สิวแพ้มาสก์ (Maskne) ปัญหาสิวๆ ที่เกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย มีวิธีรักษาอย่างไร
การสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำทุกวันในยุคที่มีการระบาดอย่างโรค Covid-19 นั้น เมื่อใส่ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หลายคนมักเกิดปัญหาระคายเคืองบริเวณใบหน้าที่ใส่หน้ากากอนามัย จนปัญหาเหล่านี้เริ่มก่อให้เกิด สิว และผดผื่นขึ้น หรือที่เรียกกันว่า สิวแพ้มาสก์ (Maskne)
ในบทความนี้ SkinX จะมาตอบทุกสาเหตุและวิธีรักษาสิวแพ้มาสก์ เพื่อให้คุณสามารถรับมือดูแล และป้องกันสิวแพ้มาสก์ได้อย่างทันท่วงที
สิวแพ้มาสก์ เกิดจากอะไร
สิวแพ้มาสก์เกิดจากอะไร ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกับต้นเหตุของการเกิดสิวแพ้มาสก์กันก่อน สิวที่เกิดจากการแพ้มาสก์นั้นสามารถเกิดได้ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน หัวข้อนี้ SkinX จะพามาหาสาเหตุต้นตอของการเกิดสิวจากการสวมใส่หน้ากากอนามัย
1.ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกสามารถทำให้เกิดสิวแพ้มาสก์ ได้จาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1.การเสียดสีของมาสก์กับผิวหน้า 2.เกิดจากการสั่งสมของสิ่งสกปรกภายในมาสก์ และ 3.เกิดจากมลพิษทางอากาศ โดยรายละเอียดมีดังนี้
1.1 สิวแพ้มาสก์เกิดจากการเสียดสีของของหน้ากากอนามัยกับผิวหน้า
สิวแพ้มาสก์เกิดจากการเสียดสีของของหน้ากากอนามัยกับผิวหน้าส่งผลให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองบริเวณที่สวมใส่หน้ากากอนามัยจนเกิดปัญหาสิวและผดผื่นตามมา โดยเฉพาะผู้ที่สวมหน้ากากหลายชั้น
การเลือกใช้วัสดุที่ใช้ทำหน้ากากอนามัยก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองจนนำไปสู่การเกิดสิว
หน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว และหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ
หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) โดยส่วนมากหน้ากากอนามัยประเภทนี้จะมีอย่างต่ำ 3 ชั้น ชั้นนอกสุดจะถูกเคลือบด้วยสารที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของของเหลวได้ (Waterproof) และวัสดุที่ใช้ผลิตหน้ากากเกิดจากการหลอมเม็ดพลาสติกโดยไม่ผ่านการทอ ขึ้นรูปจากเส้นใยพลาสติกจนเกิดเป็นแผ่นกรอง ชนิดของพลาสติกที่ใช้ส่วนใหญ่ได้แก่ พอลีโพรพิลีน (Polypropylene) แต่บางครั้งอาจใช้พอลีเอทิลีน (Polyethylene) พอลีสไตรีน (Polystyrene) และพอลีเอสเทอร์ (Polyester) ร่วมด้วย
ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จึงมีโอกาสเกิดการระคายเคืองผิวมากกว่า และมีโอกาสเกิด สิวแพ้มาสก์ เพราะว่าหน้ากากประเภทนี้มีคุณสมบัติเพื่อกรองเชื้อโรค และกันละอองฝอยจากการไอ จาม เป็นต้น
Fact : หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) มีอายุการใช้งานสั้น ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถ้านำกลับมาใช้ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดปัญหาสิวตามมา
Fact : หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) มีอายุการใช้งานสั้น ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถ้านำกลับมาใช้ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดปัญหาสิวตามมา
หน้ากากอนามัยผ้า เป็นหน้ากากที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หน้ากากชนิดนี้จะทำมาจากผ้าหลายชนิด เช่น ผ้ามัสลิน ผ้านาโน ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้ายหรือผ้าคอตตอน ผ้าสำลี ผ้าเทฟลอน เป็นต้น ถ้าผ้ามีเนื้อสัมผัสนุ่ม จะมีการระคายเคืองผิวน้อย และถ้านำกลับมาซักซ้ำด้วยน้ำยาซักที่ไม่อ่อนโยน หรือมีส่วนผสมของน้ำหอมก็อาจจะทำให้เสี่ยงการระคายเคืองผิวได้ และเกิด สิวแพ้มาสก์
1.2 การสะสมของสิ่งสกปรกภายในมาสก์ต้นเหตุของสิวแพ้มาสก์
การสะสมของสิ่งสกปรกภายในหน้ากากอนามัย เช่น ละอองน้ำลาย เหงื่อ น้ำมันจากผิวหน้า คราบเครื่องสำอางจากการแต่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นคราบครีมกันแดด คราบแป้ง ผสมกับการระบายอากาศน้อยและความอับชื้นภายในหน้ากาก สิ่งเหล่าทำให้เกิด สิวแพ้มาสก์ โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อนอบอ้าว ยิ่งทำให้แบคทีเรียมีการเพิ่มจำนวนและเติบโตที่รูขุมขนมากขึ้น ทำให้เกิดสิวทั้งอุดตันและอักเสบตามมาได้ง่าย
1.3 เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษทางอากาศที่มักทำให้เกิดสิว
มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษจากควันรถ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น มลภาวะเหล่านี้ส่งผลให้สารต้านอนุมูลอิสระของผิวลดลงและภูมิต้านทานผิวหนังแย่ลง ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น แพ้ง่าย และเป็นสิวได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ค่อยได้สัมผัสมลพิษทางอากาศ โดยทั่วไปแล้วหน้ากากอนามัยที่ใส่กันไม่สามารถแนบสนิทไปกับใบหน้าขณะสวมใส่ จึงทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถผ่านเข้ามาทางด้านข้างของหน้ากากได้ด้วยเช่นกัน
Fact : สารตั้งต้นของ PM 2.5 ก่อนจะรวมตัวกับไอน้ำ และฝุ่นควัน ซึ่งก็คือ ก๊าซพิษ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide : CO) โดยก๊าซพิษเหล่านี้เสมือนตัวก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว จนกระตุ้นให้มีการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokines) ทำให้เกิดการอักเสบของผิว ผิวแพ้ง่าย ระคายเคืองได้
2. ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายใน เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งเสริมกับปัจจัยเรื่องการเสียดสี ความสกปรกภายในหน้ากากและสภาวะแวดล้อม
กลุ่มคนที่เป็นโรคผิวหนังอยู่ก่อน จะถูกกระตุ้นให้เป็นสิวมากขึ้นในช่วงที่ใส่หน้ากาก ทำให้เกิด สิวแพ้มาสก์ เพราะความร้อนอบอ้าว และความชื้น โดย 2 โรคที่พบได้บ่อย เช่น
1.โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง และร่างแหของหลอดเลือดฝอย บริเวณจมูก แก้ม คาง และหน้าผาก อาจมีอาการแสบคัน หน้าบวม ผิวหนังนูนหนา และอาจมีอาการตาแดง ตาแห้ง เคืองตาร่วมด้วย
2.โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้มีอาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ผื่นผิวหนังอักเสบ พบมากในบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสี
วิธีรักษา สิวแพ้มาสก์
สิวแพ้มาสก์รักษายังไง ทำยังไงถึงจะหาย ในคนที่มีปัญหาแพ้มาสก์ส่วนใหญ่จะมีสิวบริเวณปาก สิวที่แก้ม เป็นต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่สวมใส่มาสก์และมักมีการเสียดสีบ่อยๆ การรักษาจึงขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม
1.การทำความสะอาดผิวหน้า
การล้างหน้าเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญในการดูแลผิวหน้า การทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดสิวแพ้มาสก์ ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีค่า pH ที่เหมาะสม ประมาณ pH 5-6 หากมีค่า pH ที่สูงเกินไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวและน้ำมันบนผิวจะเสียสมดุล
แต่ละคนมีสภาพผิวที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าจึงควรเลือกใช้ให้เข้ากับสภาพผิวของตนเอง ในกรณีบุคคลที่กำลังเป็นสิวอย่างรุนแรง หรือเป็นสิวแพ้มาสก์ ง่าย แพทย์จะแนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีตัวยาอย่าง Benzoyl peroxide, Salicylic acid, หรือ Sulfur ผสมอยู่ด้วย
การล้างหน้าให้ถูกวิธีควรใช้น้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่นนิดๆ ล้างไปพร้อมกับใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า และนวดไปบนใบหน้าตามแนวรูขุมขน ประมาณ 10-20 วินาที แล้วใช้น้ำเปล่าล้างออกอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีการล้างหน้าหลายแบบที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม และเป็นการล้างหน้าที่ทำร้ายผิวหน้าโดยไม่รู้ตัว เช่น การล้างหน้าด้วยน้ำร้อน เนื่องจากจะทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นออกจากผิวหลังล้างหน้าได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับผิวหน้า เช่น นำสบู่ก้อนที่ใช้อาบน้ำมาล้างหน้า ซึ่งวิธีนี้จะมีการล้างเอาไขมันธรรมชาติที่ปกป้องผิวออกมามากจนเกินไป ส่งผลให้เกิด ผิวแห้ง และอาการระคายเคืองได้
2.การใช้ยาทาภายนอก
การรักษาสิวแพ้มาสก์โดยใช้ยาภายนอกมีหลายตัว แต่ละตัวมีฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เหมาะกับใช้รักษาสิวต่างชนิดกัน และเหมาะสมกับความรุนแรงที่แตกต่างกัน เช่น
- สำหรับผู้มีสิวไม่อักเสบหรือมี สิวอักเสบ เพียงเล็กน้อย นิยมใช้รูปแบบทา
ยาที่พบบ่อย ได้แก่
- ยาทาที่มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น Benzoly Peroxide, Adapalene, หรือ Retinoic Acid ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบครีมหรือเจล ตัวยาเหล่านี้ควรใช้ทาบางๆ บริเวณที่มีสิว วันละ 1-2 ครั้ง ไม่ควรทาเยอะจนเกินไป เพราะผลข้างเคียงที่พบได้คือ ระคายเคืองผิวหนัง ผิวลอก แสบผิว ยากลุ่มนี้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย
ตัวยา Benzoly Peroxide เป็นวิธีการ รักษาสิว ที่นิยมใช้กันมากที่สุด สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ข้อดีของยาตัวนี้คือไม่ค่อยพบผู้ที่แพ้ยามากนัก อีกทั้งตัวยายังออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้เหมือนกับยาปฏิชีวนะ
- ยาทาที่เป็นยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะชนิดทาที่ใช้กันเพื่อรักษาสิวมีอยู่ 4 ตัว ได้แก่ Erythromycin, Clindamycin, Metronidazole และ Dapsone ในปัจจุบันยังคงมีการใช้ยา Erythromycin, Clindamycin และ Metronidazole ชนิดทาเป็นหลักในการรักษาสิวอยู่ แต่จะไม่ได้ใช้ตัวยาเดียว เนื่องจากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แพทย์จะนิยมให้ใช้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับ Benzoyl peroxide ยาที่เป็นยาทาปฏิชีวนะ ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบโลชั่นและเจล ตัวยาที่นิยมใช้รักษาสิว ได้แก่ Clindamycin และ Erythromycin ควรใช้ทาบริเวณที่มีสิวอักเสบ วันละ 2-3 ครั้ง
3.การใช้ยารับประทาน
สำหรับผู้ที่มีสิวอักเสบหรือสิวตุ่มหนองจำนวนมาก อาจมีการใช้ยารับประทานร่วมด้วย ตัวอย่างยารับประทานได้แก่ ยารับประทานที่เป็นยาปฏิชีวนะ อาจจะต้องใช้ยานานหลายสัปดาห์จึงจะเห็นประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อสิว โดยยาที่มีจำหน่ายได้แก่ Tetracycline และ Doxycycline เนื่องจากตัวยาปฏิชีวนะเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่ทำให้ผิวไวต่อแสง จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดร่วมด้วย
4.การกดสิว
การกดสิวเป็นขั้นตอนการรักษาสิวที่ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น และช่วยป้องกันการเกิด สิวอุดตัน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเสี่ยงการเกิดอาการอักเสบขึ้นได้ หากต้องการรักษาด้วยการกดสิว ควรใช้ยาหรือการรักษาวิธีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การฉีด Corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง วิธีนี้มีข้อดีสำหรับผู้ป่วยที่เป็นสิวอักเสบและ สิวไต อีกทั้งยังสามารถทำให้สิวยุบได้อย่างรวดเร็ว แต่มีอาจเกิดรอยแผลเป็นหลังสิวหายได้
อย่างไรก็ตาม การกดสิวจะปลอดภัยหากได้ทำกับแพทย์ผิวหนัง หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี การกดสิวไม่ควรกระทำด้วยตนเอง เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้สิวอักเสบรุนแรงขึ้นได้
5.ปรึกษาแพทย์
การปรึกษาแพทย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสิวแพ้มาสก์ เพราะแพทย์สามารถวินิจฉัย และพิจารณาวิธีรักษาจากอาการว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด แล้วจึงสามารถเลือกใช้วิธีการรักษา จ่ายยาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย และดีต่อสภาพผิวในระยะยาว
วิธีปรึกษาแพทย์นั้นไม่ได้ยุ่งยาก และรอนานอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด เนื่องจากการพบแพทย์ในปัจจุบันสามารถนัดและปรึกษาอาการได้อย่างทันท่วงที เพราะแอปพลิเคชันของ SkinX นั้นสามารถเลือกปรึกษาอาการกับแพทย์ผิวหนังได้มากถึง 210 ท่าน ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสิวแพ้มาสก์ได้อย่างตรงจุด และผลลัพธ์ที่ดีกว่า
วิธีหลีกเลี่ยงสิวแพ้มาสก์
ใส่มาสก์แล้วสิวขึ้นควรหลีกเลี่ยง หรือมีวิธีป้องกันยังไงดี
1.สำหรับหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรจะพักถอดแมสประมาณ 15 นาที และควรจะเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกๆ 4-5 ชั่วโมง รวมถึงควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน
2.ไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ เพื่อลดการเกิดแบคทีเรียที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของสิวแพ้มาสก์
3.เมื่อกลับถึงบ้าน ควรรีบถอดมาสก์ออก แล้วล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดทันที เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและแบคทีเรียที่สะสมบนใบหน้า
4.หากต้องการลบเครื่องสำอางออก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง (Make up remover) ที่อ่อนโยน และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยน
5.เพื่อป้องกันการเสียดสีกับหน้ากาก สามารถสอดแผ่นทิชชู่ที่นุ่มและสะอาดบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ
6.หากมีการแพ้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์สามารถเปลี่ยนมาใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยชนิดอื่นๆ แทนได้
7.หากใช้หน้ากากแบบผ้า ควรซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็กหรือน้ำสบู่อ่อน หรือซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มและน้ำยาซักผ้าที่ผสมน้ำหอม เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้
8.ควรลดการแต่งหน้าลง หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมทำให้เกิดสิว และรูขุมขนอุดตัน (Non-Comedogenic) เพราะถ้าหากภายในมาสก์เจอกับความอับชื้นผสมกับเครื่องสำอาง อาจทำให้ง่ายต่อการเกิดสิว
9.ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดสิวได้
10.หากทำตามทุกวิธีแล้วยังมีสิวขึ้นหรือผดผื่นขึ้นอยู่ อาจเกิดจากโรคผิวหนังเดิมที่เป็นอยู่ ควรหยุดใช้ครีมบำรุงผิวทุกชนิด และรีบมาปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยเร็วที่สุด
สรุป
สิวแพ้มาสก์เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก ที่เกิดจากการเสียดสีของหน้ากากอนามัยกับผิวหน้า ความสกปรกภายในหน้ากากระหว่างวัน และวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากอนามัย รวมไปถึงปัจจัยภายใน เช่น โรคผิวหนังเดิมที่เป็นอยู่ รวมไปถึงความเครียด และนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
การรักษาสิวที่แพ้จากมาสก์อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา หากได้มีการปรึกษาแพทย์ผิวหนังอย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมกับมีการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด สิวแพ้มาสก์ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับคุณ
เพื่อการแก้ปัญหาสิวแพ้มาสก์ได้อย่างตรงจุด ด้วยการปรึกษาแพทย์ผิวหนังกับแอปฯ SkinX ที่สะดวกรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และปลอดภัย สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ได้ง่ายๆ เพียงแค่คลิกเดียว!
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis). (2563, 2 เมษายน). Siriraj Online. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=22
โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea). (2565, 7 กุมภาพันธ์). Siriraj Online. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1497
อนิตา นิตย์ธีรานนท์. (2563, 08 มกราคม). PM 2.5 กระตุ้นสิวและผิวแพ้ง่าย. Samitivej. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/pm-2-5-สิว
Desai, Kovarik, Brod, James, Fitzgerald, Preston, & Hruza. (2020). COVID-19 and personal protective equipment: Treatment and prevention of skin conditions related to the occupational use of personal protective equipment. J Am Acad Dermatol, 83(2), 675-677. 10.1016/j.jaad.2020.05.032