SkinX

GET-On the App Store

SkinX Team

17 สิงหาคม 2565

สิวหัวช้าง สิวอักเสบขนาดใหญ่ต้นเหตุแผลเป็นเกิดจากอะไร? รักษาได้หรือไม่?

สิวหัวช้าง เป็นปัญหา สิว กวนใจที่ไม่เพียงแค่ทำให้รำคาญหรือมีผลกับรูปลักษณ์ แต่ยังมีผลทำให้รู้สึกเจ็บในบริเวณที่เป็นสิวด้วย อีกทั้งยังเป็นสิวอักเสบรุนแรงที่ทิ้งแผลเป็นไว้ที่ผิวได้มาก มีผลกับรูปลักษณ์ทั้งระหว่างเป็นสิวและหลังเป็นสิว สิวหัวช้างจึงเป็นปัญหาผิวหนังที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในบทความนี้ SkinX จะมาตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับสิวหัวช้าง ว่าสิวหัวช้างคืออะไร เกิดจากอะไร สามารถรักษาได้อย่างไร และสามารถขึ้นที่ไหนได้บ้าง เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับสิวหัวช้างได้อย่างทันท่วงที ก่อนสิวจะก่อปัญหาให้กับคุณ

สารบัญบทความ

  1. สิวหัวช้างคืออะไร?
  2. สาเหตุการเกิดสิวหัวช้างเกิดจากอะไร?
  3. วิธีรักษาสิวหัวช้าง
  4. บริเวณที่มักเกิดสิวหัวช้าง
  5. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวหัวช้าง

 

สิวหัวช้าง คืออะไร?

สิวหัวช้าง Nodulocystic acne หรือ Severe Nodular acne

สิวหัวช้าง (Nodulocystic acne หรือ Severe Nodular acne) บางคนอาจเรียกว่าสิวหัวใหญ่หรือฝีหัวช้าง เป็นสิวประเภทที่เป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ เกิดจากการอักเสบรุนแรงที่ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป ทำให้สามารถรักษาได้ยากกว่าสิวประเภทอื่นๆ และด้วยสาเหตุที่สิวหัวช้างไม่มีหัว จึงทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยการกดสิวอย่างที่นิยมทำกันได้

Fact : “บางครั้งคนมักเรียกสิวหัวช้างเป็นฝีหัวช้าง เนื่องจากสิวมีขนาดใหญ่เหมือนเป็นฝี แต่ความจริงแล้วฝีและสิวเป็นโรคคนละโรคกัน ฝี (Abscess) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากรูขุมขนอุดตันเป็นหลักเหมือนกับสิว”

สิวหัวช้าง ลักษณะจะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ขอบเขตไม่ชัดอยู่บนผิวหนังบริเวณใบหน้า อก และหนัง สามารถเห็นได้จากภายนอก ตุ่มเป็นสีชมพูแดงเพราะอาการอักเสบ

เมื่อเป็นจะรู้สึกเจ็บระบม ปวดสิว และจะเจ็บมากขึ้นหากสัมผัสที่สิว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าอ่อนนุ่มเหมือนมีของเหลวอยู่ด้านใน หากสิวหัวช้างใหญ่มาก อาจเกิดจากการอักเสบมากจนมีหนองภายในจำนวนมาก

สิวหัวช้างแตกต่างจาก สิวไต (Nodular acne) ที่ความรุนแรง สิวไตจะมีขนาดเล็กกว่า และเมื่อจับที่ตัวสิวจะรู้สึกว่าเป็นไตแข็ง ส่วนสิวหัวช้างจะเป็นสิวเม็ดใหญ่ มีหนองภายในเนื่องจากอักเสบมาเป็นระยะหนึ่ง บางครั้งพบซีสต์เทียมภายในด้วย (pseudocysts) แต่พยาธิสภาพของสิวทั้งสองชนิดนี้จะเหมือนกัน

อาการแทรกซ้อนที่พบได้มากหลังเป็นสิวหัวช้างคือรอยสิว สิวหัวช้างเป็นสิวที่อักเสบรุนแรงในผิวหนังชั้นที่ลึกลงไป ทำให้สามารถก่อให้เกิดรอยสิวหลังการรักษาได้มาก และหลายรูปแบบ ทั้งรอยดำ รอยแดง และหลุมสิวลึกที่ไม่สามารถรักษาได้แค่การใช้ยาทาภายนอก และต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน

สาเหตุการเกิดสิวหัวช้างเกิดจากอะไร?

สิวหัวช้าง เกิดจากการอักเสบ ซึ่งต้นเหตุของการอักเสบก็เริ่มมาจากการอุดตันของรูขุมขนเหมือนกับสิวชนิดอื่นๆ โดยสาเหตุของการเกิดสิวชนิดต่างๆรวมถึงสิวหัวช้าง มีทั้งหมด 4 สาเหตุ ได้แก่

  1. เซลล์ในรูขุมขนเพิ่มจำนวนเซลล์มากเกินไป (Follicular epidermal hyperproliferation)

เซลล์ในรูขุมขนที่เรียกว่า keratinocyte เป็นเซลล์ที่จะมีวงจรชีวิตของตนเอง เมื่อหมดอายุขัยก็จะหลุดออกมาจากรูขุมขนตามปกติ แต่หากเซลล์ดังกล่าวเพิ่มจำนวนมากเกินไปจะทำให้เซลล์ที่ถูกผลัดออกมาเสี่ยงอุดตันอยู่ที่รูขุมขน เกิดเป็น สิวอุดตัน ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือที่เรียกว่า “microcomedones” ขึ้นมาบนผิวได้

เมื่อ microcomedones ขวางรูขุมขน ทั้งเคราตินและน้ำมันจากต่อมไขมัน (sebum) ที่ผลิตออกมา รวมถึงแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนอยู่แล้ว จะไม่มีทางออกสู่ภายนอก และทับถมกันเรื่อยๆจนกลายเป็นสิวอุดตันที่สามารถพัฒนาไปเป็นสิวหัวช้างได้นั่นเอง

  1. ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Sebum production)

น้ำมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน (sebum หรือนิยมเรียกกันว่าซีบัม) มีผลทำให้เกิดการอักเสบได้ เนื่องจากผิวหรือรูขุมขนที่มีไขมันมาก เป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของแบคทีเรียต้นเหตุของอาการอักเสบ

อีกทั้งแบคทีเรียที่มีชื่อว่า C.acne ยังสามารถย่อยสลายไขมันชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบหลักของซีบัมได้ นั่นคือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) โดยจะย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) และกรดไขมันตัวดังกล่าวก็มีผลทำให้ผิวหนังระคายเคือง และยิ่งทำให้ C.acne ขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ซึ่งการอักเสบบนผิวหนังจากการที่ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป สามารถทำให้ keratinocyte เพิ่มจำนวนไวกว่าปกติจนเป็นต้นเหตุการเกิด microcomedones ได้

  1. การทำงานของแบคทีเรีย C.acne

แบคทีเรีย C.acne (Cutibacterium acnes) หรือชื่อเก่าเรียกว่า P.acne (propionibacterium acnes) เป็นหนึ่งในแบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนผิวหนังและในรูขุมขนอยู่แล้วตั้งแต่ต้นโดยไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แต่เมื่อใดก็ตามที่มีจำนวนมากเกินไปสามารถทำให้เกิดสิวได้ และยังเป็นหนึ่งในแบคทีเรียต้นเหตุของ สิวอักเสบ อีกด้วย

กิจกรรมต่างๆ ของแบคทีเรีย C.acne สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้จากหลายสาเหตุ และเมื่อผิวหนังอักเสบก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดสิวได้มาก อีกทั้งหากเป็นสิวอุดตันจนผนังรูขุมขนแตก แบคทีเรีย C.acne สามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังชั้นในจนเกิดการอักเสบรุนแรงได้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวหัวช้างนั่นเอง

  1. การอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response)

การอักเสบของผิวหนังสามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังการเกิดสิว และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน การอักเสบบนผิวหนังสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสิวได้ และการเกิดสิวก็ทำให้เกิดการอักเสบได้ทั้งที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis)

แล้วการอักเสบเกิดจากอะไร เกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร? การอักเสบนั้นเกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย อย่างเช่นแบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่างๆ ร่างกายจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคสร้างความผิดปกติกับร่างกาย

โดยระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปด้วยวิธีต่างๆ จนทำให้บริเวณที่มีเชื้อโรคเข้ามามีอาการปวดบวม ผิวหนังแดงร้อน บางครั้งมีไข้ด้วย และเรียกภาวะการตอบสนองของร่างกายแบบนี้ว่าการอักเสบ

ในกรณีของสิว แบคทีเรียสามารถเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ผ่านผนังรูขุมขน เมื่อเป็นสิวอุดตันที่สิ่งอุดตันใหญ่เกินไป หรือโดนรบกวนอย่างเช่นการกดสิว จนทำให้ผนังรูขุมขนแตกออก จะทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ชั้นผิวหนังและเกิดการอักเสบจนเกิดเป็นสิวอักเสบและเป็นหนองได้

ทั้งนี้สิวอักเสบอย่างสิวหัวช้างและสิวชนิดอื่นๆอาจไม่ได้เกิดจากสิวอุดตันเสมอไป บางครั้งอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีรอยโรคของสิวอุดตันมาก่อนได้เช่นกัน

ดังนั้นโดยสรุปคือ สิวหัวช้าง เกิดจากการติดเชื้อใต้ผิวหนัง โดยอาจจะพัฒนามาจากสิวอุดตันหรือไม่ก็ได้ เมื่อเกิดการติดเชื้อภูมิคุ้มกันจะตอบตอบสนองกับเชื้อจนทำให้เกิดการอักเสบ เมื่อเวลาผ่านไปเศษซากของเชื้อโรคและระบบภูมิคุ้มกันจะรวมกันจนทำให้สิวหัวช้างมีหนองอยู่ใต้ผิวหนังในที่สุด

Fact : “หนอง (Pus) เป็นของเหลวสีขาวเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน เกิดบริเวณที่มีอาการอักเสบ ในน้ำหนองส่วนใหญ่ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้ว และเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราอื่นๆที่ก่อให้เกิดการอักเสบ”

ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยของการเกิดสิวหัวช้างจะเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่มีผล ได้แก่ อาหาร สภาพแวดล้อม ความสะอาด ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง ยา การสูบบุหรี่ สุขภาพโดยรวม และอื่นๆ

วิธีรักษาสิวหัวช้าง

การรักษาสิวหัวช้าง

สิวหัวช้างรักษายังไง? การรักษาสิวหัวช้างมีด้วยกันหลายวิธี ส่วนใหญ่จะใช้การรักษาวิธีต่างๆ ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด เนื่องจากสิวหัวช้างเป็นสิวประเภทที่รุนแรงมาก ควรรักษาโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

วิธีรักษาสิวหัวช้าง มีดังนี้

1. การใช้ยารักษาสิวหัวช้าง

การใช้ยารักษาสิวหัวช้างต้องใช้ร่วมกันทั้งยาทา และยาสำหรับรับประทาน

ยาทารักษาสิวหัวช้าง

สิวหัวช้างทายาอะไร? หากเป็นสิวหัวช้างควรทายาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดจำนวนแบคทีเรีย ลดการทำงานของต่อมไขมัน และทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นไปตามปกติ โดยตัวยาที่นิยมใช้กัน มีดังนี้

  1. ยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) – ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดการอุดตันได้ ทำให้สิวหัวช้างอักเสบน้อยลง ซึ่ง Retinoids ในรูปแบบยาทาภายนอกไม่ใช่ยาอันตรายเท่าแบบทาน แต่ก็ยังทำให้ผิวบาง ระคายเคือง และไวต่อแสงได้
  2. Benzoyl peroxide – เป็นยาทาสิวที่ใช้ได้กับเกือบทุกสภาพผิว ยกเว้น ผิวแพ้ง่าย และใช้ได้กับสิวทุกแบบ ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยไม่ทำให้เชื้อสิวดื้อยา ในผู้ที่เป็นสิวหัวช้างแพทย์จึงจะให้ใช้ยาตัวนี้แทนยาปฏิชีวนะแบบทา หรือใช้ร่วมกัน เพราะสิวหัวช้างต้องใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน หากใช้ยาฆ่าเชื้อแค่ตัวเดียวอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดสิวหัวช้างดื้อยาได้
  3. Azelaic Acid – ออกฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพ ทั้งยังเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิว และการหนาตัวของเซลล์ keratinocyte ได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงทำให้ผิวบางได้มาก ทั้งยังมีความเสี่ยงเกิดผิวไหม้หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้นิยมใช้กันแค่ในผู้ที่เป็นสิวหัวช้างระดับรุนแรง หรือรักษาด้วยการใช้ยาตัวอื่นอย่างเดียวไม่ได้ผล
  4. ยาทาสูตรผสม (combination) – ยาทาสูตรผสมมักจะเป็นการใช้ Benzoyl peroxide ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น และลดอัตราการดื้อยาของแบคทีเรีย หรือบางครั้งจะใช้เป็น Benzoyl peroxide ร่วมกับ Retinoids เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ครอบคลุมขึ้นนั่นเอง

ยาใช้รับประทานรักษาสิวหัวช้าง

ยาใช้ทานรักษาสิวหัวช้าง จะใช้เพื่อปรับฮอร์โมน ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ลดการทำงานของต่อมไขมัน ลดการอักเสบ และช่วยให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นไปตามปกติ โดยยาสำหรับรับประทานนี้นิยมใช้ยาดังต่อไปนี้

  1. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic and antibacterial agents) – ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาทานที่ใช้กันมากที่สุดในการรักษาสิวหัวช้าง
  2. ยา Isotretinoin – ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ และทำให้จำนวนแบคทีเรียลดลงได้ในทางอ้อม แต่ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากโดยเฉพาะในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากต้องใช้ในการรักษาสิวหัวช้างสำหรับผู้หญิงจะต้องตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และจะต้องคุมกำเนิดในช่วงระหว่างการใช้ยาด้วย

การใช้ยารักษาสิวหัวช้างในขั้นแรก จะนิยมใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับทาน ร่วมกับยา Retinoids ทาเฉพาะที่และ/หรือ Benzoyl peroxide หากรักษาไม่ได้ผล หรืออาการสิวหัวช้างค่อนข้างหนัก แพทย์จะให้เปลี่ยนไปใช้ยาทานอย่าง Isotretinoin

2. หัตถการรักษาสิวหัวช้าง

หัตถการ หมายถึงการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ในที่นี้จะพูดถึงการรักษาสิวหัวช้างด้วยวิธีการต่างๆ ที่นอกเหนือจากการใช้ยา ซึ่งหัตถการที่ใช้รักษาสิวหัวช้างได้มีด้วยกัน 4 วิธี ดังนี้

  1. การผ่าตัด (Acne Surgery)

การผ่าตัดในที่นี้ หมายถึงการกดสิว หรือการกรีดเอาหนองสิวออก ซึ่งเป็นการรักษาสิวหัวช้างที่สามารถทำได้

การกดสิวจะใช้กดตั้งแต่ในช่วงที่เป็นสิวอุดตัน หากเป็นสิวหัวช้างเรื้อรังทั่วไปหน้าก็มีแนวโน้มที่จะพบสิวอุดตันหัวปิด ที่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นสิวอักเสบและเป็นสิวหัวช้างได้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้กดสิวหัวปิดออกเพื่อลดโอกาสการเกิดสิวหัวช้างลง

ส่วนการกรีดเอาหนองออก เป็นวิธีการลดการอักเสบอย่างหนึ่ง เนื่องจากหนองเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย แต่การกรีดเอาหนองออกนี้ ในปัจจุบันไม่ทำกันแล้ว เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นและทำให้เป็นแผลเป็นหลังการรักษา

ทั้งนี้การผ่าตัดสิวเป็นเพียงการรักษาโรคสิวหัวช้างที่ปลายเหตุ การกดสิวยังคงต้องทำควบคู่กับการใช้ยาหรือการรักษาอื่นๆ ด้วย

  1. การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง (Intralesional Injection of corticosteroids)

การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง เป็นการรักษาที่ดีมากสำหรับสิวหัวช้าง เนื่องจากสามารถลดการอักเสบได้โดยไม่ต้องกรีดเอาหนองออกจากสิวหัวช้าง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อเพิ่มและไม่ทำให้เกิดแผลเป็นจากการกรีดผิว แต่ก็มีข้อเสียเนื่องจากไม่สามารถฉีดเข้าที่สิวที่เกิดขึ้นได้ทุกตำแหน่ง และมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสร้างเม็ดสีน้อยกว่าปกติ (Hypopigmentation) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม

Fact : “Corticosteroids เป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว ภายหลังการแพทย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค ออกฤทธิ์ลดการอักเสบและกดภูมิต้านทาน มีทั้งในรูปของยาใช้ภายในและยาใช้ภายนอก หากใช้สำหรับรักษาสิวนิยมใช้เป็นยาสำหรับฉีด”

  1. การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง

การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง จะช่วยในการลดจำนวนแบคทีเรีย C.acne ทั้งยังช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันได้ด้วย ในปัจจุบันการรักษายังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ก็นับว่าให้ผลการรักษาที่ดี ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

3. ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง SkinX

การปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อเป็นสิวหัวช้าง เนื่องจากสิวหัวช้างไม่สามารถรักษาด้วยตัวเองที่บ้านโดยการบีบสิวหัวช้างหรือรักษาความสะอาดอย่างเดียวได้ อีกทั้งตัวยาที่ใช้ทานที่จำเป็นต่อการรักษาก็มีผลข้างเคียงที่อันตรายมากหากใช้ผิดวิธี

ดังนั้นผู้ที่เป็นสิวหัวช้างควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ รักษาสิว อย่างถูกวิธี ใช้เวลารักษาที่น้อยที่สุด และป้องกันการเกิดแผลเป็นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กลับมามีผิวหน้าและผิวกายที่เรียบเนียนดังเดิม

หลายคนเข้าใจว่าการปรึกษาแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เดินทางไกล ทั้งยังต้องรอคิวนาน อาจจะต้องลางานทั้งวันเพื่อไปสถานพยาบาล ที่จริงแล้วการปรึกษาแพทย์เรื่องสิวจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย หากปรึกษาผ่านแอปพลิเคชัน SkinX

เพราะ SkinX ทำให้คุณสามารถเลือกปรึกษาสิวกับแพทย์ผิวหนังได้กว่า 210 ท่าน จากสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศได้ง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องเดินทางให้เสียเวลา อีกทั้งแพทย์ยังสามารถจ่ายยาได้ตามปกติ สามารถรับยาและรักษาที่บ้านได้เลย เพราะผิวดี ไม่ต้องรอ

บริเวณที่มักเกิดสิวหัวช้าง

บริเวณที่มักเกิดสิวหัวช้าง คือบริเวณใบหน้า หน้าอก และหลังเป็นส่วนใหญ่ โดยสิวหัวช้างที่พบในแต่ละจุดมีรายละเอียดดังนี้

  • สิวบริเวณแก้ม
  • สิวบริเวณที่จมูก
  • สิวที่คาง
  • สิวบริเวณที่หลัง
  • สิวบริเวณที่หน้าอก

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวหัวช้าง

ปัญหาสิวหัวช้าง

สิวหัวช้าง กี่วันหาย

สิวหัวช้างกี่วันหาย? การรักษาสิวหัวช้างอาจใช้เวลาเป็นเดือนถึงหลายเดือน แล้วแต่ว่าคนไข้แต่ละรายตอบสนองต่อยาได้มากแค่ไหน แต่ที่ยากและใช้เวลานานที่สุดคือการรักษารอยแผลเป็น ทั้งหลุมสิว รอยแดง รอยดำที่ตามมาจากการอักเสบใต้ผิวหนังของสิวหัวช้าง ที่กินบริเวณกว้างและลึกกว่าสิวชนิดอื่นๆ และจากการอักเสบที่เรื้อรังจนภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง แผลเป็นจากสิวและรอยสิวพวกนี้จะต้องใช้เวลารักษาหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีเลยทีเดียว

สิวหัวช้าง หายเองได้ไหม

สิวหัวช้าง ปล่อยให้หายเองไม่ได้ เนื่องจากการอักเสบจะไม่หายไปเอง สิวชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นใน ทำให้ต้องใช้ยาเพื่อกำจัดเชื้อออกไป หากทิ้งไว้ให้หายเองเชื้ออาจลุกลามจนสิวหัวช้างกินพื้นที่มากขึ้น หรือขึ้นเป็นหลายตุ่มในบริเวณเดียวกัน ทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบนานจนภูมิคุ้มกันกัดกินผิวหนังของตัวเอง เมื่อหายก็เป็นหลุมลึก รักษาได้ยาก

ทางที่ดีที่สุดเมื่อเป็นสิวหัวช้างคือต้องปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรักษาเองหรือปล่อยให้สิวหายไปเอง

กดสิวหัวช้าง ได้ไหม

บีบสิวหัวช้าง กดสิวหัวช้างได้ไหม? สิวหัวช้างไม่สามารถกดได้ เนื่องจากเป็นสิวอักเสบรุนแรงใต้ผิวหนังที่บางครั้งสิวไม่มีหัว อีกทั้งยังไม่สามารถกดให้หนองใต้ผิวหนังออกมาได้ การรักษาจึงนิยมการใช้ยารักษาร่วมกับการฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรงมากกว่า

สิวหัวช้างเป็นสิวอักเสบรุนแรงที่สามารถทิ้งรอยหลุมสิวลึกไว้ได้แม้รักษาหายแล้วก็ตาม ดังนั้นเมื่อเป็นสิวหัวช้างควรรีบปรึกษากับแพทย์ผิวหนังให้เร็วที่สุด เพื่อให้สิวลุกลามน้อยที่สุด ใช้เวลารักษาให้น้อยที่สุด ให้ผู้เข้ารับการรักษามีสุขภาพผิวที่ดีดังเดิม

ทำเรื่องสิวให้เป็นเรื่องง่าย แก้ปัญหาสิวโดยผู้เชี่ยวชาญกับแอปฯ SkinX สะดวก ปลอดภัย สามารถทำได้ง่ายๆทุกที่ทุกเวลา เพียงดาวน์โหลดแอปฯ

สรุป

สิวหัวช้างเป็นสิวอักเสบรุนแรงที่รักษาได้ แต่ก็รักษาได้ยาก ผู้ที่เป็นสิวหัวช้างควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผิวหนัง เพื่อไม่ให้การอักเสบลุกลาม และเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่หลังการรักษา ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นสิวหัวช้างก็ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผิวหนังที่เรียบเนียน สุขภาพดีในระยะยาว

บทความนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังแล้ว

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Mirza, S. (2020, January 6). The facts about chest acne. Mayo Clinic.
https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/
the-facts-about-chest-acne

Oakley, A. (2021, August). Nodulocystic acne. DermNet NZ.
https://dermnetnz.org/topics/nodulocystic-acne

Voorhees JJ, Wilkins J Jr, Hayes E, Harrell ER. The XYY syndrome in prisoners and outpatients with
cystic acne. Birth Defects Orig Artic Ser. 1971:7;186-192.

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ใช้งานครั้งแรกปรึกษาฟรี
Tips & Tricks
สาระน่ารู้และข่าวประชาสัมพันธ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า