 

Pullar, J. M., Carr, A. C., & Vissers, M. C. M. (2017, August). The Roles of Vitamin C in Skin Health.
        PubMed. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5579659/

 

Sachdeva, S. (2010, September 2). Research Letter: Lactic acid peeling in superficial acne scarring
        in Indian skin. Wiley Online Library. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.
        1473-2165.2010.00513.x

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า