SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

30 สิงหาคม 2565

สิวที่แก้ม ปัญหาผิวหน้าเรื้อรัง คืออะไร

สิวที่แก้ม

สิวที่แก้ม คือปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นที่รูขุมขนบริเวณแก้มทั้งสองข้าง สิวที่แก้มอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายจึงสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ ทั้งยังสามารถเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิด สิว ได้ด้วย แล้วสิวที่แก้มรักษาอย่างไร สามารถป้องกันอย่างไรได้บ้างสิวที่แก้มบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสิวได้จากสาเหตุการเกิดสิว แต่สิวที่แก้มเกิดจากอะไร แล้วสามารถรักษาหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง

สิวขึ้นที่แก้มเกิดจากอะไร

เป็นสิวที่แก้ม สิวขึ้นแก้ม เกิดจากอะไร ปกติแล้ว สิวจะเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนจากเซลล์ Keratinocyte ที่อุดตันอยู่ที่รูขุมขน หรือเกิดจากการติดเชื้อใต้ผิวหนัง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันหรือติดเชื้อนั้นมีหลายอย่าง ทั้งความมันบนผิวหนัง การอักเสบบนผิวหนัง เชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังมีจำนวนมากกว่าปกติ ฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ในเลือดมีปริมาณมากเกินไป หรือปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย

Fact : กระบวนการและปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและมีหลายสาเหตุประกอบกัน สิวจึงเป็นโรคผิวหนังที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น 100% ได้ยาก และไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

สำหรับสิวตรงแก้มนั้น ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความสกปรกเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็ว่าความสกปรกไม่เกี่ยวกับการเกิดสิวทั้งสิ้นถ้าหากยังคงล้างหน้าวันละ 2 ครั้งเพื่อให้ผิวหนังสามารถผลัดเซลล์ผิวได้ตามปกติ

 

แต่ข้อมูลบางส่วนก็ทำให้เข้าใจได้ว่าความสกปรกอาจทำให้เกิดสิวได้ เนื่องจากเมื่อผิวสัมผัสกับสิ่งสกปรก จะทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนและสะสมอยู่ที่ผิวในปริมาณมากกว่าปกติ หรืออาจทำให้แบคทีเรียบางตัวที่ไม่ใช่แบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว สะสมก่อตัวขึ้นบนผิวได้ 

สาเหตุเหล่านี้อาจไปกระตุ้นผิวหนังให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคือง จนผิวหนังผลัดเซลล์ผิวมากกว่าปกติและเกิดการอุดตันจนเกิดเป็นสิวขึ้นได้

สิวที่แก้มนี้เกิดจากความสกปรกได้มากกว่าผิวหน้าบริเวณอื่นๆ เนื่องจากแก้มเป็นบริเวณที่มักสัมผัสกับสิ่งสกปรกตลอดเวลา ทั้งมือ ปลอกหมอน และโทรศัพท์มือถือ

 

โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดสิวได้มาก นอกจากจะเต็มไปด้วยแบคทีเรียหลายชนิดที่มีอยู่มากกว่าห้องน้ำสาธารณะแล้ว โทรศัพท์มือถือยังสามารถทำให้เกิดการกดทับที่แก้ม เกิดการเสียดสีจนผิวระคายเคือง และทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิวได้มากกว่าปกติอีกด้วย

นอกจากความสกปรกแล้ว สิวที่แก้มในผู้ใหญ่ยังสามารถเกิดจากฮอร์โมนได้ด้วย โดยปกติแล้วเมื่อฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen มีมากขึ้น ฮอร์โมนจะไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวและผลัดเซลล์ผิวเก่าออกมามากขึ้น ทั้งยังไปกระตุ้นให้เซลล์ Sebocyte เซลล์ที่อยู่ในต่อมไขมันแบ่งตัวมากขึ้นจนต่อมไขมันหลั่งน้ำมันออกมามากกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างนี้เอง ส่งผลให้เป็นสิวมากขึ้น

 

ตามปกติแล้วสิวฮอร์โมนจะพบมากในบริเวณ T-zone ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมากกว่าส่วนอื่นๆ ได้แก่บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง ส่วนสิวฮอร์โมนที่แก้ม คาง และสันกราม จะพบได้มากในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ใกล้เป็นประจำเดือน หรือผู้ที่มีระดับฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen มากกว่าปกติ

 

ทั้งนี้ สิวที่แก้มไม่ได้เกิดจากความสกปรกหรือฮอร์โมนเพียงเท่านั้น สิวที่แก้มยังสามารถเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารการกิน การแพ้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอาง สภาพแวดล้อม สภาพจิตใจ รวมไปถึงพันธุกรรมด้วย ดังนั้นเมื่อเป็นสิวที่แก้มก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดสิวต่อไป

ประเภทของสิวที่แก้ม

สิวที่แก้มเกิดขึ้นได้หลายชนิด ตามความรุนแรงของโรค และยังสามารถเกิดโรคผิวหนังอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายสิวได้อีกด้วย

ประเภทสิวที่ขึ้นบนแก้ม

สิวอุดตันที่แก้ม

สิวอุดตัน (Comedones) เป็นสิวชนิดไม่อักเสบ จะมีประเภทย่อย 2 ประเภท คือสิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) ที่บางครั้งจะเรียกว่าสิวหัวดำ (Blackhead) และอีกประเภทหนึ่งคือสิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedone) ที่มีอีกชื่อหนึ่งคือสิวหัวขาว (Whitehead)

แล้วสิวอุดตันที่แก้มเกิดจากอะไร สิวดังกล่าวเกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิว เคราติน ไขมัน และแบคทีเรีย จากการกระตุ้นโดยสิ่งสกปรก ระดับฮอร์โมน Androgen และสาเหตุอื่นๆ ตั้งแต่พฤติกรรม สุขภาพโดยรวม ไปจนถึงพันธุกรรม

สิวอุดตันที่แก้มทั้งสองชนิดต่างกันที่ลักษณะการอุดตันของ Microcomedone ถ้าการอุดตันทำให้เกิดถุงในรูขุมขน ปากรูขุมขนแคบ สิวที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นสิวหัวปิด แต่หากการอุดตันทำให้ปากรูขุมขนขยาย สามารถเห็นสิ่งอุดตันที่เรียกกันว่า หัวสิว ได้จากภายนอก สิวดังกล่าวจะเรียกว่าสิวหัวเปิด

Fact : Microcomedone เป็นชื่อเรียกระยะการอุดตันในระยะแรกที่ยังไม่เกิดเป็นสิวอุดตัน (Comedones) เมื่อเซลล์ Keratinocyte อุดตันรูขุมขน จะทำให้สิวอุดตันเริ่มก่อตัวขึ้น แต่ยังไม่สามารถเห็นได้จากภายนอก ระยะนี้เองที่เรียกว่า Microcomedone

สิวที่แก้มที่เป็นสิวอุดตันควรรีบรักษา โดยเฉพาะสิวที่เป็นสิวอุดตันหัวปิด เนื่องจากสิวลักษณะนี้สามารถพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบได้หากปล่อยทิ้งไว้ หรือถูกรบกวนจนผนังรูขุมขนแตกออก ซึ่งหากเป็นสิวอุดตันจะสามารถรักษาได้ยากกว่าเดิม และยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่อรักษาหายได้อีกด้วย

สิวอักเสบที่แก้ม

สิวอักเสบ (Inflammatory acne) บริเวณแก้ม เป็นสิวที่เกิดการอักเสบจากการกระตุ้นโดยเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรีย C.acne (หรือชื่อเก่าเรียกว่า P.acne)

 

 

เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ชั้นผิวหนังด้วยวิธีต่างๆ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองโดยการหลั่งสารต่างๆ และทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเยอะขึ้นในบริเวณนั้น เพื่อกำจัดแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมอื่นๆออกไปจากร่างกาย กระบวนการตอบสนองเช่นนี้เองทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบขึ้น

 

 

เมื่อผิวอักเสบจะเห็นว่าผิวหนังบวม แดง บางครั้งจะรู้สึกเจ็บปวดและร้อนที่ผิวด้วย เมื่อเกิดการอักเสบบริเวณที่เป็นสิว หรืออักเสบจนทำให้เกิดสิวขึ้นมา ก็จะเรียกอาการของโรคว่าเป็นสิวอักเสบนั่นเอง

 

สิวอักเสบมี 4 ชนิดย่อย แบ่งออกตามความรุนแรงของการอักเสบ หากสิวอักเสบเป็นตุ่มสีแดงนูนขนาดเล็ก จากการอักเสบที่ชั้นผิวหนังตื้นๆ จะเรียกว่าสิวตุ่มแดง (Papule) ถ้าการอักเสบเรื้อรังจนมีหนองสะสมที่ตุ่มสิว จะเรียกว่า สิวหัวหนอง (Pustule) 

 

 

และหากการอักเสบลุกลามจนชั้นผิวหนังที่ลึกขึ้นอักเสบ เกิดเป็นก้อนไตแข็งใต้ผิวหนัง จะเรียกว่าสิวไต (Nodule) หากการอักเสบลุกลามเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ มีก้อนหนองอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง จะเรียกว่าเป็น สิวหัวช้าง หรือสิวอักเสบชนิดรุนแรง (Severe nodular acne)

สิวที่แก้มนั้น หากเกิดสิวอักเสบก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสี่ประเภท ส่วนการรักษาจะรักษาได้ยากกว่าสิวอุดตัน และถ้ายิ่งเป็นสิวที่อักเสบรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งรักษายากขึ้น ใช้เวลานานมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงทิ้งรอยแผลเป็นหลังการรักษาได้มากกว่าเดิมด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นสิวอักเสบที่แก้มจะต้องรีบพบแพทย์ผิวหนังให้เร็วที่สุด

 

Fact : เมื่อเป็นสิว ไม่ควรรักษาสิวเองที่บ้านด้วยการบีบสิว เนื่องจากการบีบสิวที่ผิดวิธีอาจไปกระตุ้นผิวหนังทำให้เกิดการช้ำ อักเสบมากกว่าเดิม กลายเป็นสิวที่รุนแรงขึ้น ทางที่ดีควรมากดสิวกับแพทย์ผิวหนังเพื่อป้องกันปัญหาสิวลุกลามจากการบีบสิว

สิวที่แก้มไม่มีหัว

สิวไม่มีหัว ที่แก้ม เป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของสิวที่แก้ม ที่ไม่สามารถบีบออกได้โดยปกติแล้วเมื่อเกิดสิวขึ้น คนทั่วไปมักจะ รักษาสิว เองง่ายๆที่บ้านโดยการบีบหัวสิวออก เพื่อไม่ให้สิวกลายเป็นสิวอักเสบ และเพื่อความสวยงาม แต่ก็มีสิวบางประเภทเช่นกันที่ไม่สามารถรักษาด้วยการบีบออกได้ หรือสามารถบีบออกได้ยาก สิวดังกล่าวได้แก่ สิวอุดตันหัวขาว สิวตุ่มแดง สิวไต และสิวหัวช้าง

 

Fact : โรคสิว Acne Vulgaris มีแค่สิวที่ไม่อักเสบอย่างสิวอุดตัน และสิวอักเสบอย่างสิวตุ่มแดง สิวหัวหนอง สิวไต และสิวอักเสบรุนแรงเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆที่ภาษาไทยเรียกว่า สิว นั้น แท้จริงไม่ใช่สิว แต่เป็นโรคผิวหนังที่ลักษณะคล้ายสิวที่มีกระบวนการเกิด และวิธีการรักษาแตกต่างจากสิวอย่างสิ้นเชิง

สิวผดที่แก้ม

สิวผด (Acne aestivalis หรือ acne mallorca) บริเวณแก้ม ไม่ใช่โรคสิว (Acne Vulgaris) แต่เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการกระตุ้นโดยแสงชนิดหนึ่ง (polymorphous light eruption) แสงจะทำให้รูเปิดต่อมเหงื่อบวมจนเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ ลักษณะคล้ายผด สิวอุดตันหัวปิด หรือสิวอักเสบตุ่มแดง นอกจากแสงหรือรังสี UVA แล้ว ก็ยังสามารถเกิดจากอากาศร้อน ฝุ่น ควัน มลภาวะต่างๆได้ด้วย หลายคนจึงเกิดผดขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน

สิวผดเกิดขึ้นที่แก้มได้เช่นกัน และอาจทำให้ผู้ที่มีอาการของโรคเข้าใจว่าเป็นโรคสิว พยายามบีบสิวเพื่อรักษาสิวจนเกิดอักเสบขึ้น ทั้งที่จริงแล้วๆสิวผดไม่จำเป็นต้องรักษาเลย เพียงแค่หลีกเลี่ยงสาเหตุการเกิดโรคอย่างแสงแดด อากาศร้อน หรือฝุ่นละออง ก็สามารถทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้แล้ว

สิวเสี้ยนตรงแก้ม

สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa)ไม่ใช่โรคสิวเช่นเดียวกับสิวผด สิวเสี้ยนเป็นความผิดปกติของการสร้างเส้นขน ปกติแล้วรูขุมขนเราจะมีขนเพียงแค่ 1 – 4 เส้น ขนที่บางตำแหน่งก็จะมีเพียงแค่ 1 เส้นเท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นสิวเสี้ยน รูขุมขนจะสร้างขนขึ้นมามากถึง 5 – 25 เส้นในรูขุมขนเดียว

 

อาการดังกล่าว ทำให้เส้นขนเกาะตัวรวมกัน รวมกับเคราติน ไขมัน และเซลล์ผิวที่ผลัดออกมา เกิดเป็นกลุ่มเส้นขนสีดำที่สามารถเห็นได้จากภายนอก บางครั้งจึงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสิวหัวดำ

 

สิวเสี้ยนมักพบที่ศีรษะ หน้าอก และหลังเป็นส่วนใหญ่ ที่ใบหน้าพบได้บ้างบริเวณที่มีหนวดหรือบริเวณปลายจมูก ดังนั้นสิวเสี้ยนที่แก้มก็สามารถพบได้บ้างเช่นกัน 

 

ส่วนการรักษานั้นไม่สามารถรักษาเหมือนสิวได้ โดยปกติจะไม่รักษาสิวเสี้ยนกัน เนื่องจากตัวโรคไม่ก่อให้เกิดผลเสียอะไรเว้นแต่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว หากต้องการกำจัดสิวเสี้ยนออกก็สามารถทำได้เหมือนการกำจัดขนปกติ ตั้งแต่ถอนออก แวกซ์ หรือเลเซอร์ก็ได้เช่นกัน

นอกจากสิวที่แก้ม สิวผด และสิวเสี้ยน ที่แก้มยังสามารถเกิดโรคผิวหนังอื่นๆได้อีก เช่น สิวหิน


สิวเม็ดข้าวสาร ซีสต์ รูขุมขนอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้สัมผัส และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งโรคผิวหนังที่กล่าวมามีอาการของโรคคล้ายกับสิว ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน ดังนั้นหากสิวขึ้น สงสัยว่ากำลังเป็นสิวหรือเป็นโรคผิวหนังบางอย่างที่ดูคล้ายสิว ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค และรักษาที่ต้นเหตุของโรคต่อไป

อยากรักษาสิวที่แก้มทำอย่างไรดี

รักษาสิวที่แก้ม

วิธีรักษาสิวที่แก้ม เฉพาะโรคสิว Acne Vulgaris จะรักษาโดยใช้ยาสำหรับทาเป็นหลัก หากอาการรุนแรงอาจจะใช้ยาสำหรับรับประทานร่วมด้วย ส่วนหัตถการอื่นๆ อย่างเช่นการกดสิว จะเป็นการรักษาทางเลือกที่ทำร่วมกับการใช้ยาเท่านั้น ซึ่งยาและหัตถการที่ใช้รักษาสิวที่แก้ม มีรายละเอียดดังนี้

 

  • ใช้ยาทาภายนอก

ยาทาภายนอก จะใช้เป็นยาพื้นฐานในการรักษาสิวที่แก้ม ทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตัน สำหรับยาทาที่นิยมใช้กันเป็นยาทาหลักจะมี 2 ชนิด ได้แก่ Retinoid และ Benzoyl peroxide

 

Retinoids หรือยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ – Retinoids สามารถออกฤทธิ์ลดการอักเสบและการอุดตันของรูขุมขน 

 

Benzoyl peroxide – ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยการปล่อย free oxygen radicals ออกมา ทำให้สามารถฆ่าเชื้อได้โดยที่เชื้อไม่ดื้อยา

สามารถใช้ยาทาทั้งสองตัวร่วมกัน หรือใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่หากต้องการใช้ร่วมกันควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจาก Retinoids ที่ใช้รักษาสิวบางตัวไม่สามารถใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide ได้

นอกจากยาทั้งสองตัวแล้ว ก็มียาปฏิชีวนะชนิดทา (Topical Antibiotics), Salicylic Acid, และ Azelaic Acid ซึ่งจะใช้แค่ในบางกรณีแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์

 

  • ใช้ยาสำหรับรับประทาน

ยาสำหรับรับประทานจะใช้เป็นวิธีรักษาสิวอักเสบที่แก้ม ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบปริมาณมากหรืออักเสบรุนแรง เนื่องจากตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายาทาภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงมากกว่า จึงมีการจำกัดการใช้ และสามารถใช้ได้ก็ต่อเมื่อแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น ซึ่งยาสำหรับรับประทานมีหลายตัว ดังนี้

 

1.ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic and antibacterial agents) – ออกฤทธิ์ต่อต้านการทำงานและลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างจำกัด และต้องควบคุมการใช้โดยแพทย์เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

 

2.ยา Isotretinoin – ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ลดการอักเสบ และช่วยให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ ออกฤทธิ์ครอบคลุมแต่ก็มีผลข้างเคียงค่อนข้างอันตราย

 

3.ยาปรับฮอร์โมน – อย่างเช่นยาคุมกำเนิด ช่วยให้ปริมาณฮอร์โมนในกลุ่ม Androgen ลดลง ทำให้เซลล์ผิวหนังและต่อมไขมันถูกกระตุ้นน้อยลง มีโอกาสเกิดสิวที่ผิวหนังได้น้อยลง

 

4.การรักษาสิวที่แก้มด้วยหัตถการอื่นๆ

การรักษาสิวที่แก้มด้วยหัตถการอื่นๆเป็นการรักษาทางเลือกเพื่อให้เห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น มักจะใช้รักษาร่วมกับยาทาภายนอก และอาจจะใช้ร่วมกับยาสำหรับทานในบางกรณี ซึ่งหัตถการที่นิยมทำกันมี 2 อย่าง คือการกดสิว และการใช้เลเซอร์รักษาสิว

 

การกดสิวจะทำในกรณีที่เป็นสิวอุดตัน สำหรับการกดสิวอุดตันหัวเปิด การกดสิวจะไม่มีผลกับการรักษา เป็นเพียงการนำหัวสิวที่เห็นจากภายนอกออกด้วยเหตุผลด้านความสวยงามเท่านั้น

 

แต่สำหรับสิวอุดตันหัวปิด การกดสิวนำหัวสิวออกไป จะช่วยป้องกันการพัฒนาของหัวสิวที่สามารถขยายใหญ่ขึ้นและดันผนังรูขุมขนให้แตกออกจนเกิดเป็นสิวอักเสบได้ ดังนั้นการกดสิวอุดตันหัวปิดจึงเป็นการป้องกันการเกิดสิวอักเสบนั่นเอง

ส่วนการรักษาสิวด้วยแสงทำเลเซอร์ แพทย์จะใช้ร่วมกับยาทาที่ทำให้แบคทีเรียไวต่อแสงมากขึ้น ส่งผลให้เมื่อใช้แสงเลเซอร์รักษาสิว จะช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียบนผิวได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน ส่งผลให้ต้นเหตุของการเกิดสิวลดลง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดสิวทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบได้

 

  • ปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ผ่าน SkinX

วิธีรักษาสิวที่แก้มที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์ เพราะการวินิจฉัยแยกโรคและการดำเนินการรักษาที่ถูกวิธี ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเท่านั้น ยิ่งรักษาได้ตรงจุด โรคก็ยิ่งหายเร็ว สิวไม่พัฒนาไปเป็นสิวอักเสบรุนแรง สามารถป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นหลังรักษาสิวหายได้หลายคนเข้าใจว่าการปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาสิวเป็นเรื่องเล็กเกินกว่าจะปรึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสิวสามารถส่งผลกระทบได้มากโดยเฉพาะเรื่องรูปลักษณ์ในระยะยาว

 

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ทำให้การปรึกษาแพทย์นั้นง่ายมากขึ้น การปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน SkinX ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยงแพทย์และผู้มีปัญหาผิวหนังเข้าด้วยกัน ทำให้การพบแพทย์เป็นเรื่องง่าย พบแพทย์ได้ทุกที่ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลารอคิวทั้งวัน ทั้งยังสามารถรอรับยาจากที่บ้านได้อีกด้วย

สะดวก รวดเร็ว เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ

วิธีการป้องกันสิวขึ้นที่แก้ม

เพราะสิวที่แก้มเกิดจากปัญหาเรื่องการสะสมของแบคทีเรีย และเรื่องระดับฮอร์โมนเป็นหลัก ดังนั้นวิธีป้องกันการเกิดสิวที่แก้ม จึงมีดังนี้

 

1.ล้างหน้าเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง

 

2.ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยน ไม่เป็นด่างหรือเป็นกรดมากเกินไปจนก่อให้เกิดการระคายเคือง

 

3.ไม่นำมือจับแก้มโดยไม่จำเป็น หากจะจับต้องล้างมือก่อนเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย

 

4.ทำความสะอาดโทรศัพท์มือถืออยู่เป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียอยู่บนโทรศัพท์มากเกินไป

 

5.ใช้หูฟังในการพูดโทรศัพท์ แทนการยกโทรศัพท์ขึ้นแนบที่แก้ม

 

6.เปลี่ยนปลอกหมอนบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกบนปลอกหมอน

 

7.ดูแลร่างกายเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดสูบบุหรี่

สรุป

ปัญหาสิวที่แก้ม เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียและระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติเป็นหลัก ดังนั้นการป้องกันแก้ไข จึงเป็นการรักษาความสะอาดเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียบนผิว และการดูแลสุขภาพเพื่อให้ระดับฮอร์โมนเป็นปกติ 

 

ทั้งนี้สาเหตุการเกิดสิวบนผิวในบริเวณต่างๆไม่ได้แตกต่างกันมาก สิวที่แก้มยังคงสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีก ทางที่ดีเมื่อเป็นสิวที่แก้มซ้ำๆ ไม่หายสักที ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างตรงจุดต่อไป

 

เป็นสิวที่แก้มเรื้อรัง ไม่หายสักที สามารถเลือกปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 210 ท่านได้ผ่านแอปฯ SkinX ปรึกษาได้ทุกที่ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรอคิวที่สถานพยาบาล ดาวน์โหลดแอปฯง่ายๆ ได้ทั้งระบบ IOS และ Android เพียงคลิก!

บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Fard, R. H., Fard, R. H., Moradi, M., & Hashemipour, M. A. (2018, December). Evaluation of the Cell
        Phone Microbial Contamination in Dental and Engineering Schools: Effect of Antibacterial Spray.
        National Library of Medicine.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7377557/

National Health Service. (2019, July 12). Acne. NHS. https://www.nhs.uk/conditions/acne/causes/

Neimeier, V., kupfer, J., Demmelbauer-Ebner, M., et al. Coping with acne vulgaris. Evaluation of the

       chronic skin disorder questionnaire in patients with acne. Dermatology. 1998;196:108-115.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า