SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

3 กรกฎาคม 2567

ผมร่วง ผมบาง ปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ไม่ยาก

ผมร่วง

ผมร่วง (Alopecia หรือ Hair Loss) เป็นปัญหาที่มักพบได้บ่อยทั้งผู้ชายและผู้หญิง ลักษณะความรุนแรงของผมร่วงจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่แล้วมักจะกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยมากกว่าสุขภาพทางกาย หากพบว่าตนเองมีอาการผมร่วงมากกว่าปกติ หรือผมบนหนังศีรษะเริ่มบาง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ในบทความนี้ SkinX จะพามาทำความรู้จักกับภาวะ “ผมร่วง” เบื้องต้นว่าเกิดจากอะไร แบบไหนถึงเรียกว่าผมร่วง มีวิธีรักษาและป้องกันผมร่วงอย่างไรบ้าง?

SkinX แอปพลิเคชันพบหมอผิวหนังออนไลน์ ที่ได้รวบรวมเหล่าทีมแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำมากกว่า 210 คน มาให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิว ผิวหน้า หัตถการความงามอย่าง ฟิลเลอร์และโบท็อกซ์ รวมถึงปัญหาผมและหนังศีรษะ สำหรับผู้ใช้บริการรายใหม่ สามารถปรึกษาแพทย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สารบัญบทความ

ผมร่วงคืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่าผมร่วง

ผมร่วงเยอะมาก

โรคผมร่วง (Alopecia) คือการสูญเสียเส้นผมบนศีรษะ โดยจะมีลักษณะความรุนแรงที่แตกต่างกัน เราจะสามารถสังเกตเห็นเส้นผมจำนวนมากหลังจากสระผม หรือผมจับกันเป็นก้อนในแปรงหวีผม ผมร่วงเยอะมากบนหมอน หรือผมมีลักษณะบางจนเห็นเป็นหย่อม ๆ อาการเหล่านี้เริ่มแสดงว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของผมร่วง และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลต่อไป

ทั่วไปแล้วคนปกติจะมีผมร่วงวันละประมาณ 100-150 เส้น ผมที่ขึ้นใหม่ก็จะขึ้นมาทดแทนกัน โดยที่เราไม่ทันสังเกตว่าผมน้อยลง แต่ถ้าวันไหนสระผมอาจจะมีจำนวนผมร่วงมากขึ้น

การจำแนกประเภทของผมร่วง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. Non-Scarring หรือ Non-Cicatricial Alopecias เป็นผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ ผมร่วงในลักษณะนี้สามารถรักษาให้หายโดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น หรือเรียกได้ว่าไม่ร่วงถาวร เนื่องจากเซลล์รากผมยังไม่ถูกทำลายอย่างถาวร อาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ (Alopecia Areata) ก็จัดอยู่ในประเภทนี้

  2. Scarring หรือ Cicatricial Alopecias เป็นผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ เซลล์รากผมถูกทำลาย ทำให้ผมร่วงอย่างถาวร โดยโรคที่พบบ่อยจากภาวะผมร่วงคือ โรคทางผิวหนังที่เกิดจากการอักเสบ หรือติดเชื้อแบบรุนแรง หรือมีระยะเวลานาน ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อ

“บนหนังศีรษะของเราจะมีรูขุมขนอยู่ประมาณ 50,000 รูขุมขน แต่ละรูขุมขนสามารถมีผมอยู่ได้ตั้งแต่ 1-4 เส้น ทำให้หนังศีรษะเรามีผมอยู่ทั้งหมดประมาณ 100,000 เส้น”

สาเหตุของผมร่วง มีอะไรบ้าง?

ผมร่วงเกิดจากอะไร

ผมร่วงเกิดจากอะไร? ผมร่วงในแต่ละวันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่กล่าวไปว่าผมคนเราจะร่วงวันละประมาณ 100-150 เส้น และจะมีเส้นผมใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ในบางคนมีภาวะผมร่วงเยอะมาก ทำให้เริ่มสังเกตได้ว่าผมบางลงเรื่อย ๆ จนอาจเกิดหัวล้านได้ สำหรับสาเหตุผมร่วงมีหลากหลายอย่าง สามารถแบ่งได้ดังนี้

ผมร่วงจากพันธุกรรม

ผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia : AGA) สามารถพบได้ในเพศชายและเพศหญิง สาเหตุของผมร่วงส่วนมากเกิดจากพันธุกรรมถึง 80% โดยจะมีลักษณะเส้นผมเล็ก ผมบางลง ร่วงง่าย ผมที่ขึ้นใหม่ไม่แข็งแรงจนเห็นหนังศีรษะ ผมร่วงจากพันธุกรรมมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมน DHT ที่ทำให้รากผมและขนเสื่อมสภาพพบมากในผู้ชาย

สาเหตุของอาการผมร่วง หรือหัวล้านจากพันธุกรรมเกิดจากยีน (Gene) ตัวหนึ่งที่อยู่บนโครโมโซม X ยีนตัวนี้ไม่ได้ทำให้ผมร่วงหรือหัวล้านโดยตรง แต่จะไปทำให้ Androgen receptor ที่รากผมทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง Receptor ตัวนี้เป็นตัวรับฮอร์โมน DHT ซึ่งทำให้เกิดผมบาง เมื่อตัวรับทำงานได้ดีผมจึงบางลงมากขึ้นนั่นเอง

โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วงได้

โรคที่สามารถทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคต่อมไทรอยด์ โรคผิวหนังเดิมของผู้ป่วย ทำให้มีการอักเสบที่รบกวนการเติบโตของเส้นผม รวมถึงการติดเชื้อ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสที่บริเวณหนังศีรษะ นอกจากนี้ยังมีการเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของเส้นผม การติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี โรคทางผิวหนัง DLE โรคทางภูมิคุ้มกัน SLE และโรคโลหิตจาง ที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้

ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน

ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน DHT เป็นตัวการหลักที่ทำให้เส้นผมที่งอกใหม่มีขนาดเล็กลง เมื่อเวลาผ่านไปเส้นผมที่เล็กลงจะไม่สามารถปกปิดหนังศีรษะได้เหมือนเดิม โดยฮอร์โมน DHT เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เมื่อฮอร์โมนนี้เข้ามาที่เนื้อเยื่อบริเวณรากผม เอนไซม์ในบริเวณนั้นจะเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมน DHT ทำให้ผมที่ผลิตออกมาเส้นเล็กลงเรื่อย ๆ และผมร่วงง่าย รากผมผลิตผมน้อยลงจนรากผมฝ่อหายไปเกิดเป็นหัวล้านได้

 

หรือปัญหาฮอร์โมนในผู้หญิง เช่น ภาวะหลังคลอดมีการลดลงของฮอร์โมนอย่างฉับพลันทำให้ผมร่วงหลังคลอดได้ 3-6 เดือน หรือผู้หญิงบางคนอาจจะมีภาวะฮอร์โมนเพศชายเยอะจะมาด้วยผมบาง มีสิวเยอะ มีขนหนวดเส้นหนา และประจำเดือนมาผิดปกติ

ขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุ

การขาดสารอาหารหรือผู้ที่กำลังลดน้ำหนักแบบผิดวิธี จะยิ่งเสริมให้เส้นผมเปราะและดูบางลงได้ ผู้ที่ผมร่วงจากภาวะขาดสารอาหารควรเสริมธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กจะส่งผลต่อการเจริญของเส้นผม โดยธาตุเหล็กมักจะพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักใบเขียว และเมล็ดพืชบางชนิด ผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็กอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เล็บเปราะบาง อ่อนเพลีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี โปรตีน เป็นต้น

“การกินผงชูรสเยอะไม่ทำให้ผมร่วงแต่อย่างใด แต่การกินอาหารรสจัดสามารถทำให้ผมร่วงทางอ้อมได้ เนื่องจากอาหารรสจัดจะทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง ส่งผลกับความดันทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมไม่เพียงพอ”

ยาและวิตามินบางชนิด

การรับประทานยาหรือวิตามินบางชนิด เช่น ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินสังเคราะห์ ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลดความดันบางชนิด รวมถึงวิตามินอาหารเสริมบางชนิดที่บริโภคเกินความจำเป็น สามารถระงับการเจริญเติบโตของรากผม ทำให้เกิดผมร่วงได้ หากหยุดยาอาการผมร่วงอาจกลับมาเป็นปกติ

ความเครียดสะสม

ความเครียดที่สะสมสามารถทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ ปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ต้องเจอกับความเครียดอยู่เป็นประจำ ซึ่งความเครียดเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เป็นหนึ่งในสาเหตุผมร่วงด้วย เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ทำให้เส้นผมอ่อนแอลงได้ 

ในบางผู้ป่วยบางคนอาจมีพฤติกรรมทำลายเส้นผม เช่น การดึงผมตัวเองโดยไม่รู้ตัว (Trichotillomania) ซึ่งการกระทำนี้จะทำร้ายหนังศีรษะและวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมผิดปกติ ทำให้การงอกใหม่ของเส้นผมช้าลงจนในที่สุดผมบางลงได้

การทำคีโมหรือการใช้เคมีบำบัด

เคมีบำบัด หรือการทำคีโมเป็นการใช้ตัวยาเคมีบำบัดเพื่อหยุดการเติบโต และการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีจะเข้าถึงเซลล์มะเร็งผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เซลล์รากผม เซลล์เยื่อบุในช่องปาก เม็ดเลือด หรือเซลล์ปกติที่มีการเพิ่มจำนวนแบบรวดเร็ว ได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อเซลล์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วงได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะผมร่วง?

  1. ผมหลุดร่วงระหว่างวันเกินวันละ 200 เส้น อาจเป็นอาการผมร่วงเฉียบพลัน
  2. ผมร่วงเยอะมากกว่าวันละ 100-150 เส้น ในคนที่สระผมเป็นประจำทุกวัน หรือผมร่วงมากกว่า 200 เส้น ในคนที่สระผมห่างกันครั้งละ 3-4 วัน
  3. ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จนมีขนาดเล็กเท่าเหรียญสิบ

ลองตรวจหนังศีรษะและเส้นผมเองได้ตามวิธีดังนี้

  1. ตรวจโดยการดึงผม (Hair Pull) ใช้นิ้วมือหยิบเส้นผม 1 ช่อ ประมาณ 60 เส้นแล้วลองดึงดูโดยไม่ต้องใช้แรงมาก ถ้าหากมีผมหลุดติดมามากกว่า 6 เส้น แสดงว่าอาจเกิดภาวะผมร่วงได้
  2. การเก็บและนับเส้นผม (Hair Collection and Count) ในแต่ละวันให้เราลองเก็บและรวบรวมเส้นผมที่ร่วงแล้วใส่ซองแยกไว้เป็นวัน ๆ เมื่อเก็บครบ 7 วันแล้วหากพบว่าตนเองมีพบร่วงมากเกินกว่าปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุผมร่วงต่อไป

แนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยผมร่วงและผมบาง

ภาวะผมร่วงและผมบางสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

ภาวะผมร่วงเฉพาะที่ (Localized Alopecia)

1. ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยที่ไม่มีรอยแผลเป็น (Localize non-scarring alopecia)

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายกับรากผม ทำให้รากผมมีขนาดเล็กลงจนผมหลุดร่วงออกมา โดยจะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ มีขนาดเท่าเหรียญขนาดใหญ่ บางรายอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย รวมถึงอาจมีขนร่วงที่คิ้ว ขนตา หนวดเครา ขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว เป็นต้น
  • เชื้อราที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือโรคกลากที่ศีรษะ จะมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมเปราะ หักง่าย อาจจะพบว่ามีการอักเสบ หรือไม่มีก็ได้ เชื้อราที่หนังศีรษะนี้มักเกิดในเด็กช่วงก่อนวัยรุ่น สามารถมองเห็นเป็นขุยเล็ก ๆ และเห็นผมสั้น ๆ โผล่ออกมาจากบริเวณขุยบนหนังศีรษะ โดยเชื้อราที่อยู่ส่วนตื้นจะทำลายเส้นผมและผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วง
  • โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) คือโรคที่เกี่ยวกับภาวะจิตใจ เมื่อดึงผมไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานติดต่อกันสามารถทำให้ผมร่วงจนกลายเป็นหย่อม ๆ ได้ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคดึงผมตัวเองมีทั้งพฤติกรรมดึงผมเองแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว นอกจากดึงผมแล้ว ผู้ป่วยโรคนี้อาจใช้มือม้วนผมบ่อย ๆ รวมถึงดึงขนในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ขนตา ขนคิ้ว กัดเล็บ กัดปาก เป็นต้น

 

2. ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยที่มีรอยแผลเป็น (Localized scarring alopecia)

  • Discoid Lupus Erythematosus (DLE) เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง โดยจะเกิดการอักเสบบริเวณผิวหนัง ที่อาจจะเกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ทำให้เกิดการทำลายรากผม ส่งผลให้ผมร่วง โดยบริเวณที่มีผมร่วงจะพบหนังศีรษะมีอาการแดง มีสะเก็ดที่ผิวหนังมาอุดบริเวณรูขุมขน ตรงกลางหย่อมผมร่วงมีสีอ่อนลง บริเวณรอบนอกมีสีน้ำตาลเข้ม สามารถพบอาการคันหรือเจ็บหนังศีรษะร่วมด้วย

ภาวะผมร่วงทั่วศีรษะ (Diffuse Alopecia)

  • Male Pattern hair loss (Androgenic Alopecia) เป็นอาการผมร่วงในเพศชาย โดยรูขุมขนบนหนังศีรษะมีความอ่อนไหวต่อฮอร์โมน DHT ส่งผลให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ ทำให้เส้นผมร่วงได้ง่าย และเส้นผมที่ขึ้นใหม่มีเส้นเล็กและบางลง อาการผมร่วงในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายอายุ 20 ปีขึ้นไป
  • การติดเชื้อซิฟิลิสระยะ 2 (Secondary Syphilis) อาจทำให้เกิดผมร่วงเฉพาะแห่งกระจายทั่วศีรษะ มักจะเป็นร่วงเป็นวงเล็ก ๆ ทั่ว ๆ ศีรษะ
  • ภาวะผมบางจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนเพศ รากผมจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผมเส้นใหญ่ไปเป็นเส้นผมเล็ก ถ้าเกิดในผู้ชายผมจะบางลงมากในบริเวณกลางศีรษะ หากเกิดในผู้หญิงผมจะบางตรงกลางหรือรอยแสกผม

การรักษาอาการผมร่วง ผมบาง มีอะไรบ้าง?

วิธีรักษาผมร่วงได้ด้วยตนเอง

วิธีแก้ผมร่วง
  • ไม่มัดผมแน่น ม้วนผม หรือบิดผมเล่น และควรหวีผมอย่างเบามือ
  • ไม่สระผมด้วยน้ำร้อนจัดและเป่าผมด้วยความร้อนสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการหนีบผม หรือหวีผมในขณะที่ผมเปียก
  • หลีกเลี่ยงการทำเคมีให้น้อยที่สุด เช่น การทำสีผม กัดสีผม การยืดผม เพราะจะทำให้ผมแห้งเสียมากกว่าเดิม
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  • เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างและบำรุงเส้นผมให้แข็งแรงขึ้น 
  • การสวมวิกผมปลอม หรือการใช้ Hair Piece 
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วงได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหยุดการใช้ยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น

“รังแคเกิดจากหนังศีรษะขาดความชุ่มชื้น หรือในบางรายอาจเกิดการอักเสบ ผู้ที่มีรังแคจะมีขุยหรือสะเก็ดขาว ๆ อยู่ที่เส้นผมและหนังศีรษะ อาจมีอาการคันหนังศีรษะร่วมด้วย ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภายนอกอีกทั้งยังสามารถทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้จากการที่รากผมถูกทำลาย”

วิธีรักษาผมร่วงทางการแพทย์

แก้ผมร่วง
  • การรับประทานยา

    การใช้ยาแก้ผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยยาที่ใช้รักษาอาการผมร่วง ผมบางดังนี้
     
    • ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาชนิดน้ำและโฟม จะช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของเส้นผมและช่วยป้องกันไม่ให้ผมร่วง สามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 
    • ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) เป็นยาที่ใช้ตามใบสั่งแพทย์และจะใช้ในเฉพาะผู้ชายเท่านั้น โดยจะช่วยชะลอการเกิดผมร่วงและผมบางมาก

  • ศัลยกรรมปลูกผม ย้ายเซลล์รากผม

    การปลูกผม หรือศัลยกรรมปลูกผมจะเป็นการนำเอารากผมปลูกลงบนหนังศีรษะในตำแหน่งที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง หรือหัวล้าน ซึ่งผมใหม่ที่ขึ้นมาจะอยู่ในตำแหน่งที่ปลูกอย่างถาวร สามารถขึ้นใหม่และหลุดร่วงได้ตามวงจรของผม โดยปัจจุบันมีวิธีปลูกผม ดังนี้

    • FUE แบบเจาะ การปลูกผมแบบ (FUE) จะเป็นการปลูกถ่ายเซลล์รากผมลงไปในพื้นที่ที่ผมร่วงผมบางมาก ทำให้พื้นที่นั้นมีเซลล์รากผมถาวร เมื่อผมงอกแล้วจะไม่มีการหลุดร่วงซ้ำ การปลูกผมแบบ FUE จะช่วยแก้ปัญหาหัวล้าน ศีรษะเถิกได้ นอกจากนี้แผลจากการผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก 
    • Strip หรือ FUT แผลตัดเย็บ เป็นวิธีการปลูกผมถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง โดยจะย้ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือเซลล์รากผมจากบริเวณที่เส้นผมแข็งแรงไปปลูกในบริเวณผมร่วงผมบาง การปลูกผม FUT มีข้อดีคือรากผมจะเสียหายน้อย โอกาสปลูกผมติดจะมีมากขึ้น

  • PRP ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น

    การทำ PRP ผม หรือการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น จะช่วยเพิ่มอาหารผม ทำให้ผมงอกได้ดีขึ้น โดยจะฉีด PRP เข้าไปที่หนังศีรษะในส่วนที่มีอาการผมร่วง ผมบาง เพื่อให้สาร PRP ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ผมให้มีการเจริญเติบโตขึ้น 

  • Rigenera Activa เซลล์เทอราปี
     
    เป็นการปลูกผมที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยจะปลูกผมในลักษณะการฉีดสเต็มเซลล์เข้าสู่บริเวณที่เกิดปัญหาผมร่วง ผมบาง สเต็มเซลล์จะไปกระตุ้นให้เซลล์เข้าไปฟื้นฟูรากผมที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
     
  • FOTONA Laser โฟโตน่าเลเซอร์

    การทำโฟโตน่าเลเซอร์ (Fotona Laser) เป็นการใช้เลเซอร์ยิงด้วยพลังงานต่ำเข้าไปที่บริเวณผมร่วงผมบาง เลเซอร์นี้จะเข้าไปช่วยกระตุ้นเส้นผม เสริมสร้างรากผม ทำให้ผมแข็งแรงขึ้น ผมที่ขึ้นใหม่มีเส้นใหญ่ ผมไม่ร่วงง่าย

  • LLLT หมวกเลเซอร์

    ปลูกผมด้วยเลเซอร์ LLLT จะช่วยรักษาอาการผมร่วงผมบางในระยะเริ่มต้น ช่วยสมานแผลให้เร็วขึ้น ลดอาการหนังศีรษะอักเสบ โดยจะฉายเลเซอร์ LLLT พลังงานต่ำลงไปที่หนังศีรษะ พลังงานนั้นจะช่วยกระตุ้นเซลล์รากผมให้ทำงานดีขึ้น สารอาหารมาเลี้ยงได้มากขึ้น ทำให้ผมแข็งแรงและงอกเร็ว ผมร่วงน้อยลง

  • ทายากระตุ้นเส้นผม

    ยาทาหนังศีรษะไมนอกซิดิล (Minoxidil) จะช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม สามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า